ฉากของการเดินทางกลับบ้านหรือนั่งบนโต๊ะอาหารรายล้อมไปด้วยพ่อแม่พี่น้อง ปู่ย่าตายาย หรือเครือญาติทั้งหลายที่มารวมตัวกันปีละครั้งสองครั้งในช่วงวันหยุดยาวของคุณนั้นเหมือนกันหรือเปล่า คุณต้องตอบคำถามเรื่องเงินเดือนและความก้าวหน้าในอาชีพการงานไหม ต้องอธิบายไหมว่าฟรีแลนซ์นั้นหมายความว่ายังไง สำหรับคนโสดล่ะ พ่อแม่คุณอาจจะไม่ถามว่ามีแฟนหรือยัง หรือทำไมยังไม่แต่งงานแต่ป้าอาจจะพูดว่า “ลูกบ้านนั้นเขาเพิ่งแต่งงานนะ เมื่อไรหนูจะแต่ง”

อย่าเพิ่งเบ้ปากมองบน จงยิ้มแล้วตักอาหารเข้าปากเข้าไว้ หรือสำหรับคนที่มีคู่แล้ว ก็อาจจะถูกถามว่าเมื่อไรจะมีลูก หรือไม่นี่ก็อาจจะเป็นการดีในการแถลงข่าวแจ้งแก่ทุกคนว่า “เรากำลังจะหย่ากัน” หรือ “หนูเป็นเลสเบี้ยนค่ะ”

เนื่องในวันครอบครัว ที่ไม่รู้ว่านอกจากฉากซึ้งๆ ที่จะเกิดขึ้น จะมีฉากดราม่าหรือไม่ เราขอชวนมาเปิดดูหนังครอบครัว ฉากแห่งการเดินทางกลับบ้าน การเผชิญหน้า ที่บางทีก็มีน้ำตา และบางทีก็ถึงขั้นล้มโต๊ะกันเลยทีเดียว

 

August : Osage County (2013)

หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ สิ่งแรกที่ฉันรู้สึกก็คือ ทำไมเมอรีล สตรีพ (แม้จะโอเวอร์แอคติ้งมากไปหน่อย) หรือจูเลีย โรเบิร์ตส ไม่ได้ออสการ์จากเรื่องนี้ (วะ) ฉากโต๊ะอาหารที่ถ่ายแบบลองเทคยาว 20 นาทียังคงติดตราตรึงใจอยู่เลย รวมไปถึงการระเบิดอารมณ์ของจูเลีย โรเบิร์ตส ที่น้อยนักเราจะได้เห็นเธอแสดงในคาแร็กเตอร์แบบนี้ (อีกบทหนึ่งที่ชอบก็คือ The Normal Heart ซีรีส์ใน HBO) เรียกได้ว่าเป็นหนังที่จับนักแสดงมีฝีมือมาประชันกันอย่างดุเดือดเชียวล่ะ

แต่คิดกลับกันว่า ถ้านี่คือฉากโต๊ะอาหารของครอบครัวเราบ้างล่ะ…คงไม่มีใครอยากจะเจอกับสถานการณ์อย่างนี้ใช่ไหม

August : Osage County ว่าด้วยการกลับมารวมตัวกันของลูกสาวในตระกูล ‘Weston’ ในงานศพ ที่มีแม่ไวโอเลต เวสตัน (เมอรีล สตรีพ) เป็นมะเร็ง ติดยา และปากร้ายถึงที่สุด ลูกสาวที่ทุกคนก็ต่างมีปมเกี่ยวกับครอบครัวในใจ ที่พร้อมจะนำมาเปิดเปลือย เชือดเฉือนแล่เนื้อเถือหนังกันบนโต๊ะ จนลืมคิดไปว่าต่างคนก็ต่างเป็นสายเลือดเดียวกัน

ฉันว่าปัญหาหลักของครอบครัว ไม่ใช่แค่ครอบครัวแวสตันหรอก แต่อาจจะเป็นอีกหลายครอบครัวเชียวล่ะ ก็คือเราต่างใช้การปกป้องตัวเองในทางที่ผิดอยู่สักหน่อย ปม ความผิดบาปทั้งหลายของเราในใจนั้นถูกกระบวนการการรักตัวเอง ปกป้องตัวเองด้วยการเก็บมันไว้ให้ลึกสุดใจ แล้วดึงมีดประจำตัวของเราขึ้นมาเพื่อไปเชือดเฉือนปมของคนอื่นๆ เขาจะได้ไม่มาแตะต้องปมของเรา ทั้งในนามแห่งการเห็นว่ามันถูกต้อง ในนามแห่งการเป็นห่วงเป็นใย ในนามแห่งการน้อยเนื้อต่ำใจ ในนามแห่งการเห็นแก่ตัว หรือแม้กระทั่งในนามแห่งการเป็นพี่น้องที่รักกัน

อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว บางครั้งเราก็หยิบมีดประจำตัวของเราแทงผู้อื่นไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่เราจะถูกเขาแทงและแล่เนื้อปมของเราที่ไม่อยากให้ใครได้เห็นนั้นออกมา มันเจ็บปวด ว่าไหม

 

Rachel Getting Married (2008)

ฉันรักแอนน์ แฮทธาเวย์ ในหนังเรื่องนี้จัง มากไปกว่านั้น ฉากแต่งงานในหนังเรื่องนี้คือฉากคลาสสิกในใจของฉัน เสียงร้องเพลง ‘Unknown Legend’ ของ นีล ยัง โดยทุนเด อเดวิมเป ที่แสดงเป็นเจ้าบ่าวในเรื่อง มันช่างเรียบง่าย ลึกซึ้ง จริงใจ และกินใจเป็นที่สุด ฉันว่ามันเป็นงานแต่งงานในฝันของใครหลายคนเลยล่ะ สารภาพว่าทุกครั้งที่ดูฉากนี้ แม้กระทั่งในยูทูบฉันก็ยังร้องไห้อยู่

คุณเป็นเหมือนฉันไหม

คิมคือน้องสาวที่กำลังจะเดินทางกลับไปบ้าน ไปงานแต่งงานของพี่สาวของเธอ ราเชล พี่สาวที่สวยงาม อ่อนหวาน และมีชีวิตที่น่าอิจฉา ต่างจากเธอที่ชีวิตตกอับ ติดยา และแบกความรู้สึกผิดบาปว่าเป็นตัวการการตายของน้องชายไว้ในใจ แต่แล้วการเดินทางกลับบ้านเพื่อมางานแต่งงานในครั้งนี้มันคือการเดินทางกลับมาปัญหาที่เธอเลือกจะทิ้งไว้และจากไป

แต่จริงๆ ปัญหานั้นมันไม่ได้อยู่แค่ที่บ้านหรอก…มันอยู่ในใจเธอ เธอเอามันไปด้วยต่างหาก ปมที่มันยังไม่ถูกแก้ แม้จะซุกซ่อนมันไว้ที่ไหน ทิ้งขว้างหรือวิ่งหนีอย่างไรมันก็ยังเป็นปมอยู่อย่างนั้น

คุณเคยรู้สึกเป็นแกะดำไหม รู้สึกเป็นตัวประหลาด ไม่เหมาะสมกลมกลืนกับที่ไหน แม้กระทั่งในครอบครัวคุณเอง คงเหมือนกับเพลง ‘Creep’ ของ Radio Head ฉันว่าคิมก็คงรู้สึกอย่างนั้น การกลับมางานแต่งงานในครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การเดินทางมาในฐานะน้องสาวเพื่อที่จะอวยพรพี่สาว แต่มันยังเป็นการเดินทางกลับมาคิมคนที่ (คิดว่าตัวเอง) เป็นสาเหตุการตายของน้องชาย คิมคนที่แม่ไม่รัก และคิมคนที่เต็มไปด้วยปัญหาที่ทำให้ต้องหนีออกจากบ้านเพื่อไปเป็นคิมคนใหม่

ซึ่งคิมคนใหม่ก็ไม่ได้ดีนักหรอกนะ…

ฉันว่าสิ่งหนึ่งที่คนเราควรมี นอกจากความเมตตาอารีต่อคนอื่นแล้ว เราควรจะต้องมีความเมตตาอารีต่อตัวเองด้วย บางครั้งการให้อภัยตัวเอง การเข้าใจตัวเอง เผชิญหน้ากับตัวเอง มันอาจจะเยียวยาตัวเองได้มากกว่าการที่ใครสักคนบอกว่ายกโทษให้เราก็ได้ แน่นอนล่ะว่า มันมีการต่อรอง ต่อสู้ และเจ็บปวดในกระบวนการนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้ก็คือ เราไม่มีทางหนีไปเป็นคนอื่นได้จริง ตลอดชีวิต เราอาจจะเป็นเราในบริบทใหม่ๆ แต่แล้ววันหนึ่ง โมเมนต์หนึ่ง ความเป็นเราอันดั้งเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงมันก็จะปรากฏร่างออกมาให้เราได้เห็น เผชิญกับมัน มันขึ้นอยู่ว่าเราจะอยู่กับมันอย่างไร ด้วยการต่อรอง หลบซ่อน หลบหนี เข้าใจ รู้ทันบ้าง หลงลืมไปบ้าง และคอยหยิกเตือนตัวเองเสมอหรือเปล่า

ในชีวิตฉัน ฉันหยิกจนตัวเขียวเชียวล่ะ

 

Little Miss Sunshine (2006)

มันเป็นหนังเรื่องเล็กๆ แสนอบอุ่นที่ออสการ์ก็หลงรัก เพราะที่จริงมันเป็นเพียงหนังอินดี้เล็กๆ ที่ค่อยๆ กวาดรางวัลตามเวทีการประกวดต่างๆ และได้รับความนิยมมากขึ้นๆ จนสามารถเข้าชิง 4 รางวัลออสการ์และได้รับมา 2 ตัวจากบทภาพยนตร์และนักแสดงสมทบชาย ที่ช่วยจุดประกายความหวังของหนังอินดี้บนเวทีออสการ์

