ว่ากันว่าในปี 2023 เวลาเดินเร็วขึ้นมากในความรู้สึกของมวลชน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปี 2020-2022 ที่เวลาของคนส่วนใหญ่เดินช้าลงจากการล็อกดาวน์ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา เราหลายคนจึงอาจรู้สึกเหมือนกันว่า เวลาและเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านไปไวอย่างกับโกหก รู้ตัวอีกทีก็ใกล้จะสิ้นปีเสียแล้ว

นอกจากจะเป็นปีแรกๆ ที่เราสามารถสลัดความกังวล กลับมาเล่นสนุก ท่องเที่ยว และกินดื่มได้อย่างเต็มคราบแล้ว ยังมีเหตุการณ์อันเป็นหมุดหมายสำคัญมากมายเกิดขึ้นในปีนี้

ไม่ว่าจะเป็นการออกแคมเปญหาเสียงห้ำหั่นกันและการเลือกตั้งในช่วงครึ่งปีแรก สงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ปะทุขึ้นในครึ่งปีหลัง รวมถึงการที่อินฟลูเอนเซอร์เกย์และหญิงข้ามเพศ (หรือเหล่า ‘พี่กะเทย’) อย่างกลุ่มหิ้วหวี หรือฟลุ๊คกะล่อน ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในการสร้างพลวัตใน Pop Culture ไทย

เนื่องในวาระส่งท้ายปีเก่า The Momentum จึงถือโอกาสนี้ รวบรวม ‘12 ศัพท์ไวรัล’ ที่บันทึกเหตุการณ์และกระแสความรู้สึกนึกคิดของคนไทยบนโลกออนไลน์ในช่วงเวลาต่างๆ ของปีนี้เอาไว้ เพื่อให้เรายังคงจดจำปีที่เต็มไปด้วยสีสันนี้ได้ แม้ว่าความทรงจำเหล่านี้จะค่อยๆ เก่าลง จนกระทั่งถูกเรื่องราวใหม่ๆ ในปีถัดไปเข้ามาแทนที่ในที่สุด 

JANUARY: เลือดกรุ๊ปบี

เปิดตัวเดือนแรกของปีด้วยประโยคไวรัลในหมู่คนเหงา ‘ต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหน’ และ ‘เพราะเลือดกรุ๊ปบีหรือเปล่า?’ จากเพลง เลือดกรุ๊ปบี ผลงานฮิตติดลมบนของ เอิ้ก-ชาลิสา ด้วยเนื้อเพลงที่ทำให้คนโสดรู้สึกรีเลตกันทั้งบ้านทั้งเมือง

ต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหน ไม่เข้าใจเลยสักครั้ง

ไอ้ที่เขาทำฉันนั้นก็ทำ แต่ทำและไม่เคยสมหวัง

หรืออาจเป็นเพราะพื้นดวงหรือเปล่า หรือเป็นที่ราศีของดวงดาว

เลยทำให้ฉันต้องเหงาอย่างนี้อยู่ใช่ไหม

ก็แค่ต้องการให้ใครมาคอยช่วยดูแลความเหงา

หรือเป็นเพราะเราเกิดมาในเดือนประจำคนโสดอยู่ใช่ไหม

หรือเป็นเพราะเลือดกรุ๊ปบีหรือเปล่า ต้องเปลี่ยนเบอร์โทรสักทีรึเปล่า

ขอแค่ให้ฉันมีคนมารักหน่อยได้ไหม ไม่โสดอีกแล้วได้เปล่า

เนื้อเพลงแสดงให้เห็นถึงวิธีการรับมือกับความจริงอันไม่น่าอภิรมย์ ด้วยการหาคำอธิบายที่ไม่เกี่ยวข้องมากลบเกลื่อนเหตุผลที่แท้จริง เช่น แทนที่จะยอมรับว่าตอนนี้ไม่มีใครชอบเราอยู่เลยจริงๆ ก็ไปโทษดวงชะตา โทษกรุ๊ปเลือดแทนก็สิ้นเรื่อง เราจะได้ไม่ต้องรู้สึกแย่กับตัวเองเกินไปนัก

ภายหลัง ประโยค ‘เพราะเลือดกรุ๊ปบีหรือเปล่า?’ ได้ถูกชาวเน็ตนำมาใช้เป็นวิธีการตอบกลับคำถามอะไรก็ตามที่คนถูกถามขี้เกียจหาคำตอบ อยากเลี่ยง หรือรู้สึกลำบากใจที่จะตอบ เช่น

