ทุกใบหน้ามีเรื่องราว และทุกสถานที่เต็มไปด้วยรายละเอียดของชีวิต

นี่คือสิ่งที่ Faces Places พาคนดูไปสัมผัสได้อย่างอบอุ่นหัวใจ สมกับที่หลายสำนักยกย่องให้เป็นหนังยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่งของปี 2017 และได้รับรางวัล L’Œil d’or (รางวัลสารคดี) เมื่อครั้งไปฉายเปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ กระทั่งกลายมาเป็นผู้เล่นสายสารคดีรายสำคัญของฤดูล่ารางวัลในตอนนี้

หนังเป็นผลงานการผนึกกำลังของ 2 ศิลปินที่ดูเผินๆ ไม่น่าโคจรมาพบกันได้ อย่าง อันเญส วาร์ดา (Agnès Varda) ในวัย 88 กับ เจอาร์ (JR) ในวัย 33 สิ่งที่เชื่อมโยงพวกเขาเข้าหากันคือความหลงใหลอย่างลึกซึ้งต่อการสร้างงานภาพ

สำหรับตัวแม่แห่งกระแส French New Wave อย่างวาร์ดา คือภาพเคลื่อนไหวในภาพยนตร์ทรงอิทธิพลมากมาย เช่น Cléo from 5 to 7 (1962) หรือ Vagabond (1985)

สำหรับเจอาร์ คือภาพถ่ายและงานศิลปะ โดยมีชิ้นเด่นคือ Inside Out Project ซึ่งเป็นการนำภาพถ่ายผู้คนไปติดแปะตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น ไทม์สแควร์ในนิวยอร์กซิตี และมหาวิหารในนครปารีส

อาจกล่าวได้ว่า Faces Places เป็นการต่อยอดโปรเจ็กต์ดังกล่าวของเจอาร์ เมื่อเขากับวาร์ดาพากันออกเดินทางไปกับรถบรรทุกคันย่อมที่ติดตั้งบูธถ่ายรูปในตัว ตระเวนไปตามเมืองเล็กเมืองน้อยในชนบทของฝรั่งเศส เฟ้นหาเรื่องราวจากผู้คนในชุมชนต่างๆ ถ่ายรูปพวกเขา แล้วปริ๊นต์ออกมาเป็นภาพขนาดยักษ์ติดแปะไปตามอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในพื้นที่

มันคือภาพผู้คนกัดขนมปังบาเก็ตต์ที่ถูกแปะต่อกันยาวไปตามแนวกำแพง

มันคือภาพขนาดใหญ่ของชาวนาที่แปะอยู่บนผนังยุ้งฉาง จ้องมองออกไปยังพื้นที่ในฟาร์มอันแสนกว้างใหญ่และเงียบเหงาของเขา

มันคือภาพกลุ่มคนงานในโรงงานที่ถูกแปะบนกำแพง โอบเอื้อมเข้าหากันเพื่อแสดงถึงความสมัครสมานสามัคคี

มันคือภาพใบหน้าของผู้คนหลากหลายช่วงวัยที่เติมเต็มชีวิตให้กับบ้านที่ร้างไร้ผู้คน

มันคือภาพใหญ่โตของผู้หญิงกางร่มในชุดวินเทจ ที่ภายหลังมีผู้คนมาถ่ายเซลฟีด้วยอย่างสนุกสนาน

และมันคือภาพของผู้คนที่ตายจาก ภาพที่ถูกถ่ายเอาไว้ในอดีตอันห่างไกลซึ่งกลับมามีชีวิตโลดแล่นอีกครั้งบนกำแพงบ้านของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่

ภาพถ่ายเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ผู้พบเห็นตื่นตะลึงหรือฉงนฉงาย หากยังเชื้อเชิญให้พวกเขา (และเราคนดู) ครุ่นคิดถึงความสัมพันธ์ที่ชีวิต ความทรงจำ และสถานที่เชื่อมโยงกันผ่านภาพถ่าย เพราะการถ่ายภาพคือการฉวยคว้าเอาชั่วขณะสั้นๆ ที่ไหลผ่านมาบันทึกให้คงอยู่ในรูปภาพ การนำภาพใบหน้าของผู้คนซึ่งมีสังขารไม่จีรัง -รวมถึงภาพของผู้ที่จากไปแล้ว- ไปแปะวางตามสถานที่ต่างๆ จึงเป็นอีกความพยายามในการเชิดชูและเหนี่ยวรั้งความทรงจำไม่ให้สูญสลายไปเฉยๆ หรือ “ร่วงหล่นไปตามซอกหลืบของกาลเวลา” (ตามคำกล่าวของวาร์ดา)

