ย้อนไปเกือบครึ่งปีที่แล้ว เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2562 ผู้เขียนเขียนบทความเรื่อง 5 ควรทำ + 5 ไม่ควรทำ สำหรับ ‘ศูนย์ต้านข่าวปลอม’ ซึ่งตอนนั้นจัดตั้งขึ้นหมาดๆ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) ด้วยความเป็นห่วงว่าศูนย์นี้จะกลายเป็นเครื่องมือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน มากกว่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบและเผยแพร่ข้อเท็จจริงของ ‘เฟคนิวส์’ ที่เป็นข่าวปลอมจริงๆ (นั่นคือ ข้อมูลเท็จที่มีผู้จงใจสร้างขึ้นมาและนำเสนอประหนึ่งเป็น ‘ข่าว’ เพื่อหลอกลวงคนอื่นให้เชื่อว่า ตัวเองเป็น ‘สำนักข่าว’ ที่น่าเชื่อถือ และเนื้อหานั้นเป็น ‘ข่าว’ จริงๆ) อย่างเป็นกลางและไม่เลือกข้างทางการเมือง)

ผู้เขียนมีเหตุให้ต้องกังวล เพราะกระทรวงดีอีเป็นหน่วยงานที่บังคับใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งถูกใช้ปิดปากประชาชนและนักเคลื่อนไหวตลอดมาหลายปี ถึงแม้ช่วงแรกๆ หลังจากที่มีการแก้ไขในปี 2560 จะมีแนวโน้มดีขึ้นจากการที่อัยการทยอยสั่งไม่ฟ้องคดี แต่หลังจากนั้นกฎหมายใหม่ก็ยังคงถูกใช้ปิดปากต่อไป โดยเฉพาะนักการเมือง นักกิจกรรม และประชาชนคนธรรมดาที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ 

ในบทความนั้นผู้เขียนเสนอว่า 5 เรื่องที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดีอีควรทำได้แก่ 1) ยึดมั่นในความเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และความเป็นธรรม 2) ยึดมั่นในความโปร่งใสของแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูล 3) ยึดมั่นในความโปร่งใสของแหล่งทุนและโครงสร้างองค์กร 4) ยึดมั่นในความโปร่งใสของระเบียบวิธี และ 5) ยึดมั่นในนโยบายแก้ไขข้อผิดพลาด (corrections policy) ที่เปิดเผยและซื่อสัตย์ ตามมาตรฐานสากลของ International Fact Checking Network (IFCN)

เวลาผ่านไปหลายเดือน ผู้เขียนยังไม่เห็นความชัดเจนว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้แม้แต่ข้อเดียว ถึงแม้จะอ้างว่าศูนย์ฯ จะทำตามมาตรฐานของ IFCN ก็ตาม ปลัดกระทรวงดีอีแถลงข่าวในเดือนพฤศจิกายน 2562 ว่า “มีจำนวนข้อความที่ส่งเข้ามาทั้งหมด 482,077 ข้อความ เป็นข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด จำนวน 353,325 ข้อความ ซึ่งในจำนวนนี้มีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมดจำนวน 5,181 ข้อความ แบ่งเป็น ช่องทาง Social Listening Tool ช่องทาง LINE Official และมาจากการแจ้งเรื่องเข้ามาโดยตรงด้วย สำหรับเรื่องที่แจ้งเข้ามา ประกอบด้วย เรื่องสุขภาพ 63.2% ภัยพิบัติ 0.8% เศรษฐกิจ 14.2% นโยบายรัฐบาล 21.8%” 

กระทรวงดีอีไม่เคยเปิดเผยว่า เครื่องมือ ‘Social Listening Tool’ ที่ใช้นั้นเป็นของบริษัทอะไร ทำงานอย่างไร มีเกณฑ์ในการคัดกรองข้อความที่เข้าข่ายต้องตรวจสอบอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ เว็บไซต์ของศูนย์ฯ ยังไม่เคยเปิดเผยระเบียบวิธีในการตรวจสอบข้อมูล ไม่เคยเปิดเผยทีมงานและงบประมาณที่ใช้ ไม่มีนโยบายแก้ไขข้อผิดพลาด และไม่เป็นกลางอย่างชัดเจนเนื่องจากไม่เคยตรวจสอบ ‘เฟคนิวส์’ ใดๆ ที่ปรากฏว่าข้อเท็จจริงเป็นผลลบต่อรัฐบาล – พูดสั้นๆ คือ ไม่ทำ 5 ข้อที่ควรทำแต่อย่างใด