ทำไมยังไม่มีแฟน? เพราะเลือดกรุ๊ปบี

ทำไมถึงมาสาย? เพราะเลือดกรุ๊ปบี 

ทำไมติดโควิด? เพราะเลือดกรุ๊ปบี

ฯลฯ

FEBRUARY: ตัวมัม ตัวมารดา ตัวให้นมบุตร

แม้วัฒนธรรมการแสดงความชื่นชม โดยการใช้คำว่า ‘แม่’ ในผู้หญิงและชุมชนกะเทยไทยจะมีมาพักใหญ่แล้ว แต่ความไวรัลของคำว่า ‘ตัวแม่’ ในปี 2023 เริ่มต้นขึ้นจากประโยค “ลินลดา เธอมันเริ่ด! ตัวแม่! ตัวปัง!” ในคลิปรีแอกชันซีรีส์เรื่อง The Interns ของ อติรุจ อาษาศึก หรือที่รู้จักกันในชื่อ หมอเอิร์ธฐา (Aertha) ที่กลายเป็นกระแสได้ เนื่องจากเป็นวิดีโอที่ให้ความรู้อินไซต์ด้านการแพทย์ ควบคู่ไปกับความฮาและจริตจะก้านของเหล่าเพื่อนหมอ 

ก่อนจะวิวัฒนาการตามมาอย่างรวดเร็ว ด้วยจักรวาลสารพัดคำอวยด้วยคุณลักษณะความเป็นแม่ ไม่ว่าจะเป็น ตัวมัม ตัวมารดา ตัวให้นมบุตร ตัวสูตินรีเวช และอีกมากมาย

MARCH: กี่โมง

แม้จะดูเป็นคำถามที่ไม่ได้มีนัยอะไร นอกเหนือไปจากน้ำเสียงเย้ยหยันแดกดันที่ติดมากับตัวหนังสือ แต่จริงๆ แล้ว นี่เป็นศัพท์ไวรัลที่เริ่มขึ้นจากข้อถกเถียงทางการเมืองในช่วงเดือนมีนาคม หรือประมาณ 2 เดือนก่อนเลือกตั้ง เริ่มใช้โดยโหวตเตอร์ของพรรคเพื่อไทยหรือ ‘นางแบก’ เพื่อตอกกลับไปยังโหวตเตอร์พรรคก้าวไกลหรือ ‘ติ่งส้ม’ ว่า

– หากไม่เห็นด้วยว่าควรสู้ไปตามระบบผ่านการเลือกตั้ง โดยอ้างว่าระบบไม่โปร่งใส แล้วพรรคก้าวไกลจะ ‘ปฏิวัติกี่โมง’

– สืบเนื่องจากที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า แคนดิเดตพรรคให้สัมภาษณ์ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ในการร่วมพรรคกับขั้วรัฐบาลเดิมว่า อาจเป็นการเปิดช่องให้มีการจับมือกับเผด็จการ ฝั่งนางแบกเห็นว่าเป็นการกล่าวหาเกินจริง จึงเป็นที่มาของประโยค ‘ดีลลับกี่โมง’ ‘จับมือกี่โมง’ หรือ ‘ตั้งรัฐบาลแข่งกี่โมง’

ภายหลัง ฝั่งกองเชียร์พรรคก้าวไกลเองก็ได้นำคำนี้กลับมาใช้ด้วยเช่นกัน เช่น ‘ไปอยู่เกาะกี่โมง’ ‘ปิดสวิตช์กี่โมง’ หรือ ‘ชลน่านลาออกกี่โมง’

แต่ในที่สุด เมื่อคำศัพท์เริ่มได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง ใช้ได้กับบริบททั่วไป นัยทางการเมืองของคำก็เริ่มจางหายไป เหลือเพียงน้ำเสียงกระแหนะกระแหนของผู้พูด ยามใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง ที่กล่าวเกินจริงว่าจะมีสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้น แต่ไม่เห็นจะเกิดขึ้นจริงสักที เช่น เลิกเบียวกี่โมง ถูกหวยกี่โมง เดือนธันวาหนาวกี่โมง 

