อายุขัยของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดปัจจุบันถือว่าหมดลงอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ (10 พฤษภาคม 2567) อย่างไรก็ตามพวกเขายังคงดำรงตำแหน่งรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าจะมี ส.ว.ชุดใหม่เข้ามา ซึ่งจะมีการจัดการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ในเดือนมิถุนายนที่จะมาถึง ด้วยระบบการเลือกที่ซับซ้อน ชวนงุนงง

เป็นที่ทราบกันดีสำหรับข้อเท็จจริงที่ว่า ส.ว.ชุดที่เพิ่งหมดอายุไปหมาดๆ แต่งตั้งขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังการรัฐประหารของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่า การมีอยู่ของ ส.ว.ชุดนี้เปรียบเสมือน ‘แขนขา’ ของ คสช.เพื่อคุมอำนาจและกำหนดทิศทางทางการเมือง

อย่างไรเสีย หากพูดกันถึงบทบาทที่ควรเป็นของ ส.ว.จริงๆ คือมีอยู่เพื่อพิจารณากฎหมายจากสภาล่าง ว่ากฎหมายดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศหรือไม่ หรือกฎหมายดังกล่าวเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มการเมืองหรือไม่ ดังนั้นบทบาทของ ส.ว.จึงต้องประพฤติเพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประชาชนให้ถึงที่สุด ดังนั้นบุคคลที่ควรจะมานั่งในสภาสูงแห่งนี้ควรจะเป็นคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับของสังคมให้สมกับคำว่า ‘วุฒิสภา’

ดังนั้นเพื่อเป็นการโบกมืออำลาเหล่าวุฒิสมาชิกอันทรงเกียรติ The Momentum ชวนย้อนรอยดูวีรกรรมของ ส.ว.ว่า มีความประพฤติอะไรบ้างที่สังคมเคยให้ความสนใจตลอด 5 ปีแห่งการปฏิบัติหน้าที่

1

ส.ว.เปิดศึก ส.ส.กลางสภา

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 วันนั้นเป็นวันที่ 2 ของการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ขณะที่ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ณ เวลานั้น กำลังอภิปรายก็เกิดการประท้วงจากฝั่ง ส.ส.พรรครัฐบาลและ ส.ว. ยุทธพงศ์จึงขอร้องให้อีกฝ่ายหยุดประท้วง โดยใช้คำเรียกว่า ‘ตัวประกอบ 10 บาท’ เพื่อปัดความรำคาญใจ

ในสภาจึงเกิดความวุ่นวาย เมื่อ ส.ส.พรรครัฐบาลและ ส.ว.ต่างร้องขอให้ พรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ทำหน้าที่ประธานสภาเวลานั้น สั่งให้ยุทธพงศ์ถอนคำเปรียบเปรยดังกล่าว จนสุดท้ายยุทธ์พงศ์ก็ยอมถอน และเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘ตัวประกอบ 500 เสียง’ จนทำให้ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.ผู้ทรงเกียรติทนไม่ไหวลุกขึ้นมาดูแคลน ส.ส.เพื่อไทยว่า เป็น ‘ส.ส.ขี้ข้าโจร’

เรื่องราวไม่จบแต่เพียงเท่านั้น เมื่อยุทธ์พงศ์ร้องขอให้ประธานสภาถอนคำพูดดังกล่าว เพราะตนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่เหมือนกับ ส.ว.ที่แต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร

“ผมมาจากการเลือกตั้ง ไม่เหมือนท่านหรอก มาจากเลียรองเท้าหทาร” ยุทธพงศ์สวนกลับไป

เพียงเท่านั้น อารมณ์ของ ส.ว.กิตติศักดิ์ดูจะทะลุปรอทไปเรียบร้อยแล้ว จึงลุกขึ้นมาเดินมาชี้หน้าและแสดงท่าทีเชิงท้าดวลกับ ส.ส.เพื่อไทย จนสมาชิกสภาคนอื่นๆ ต่างโห่ร้องดังชั่วขณะ

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดยุทธ์พงศ์ก็ยอมถอนคำพูดเพื่อให้สภาเดินหน้าต่อไปได้

2

ก๊วน ส.ว.เหล่าทัพ ‘ขาด’ การประชุมวุฒิสภามากที่สุด

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้นำเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และปลัดกระทรวงกลาโหม เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง โดยเป็นโควตารวม 6 คน ในช่วงเวลา 5 ปีแรก หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม การรวบรวมข้อมูลของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ที่เปิดเผยข้อมูลตัวเลขการประชุมวุฒิสภาตั้งแต่ครั้งที่ 9 สมัยสามัญฯ ครั้งที่ 1 จนถึงครั้งที่ 22 สมัยสามัญฯ ครั้งที่ 2 พบว่า จาก 10 อันดับของ ส.ว.ที่ขาดการลงมติที่ประชุม เป็น ส.ว.เหล่าทัพไปแล้วกว่า 5 อันดับ โดยเรียงลำดับดังต่อไปนี้

