เปิดศักราชใหม่ (และบางคนก็ว่าปี 2020 เริ่มต้นทศวรรษใหม่ด้วย) สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยดูร้อนระอุยิ่งกว่าปีที่ผ่านมา ในบรรดาคดีพรรคการเมืองที่คนจับตาดูมากที่สุดในเวลานี้ อันดับหนึ่งหนีไม่พ้นคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีกู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท จากหัวหน้าพรรคของตัวเอง

น่าเสียดายที่ กกต. ไม่ยอมเผยแพร่คำฟ้องฉบับเต็มต่อสาธารณะ ผู้เขียนจึงไม่สามารถทำความเข้าใจกับวิธีคิดและเหตุผลของ กกต. ในการฟ้องคดีนี้โดยละเอียดได้ อย่างไรก็ดี ในฐานะนักการเงินที่ชอบติดตามคดีการเมืองที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและการเงิน ผู้เขียนเห็นว่าลำพังการตั้งเรื่องฟ้องของ กกต. ว่า การกู้เงินจากหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 พ.ร.ป. พรรคการเมืองนั้น มีข้อน่ากังขาหลายประการซึ่งอาจทำให้คนทั่วไปเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักการบัญชีและหลักการเงินพื้นฐาน ตลอดจนหลักคิดเกี่ยวกับการครอบงำพรรคการเมือง

วันนี้ผู้เขียนจึงอยากเรียบเรียงข้อสังเกตของตัวเองเกี่ยวกับกรณีนี้ห้าข้อ เริ่มตั้งแต่คำถามที่ว่า ทำไมเราจึงควรสนใจเรื่องนี้ ไปจนถึงคำถามปิดท้ายว่า การฟ้องของ กกต. ในคดีนี้บอกอะไรกับเรา

  1. ทำไมเราจึงควรสนใจเรื่องนี้?

คำตอบสั้นๆ ก็คือ เรามีบทเรียนราคาแพงมาแล้วในอดีตว่า พรรคการเมืองบางพรรคไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อประชาชนที่เห็นตรงกับอุดมการณ์หรือแนวทางของพรรคจริงๆ แต่เป็นเพียง ‘นอมินี’ ของนายทุนพรรคกระเป๋าหนักที่ทุ่มเงินให้พรรคอย่างลับๆ เพราะอยาก ‘ถอนทุน’ เมื่อพรรคได้อำนาจรัฐ ออกนโยบายมาเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตัวเองและพวกพ้องเป็นหลัก

พูดง่ายๆ ก็คือ เราต้องสนใจแหล่งที่มาของเงินที่พรรคการเมืองใช้ เพราะเราไม่อยากเห็นพรรคการเมืองถูกครอบงำโดยไอ้โม่งที่ไม่เปิดเผยตัวตน กฎหมายพรรคการเมืองของไทยและหลายประเทศจึงระบุ ‘เพดาน’ การให้เงินสนับสนุนทางการเมืองเอาไว้ แต่นิยาม ‘เงินสนับสนุนทางการเมือง’ (political contribution) ไม่เหมือนกัน ปัจจุบันกฎหมายไทย คือ พ.ร.ป. พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ห้ามบุคคล (รวมนิติบุคคลด้วย) “บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมือง …เกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปี” (มาตรา 66) แต่ไม่ระบุเรื่องเงินกู้ แตกต่างจากกฎหมายอเมริกาและแคนาดา ซึ่งกำหนดชัดเจนว่า การกู้เงินจากบุคคลนับเป็น ‘เงินสนับสนุนทางการเมือง’ เช่นเดียวกับเงินบริจาคและประโยชน์อื่นใดที่คำนวณมูลค่าเป็นเงินได้ (in-kind contribution เช่น ให้บริการหรือให้เช่าใช้ที่ดินฟรีๆ หรือในราคาที่ต่ำกว่าปกติมาก) ที่มีเพดานจำกัด