นอกจากนี้ หลายคนยังกังขาหนักมากว่า ศูนย์ฯ ตรวจสอบเรื่องที่ประชาชน ‘แจ้งเข้ามาโดยตรง’ จริงหรือไม่ ที่ผ่านมาผู้เขียนแจ้งเนื้อหาทางหน้าเว็บศูนย์ฯ ไปสามครั้ง ทุกครั้งได้รับอีเมลตอบกลับสั้นๆ ว่า

ขอบคุณสำหรับการแจ้งเบาะแสข่าวที่น่าสงสัย

กรุณากดปุ่มเพื่อทำการยืนยันอีเมลของท่าน <คลิ๊กเพื่อยืนยันอีเมล>

เนื่องจากข้อความที่ได้รับมาแต่ละวันมีจำนวนมาก เราจึงขออนุญาตตอบกลับเฉพาะข้อความที่สามารถยืนยันตัวตนทางอีเมลได้เท่านั้น

แต่พอผู้เขียนคลิกที่ลิงก์ยืนยันอีเมล กลับเจอหน้า ‘This page cannot be found’ บนเว็บศูนย์ฯ ทำให้ทำอะไรต่อไม่ได้ ทำให้สงสัยว่ามีอีกกี่คนที่เจอปัญหาเดียวกัน และอันที่จริง ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ศูนย์ฯ จะต้องสามารถ ‘ยืนยันตัวตน’ ของผู้ที่ให้เบาะแส ดูแต่ข้อความก็พอแล้วว่ามีเนื้อหาที่เข้าหลักเกณฑ์การตรวจสอบหรือไม่ (ซึ่งหลักเกณฑ์เหล่านั้นมีอะไรบ้าง ศูนย์ฯ ก็ไม่เคยเปิดเผยอีกเช่นกัน…)

นอกจากจะไม่ทำในสิ่งที่ควรทำแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าคุณภาพของการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังต้องแก้ไขปรับปรุงอีกมาก ตั้งแต่การไม่มีลิงก์ไปถึงต้นตอของเนื้อหาที่ตรวจสอบ ส่วนใหญ่ศูนย์ฯ จะเขียนเพียงลอยๆ ว่า “ตามที่ได้มีข่าวปรากฏในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในประเด็นเรื่อง…” เท่านั้น ซึ่งทำให้คนอ่านไม่สามารถตามรอยศูนย์ฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตัวเองตามระเบียบวิธีของศูนย์ฯ (ซึ่งก็ไม่เคยเปิดเผย) แบบองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับสากลที่เป็นสมาชิกของ IFCN แต่อย่างใด (และผู้เขียนก็เคยเสนอไปแล้วว่าศูนย์ฯ ควรสมัครเป็นสมาชิก IFCN ด้วย เพราะ IFCN จะมีกระบวนการตรวจสอบรับรองก่อนว่าการทำงานของศูนย์ฯ ได้มาตรฐานสากลหรือไม่) 

ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมยังทำในสิ่งที่ ‘ไม่ควรทำ’ ตามบทความด้านบนแทบทุกข้อ ข้อที่อันตรายที่สุดในความเห็นของผู้เขียนคือ “การแปะป้าย ‘ข่าวปลอม’ กับเนื้อหาที่เป็นเพียงการให้ข้อมูลอีกด้านหรือรายละเอียด” “การแปะป้าย ‘ข่าวปลอม’ กับเนื้อหาที่ไม่ชัดว่าผู้สร้างมีเจตนาหลอกลวง (ให้เชื่อว่าเป็นข่าวจริง)” และ “การขยายขอบเขตงานของศูนย์ฯ ไปรวมถึงการจับกุมด้วย” 