APRIL: ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึงแล้ว

ถือเป็นประโยค All Time Favorite ที่ได้รับความรักอย่างล้นหลาม เพราะเป็นที่นิยมตั้งแต่ต้นปียันท้ายปี ใช้ในสถานการณ์ที่อยากตอบกลับพวกชอบทำตัวมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ วิจารณ์ทุกคนยกเว้นตัวเอง อันนั้นก็ไม่ดี อันนี้ก็ไม่ได้ ไม่มีใครเก่ง ไม่มีใครดีเลิศเท่ากับเจ้าตัวเอง

คาดว่าหนึ่งในคนดังที่ทำให้ประโยคนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นคือ ปุ้มปุ้ย-พรรณทิพา อรุณวัฒนชัย ที่ต้องรับมือกับดราม่าชาวเน็ต เมื่อเธอตัดสินใจเปิดหน้าลูกชายของตัวเอง หลังจากเคยแสดงจุดยืนเอาไว้ในอดีตว่าจะไม่เปิดเผยหน้าตาเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของลูก

MAY: มีลุง ไม่มีเรา

นี่คือมอตโตหาเสียงที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกลใช้ปราศรัยในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ก่อนจะกลายมาเป็น Catch Phrase ที่สื่อหลายเจ้านำมาใช้ทั้งในการพาดหัวข่าวและสัมภาษณ์จุดยืนแคนดิเดตพรรคต่างๆ

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แคนดิเดตพรรคเพื่อไทยเพียงคนเดียวในขณะนั้น แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ‘มีลุง ไม่มีผม’ โดยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ The Secret Sauce ว่า หากในท้ายที่สุดมติของพรรคลงเอยที่ต้องจับมือกับพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิม ซึ่งขัดกับจุดยืนส่วนตัวของเขา เขามั่นใจ 100% ว่าในกรณีนั้น ประเทศไทยคงจะไม่มีโอกาสได้มีนายกฯ ชื่อเศรษฐาอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี อย่างที่เราทราบกันว่า หลังจากพรรคก้าวไกลไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เพราะขาดเสียงจากฝั่ง ส.ว.พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคภูมิใจไทย โดยเสนอชื่อเศรษฐาเป็นนายกฯ ถือเป็นการปิดตำนาน ‘มีลุง ไม่มีเรา’

JUNE: คนไทยคนแรก

มองผิวเผินดูน่าจะเป็นวลีที่มีความหมายในเชิงบวก แต่ปัจจุบันวลีนี้ถูกเอามาใช้กล่าวแซะโดยมีความหมายว่า ‘สะเหล่อ’ มักใช้ในสถานการณ์ที่ใครบางคนแสดงออกอย่างมั่นใจว่า การกระทำของตนเป็นเรื่องพิเศษจนต้องชื่นชม หรือผู้ที่กระทำการบางอย่างด้วยทัศนคติแบบ ‘ฉันมาก่อนกาล’ ทั้งที่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แปลกใหม่อะไร

นอกเหนือจากคนไทยคนแรก ก็ยังมีอีกคำหนึ่งที่มีความหมายคล้ายกัน คือ ‘ดอตคอม’ ย่อมากจากคำเต็มคือ ‘สะเหล่อแดกดอตคอม’

JULY: I told พระแม่ลักษมี about you

มีที่มาจากเทรนด์การแชร์ประสบการณ์การบรีฟมูเตลูขอแฟนกับพระแม่ลักษมีอย่างละเอียด และพร้อมรายงานผลลัพธ์จากการมูเป็นหวานใจที่คุณสมบัติใกล้เคียงกับบรีฟข้างต้น

โดยสาเหตุที่ต้องเป็นพระแม่ลักษมี ก็เป็นเพราะว่าพระนางเป็นเทพฮินดูที่โด่งดังเรื่องความรัก เนื่องจากมีความซื่อสัตย์ที่มีต่อพระนารายณ์ซึ่งเป็นสวามี สายมูทั้งหลายปักใจเชื่อว่า หากขอพรด้านความรัก พระแม่ลักษมี ถือเป็นเทพที่ยืนหนึ่ง เพราะสามารถดลบันดาลเนื้อคู่ตรงตามที่ใจเราปรารถนาได้

นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นพัฒนาการความนิยมของความเชื่อเรื่องดวงชะตาและโหราศาสตร์ในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่ยังคงแรงดีไม่มีตกในปี 2023 นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับความรักและการหาคู่ครองที่เหมาะสมให้กับตนเอง

AUGUST: คนจนล่ะมีสิทธิ์ไหมคะ

คนจนล่ะมีสิทธิ์ไหมคะ มีงานให้ทำไหมคะ 

ปริญญาไม่มี แต่มีxีนะคะ แต่มีxมอยนะคะ

ท่อนเพลง Earworm สุดไวรัลที่ต่อให้ได้ยินระหว่างไถดูรีลเพียงแค่ครั้งเดียวก็ไม่มีทางลืมได้ลง ด้วยภาพของนักร้องสาวหน้านิ่ง ขัดกับจังหวะเพลงหมอลำสุดโจ๊ะ และเนื้อเพลงหยาบคายชนิดขวานผ่าซาก ซึ่งเรียกได้ทั้งเสียงฮือฮาและเสียงหัวเราะหัวเราะไปในขณะเดียวกัน

เดิมทีเนื้อเพลง “คนจนมีสิทธิ์ไหมครับ มีงานให้ทำไหมครับ” เป็นท่อนหนึ่งจาก สมองจนจน เพลงร็อกเนื้อหาเพื่อชีวิตจากยุค 80 ของวงพลอย ซึ่งมี แจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์ เป็นคนแต่ง อย่างไรก็ตาม คลิปไวรัลที่เราเห็นกันในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คือโชว์ช่วงหนึ่งของคณะหมอลำ ทิวลิป เอ็นเตอร์เทนเมนท์ เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน

นอกจากสะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและการต่อสู้ทางชนชั้น เนื้อเพลงที่ใครหลายคนอาจมองว่าสุดแสนจะแปลก สัปดน และบัดสีบัดเถลิงนี้ ยัง Empower ผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นหญิงชาวบ้านที่ฟังเพลงหมอลำในยุคนั้น หรือผู้ใช้สื่อโซเชียลฯ ที่มาพบเห็นคลิปในยุคนี้ ให้สามารถพูดถึงเรื่องเพศและอาชีพขายบริการได้อย่างภาคภูมิ

SEPTEMBER: ไอ้เราก็เท่ซะด้วย ทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย

เป็นประโยคที่มีที่มาจาก เก้า-จิรายุ ละอองมณี นักแสดงวัย 27 ปี และนักร้องนำคนปัจจุบันของวงดนตรี Retrospect ขณะให้กับสัมภาษณ์สื่อแห่งหนึ่ง ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขาและแฟนสาว วี-วิโอเลต วอเทียร์ เมื่อถูกถามว่า ตั้งแต่มาเป็นนักร้องนำเต็มตัว มีแฟนคลับผู้หญิงมาห้อมล้อม เคยเกิดปัญหาหึงหวงกันขึ้นระหว่างทั้งคู่บ้างไหม โดยจิรายุตอบว่า

ไอ้เราก็เท่ซะด้วยอะ ทีนี้ก็ลำบาก ก็ว้าวุ่นเลย บางทีแบบไปเจอสาวสวยๆ มากรี๊ดกร๊าดอะไรอย่างนี้ เธอจะเผลอใจบ้างไหม เขาก็มีถามเรา แต่เราก็บอกว่าไม่ เราไม่สนใจอยู่แล้ว เธอทำให้ผู้หญิงทุกคนบนโลกใบนี้สวยน้อยลง

ต่อมาคลิปนี้จึงถูกดูดเสียงไปทำเป็นคลิปลิปซิงก์คัฟเวอร์ลง TikTok ส่วนข้อความท่อน ‘ทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย’ ก็ถูกตัดทอนและดัดแปลงมาใช้เป็นแคปชันและมีมขำขันที่คนแชร์กันบนโซเชียลฯ ไปโดยปริยาย

OCTOBER: วาสนาผู้ใด

เดิมที “วาสนาผู้ใด๋น้อ” ถูกพูดโดยสำเนียงภาษาอีสาน เป็นประโยคคำถามว่าใครกันที่จะได้เป็นผู้โชคดี ได้เป็นแฟน ได้ครอบครองคนที่มีคุณสมบัติเพอร์เฟกต์จนอยู่ในระดับที่ถือว่าเกินเอื้อมสำหรับคนทั่วไป 