ส่วนการที่พรรคการเมืองไปกู้เงินจากสถาบันการเงิน (เช่น ขอสินเชื่อจากธนาคาร) นั้น กฎหมายอเมริกาและแคนาดาไม่นับเป็นเงินสนับสนุนทางการเมือง ถ้าสินเชื่อนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขทางธุรกิจปกติ (เช่น ธนาคารไม่คิดดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ หรือกำหนดระยะเวลาชำระหนี้นานกว่าปกติ) เนื่องจากสินเชื่อจากสถาบันการเงินไม่มีความเสี่ยงที่จะมี ‘ไอ้โม่ง’ มาครอบงำพรรคการเมือง สถาบันการเงินเองก็มีกฎหมายกำกับรัดกุม ไม่เหมือนเงินกู้จากบุคคลธรรมดา

สรุปสั้นๆ ได้ว่า ต่างประเทศอนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงินมาใช้ในการทำงานได้ แต่บางประเทศถ้ากู้จากบุคคล ไม่ใช่สถาบันการเงิน จะต้องนับเงินกู้ว่าเป็นเงินสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีเพดานจำกัด เพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องการถูกครอบงำ

ส่วนกฎหมายไทยปัจจุบันไม่ได้ระบุเรื่องเงินกู้ไว้ในนิยามของ ‘เงินสนับสนุนทางการเมือง’

  1. กฎหมายไทยปัจจุบันอนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงินหรือไม่?

ในเมื่อ พ.ร.ป. พรรคการเมือง ไม่มีคำว่า ‘เงินกู้’ ในนิยามเงินสนับสนุนทางการเมืองที่ตีกรอบจำกัดเพดานไว้สิบล้านบาทในมาตรา 66 จึงเกิดเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยว่า ตกลงพรรคการเมืองไทยสามารถกู้เงินได้หรือไม่

เรื่องนี้นักกฎหมายหลายท่านถกเถียงกันบนฐานที่ว่า เราควรใช้หลักกฎหมายมหาชน (ทำได้เฉพาะสิ่งที่กฎหมายอนุญาต) หรือหลักกฎหมายเอกชน (ทำอะไรก็ได้ที่กฎหมายไม่ห้าม) กับพรรคการเมือง แต่ผู้เขียนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องถกเถียงกันในประเด็นนี้เลย เพราะ พ.ร.ป. พรรคการเมืองอนุญาตให้ใช้เงินกู้และหนี้สินประเภทอื่นๆ อย่างชัดเจน ถึงแม้จะไม่กำหนดนิยามเอาไว้ก็ตาม

ประการแรก มาตรา 59 (4) ของกฎหมายพรรคการเมืองระบุชัดว่า “บัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน” เป็นส่วนหนึ่งของบัญชีของพรรคการเมือง ส่วนมาตรา 60 ก็ระบุว่า “งบแสดงฐานะทางการเงินต้องแสดงรายการสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนของพรรคการเมือง” และเขียนต่อไปว่า งบการเงินทั้งหมดของพรรคจะต้องผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต ซึ่งก็แปลว่าให้ใช้หลักบัญชีสากลที่ใช้กันทั่วไป

ประการที่สอง ในความเป็นจริง พรรคการเมืองไทยหลายพรรคก็ใช้เงินกู้ ผู้เขียนใช้เวลาพอสมควรในการไล่อ่านงบการเงินพรรคการเมืองประจำปี 2561 (ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ กกต.) พบว่า พรรคการเมืองจำนวนมากมีเจ้าหนี้การค้าอย่าง ‘ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย’ เช่น ค่าสอบบัญชีค้างจ่าย ซึ่งเป็นหนี้สิน และก็นับพรรคการเมืองได้มากถึง 20 พรรค นอกจากพรรคอนาคตใหม่ ที่เปิดเผยในส่วนของหนี้สิน งบดุลปี 2561 ว่า มี ‘เงินกู้ยืมระยะสั้น’ ‘เงินยืมทดรองจากกรรมการพรรค’ ‘เงินกู้ยืมจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน’ ‘เจ้าหนี้เงินยืมทดรองจ่าย’ ‘เจ้าหนี้เงินกู้ยืม’ ‘เจ้าหนี้เงินสำรองจ่ายจากกรรมการ’ หรือ ‘เจ้าหนี้เงินยืมจากหัวหน้าพรรค’ (แต่ละพรรคใช้คำที่แตกต่างกัน แต่มีความหมายเดียวกัน)