ตัวอย่างในช่วงที่ผ่านมา คือบรรดาเนื้อหาที่เกี่ยวกับประเด็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งล่าสุด (ณ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563) บนเว็บไซต์ศูนย์ ปรากฏรายงานเรื่องนี้ 43 เรื่อง ศูนย์ฯ อ้างว่าตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเฟคนิวส์หรือข่าวปลอม 33 เรื่อง ข่าวจริง 9 เรื่อง และข่าวบิดเบือน 1 เรื่อง ผู้เขียนเห็นว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ในจำนวนนี้มีลักษณะเป็นข้อเท็จจริงตรงไปตรงมา สามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญหรือมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ศูนย์ฯ ก็แปะป้ายได้อย่างถูกต้อง อาทิ “สเปรย์พ่นปาก ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา” “พนักงานการบินไทย ติดโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” “เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สามารถติดต่อผ่านการมองตาได้” “พัทยาพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนา 1 ราย” “เชื้อไวรัสโคโรนาทำพิษ ชาวจีนล้มตึงกลางกลางสุวรรณภูมิ” หรือ “พบคนไทยติดเชื้อ ‘ไวรัสโคโรนา’ รักษาตัวที่ รพ. ในจังหวัดฉะเชิงเทรา”

อย่างไรก็ตาม มีเนื้อหาบางชิ้นที่ศูนย์ฯ แปะป้ายว่าเป็น ‘ข่าวปลอม’ ทั้งที่ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่าจริงหรือไม่จริง มีสถานะเป็นเพียงข่าวลือ เป็นความเห็นส่วนบุคคล หรือเป็นทฤษฎีที่ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน ศูนย์ฯ ไม่ควรด่วนสรุปแปะป้ายแต่อย่างใด  ยกตัวอย่างเช่นเนื้อหาต่อไปนี้

  1. ไวรัสโคโรนา แพร่กระจายผ่าน ‘อากาศ’ (Airborne)

เนื้อหานี้ถูกแปะป้าย ‘ข่าวปลอม’ เผยแพร่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 ไม่มีแหล่งอ้างอิงที่มา มีคำอธิบายสั้นๆ ว่า “การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา จะแพร่ผ่านละอองเสมหะ (droplets) ไม่ใช่การแพร่กระจายทางอากาศ (airborne)…” โดยอ้างว่าตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แต่ในความเป็นจริง มีข่าวที่เชื่อถือได้หลายแหล่งก่อนหน้านั้นเป็นสัปดาห์ อ้างอิงผู้เชี่ยวชาญของประเทศจีนเองที่กล่าวว่า เชื้อไวรัสโคโรนาในทางทฤษฎีอาจแพร่กระจายผ่านอากาศได้ แต่นี่เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาวิจัยต่อไป (ตัวอย่างข่าว “Coronavirus could be airborne, Chinese official claims” ใน Newsweek)

นี่เป็นตัวอย่างของเนื้อหาที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจริงหรือเท็จ เป็นเพียงข้อสังเกตหรือ ‘ความเป็นไปได้’ ว่าอาจจะจริง ต้องรอผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ การที่ศูนย์ฯ รีบแปะป้ายฟันธงว่า ‘ข่าวปลอม’ จึงทำให้คนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่ไวรัสโคโรนาจะแพร่กระจายผ่านอากาศ ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมองว่า ยังตัดความเสี่ยงนี้ออกไปไม่ได้

ถ้าหากว่าศูนย์ฯ แปะป้าย ‘ข่าวปลอม’ ด้วยความผิดพลาด หลังจากนั้นก็ควรจะเปลี่ยนป้ายเป็น ‘ยังไม่ชัดเจน’ ได้ คนจะได้ไม่เข้าใจผิด แต่ที่ผ่านมาผู้เขียนไม่เคยเห็นการ ‘แก้ข่าว’ ทำนองนี้เลย (นี่คือการปฏิบัติตามนโยบายแก้ไขข้อผิดพลาด ซึ่งดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ศูนย์ฯ ไม่เคยเปิดเผยนโยบายนี้บนเว็บไซต์ จึงน่าตั้งข้อสังเกตว่ามีนโยบายนี้หรือไม่)

  1. รัฐไทยคุมการระบาด ‘ไวรัสโคโรนา’ ไม่ได้ เหตุนักท่องเที่ยวจีนเต็มเมือง

เนื้อหานี้ถูกแปะป้าย ‘ข่าวปลอม’ เผยแพร่วันที่ 30 มกราคม 2563 และไม่มีแหล่งอ้างอิงว่าตรวจสอบเนื้อหาใดบ้าง มีเพียงประโยคสั้นๆ ว่า “ตามที่ได้มีข่าวปรากฏในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในประเด็นเรื่อง รัฐไทยคุมการระบาด ‘ไวรัสโคโรนา’ ไม่ได้ เหตุนักท่องเที่ยวจีนเต็มเมือง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ” โดยยกข้อมูลมาสนับสนุน อาทิ ประเทศไทยอยู่อันดับ 6 ของโลกที่เตรียมพร้อมด้านความปลอดภัย การคัดกรองเชื้อโรค, ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีทัวร์จีนมาจากมณฑลหูเป่ยและเมืองอู่ฮั่นแล้ว ฯลฯ

