ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เราเห็นแบรนด์แฟชั่นเริ่มขยับตัวในประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ถ้าเทียบว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อันดับสองที่สร้างมลภาวะให้แก่โลกและสิ่งแวดล้อม ก็ถือว่ายังน้อยและช้าอยู่มาก ที่สำคัญ ยังไม่เห็นการร่วมมือกันอย่างจริงจังและเป็นทางการ จนกระทั่งการประชุม G7 ที่ผ่านมา

บริษัทระดับโลกที่ผลิตงานแฟชั่น 32 บริษัท ได้ร่วมมือกันประกาศพันธกิจต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน อาทิ Versace, Chanel, Ermenegildo Zegna, Gap, Giorgio Armani, H&M, Hermes, Zara, Karl Lagerfeld, Moncler, Nike, Prada, Puma, Ralph Lauren, Salvatore Ferragamo, Selfridges, Stella McCartney ฯลฯ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตเพื่อลดการทำลายธรรมชาติ ทั้งในแง่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลาสติก การไม่ใช้วัสดุที่มาจากระบวนการที่ทำลายธรรมชาติ ฯลฯ โดยมีกรอบเวลาภายในปี 2050 ที่จะทำให้ธุรกิจแฟชั่นเป็นธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดขยะหรือมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

แต่บางครั้ง สิ่งที่แบรนด์แฟชั่นสร้างขึ้นมาก็สร้างความสับสนให้แก่เราว่า เข้าใจประเด็นเรื่อง Reuse Reduce และ Recycle จริงหรือเปล่า หรือว่าที่จริงแล้ว ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงเทรนด์สำหรับแฟชั่น

หลอดทองเหลืองจาก Saint Laurent

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แบรนด์หรูอย่าง คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) ทำหลอดรียูสออกมาจำหน่าย เป็นหลอดแก้วลงสีและลวดลายสีทองหรูหรา หนึ่งกล่องมีหลอด 6 อัน ในราคา 150 ดอลลาร์สหรัฐ และล่าสุด แซงต์ โรลองต์ (Saint Laurent) ก็ทำหลอดรียูสออกมาจำหน่ายเช่นกัน หลอดทรงโค้งยาว 20 เซนติเมตร ทำจากทองเหลืองเคลือบเงามีสีดำและสีเงิน ในราคาอันละ 195 ยูโร ทั้งสองแบรนด์ไม่ได้บอกว่า หลอดที่ขายมาพร้อมกับแปรงทำความสะอาดหรือไม่

หลอดแก้วรียูสจาก Dior

เพื่อความยุติธรรมในการมองประเด็นนี้ แม้ราคาของหลอดรียูสอาจจะสูงสำหรับคนทั่วไป แต่หากเราพิจารณาว่าสำหรับคนที่มีกำลังซื้อและต้องการจะรักษ์โลกด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ยังเสริมส่งสไตล์ส่วนบุคคลและความเป็นแฟชั่นนิสต้าของคนนั้นๆ ก็เป็นการดีไม่ใช่หรือ ที่ทำให้เขามีทางเลือกในการรักษ์โลกที่เหมาะสมกับสไตล์ส่วนตัว

แต่สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามต่อไปก็คือ มันจำเป็นไหมที่จะต้องสร้างไอเท็มขึ้นมาอีกเรื่อยๆ (ไม่ว่าจะสร้างขึ้นมาเสริมส่งไลฟ์สไตล์แบบไหนก็ตาม) ในเมื่อเรื่องสิ่งแวดล้อมก็บอกในตัวอยู่แล้วว่า ต้องใช้ซ้ำ ลดการใช้ และนำกลับมาใช้ได้ แต่ยิ่งรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่าไร ยิ่งมีการผลิตขึ้นมาใหม่มากขึ้นและตลอดเวลา

