อ่านล้ม ลุก เรียน รู้หนังสือเล่มล่าสุดของธนา เธียรอัจฉริยะไปได้ครึ่งเล่ม ผมก็คิดถึงตอนหนึ่งจากการ์ตูนเรื่องกล่องข้าวกับคุณครูข้าวกล้อง’ (Genmai Sensei no Bentoubako)   

การ์ตูนเรื่องนี้มีตัวเอกชื่อ ยูกิ เก็มไม เป็นอาจารย์สอนวัฒนธรรมอาหารในมหาวิทยาลัย ยูกิไม่ได้สอนแค่ประวัติศาสตร์ เขาพยายามสอดแทรกปรัชญาชีวิตที่เรียนรู้จากวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นให้ลูกศิษย์อยู่เสมอ

มีอยู่ตอนหนึ่ง อาจารย์ยูกิพูดถึงการดองอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น ตอนนั้นอาจารย์เห็นว่ามีลูกศิษย์สองคนที่เริ่มเก่งเรื่องอาหาร คนหนึ่งเรียนรู้เร็ว อีกคนใช้เวลาเรียนรู้นานกว่า 

เพื่อไม่ให้ลูกศิษย์น้อยใจ เขาจึงสอนเรื่องนี้โดยเปรียบเทียบกับการดองผัก ผักแต่ละชนิดใช้เวลาในการดองให้อร่อยไม่เท่ากัน เช่นเดียวกับลูกศิษย์ แต่ละคนมีหนทางในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไม่เหมือนกัน เราไม่ควรน้อยใจกันเองว่าทำไมถึงเก่งไม่เท่าเพื่อน แต่ควรอยู่กับตัวเอง ทำความเข้าใจตัวเอง และตั้งใจเรียนรู้อย่างไม่ลดละ

……

หนังสือทั้งสองเล่มที่กล่าวมานั้น มีความคล้ายกันอยู่หนึ่งข้อ คือ การพูดถึงการพัฒนาตัวเองและการเรียนรู้ของมนุษย์ 

ล้ม ลุก เรียน รู้รวบรวมมาจากบทความที่ธนาเขียนไว้ใน Facebook page ชื่อเขียนไว้ให้เธอเขาทำเพจนี้โดยตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องราวสอนใจให้ลูกสาวสองคนได้อ่านในอนาคต เนื้อหาส่วนใหญ่พูดถึงการพัฒนาตัวเอง ทั้งในการดำเนินธุรกิจ และการใช้ชีวิตด้วยความเห็นอกเห็นใจความเป็นมนุษย์ 

ตอนหนึ่งของหนังสือ ธนาบอกว่านักเขียนที่มีอิทธิพลกับตัวเขามาก คือ ...คึกฤทธิ์ ปราโมช  และธนาอาจจะไม่รู้ตัวว่าหนังสือเล่มนี้มีบางสิ่งคล้ายคลึงกับเนื้อหาของหลายชีวิตหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ ...คึกฤทธิ์ เพราะธนามักจะเล่าปรัชญาและความรู้ที่เขาครูพักลักจำจากคนอื่นทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง และคนธรรมดาที่เขาเคยพานพบ 

ระหว่างการอ่านเราจึงได้พบกับชีวิตหลายชีวิตที่แวะเวียนเข้ามาในชีวิตของธนา  ชีวิตที่มีพื้นเพต่างกัน แต่พวกเขามอบบางสิ่งให้ผู้เขียนได้เรียนรู้เสมอ ธนาเอ่ยชื่อคนที่มอบประสบการณ์ดีๆ ให้เขาด้วยความเต็มใจ ไม่ว่าจะเป็น ซิกเว่ เบรกเก้ บุญชัย เบญจรงคกุล จิระ มะลิกุล สัตยา นาเดลลา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไปจนถึงอีลอน มัสก์ ฯลฯ