ไม่ใช่ทุกพรรคที่เปิดเผยรายละเอียดของเงินกู้เหล่านี้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน พรรคที่เปิดเผยรายละเอียดส่วนใหญ่ระบุว่า เงินก้อนนี้เป็นเงินกู้ยืมจากหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค กรรมการพรรค หรือบุคคลอื่น เพื่อใช้ในการดำเนินงานของพรรค โดยไม่มีการทำสัญญาและไม่มีการคิดดอกเบี้ยระหว่างกัน มีกำหนดจ่ายชำระคืนเมื่อทวงถาม มีหนึ่งพรรคเปิดเผยว่าพรรคต้องเสียดอกเบี้ยให้กับกรรมการบริหารผู้ปล่อยกู้ ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี

ด้วยเหตุนี้ ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงจึงชี้ไปในทางเดียวกันว่า วันนี้พรรคการเมืองไทยสามารถใช้เงินกู้และหนี้สินอื่นๆ ในการทำงานได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

  1. สัญญาเงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่ ส่อเค้าว่าเป็น ‘นิติกรรมอำพราง’ หรือไม่?

บางท่านตั้งข้อสังเกตว่า เงินกู้ที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ให้พรรคกู้ยืมสองสัญญา จำนวนเงินรวม 191 ล้านบาทนั้น อาจเป็น ‘นิติกรรมอำพราง’ คือจริงๆ แล้วเป็นเงินบริจาค 191 ล้านบาท แต่เลี่ยงไปทำเป็นสัญญาเงินกู้แทน เพื่อหลีกเลี่ยงเพดานการบริจาค (สิบล้านบาท) ตามมาตรา 66

ข้อสังเกตนี้ดูเผินๆ อาจมีมูล เพราะเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูงคือเกินหนึ่งร้อยล้านบาท เมื่อดูจากงบการเงินปี 2561 พรรคอื่นที่ใช้เงินกู้ (จากหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค กรรมการบริหาร หรือบุคคลอื่น) ส่วนใหญ่ใช้ในระดับหลักแสนหรือหลักล้าน มีสองพรรคที่ใช้เงินกู้ยืมเกินสิบล้านบาทคือพรรคเพื่อไทย (13 ล้านบาท บันทึกเป็นเจ้าหนี้เงินสำรองจ่ายจากกรรมการ ไม่มีดอกเบี้ย) และพรรคประชากรไทย (12.8 ล้านบาท บันทึกเป็นเงินทดรองจ่าย ไม่ระบุที่มา)

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่ายังไม่มีข้อมูลใดๆ ที่บ่งชี้ว่าสัญญาเงินกู้อาจเป็นนิติกรรมอำพราง ด้วยเหตุผลสามประการดังต่อไปนี้

ประการแรก พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ขนาดใหญ่ ตั้งใจจะลงแข่งในสนามเลือกตั้งทั่วประเทศซึ่งต้องใช้เงินค่อนข้างมาก แต่ความพยายามในการระดมทุนเพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ถูก กกต. ‘สกัด’ มากกว่าหนึ่งครั้ง ยกตัวอย่างเช่น เพียงไม่ถึงห้าเดือนก่อนวันเลือกตั้ง กกต. ห้ามอนาคตใหม่และพรรคการเมืองอื่นรับบริจาคเงิน โดยอ้างว่าขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อมาอีกไม่ถึงหนึ่งเดือน ก่อนการเลือกตั้งไม่ถึงสี่เดือน กกต. ก็มีมติห้ามพรรคอนาคตใหม่ขายของออนไลน์เพื่อระดมทุน (ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นมติที่ไม่มีเหตุผลเลย  กกต. ควรส่งเสริมให้พรรคการเมืองระดมทุนได้จากทุกช่องทางเพื่ออำนวยความสะดวก)

พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ขนาดใหญ่ ตั้งใจจะลงแข่งในสนามเลือกตั้งทั่วประเทศซึ่งต้องใช้เงินค่อนข้างมาก แต่ความพยายามในการระดมทุนเพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ถูก กกต. ‘สกัด’ มากกว่าหนึ่งครั้ง