โชว์คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน 2020 ของ Burberry

หรือแม้แต่อะไรคือการรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง ในอุตสาหกรรมแฟชั่น เพราะอย่างล่าสุด ในงานลอนดอนแฟชั่นวีค ฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน 2020 แบรนด์ที่เคยมีกรณีการนำเอาสินค้าที่ขายไม่ออกไปเผาทิ้งอย่างเบอร์เบอรี่ (Burberry) ก็ประกาศว่า โชว์ครั้งนี้เป็นโชว์ที่ไม่ก่อให้เกิดการผลิตคาร์บอน (Carbon Neutral) ที่สร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากกว่า แท้จริงแล้วเบอร์เบอรี่เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน เพราะในโชว์ดังกล่าวมีทั้งการใช้นางแบบจากสหรัฐฯ (เคนดัล เจนเนอร์) ที่ต้องบินมาร่วมโชว์ และแขกฟรอนต์โรว์จากทั่วโลกอีกหลากหลายคน ในขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าก็สร้างคาร์บอนแล้ว ดังนั้นจะสามารถเรียกได้ว่าเป็นโชว์ที่ไม่ก่อให้เกิดการผลิตคาร์บอนได้อย่างไร

ความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมอีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ ปัจจุบันเราจะเห็นว่าปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด และแบรนด์แฟชั่นหรือแบรนด์ที่ผลิตแฟชั่นไอเท็มต่างๆ ต่างก็สอดรับในประเด็นนี้ โดยผลิตเสื้อผ้าหรือไอเท็มอื่นๆ จากขยะพลาสติกออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นแคมเปญ เป็นมาร์เก็ตติ้งเรื่องสิ่งแวดล้อมของแบรนด์แฟชั่นไปแล้ว

ในแง่หนึ่ง เป็นเรื่องดีที่มีความพยายามนำขยะพลาสติกมาสร้างสรรค์ หมุนเวียนให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่คำถามที่สำคัญก็คือ ขยะพลาสติก ก็คือสิ่งที่อุตสาหกรรมแฟชั่นผลิตขึ้นมา จนไปสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมใช่หรือไม่ หรือหากไม่ใช่ มันคืออะไร เพื่อที่อุตสาหกรรมแฟชั่นจะได้ไปจัดการที่ตัวปัญหาจริงๆ และอีกหนึ่งคำถามสำคัญคือ จะแน่ใจได้อย่างไรว่า ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากขยะพลาสติกนั้น ไม่ได้สร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อมขึ้นมาอีก

หากดูข้อมูลจากบริษัทเคอริ่ง (Kering) ซึ่งเป็นบริษัทแฟชั่นยักษ์ใหญ่ของโลก มีแบรนด์ชั้นนำมากมายอย่าง Gucci, Saint Laurent, Bottega Veneta, Baleniciaga ฯลฯ และเจ้าของบริษัท ฟรองซัวส์ อองรี ปิโนลต์ คือหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการประสานงานพันธมิตรแบรนด์ต่างๆ ให้มาร่วมมือกันลงนามในพันธกิจต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนในการประชุม G7 ที่ผ่านมา 

โดยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจแฟชั่นของบริษัทเคอริ่งนั้น อันดับหนึ่งก็คือการใช้พื้นที่สำหรับวัสดุพื้นฐานที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น เช่น การปลูกฝ้ายเพื่อนำมาทำผ้าคอตตอน การปศุสัตว์เพื่อนำหนังหรือขนมาใช้ในการทำเสื้อผ้า ซึ่งเรามีบทเรียนแล้วจากกรณีไฟไหม้ป่าแอมะซอนที่เกิดจากการขยายพื้นที่เพื่อทำปศุสัตว์ 

รองลงมา ก็คือการสร้างก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการกิจกรรมเหล่านั้น ตามมาด้วยมลพิษทางน้ำ การใช้น้ำ มลพิษทางอากาศ และส่วนที่น้อยที่สุดก็คือ ขยะที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมแฟชั่น 

จะเห็นได้ว่า ต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดอุตสาหกรรมแฟชั่น ไม่ใช่พลาสติก ไม่ใช่ขยะ (เพราะฉะนั้นการพยายามจะสร้างผลิตภัณฑ์จากขยะพลาสติกจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดเท่าไรในอุตสาหกรรมแฟชั่น) แต่เป็นกระบวนการทั้งหลายทั้งแหล่ (Supply Chain) ในขั้นเริ่มต้นในการผลิตวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นผ้า หนัง หรือโลหะ ในขณะที่ขั้นตอนการแปรรูปวัตถุดิบเหล่านั้น ก่อให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ามาก และน้อยลงไปอีกในขั้นการผลิตผลิตภัณฑ์ และน้อยมากที่สุดในขั้นการจัดจำหน่าย 