อันดับที่ 1 พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ณ เวลานั้น ขาดการลงมติที่ประชุมวุฒิสภาไปทั้งสิ้น 144 มติ จากมติที่ประชุมทั้งหมด 145 มติ

อันดับที่ 2 พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ณ เวลานั้น ขาดการลงมติที่ประชุมวุฒิสภาไปทั้งสิ้น 143 มติ จากมติที่ประชุมทั้งหมด 145 มติ

อันดับที่ 2 ร่วม พลอากาศเอก ชัยพฤษ์ ดิษยะศริน อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ต่อมาเปลี่ยนเป็น พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ณ เวลานั้น ขาดการลงมติที่ประชุมวุฒิสภาไปทั้งสิ้น 143 มติ จากมติที่ประชุมทั้งหมด 145 มติ

อันดับที่ 6 พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ณ เวลานั้น ขาดการลงมติที่ประชุมวุฒิสภาไปทั้งสิ้น 136 มติ จากมติที่ประชุมทั้งหมด 145 มติ

อันดับที่ 7 พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ณ เวลานั้น ขาดการลงมติที่ประชุมวุฒิสภาไปทั้งสิ้น 135 มติ จากมติที่ประชุมทั้งหมด 145 มติ

ขณะที่พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ณ เวลานั้น ถือว่าเป็น ส.ว. เหล่าทัพที่ขาดการลงมติที่ประชุมน้อยที่สุด โดยขาดการลงมติที่ประชุมวุฒิสภาไปทั้งสิ้น 99 มติ จากมติที่ประชุมทั้งหมด 145 มติ

3

‘ส.ว.ทรงเอ’ กับคดีพัวพันยาเสพติดและการฟอกเงิน

คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อฉายา ‘ส.ว.ทรงเอ’ หรือ อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา ที่มีส่วนพัวพันกับบริษัท Allure Group ของนักธุรกิจชาวเมียนมา ในข้อหาฟอกเงินและค้ายาเสพติด

จุดเริ่มต้นของคดีนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 17 กันยายน 2565 ที่ตำรวจเข้าจับกุมตัว ตุน มิน ลัต นักธุรกิจค้ายาเสพติด และดีน ยัง จุลธุระ (Dean Young Gultula) ลูกเขยของอุปกิต ในข้อหาสมคบคิดค้ายาเสพติดและฟอกเงิน รวมกว่า 32 ข้อหา และในระหว่างการสืบสวน ชื่อของอุปกิตก็ปรากฏว่า มีความสัมพันธ์กับตุน มิน ลัต

ต่อมาวันที่ 22 กันยายน อุปกิตยอมรับว่า เป็นเรื่องจริงที่รู้จักกับตุน มิน ลัต จากการทำธุรกิจโรงแรม-คาสิโนในประเทศเมียนมา แต่ยืนยันว่าตนไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

จากการขยายผลคดี ทำให้สำนักงานอัยการสูงสุดสั่งฟ้องอุปกิตรวม 6 ข้อหา มีตั้งแต่การทำความผิดร้ายแรงกับยาเสพติด คดีเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน และกระทำการใดๆ กับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

แต่อย่างไรก็ตาม ในคดีดังกล่าวที่เกิดขึ้น ดูเหมือนจะมีทิศทางที่เป็นบวกต่ออุปกิตมากขึ้น เมื่อภายหลังวันที่ 30 มกราคม 2567 ศาลอาญาได้ยกฟ้องคดีทุน มิน ลัต และพวก รวมกว่า 32 ข้อหา เพราะพยานหลักฐานของจำเลยสามารถหักห้ามพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ได้ ทำให้จำเลยไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและการฟอกเงิน

โดยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 อุปกิตเดินทางมาตรวจพยานหลักฐาน ตามที่ศาลฯ นัดไว้ และก่อนขึ้นไปห้องพิจารณาคดีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ยืนยันในความบริสุทธิ์ของตน และจะดำเนินคดีกับคนที่กล่าวหาตนที่ให้ถึงที่สุด ซึ่งปัจจุบันคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบพยานหลักฐานของศาลฯ 

4

ส.ว.ไม่โหวตพิธาเป็นนายกฯ แต่โหวต ‘ประยุทธ์’ เพราะรวมเสียงได้เกินครึ่ง

ภายหลังการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลได้รับความไว้วางจากประชาชนสูงสุด​ โดยได้จำนวน ส.ส.กว่า 151 ที่นั่ง กลายเป็น ‘ความหวัง’ ของประชาชนที่สนันสนุนพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ว่า ต้องการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลประยุทธ์ไม่สามารถทำได้

ต่อมาพรรคก้าวไกลจึงได้จัดทำข้อตกลงร่วมกัน ขึ้นมาในฝั่งพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ทำให้ได้จำนวน ส.ส.ทั้งสิ้น 314 เสียง ซึ่งหากเป็นห้วงเวลาการเมืองปกติ จำนวนเสียงเท่านี้ย่อมส่งให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างง่ายดาย 