‘วาสนาผู้ใด’ ได้กลายมาเป็นประโยคฮิตกว่าเดิม หลังจาก Parkmelody หรือ ปาร์ค-สินสมุทร เขียวขาว ยูทูบเบอร์และนักร้องผู้โด่งดังมาจากรายการ I Can See Your Voice Thailand นำประโยคดังกล่าวมาแต่งเป็นเพลง 

ต่อมาเริ่มมีการเอาไปใช้ปรับกับสถานการณ์ความโชคดีในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องความรักด้วย เช่น วาสนาผู้ใดหนอที่จะได้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1  

NOVEMBER: ซอฟต์พาวเวอร์

จริงๆ แล้วคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) คำศัพท์วิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคำนี้ เป็นที่พูดถึงโดยคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2565 ในสมัยของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากเขาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์มิลลิกินข้าวเหนียวมะม่วงระหว่างทำการแสดงในเทศกาลดนตรี Coachella โดยได้พูดผิดไปเป็นคำว่าซอฟต์แวร์ (Software)

อย่างไรก็ดี ผู้คนได้กลับมาพูดคุยถกเถียงถึงความหมายของซอฟต์พาวเวอร์อีกครั้ง หลังจากเพื่อไทยประกาศชูนโยบาย ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคน โดยเฟ้นหาศักยภาพของคนไทยทุกครอบครัวเข้ามาเรียนรู้ เพื่อเพิ่มทักษะสร้างสรรค์ของตัวเอง เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ประเทศสามารถผลักดัน ‘ซอฟต์พาวเวอร์ไทย’ ให้เป็นเวทีโลก

ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลเพื่อไทยแสดงความพยายามในหลายโอกาสที่จะสนับสนุนกิจการต่างๆ ของคนไทย โดยการเรียกสิ่งต่างๆ เหล่านี้ว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ว่าจะเป็นไก่ย่างเขาสวนกวาง ไอศกรีมลายศรีเทพ งานนวราตรี จักรวาลภาพยนตร์ไทบ้าน น้ำเต้าหู้แบรนด์โทฟุซัง หรือรองเท้าแบรนด์นันยาง แต่กลับได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งสื่อ นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปว่า เป็นการนำคำว่าซอฟต์พาวเวอร์มาใช้อย่างฉาบฉวยและผิดจากนิยามสากล

โจเซฟ ไนย์ (Joseph Nye) นักคิดคนสำคัญจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้นิยาม ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ว่า ความสามารถในการดึงดูด เปลี่ยนแปลง สร้างการมีส่วนร่วม และสร้างอิทธิพลต่อความคิดของสังคมและประชาชนในประเทศอื่น ผ่านทรัพยากรพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ โดยที่รัฐไม่ต้องใช้กำลังบังคับหรือให้เงิน

ดังนั้น อ้างอิงตามความหมายเดิม เราอาจสามารถกล่าวได้ว่า อาหารเครื่องดื่ม งานเทศกาล หรือสื่อบันเทิงของไทย เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของทรัพยากรที่มีศักยภาพในการเสริมสร้างซอฟต์พาวเวอร์ แต่อาจฟังดูผิดฝาผิดตัวไปสักนิด หากจะกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้คือซอฟต์พาวเวอร์ในตัวของมันเอง

DECEMBER: นอยด์อ่า

ปิดท้ายด้วยคำติดปากของฟลุ๊คกะล่อนจากคลิป VLOG WEEK ยาว 3 ชั่วโมงของช่อง โลกของคนมีหนวด ที่ชาวเน็ตติดงอมแงม

รู้ตัวอีกที “นอยด์อ่า” ก็ได้กลายมาเป็นศัพท์ใหม่มาแรงคำใหม่ล่าสุดแบบงงๆ จากความอเนกประสงค์ที่ทำให้คำนี้ใช้กับทุกโอกาส ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะร้ายหรือดี ข้าวจะอร่อยหรือไม่อร่อย ชุดจะสวยหรือไม่สวย สถานการณ์จะได้ดั่งใจเราหรือไม่ได้ ขอแค่ให้ได้พูดว่า “นอยด์อ่า” ตั้งรับเอาไว้ก่อน ทุกอย่างก็จะดีเอง

Tags: , , , , , , , ,