คำถามที่ว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นกำลังโฟกัสผิดจุดหรือไม่ ข้อมูลจากบริษัทเคอริ่ง คงเป็นคำตอบได้ดี

และสิ่งที่บริษัทเคอริ่งทำคืออะไร

เคอริ่งออกรายงานที่เรียกว่า Environmental Profit and Loss ออกมาให้ประชาชนหรือผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่า ในกระบวนการทำธุรกิจนั้น เคอริ่งใส่ใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง วัสดุแต่ละอย่างนั้นมาจากไหน และในกระบวนการผลิตแมตทีเรียลนั้นๆ มีมาตราการในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร มีผลลัพธ์ ผลได้ผลเสียอย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้บริโภคสายสีเขียวใช้ในการตัดสินใจ

กระเป๋ารุ่น Cardinal-Red Dionysus จาก Gucci 

ยกตัวอย่างเช่น กระเป๋าที่ทำจากหนัง ปกติการสร้างสรรค์กระเป๋าของแบรนด์แฟชั่นจะใช้โครเมียมในการฟอกหนัง ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมลพิษทางน้ำ ซึ่งเคอริ่งได้ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ก่อให้เกิดสารพิษจากโครเมียมที่เกิดจากกระบวนการฟอกหนัง กระเป๋าของ Gucci จะมีแท็กเพื่อบ่งบอกถึงกระบวนการการฟอกหนังที่ปราศจากสารโครเมี่ยม เช่น รุ่น Cardinal-Red Dionysus หรือแม้แต่การออกไลน์กระเป๋าที่ชื่อ Zumi ซึ่งฮาร์ดแวร์ที่ใช้บนตัวกระเป๋าทั้งหมด มาจากการรีไซเคิลอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือกระเป๋ารุ่น Pouch จากแบรนด์ Bottega Veneta ที่ผลิตจากจุกคอร์ก

กระเป๋ารุ่น The Pouch จาก Bottega Veneta

นอกจากนี้ ในด้านการผลิตวัตถุดิบก่อนการแปรรูป โดยเฉพาะการปลูกฝ้ายเพื่อผลิตผ้าคอตตอน ยังมีการร่วมมือกับกลุ่มบริษัท Supima ที่การันตีว่า การผลิตผ้าตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการทอนั้น เป็นกระบวนการที่ได้รับการรับรองทางด้านสิ่งแวดล้อม และเสื้อแต่ละตัวสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงไร่ที่ปลูกฝ้ายได้เลย

คอลเล็กชั่น Zumi จาก Gucci

แต่ก็ไม่รู้ว่า ทั้งหมดทั้งมวลจะมาตกม้าตายที่หลอดรียูสของแซงต์ โลรองต์ หรือเปล่า

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ทำให้เราเห็นความเคลื่อนไหว แม้จะยังไม่มากพอ แต่ก็เป็นแรงกระตุ้นที่ดีให้แบรนด์และบริษัทต่างๆ ที่ร่วมอุตสาหกรรมเดียวกันหันมาใส่ใจในเรื่องกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

ในขณะเดียวกันในแต่ละประเด็นที่ทำออกมาก็จะได้รับการตรวจสอบว่า หนทางการรักษ์โลกของวงการแฟชั่นนั้นเดินมาถูกทางหรือยัง และคงไม่มีใครจะตรวจสอบได้ดีไปกว่าผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละ 

อ้างอิง:

https://www.bloomberg.com/news/features/2019-08-20/gucci-and-saint-laurent-face-an-uphill-battle-to-get-green

https://www.scmp.com/magazines/style/news-trends/article/3024393/what-balenciaga-gucci-and-saint-laurents-owner-kering

https://blog.greenfashionweek.org/fashion-sustainability-in-progress-louis-vuitton-and-dior/

ภาพ: Courtesy of Designers 

 

 

Tags: , , ,