นอกจากความสดใสของโอลีฟ ฉันยังชอบคุณปู่ขี้ยาที่รักหลานสาวขาดใจ

หนังเล่าเรื่องครอบครัวอเมริกันสุดเพี้ยนที่ต่างคนก็ต่างมีบุคลิกและความชื่นชอบสนใจที่แตกต่างกันออกไป พ่ออาจารย์สอนเทคนิค 9 ขั้นสู่การเป็นผู้ชนะ และพยายามหาทางตีพิมพ์ผลงานของตัวเอง ฟังดูอเมริกั๊นนน…อเมริกัน แม่เป็นแม่บ้านประสาทแดกที่พยายามจะเลิกสูบบุหรี่ น้า (ของโอลีฟ) เป็นเกย์ที่เพิ่งจะออกจากโรงพยาบาลหลังจากพยายามเชือดข้อมือตัวเองเพราะอกหัก พี่ชายเป็นเด็กเพี้ยนๆ ที่ไม่ยอมพูดกับใครจนกว่าจะได้เป็นนักบินและยังเป็นสาวกตัวยงของนิทเช่ นักปรัชญาชาวอัตถิภาวนิยมชาวเยอรมัน คุณปู่ขี้ยาที่ซู้ดโคเคนเป็นนิจ และสบถคำหยาบตลอดเวลา และสุดท้ายผู้เป็นดังหัวใจของบ้าน โอลีฟ สาวน้อยผู้ใฝ่ฝันจะเข้าประกวด Little Miss Sunshine

 หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้พาเราเดินทางกลับบ้าน แต่กำลังพาเราเดินทางออกนอกบ้านในแบบหนังโร้ดมูฟวี่ ที่ต้องผจญกับปัญหาต่างๆ ระหว่างการเดินทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในของตัวละครและคนดู และแม้จะเคลือบฉาบไปด้วยความตลก สนุกสนานในแบบแบล็กคอเมดี แต่ก็เต็มไปด้วยชั้นเชิงในการวางประเด็นที่ลึกซึ้งผ่านคาแร็กเตอร์ของตัวละครต่างๆ ในเรื่อง ที่นำมาใช้ในการเสียดสีสังคมและความเป็นอเมริกันชน มันดีตรงที่หากคุณจะดูให้สนุกสนานและน่ารักสดใส คุณก็จะได้สิ่งนั้น และในขณะเดียวกัน หากคุณจะคิดวิเคราะห์และจมดิ่งไปกับไข่อีสเตอร์ที่หนังซุกซ่อนประเด็นอันแหลมคนและแยบคายเอาไว้ คุณก็จะได้สิ่งนั้นเหมือนกันอีกด้วย ฉันชอบจังหนังที่ที่พยายามเล่นกับคนดูในทุกระดับชั้นของประสบการณ์ และไม่ได้กีดกันใครออกไปด้วยยี่ห้อหนังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอินดี้ หนังอาร์ต หนังแมส หนังซูเปอร์ฮีโร่ ฯลฯ

และที่ชอบมากกว่านั้นก็คือ ในนามแห่งความเป็นครอบครัวของครอบครัวนี้ มันทำให้เราเห็นว่า แม้เราจะเป็นครอบครัวเดียวกัน แต่เราก็ล้วนมีตัวตนเป็นของตัวเอง แตกต่างและไม่เหมือนกัน แต่ตัวตนที่แตกต่างกันนี้ไม่ได้เป็นข้อแม้ที่จะทำให้ครอบครัวแตกกระจายเป็นเสี่ยงๆ และเราเองก็ไม่จำเป็นต้องสงวนตัวตนของตัวเองเพื่อให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว หรือสิ่งอื่นใดก็ได้ แต่จุดมุ่งหมายสูงสุดของการเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือการเป็นครอบครัวคืออะไรล่ะ เราผลักดันมันไปสู่จุดมุ่งหมายนั้นร่วมกันได้ไหม ด้วยความแตกต่าง ด้วยความเป็นตัวของตัวเองที่แตกต่างหลากหลายนี่แหละ เราทำได้หรือเปล่า เรามองเห็นจุดมุ่งหมายนั้นร่วมกันไหม หรือเรามองเห็นแต่ความแตกต่างซึ่งกันและกัน

ความพยายามที่จะสร้างฝันของหนูน้อยโอลีฟในเรื่องนี้ โดยการผลักดันของสมาชิกครอบครัวที่ล้วนแล้วแต่แปลกประหลาดไปคนละแบบคงเป็นคำตอบได้ดี ว่าสุดท้ายแล้วความหมายของครอบครัวคืออะไร

Tags: , , , ,