การถูกสกัดกั้นทั้งระยะเวลาและวิธีการระดมทุนในห้วงยามที่วันเลือกตั้งใหญ่กระชั้นมาก ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่สุดท้ายพรรคอนาคตใหม่จะตัดสินใจใช้วิธีกู้ยืมเงินจากหัวหน้าพรรคตัวเองไม่กี่เดือนก่อนวันเลือกตั้ง ทั้งที่อาจ ‘ดูไม่ดี’ ในสายตาคนบางคน แต่ผู้เขียนคิดว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ ‘เข้าใจได้’

ประการที่สอง พรรคอนาคตใหม่เปิดเผยว่าได้ทยอยชำระคืนเงินกู้บางส่วนแก่หัวหน้าพรรคแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เป็นต้นมา และได้ส่งมอบพยานเอกสารดังกล่าวให้กับ กกต. แล้ว ถ้าการทำสัญญาเงินกู้เป็นเพียงการอำพรางเงินบริจาค แน่นอนว่าพรรคย่อมไม่ใส่ใจที่จะชำระเงินคืน (เพราะคนให้บริจาคก็ไม่คาดหวังที่จะได้เงินคืน) และผู้เขียนไม่เห็นว่ามีเหตุอันใดที่จะตั้งข้อสงสัยต่อพยานเอกสาร

ประการที่สาม ถ้าหากพรรคอนาคตใหม่อยากหลบเลี่ยงกฎหมายจริงๆ ก็มีวิธีอื่นมากมายที่ดีกว่าการกู้เงินจากหัวหน้าพรรคของตัวเอง เรารู้กันตลอดมา (แม้จะหาหลักฐานได้ยากมาก) ว่าพรรคการเมืองหลายแห่งใช้ช่องทาง ‘นอกบัญชี’ มากมายในการรับการอุดหนุนเงินเพื่อไปใช้ทำกิจกรรมทางการเมือง ยกตัวอย่างเช่น หัวหน้าพรรคอาจโอนเงินให้คนสักยี่สิบคน แล้วให้คนเหล่านั้นเป็น ‘นอมินี’ ของตัวเอง เอาเงินมาบริจาคให้พรรคคนละสิบล้านบาท เท่านี้ก็ได้ 200 ล้านบาทแล้วโดยที่ กกต. ตรวจสอบไม่ได้

การใช้วิธีกู้ยืมจากหัวหน้าพรรคโดยตรง ซึ่งหัวหน้าพรรคก็เปิดเผยข้อมูลสัญญาเงินกู้อย่างตรงไปตรงมาในการยื่นบัญชีทรัพย์สินของตัวเอง สัญญาเงินกู้ระบุอัตราดอกเบี้ยและกำหนดเวลาชำระคืนชัดเจน (ไม่ใช่ ‘เมื่อทวงถาม’ เหมือนกับเงินกู้ของพรรคอื่น) จึงเป็นวิธีที่โปร่งใสเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ไม่ใช่วิสัยของพรรคที่อยากจะหลบเลี่ยงกฎหมาย

ด้วยเหตุผลทั้งสามประการข้างต้น ผู้เขียนจึงยังไม่เห็นข้อมูลใดๆ ที่บ่งชี้ว่าสัญญาเงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่น่าจะเป็นนิติกรรมอำพราง ในทางตรงกันข้าม การทำสัญญาเงินกู้กลับเป็นการแสดงความโปร่งใสด้วยซ้ำไป

เรื่องราวควรจะจบลงตรงนี้ และผู้เขียนก็เชื่อว่าทุกคนที่คุ้นเคยกับหลักการบัญชีและหลักการเงินพื้นฐานเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ก็จะเข้าใจแจ่มแจ้ง บางท่านอาจจะเพียงแต่นึกเสียดายว่า ไม่น่าเลยที่กฎหมายพรรคการเมืองยังมีช่องโหว่ ควรเสนอแก้นิยามเรื่องเงินสนับสนุนทางการเมืองในมาตรา 66 เสียใหม่ รวมเงินกู้จากบุคคลให้อยู่ในเพดานสิบล้านบาทด้วย เพื่อลดความเสี่ยงที่บุคคลจะมาครอบงำพรรคการเมือง

แต่โชคร้าย คนไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจหลักการเงินและบัญชีพื้นฐาน หรือเข้าใจแต่แกล้งทำเป็นไม่เข้าใจเพราะมีอคติกับพรรคการเมืองบางพรรค เราจึงต้องหาคำตอบกันต่อไป

  1. เงินกู้ นับเป็น ‘รายได้’ ‘เงินบริจาค’ หรือ ‘ประโยชน์อื่นใด’ ตามกฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่?