ทว่าในการเมืองยุคนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีบทเฉพาะกาลให้อำนาจพิเศษต่อ ส.ว.ให้เข้ามาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เป็นผลให้การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียงร่วมกันของรัฐสภาอย่างน้อยที่สุด 376 เสียง นั่นจึงถือว่าเป็นฝันร้ายครั้งที่หนึ่งของพรรคก้าวไกล แม้ว่า ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยออกมาให้สัมภาษณ์สร้างความเชื่อมั่นว่า พรรคจะสามารถรวบรวมเสียง ส.ว.เพิ่มเติมจนครบ 376 เสียงก็ตาม

และแล้วฝันร้ายครั้งที่ 2 ก็มาถึง เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตลอดช่วงการอภิปรายในมติเห็นชอบการเลือกนายกรัฐมนตรี เริ่มมีสัญญาณและปฏิกิริยาจากวุฒิสภาที่คลับคล้ายคลับคลาจะไม่ยอมโหวตเห็นชอบ โดยยกประเด็นนโยบายการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 มากล่าวอ้างว่า ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เมื่อถึงคราต้องลงคะแนนจริงๆ ก็ปรากฏตามที่รับรู้กันว่า พิธาไม่สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งเบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้าได้ โดยมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.เพียง 13 เสียงเท่านั้น

อย่างไรก็ตามก่อนหน้าการโหวต สื่อมวลชนหลายสำนักไปสัมภาษณ์กับ ส.ว.หลายราย ซึ่งมักได้รับคำตอบในเชิงที่ว่า จะยอมโหวตให้ หากสภาล่างสามารถรวบรวมเสียงได้มากกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งการยกเหตุผลนี้ขึ้นมานั้นถูกใช้มาแล้วเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ว่าหาก ส.ส.รวมเสียงได้เกินครึ่ง ส.ว.ก็จะพร้อมใจโหวตกันตามที่ ส.ส.เห็นควร โดยในครั้งนั้น เมื่อพรรคพลังประชารัฐสามารถรวมเสียงในสภาล่างได้กว่า 253 เสียง มากกว่ากึ่งหนึ่ง ส.ว.จึงได้มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ 250 เสียงสนับสนุนพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองได้สำเร็จ

5

ส.ว.ลอกงานดุษฎีนิพนธ์

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา iLaw ตั้งข้อสังเกตงานดุษฎีนิพนธ์เรื่อง ‘รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย’ ของ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ว่าพบพิรุธเนื้อหาภายในมีการหยิบยกข้อความหลายท่อนจากงานวิชาการอื่นๆ แทนที่จะเขียนสรุปแนวคิดด้วยภาษาของตนเอง

โดยในรายละเอียด iLaw เปิดเผยว่า งานวิชาการของ ส.ว.รายนี้มีการหยิบยกข้อความมากกว่า 30 หน้า จากหนังสือ ‘รูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทย’ จากสถาบันพระปกเกล้า ตีพิมพ์เมื่อปี 2558 และยังมีส่วนที่หยิบยกมาจากงานวิชาการอื่นๆ อีก เช่น วารสารจุลนิติของ ส.ว. เรื่อง ‘สภาขุนนางอังกฤษ’ เขียนโดยปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์ เผยแพร่ปี 2558 วิทยานิพนธ์ของ วัชรพล โรจนวงรัตน์ เรื่อง ‘รูปแบบวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่วุฒิสภาแห่งราชอาณาจักรไทย’ ตีพิมพ์เมื่อปี 2560 รวมไปถึงบทความของไชยันต์ ไชยพร เรื่อง ‘วิกฤตการเมืองมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีจริงหรือ? (ตอนที่หนึ่ง)’ เผยแพร่เมื่อปี 2563

ต่อมาสมชายออกมาปฏิเสธว่า เรื่องที่ถูกตั้งแง่นั้นไม่เป็นความจริง โดยอ้างว่า งานของตนมีการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540, 2550 และ 2560 นักวิชาการและภาคประชาชนแล้ว

อย่างไรก็ตามในส่วนของบททบทวนวรรณกรรม (Literature Review) ยอมรับว่าพิมพ์ตกหล่นจริง แต่ก็ได้ขออนุมัติแก้ไขกับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรียบร้อยแล้ว

แม้ว่าวาระของวุฒิสมาชิกจะหมดอายุลงไปแล้ว แต่สิ่งที่ได้กระทำไว้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่หมดอายุตามลงไป แต่มันกลับถูกจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ สะท้อนถึงบทบาทการทำหน้าที่ของวุฒิสภาที่ถูกมองว่าเป็น ‘แขนขา’ ของคณะรัฐประหาร

สุดท้ายนี้ ก็ถึงเวลาประชาชนที่จะต้องพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่และตัดเกรดการทำงานของพวกเขาเหล่านั้น และทิ้งคำถามตัวโตๆ ว่าพวกเขาได้ทำหน้าที่ได้สมศักดิ์ศรีความเป็น ‘วุฒิสมาชิก’ แล้วหรือยัง?

Tags: , , , , ,