ในความเป็นจริง การคุมโรคระบาด ‘ได้’ หรือ ‘ไม่ได้’ เป็นเรื่องของมุมมอง ความคิดเห็นส่วนบุคคลมากกว่าข้อเท็จจริง โดยเฉพาะในห้วงยามที่โรคระบาดยังไม่ผ่านพ้นไป ยังไม่มีใครพยากรณ์อนาคตได้ว่าสุดท้ายแล้วไทยจะมีผู้ป่วยกี่คน การระบาดจะรุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด ดังนั้น ด้วยความที่เป็นเพียงความคิดเห็น ไม่ใช่เรื่องของข้อเท็จจริง ศูนย์ฯ จึงไม่ควรลงมือ ‘ตรวจสอบ’ เรื่องนี้แต่อย่างใด การพยายามและสุดท้ายก็แปะป้าย ‘ข่าวปลอม’ ให้กับเรื่องที่เป็นเพียงทัศนะส่วนบุคคล ทำให้ศูนย์ฯ กลายเป็นกระบอกเสียงหรือเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล ซึ่งนั่นไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานที่ประกาศว่า จะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กับสังคม

  1. รัฐบาลจีนปิดบังข้อมูล แท้จริงมีผู้ติดเชื้อ 90,000 ราย

เนื้อหานี้ถูกแปะป้าย ‘ข่าวปลอม’ เผยแพร่วันที่ 28 มกราคม 2563 ไม่ระบุแหล่งที่มาอีกเช่นเคย มีประโยคอธิบายสั้นๆ ว่า “จากข่าวที่ถูกเผยแพร่ว่าไวรัสมีการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว ทำประชากรในประเทศจีน ติดเชื้อแล้วจำนวน 90,000 รายนั้น จากรายงานของทางการจีนเมื่อวันที่ (27 ม.ค.) ได้มีการแจ้งว่า มีผู้ติดเชื้อจำนวน 2,761 คน และต้องสงสัยราว 5 พันกว่าคน ดังนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงถึง 90,000 ราย จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด”

เนื้อหาที่พูดถึงซึ่งศูนย์ฯ ไม่แสดงที่มานั้น มาจากคลิปวิดีโอของผู้ที่อ้างว่าเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลเมืองอู่ฮั่น ซึ่งกล่าวว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในจีนแล้วกว่า 90,000 คน คลิปนี้มีผู้ชมทั่วโลกบนยูทูบไปแล้วกว่า 2 ล้านครั้ง มีรายงานข่าวลงสื่อทั่วโลก สื่อบางหัวใช้คำว่า ‘นักเป่านกหวีด’ (whistleblower) เพราะมองว่าเธอคือ ‘คนวงใน’ ที่พยายามออกมาพูดความจริงที่ขัดแย้งกับข้อมูลของทางการ 

ปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในจีนมีจำนวนเท่าใด ตัวเลขทางการเชื่อถือได้เพียงใด มีข้อมูลมากมายที่บ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่จีนพยายามปิดข่าวอย่างน้อยก็ในช่วงแรก อาทิ เมื่อจักษุแพทย์นาม หลีเหวินเหลียง (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วจากไวรัสและกลายเป็นวีรบุรุษของประชาชนชาวจีน) ส่งข้อความเตือนเพื่อนร่วมรุ่นในแชท วันที่ 30 ธันวาคม 2562 ถึงโรคนี้ เขากลับถูกตำรวจอู่ฮั่นเรียกพบและบังคับให้เซ็นเอกสารยอมรับผิด โทษฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จและก่อกวนความสงบ

ด้วยเหตุนี้ คลิปวิดีโอของแพทย์ที่อ้างตัวเลขผู้ติดเชื้อ 90,000 คน อย่างมากจึงมีสถานะเป็น ‘ข่าวลือ’ ที่ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าจริงหรือไม่จริง ถ้าจะตรวจสอบเนื้อหานี้ ศูนย์ฯ อย่างมากก็ควรแปะป้าย ‘ยังยืนยันไม่ได้’ ไม่ใช่แปะป้าย ‘ข่าวปลอม’ ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเลขทางการของจีน

สุดท้าย เรื่องที่ผู้เขียนเห็นว่าน่ากังวลที่สุดในการทำงานเกี่ยวกับ ‘เฟคนิวส์’ ของกระทรวงดีอีทั้งหมด ไม่ใช่การไปแปะป้าย ‘ข่าวปลอม’ ให้กับเนื้อหาที่ไม่เข้าข่ายแม้นิยาม ‘ข้อมูลเท็จ’ ดังเช่นตัวอย่างสามกรณีข้างต้น หากแต่เรื่องที่น่ากังวลที่สุดคือการจับคนสร้างเนื้อหาที่กระทรวงแปะป้ายว่า ‘ข่าวปลอม’ โดยไม่มีมูลให้ตั้งข้อสงสัยว่ามีเจตนาที่จะ “สร้างและเผยแพร่ข้อมูลเท็จให้ประชาชนตื่นตระหนก” อันเป็นนิยามของ ‘ข่าวปลอม’ ที่อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 14(2) เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนมีความสับสนและตื่นตระหนักเรื่องไวรัสโคโรนาค่อนข้างมาก อย่างน้อยในช่วงแรก ซึ่งความสับสนนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากความไม่เป็นเอกภาพของรัฐเองในการสื่อสาร เจ้าหน้าที่ระดับสูงพูดเรื่องเดียวกันไปคนละทาง ผู้เขียนเห็นด้วยกับ รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารการเมือง ที่อธิบายในบทความว่า “เนื่องจากในภาวะวิกฤตินั้น ประชาชนต้องการข้อมูลข่าวสาร เพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินชีวิต หากรัฐบาลไม่ให้ข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ ประชาชนก็ย่อมแสวงหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆด้วยตนเอง จึงเป็นที่มาของข่าวลือ ข่าวปล่อย ข่าวปิด ข่าวลวง ข่าวหลอก (fake news) แทนที่รัฐบาลจะพยายามปิดข่าวลือ ดำเนินคดีกับคนแชร์ข่าว รัฐบาลควรแก้ปัญหาที่สาเหตุ คือการให้ข้อมูลข่าวสาร ที่ครบถ้วน ชัดเจน ทันเวลา และเพียงพอ ก็จะลดการแพร่กระจายของ fake news ลงได้”

การแปะป้าย ‘ข่าวปลอม’ อย่างผิดๆ ให้กับเนื้อหาที่เป็นเพียงข่าวลือ ความเป็นไปได้ที่ยังยืนยันไม่ได้ หรือความเข้าใจผิดที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการสื่อสารไม่ดีของภาครัฐ และจากนั้นก็ไปใช้การแปะป้ายนั้นในการจับกุมประชาชนที่ไม่มีเจตนากระทำผิด คือผลลัพธ์ที่ผู้เขียนมองว่าแย่ที่สุดของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพราะนอกจากจะเป็นการคุกคามผู้บริสุทธิ์แล้ว ยังเป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน ทั้งเรื่องนิยามของ ‘ข่าวปลอม’ และเข้าใจผิดว่า ‘ข่าวปลอม’ แปลว่าผิดกฎหมายทุกกรณี

ถ้าหากในอนาคต กระทรวงดีอียังไม่เลิกแนวปฏิบัติเช่นนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมยังไม่ทำในสิ่งที่ควรทำโดยเฉพาะความโปร่งใสของหลักเกณฑ์ตรวจสอบ ระเบียบวิธี งบประมาณ และนโยบายแก้ไขข้อผิดพลาด และยังไม่มีนโยบายหรือความสามารถที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวอื่นๆ ที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ (ไม่ว่าจะเป็นราชการไทย จีน หรือประเทศไหนก็ตาม) ในกรณีนั้นผู้เขียนเห็นว่างานของศูนย์ฯ ก็จะ ‘เสีย’ มากกว่า ‘ได้’ และสมควรยุบศูนย์ฯ ไป ย้ายงบประมาณไปให้กับโครงการของสื่อมวลชน ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่แล้ว และสามารถทำงานได้อย่างเป็นกลางและอิสระกว่าเจ้าหน้าที่ในกระทรวง

Tags: , ,