คนจำนวนไม่น้อย (เรื่องที่น่าเศร้าก็คือรวมถึงนักวิชาการและแม้แต่สมาชิกวุฒิสภาบางคนด้วย) อ้างว่า ถึงแม้กฎหมายจะไม่ระบุ ‘เงินกู้’ ในเพดานการรับเงินสนับสนุนก็ตาม แต่ ‘เงินกู้’ คือ ‘รายได้’ ซึ่งไม่อยู่ในประเภทรายได้ที่กฎหมายอนุญาตให้พรรคการเมืองหาตามมาตรา 62 ดังนั้นจึงกู้ไม่ได้ บางคนอ้างว่า ‘เงินกู้’ คือ ‘เงินบริจาค’ ตามกฎหมายพรรคการเมือง อีกบางคนอ้างว่า ‘เงินกู้’ คือ ‘ประโยชน์อื่นใด’ ซึ่งอยู่ในนิยามของ ‘บริจาค’ ดังนั้นผู้ใดที่ให้กู้เงินเกินสิบล้านบาท จึงเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 66

ผู้เขียนเห็นว่าข้ออ้างเหล่านี้ล้วนแต่สะท้อนความเข้าใจผิดหลักบัญชีและหลักการเงินพื้นฐานที่อันตราย ก่อนอื่น เงินกู้ไม่ใช่รายได้อย่างแน่นอน (ถ้าใช่ สรรพากรคงนอนยิ้มเพราะคนไทยเป็นหนี้กันเยอะมาก!) หากเป็น ‘หนี้สิน’ ที่ต้องใช้คืน แน่นอนว่าเราสามารถเอาเงินกู้ไปหารายได้ได้ ด้วยความหวังว่าสุดท้ายเราจะมีรายได้มากพอที่จะมาชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย (เช่น พรรคการเมืองกู้เงินไปผลิตสินค้ามาขายระดมทุน) แต่เงินกู้ในตัวมันเองไม่ใช่รายได้แน่ๆ และปัจจุบัน กกต. ก็ไม่คิดว่าเงินกู้คือรายได้เช่นกัน เพราะดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้อ 2. ข้างต้นว่า ผู้เขียนนับพรรคการเมืองได้มากถึง 20 พรรคที่ใช้เงินกู้ จากงบการเงินปี 2561

เงินกู้ไม่ใช่รายได้

ด้วยเหตุที่มันเป็น ‘หนี้สิน’ ที่ต้องใช้คืน เงินกู้จึงไม่ใช่เงินบริจาคด้วย (ส่วนใครที่สงสัยว่าสัญญาเงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่น่าจะเข้าข่ายนิติกรรมอำพรางหรือไม่ ผู้เขียนก็อธิบายเหตุผลของตัวเองไปแล้วในข้อ 3.)

บางคนอ้างว่า ‘เงินกู้’ จัดเป็น ‘ประโยชน์อื่นใด’ ซึ่งอยู่ในนิยามของ ‘บริจาค’ ใน พ.ร.ป. พรรคการเมือง ซึ่งมาตรา 3 ระบุว่า “…ให้หมายความรวมถึงการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองบรรดาที่สามารถคํานวณเป็นเงินได้ตามที่คณะกรรมการกําหนดด้วย”

ด้วยเหตุที่มันเป็น ‘หนี้สิน’ ที่ต้องใช้คืน เงินกู้จึงไม่ใช่เงินบริจาค

ในความเป็นจริง ในเมื่อเงินกู้คือ ‘หนี้สิน’ ที่ต้องใช้คืน ในตัวมันเองจึงไม่ใช่ประโยชน์ใดๆ เพียงแต่ลูกหนี้สามารถเอาเงินกู้ไปหาประโยชน์ (เช่น สร้างรายได้) ได้ และเมื่อดูในวรรคถัดมา เราก็จะเห็นว่าผู้ร่างกฎหมายก็ค่อนข้างมีความเข้าใจในเรื่องนี้ เพราะนิยามของ ‘ประโยชน์อื่นใด’ ก็คือ “การให้ใช้ทรัพย์สิน การให้บริการ หรือการให้ส่วนลดโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า และการทําให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ลดลงหรือระงับสิ้นไปด้วย” (ตัวเอนเน้นโดยผู้เขียน)