อีกประเด็นในเล่มนี้ก็คือ การเผยถึงความล้มเหลวของตัวเองต่อหน้าสาธารณชน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันทั้งเจ็บปวดและน่าอับอาย แต่ธนาไม่ได้ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้ตั้งตนเป็นกูรู แม้ว่าความสำเร็จที่ผ่านมาของเขา สามารถทำให้เขาอวดว่าตัวเองเป็นกูรูได้ไม่ยาก แต่เปล่าเลยเขาเขียนหนังสือเล่มนี้อย่างถ่อมตัว ไร้คำโอ้อวดใดๆ แปดสิบเปอร์เซ็นต์ของเนื้อหา เขาพูดถึงความผิดพลาดของตัวเอง จากวัยหนุ่มที่เคยประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว จนรู้สึกว่ากูเก่ง กูแน่แต่มาถึงวันนี้ เขาตระหนักชัดและไม่ลืมว่าความสำเร็จในหน้าที่การงานของเขา มาจากการร่วมมือร่วมใจของคนหลายคน ไม่ใช่เครดิตของเขาแต่เพียงผู้เดียว

ก็เหมือนที่ Ray Dalio เขียนไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือ Principles ว่ามนุษย์ต้องเจ็บปวดก่อนจึงจะได้เรียนรู้บางสิ่ง ธนาก็เช่นเดียวกัน เขาแชร์ประสบการณ์การล้มลุกเรียนรู้ ของตัวเองอย่างชัดเจน อย่างไม่เทศนา ไม่ตัดสิน แต่เป็นน้ำเสียงของการแบ่งปัน ทำให้เรารู้สึกว่าคนเขียนอยู่เคียงข้างผู้อ่านด้วยความเห็นอกเห็นใจ 

การอ่านหนังสือเล่มนี้ได้อารมณ์เหมือนกำลังนั่งกินข้าวปรับทุกข์กับรุ่นพี่ เราระบายความทุกข์ของตัวเอง เขารับฟังอย่างตั้งใจ และให้คำแนะนำบางอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเราด้วยความปรารถนาดี 

…..

ด้วยเนื้อหาที่มองโลกในแง่บวก อ่านง่าย น่าชื่นใจ และให้พลัง ไม่แปลกที่ล้ม ลุก เรียน รู้จะได้รับการตอบรับที่ดี พิมพ์ครั้งที่สองอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี หนังสือเล่มนี้อาจไม่เหมาะกับทุกคน คนที่ไม่ชอบเนื้อหาในแง่บวกอาจไม่คลิกกับสิ่งที่ธนาต้องการสื่อสาร แต่คงจะใจร้ายเกินไปหากใครจะนำสิ่งนี้มาตัดสินคุณค่าของหนังสือ

คนเราไม่เหมือนกัน เติบโตด้วยวิถีและวิธีการที่ต่างกัน ก็เหมือนกับปรัชญาการดองผักของอาจารย์ยูกิที่ว่า ผักแต่ละชนิดจะดองให้อร่อยใช้เวลาไม่เท่ากัน คนแต่ละคนก็มีเส้นทางการเติบโตไม่เหมือนกันเป็นธรรมดา

ล้ม ลุก เรียน รู้เป็นหนังสือที่เหมาะกับใครก็ตามที่กำลังท้อถอย ต้องการกำลังใจในการฝ่าฟันอุปสรรคในชีวิต เพราะถึงแม้ความล้มเหลวจะทำให้เราเจ็บปวด แต่เราก็สามารถนำสิ่งนี้มาเรียนรู้เพื่อเติบโตและก้าวต่อไป 

และเป็นเหตุผลว่าความล้มเหลวจำเป็นมากแค่ไหนกับชีวิตของเรา

Fact Box

  • ล้ม ลุก เรียน รู้ / ธนา เธียรอัจฉริยะ เขียน / สำนักพิมพ์ KOOB / ราคา 395 บาท
Tags: ,