เดือนสิงหาคมถึงหมุดหมายสำคัญอีกครั้ง เมื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปี พอดิบพอดี หากนับจากวันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557

จนถึงวันนี้ พลเอกประยุทธ์มีวาระในการดำรงตำแหน่งใกล้เคียงกับ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่ดำรงตำแหน่งนาน 8 ปี 5 เดือน และหากเทียบกับนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ไทย ณ วันนี้ พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งยาวนานเป็นรองเพียง จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพล ถนอม กิตติขจร และพลเอกเปรม เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับบริบท ‘อาเซียน’ 10 ประเทศแล้ว 8 ปี ของพลเอกประยุทธ์นับเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก จนถึงปัจจุบันยังมีผู้นำอาเซียนที่ดำรงตำแหน่งยาวนานกว่าพลเอกประยุทธ์ถึง 3 คน จาก 3 ระบอบที่แตกต่าง และดูเหมือนจะเป็นปกติของภูมิภาคนี้ ที่อยู่นานและอยู่ยาวเกินกว่า ‘มาตรฐาน’ ทั่วไป

The Momentum พาไปสำรวจนายกฯ แต่ละประเทศที่ ‘อยู่ยาว’ ว่ามีปัจจัยพื้นฐานใดที่ทำให้ผู้นำเหล่านี้ครองตำแหน่งได้ยาวนาน และสภาพการเมืองแบบไหนที่เกื้อหนุนให้ผู้นำเหล่านี้บริหารประเทศต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่มี ‘เวลา’ เป็นข้อจำกัด

1. สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ประเทศบรูไน 38 ปี

พระราชาในประเทศที่ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระองค์นี้ เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นสุลต่านและยังดีเปอร์กวนของบรูไนนับตั้งแต่ปี 2510 และหากนับในฐานะ ‘นายกรัฐมนตรี’ และพระประมุขแห่งรัฐ สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ทรงเป็นพระประมุขแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้นำทางศาสนาอิสลามแห่งบรูไน นับตั้งแต่ปี 2527 หรือหากเทียบเป็นเวลาไทย ก็นับตั้งแต่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรี โดยพระองค์เป็นผู้พาบรูไน ประเทศเล็กๆ ของอาเซียนแห่งนี้ ให้มั่งคั่งผ่านการลงทุนด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ปัจจุบัน สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ทรงมีพระชนมายุ 76 พรรษา และยังทรงพระพลานามัยแข็งแรง ทรงอภิเษกสมรสกับพระมเหสีทั้งสิ้น 3 พระองค์ และจากการจัดอันดับของเว็บไซต์ Business Insider เมื่อปี 2562 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชทรัพย์มากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2

สำหรับปี 2527 ที่พระองค์เสด็จขึ้นเสวยราชย์ เป็นปีที่โทรศัพท์มือถือโมโตโรลารุ่น ‘ไดนาแท็ก 8000X’ ออกวางจำหน่ายพอดี โดยถือเป็นโทรศัพท์มือถือที่มีราคามากกว่า 4 แสนบาทในเวลานั้น และหากเทียบกับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจะสนนราคาสูงถึง 3.8 แสนบาท

2. สมเด็จฮุน เซน ประเทศกัมพูชา 37 ปี

สมเด็จฮุน เซน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2528 ด้วยการสนับสนุนของ ‘เวียดนาม’ โดยฮุนเซนเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านเขมรแดงในเวียดนามตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และเมื่อเวียดนามรุกไล่เขมรแดงออกไปได้ ก็ตั้ง ฮุน เซน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ปี 2522 ก่อนที่ฮุน เซนจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2528

จากนั้น ฮุน เซน ข้ามผ่านความวุ่นวายทางการเมือง ด้วยการตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 แม้พ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี 2536 แต่จากนั้นในปี 2540 ก็ทำการ ‘ยึดอำนาจ’ คู่แข่ง คือสมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ และในที่สุดก็แปลงกายมาสู่หมวกของการเลือกตั้งผ่านพรรคประชาชนกัมพูชา และกำจัดพรรคคู่แข่งออกจากสารบบการเมืองให้ไม่สามารถต่อกรกับเขาได้ จนลากยาวเป็นนายกฯ มานานกว่า 37 ปี และคงเป็นต่อไปเรื่อยๆ

ปี 2528 ถือเป็นปีที่บริษัทเกาหลี ‘ซัมซุง’ ออกโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่น SC-1000 โทรศัพท์เครื่องแรกของซัมซุงสำหรับไว้ใช้งานในรถ กระนั้นเอง ก็พบกับปัญหาเรื่องคุณภาพการผลิต และซัมซุงเองก็ยังไม่ได้ยอมรับในฐานะแบรนด์ระดับโลกเท่าที่ควร ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับซัมซุง ผู้นำเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ และ Gadget แบบในวันนี้

3. ลี เซียนลุง สิงคโปร์ 18 ปี

ลี เซียนลุง ถือเป็นบุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์อย่าง ลี กวนยู เขาถูก ‘ปั้น’ ขึ้นมาอย่างดีเพื่อจะเป็นนายกฯ โดยความสามารถรอบตัวสามารถพูดได้มากถึง 4 ภาษา จบปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ทั้งยังเคยทำงานในกองทัพบกสิงคโปร์ และร่วมงานกับพรรคกิจประชาชนสิงคโปร์ (People’s Action Party) ของนายกรัฐมนตรี ลี กวนยู ผู้เป็นพ่อ มาตั้งแต่อายุยังน้อย กระทั่งเมื่อถึงวัยวุฒิ มีประสบการณ์มากพอ ก็ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2547