คำถามก็คือ ถ้าหากกฎหมายระบุชัดว่า การลดหนี้หรือยกหนี้ให้ถือเป็น ‘ประโยชน์อื่นใด’ แล้วไซร้ การก่อหนี้เพิ่มซึ่งให้ผลตรงกันข้ามจะเป็น ‘ประโยชน์อื่นใด’ ได้อย่างไร ?

(มองว่า ‘เสียประโยชน์’ จะเข้าเค้ากว่า เพราะต้องเอาหนี้ไปหาประโยชน์อีก!)

  1. คำฟ้องยุบพรรคอนาคตใหม่บอกอะไรกับเรา?  

  จากข้อสังเกตทั้ง 4 ข้อข้างต้น ผู้เขียนจึงมองว่าคำฟ้องยุบพรรคของ กกต. น่าข้องใจอย่างยิ่ง ว่ามีเหตุผลและหลักฐานทางกฎหมายอะไรมารองรับ

อย่างมากที่สุด ถ้า กกต. มีหลักฐานอะไรที่ส่อว่าสัญญาเงินกู้อาจเป็นนิติกรรมอำพราง กกต. ก็ต้องฟ้องหัวหน้าพรรคในฐานะผู้ให้กู้ ว่าฝ่าฝืนมาตรา 66 ของ พ.ร.ป. พรรคการเมือง โทษของมาตรานี้ไม่ถึงขั้นยุบพรรค แต่ กกต. กลับไม่ฟ้องมาตรานี้ กลับมากล่าวหาว่าพรรคฝ่าฝืนมาตรา 72 ที่ “ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งเป็นมาตราที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการสกัดกั้นไม่ให้พรรคการเมืองเป็นแหล่งฟอกเงิน ไม่อยากให้ใช้ ‘เงินสกปรก’ จากการทำผิดกฎหมาย

การฟ้องยุบพรรคจึงเท่ากับว่า กกต. ต้องพิสูจน์ว่าสัญญาเงินกู้น่าจะเป็นนิติกรรมอำพราง พิสูจน์ว่าเงิน 191 ล้านบาทที่หัวหน้าพรรคให้กู้นั้นได้มาหรือมีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และพิสูจน์ว่าพรรค ‘รู้หรือควรจะรู้ว่า’ หัวหน้าพรรคได้เงินก้อนนี้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในห้วงยามที่ กกต. ยังไม่อำนวยความสะดวกให้กับพรรคการเมืองในการระดมทุนเท่าที่ควร (บางประเทศไม่เพียงแต่ให้ระดมทุนออนไลน์ เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองระดมทุนจากสกุลเงินเสมือน หรือ cryptocurrency อย่างบิตคอยน์แล้วด้วยซ้ำไป) ถ้าคิดในแง่ร้ายที่สุด คำฟ้องของ กกต. ส่อว่าอาจเป็นการ ‘ตั้งธง’ มาเพื่อกลั่นแกล้งพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายผู้มีอำนาจ และต่อให้คิดในแง่ดีที่สุด คำฟ้องนี้ก็ส่อว่า กกต. อาจกำลังพยายามอุดช่องโหว่ของกฎหมายพรรคการเมือง ด้วยการตีความหาช่องมาเอาผิดกับพรรค แทนที่จะรณรงค์เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองในสภาอย่างที่ควรเป็น

ไม่ว่าจะคิดในแง่ดีหรือแง่ร้าย ผู้เขียนเห็นว่าคดีนี้จะทำให้ กกต. ยิ่งถูกสังคมครหาเรื่องความเป็นมืออาชีพและความเป็นกลางทางการเมือง ในฐานะ ‘องค์กรอิสระ’ ที่สำคัญยิ่งของประเทศ

Tags: , , , , ,