ระบบการเมืองสิงคโปร์นั้นเป็นระบบสภาเดี่ยว เป็นสาธารณรัฐ และมีการเลือกตั้ง เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่นับตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมา สิงคโปร์ก็มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง รวมถึงยังมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างเด็ดขาด และควบคุมเสรีภาพสื่ออย่างรุนแรง ซึ่งในด้านสะท้อนกลับก็ได้สร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาลและนายกฯ อย่างเข้มแข็ง

ปีที่ ลี เซียนลุง ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นยุคทองของโทรศัพท์โนเกีย โดยรุ่นที่วางขายในปีนั้นคือโนเกีย 6630 โทรศัพท์ยอดนิยมที่ถ่ายภาพได้ด้วยความละเอียด 1.23 ล้านพิกเซล ระบบปฏิบัติการ ‘ซิมเบียน’ โดยวางขายครั้งแรกในราคาราว 2.2 หมื่นบาท

4. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเทศไทย 8 ปี

นับจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็ไม่เหมือนเดิม ระบอบ ‘เผด็จการ’ แบบเต็มรูปแบบคงตัวนานกว่า 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2557-2562 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นผู้ทำรัฐประหาร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ก่อนเปลี่ยนถ่ายสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ ณ ปี 2562 โดยพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ ส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญคือด้วยระบบเลือกตั้งที่แปลกประหลาด และกลไก ส.ว. 250 คนที่พลเอกประยุทธ์แต่งตั้ง ช่วยกันผลักดันให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งสมัย กระทั่งดำรงตำแหน่งเกือบครบวาระในช่วงต้นปี 2566 ที่จะถึงนี้

แน่นอนว่า ระบอบดังกล่าวได้สร้างความแข็งแรงจนผู้นำจากการรัฐประหารจนสามารถเป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งได้ยาวนานที่สุด ภายใต้รัฐบาลผสม 18 พรรค และระบบการเมืองที่เปราะบาง ผ่านพ้นทั้งวิกฤตโควิด-19 วิกฤตการณ์การเมือง และวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ แม้จะเป็นไปอย่างสะบักสะบอม แต่ทุกพรรคการเมืองก็ยังพร้อม ‘อุ้ม’ พลเอกประยุทธ์ต่อไปจนตลอดรอดฝั่ง

สำหรับปีที่พลเอกประยุทธ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นปีเดียวกับที่โทรศัพท์มือถือ HTC จากไต้หวัน ออกรุ่น HTC ONE M8 สมาร์ตโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์รุ่น ‘เรือธง’ ของ HTC โดยมีจุดเด่นที่กล้องหลังแบบ DUO Camera ความเร็วโฟกัสสูงสุด 0.3 วินาที อีกทั้งกล้องหน้ายังมีเลนส์มุมกว้าง โดยออกมาในช่วงเวลาเดียวกับไอโฟน 6

อย่างไรก็ตาม แบรนด์ HTC นั้นค่อยๆ เงียบหายไป เมื่อต้องฟาดฟันกับสมาร์ตโฟนจีนทั้ง Xiaomi, OPPO และ Huawei ก่อนจะตายไปอย่างสมบูรณ์แบบในปี 2560

บทส่งท้าย: 8 ปี ประยุทธ์ จันทร์โอชา

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรค 4 นั้น กำหนดให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งได้เพียง 8 ปี หรือ 2 วาระ โดยกำหนดไว้ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่”

สำหรับพลเอกประยุทธ์นั้น แน่นอนว่าจะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีถ้วนในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ซึ่งทำให้นำไปสู่การ ‘ตีความ’ ทางกฎหมายว่าตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์นั้น ‘ผิดรัฐธรรมนูญ’ หรือไม่ ฝ่ายหนึ่งระบุว่า พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และมีสถานะนายกรัฐมนตรีตามกฎหมาย ประกาศ และคำสั่งทุกประการ จึงครบ 8 ปีเต็มตามรัฐธรรมนูญในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้าอย่างแน่นอน

ขณะที่อีกฝ่ายตีความว่า รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นออกภายหลังพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว จึงไม่อาจมีผลย้อนหลัง และการเป็นนายกฯ สมัยแรก พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งไม่ได้มีข้อห้ามในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น พลเอกประยุทธ์จึงเริ่มนับหนึ่งการเป็นนายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ที่พลเอกประยุทธ์ขึ้นเป็นนายกฯ ตามการเสนอชื่อของพรรคพลังประชารัฐและตามรัฐธรรมนูญ 2560

เรื่องนี้ แม้แต่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและเนติบริกรประจำรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่กล้าตัดสินใจ และบอกว่าต้องส่งให้ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ เป็นผู้ตีความ ทั้งหมดจึงเขม็งเกลียวปูทางไปสู่ช่วงสิ้นเดือนนี้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินวาระ 8 ปี ของพลเอกประยุทธ์อย่างไร จะเป็นคุณหรือเป็นโทษ

หากไม่มีปัญหาใดๆ พลเอกประยุทธ์ก็จะดำรงตำแหน่งไปอย่างสบายๆ จนถึงต้นปีหน้า

แต่หากมีอันต้องพ้นวาระใหม่ ประเทศไทยก็จะมีอันได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่จะรักษาการต่อไปจนหมดวาระของรัฐบาลชุดนี้

Tags: , , , , ,