นอกจากนี้ สิ่งที่วาร์ดากับเจอาร์ทำยังเป็นเสมือนการฉายความทรงจำและเรื่องราวของผู้คนให้ผนึกติดอยู่กับสถานที่ที่รายล้อมชีวิตของพวกเขา จากเดิมที่เป็นเพียงทิวทัศน์ของสิ่งปลูกสร้างเปลือยเปล่า ก็เต็มไปด้วยใบหน้าที่แสดงถึงชีวิตชีวาและการดำรงอยู่ ยืนยันว่าครั้งหนึ่งผู้คนเหล่านี้เคยพำนักอาศัยอยู่ตามที่นั้นๆ

แน่นอนว่าการได้จดจ้องมองเห็นใบหน้าของตนอยู่ในสถานที่ที่คุ้นเคยย่อมกลายมาเป็นประสบการณ์แสนประทับใจสำหรับผู้คนที่วาร์ดาและเจอาร์ได้พบเจอ เพราะมันคือการจารึกความสลักสำคัญของชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยลงไปบนโลก ยืนยันคุณค่าและความหมายที่พวกเขามีต่อพื้นที่ หนังจึงไม่เพียงสะท้อนสายโยงใยระหว่างศิลปะกับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังถักทอศิลปะเข้ามาในชีวิตของสามัญชนที่มักถูกโลกของศิลปะละเลย และทำให้พื้นที่สาธารณะกลายมาเป็นพื้นที่ของสามัญชนคนธรรมดา

หากกระบวนการสร้างภาพคือการสร้างความทรงจำ การแสดงภาพในพื้นที่สาธารณะก็เป็นการรับรองว่าใบหน้าของผู้คนที่อยู่ในภาพนั้นจะถูกมองเห็นและถูกจดจำ ว่าพวกเขาจะยังคงมีชีวิตอยู่ในความทรงจำของใครก็ตามที่มองเห็นภาพของพวกเขา โดยงานของวาร์ดากับเจอาร์ยังสร้างความหมายใหม่ๆ ที่มากไปกว่าการสร้างความทรงจำด้วย เมื่อภาพของผู้คนปฏิสัมพันธ์กับสถานที่ที่มันถูกติดแปะ ดังเช่น ภาพดวงตาและเท้าของวาร์ดาที่ถูกแปะลงบนรถไฟ ทดแทนความปรารถนาของเธอที่ก้าวย่างไปพบเห็นสถานที่ใหม่ๆ ที่ร่างกายของเธอไปจริงๆ ไม่ไหว หรือภาพภรรยาคนงานที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางท่าเรือขนส่งซึ่งเป็นพื้นที่ของผู้ชาย ก็ได้เชิดชูความสำคัญของผู้หญิงที่มักอยู่เบื้องหลังผู้ชายและไม่ได้รับการพูดถึงมากพอ

ในช่วงตอนหนึ่งของหนัง วาร์ดานำภาพของ กีย์ บูร์แด็ง (Guy Bourdin) ที่เธอเคยถ่ายไว้ตอนเขายังมีชีวิตอยู่ มาติดบนซากปรักหักพังที่ตกอยู่บนชายหาดนอร์มังดี แต่ภาพนั้นถูกติดไว้ไม่นานถูกกวาดหายไปเมื่อน้ำทะเลขึ้น การพยายามบันทึกความทรงจำของทั้งวาร์ดาและเจอาร์จึงหาได้จีรังยั่งยืน ทั้งคู่ตระหนักดีว่าวันหนึ่งภาพที่ติดแปะไว้ยังไงก็ต้องหลุดลอกออกมาเป็นธรรมดา เราจึงอาจกล่าวได้ว่าสารคดีเรื่องนี้เองก็เป็นการบันทึกกระบวนการบันทึกความทรงจำไปด้วยในตัว แม้ท้ายที่สุดความทรงจำจำต้องเลือนหาย แต่มนุษย์เราก็พยายามทำทุกวิถีทางไม่ให้มันสูญเปล่า หนังแสดงให้เห็นอย่างงดงามว่าการพยายามที่จะจดจำคือสิ่งที่มนุษย์เราทำอยู่เสมอ และเผลอๆ มันคือสิ่งที่ยืนยันความเป็นมนุษย์

เหนือสิ่งอื่นใด หนังไม่ได้มาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับศิลปะอย่างเหือดแห้งเย็นชา แต่จับจ้องทุกสิ่งอย่างด้วยสายตาแห่งความอ่อนโยน วาร์ดากับเจอาร์ถ่ายทอดใบหน้าของคนตัวเล็กตัวน้อยที่โลกไม่รู้จักให้เต็มเปี่ยมด้วยหัวจิตหัวใจ ด้วยการสร้างงานภาพ ทั้งคู่จึงได้สัมผัสหัวใจความเป็นมนุษย์ในผู้คนที่พวกเขาพบเจอ และในกันและกัน

ตลอดทางของหนัง เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างวาร์ดากับเจอาร์ค่อยๆ พัฒนาไปพร้อมๆ กับการทำงานร่วมกัน ทั้งคู่เข้ามาแต่งแต้มให้ชีวิตของอีกฝ่ายเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ความอบอุ่น และเรื่องราวอันน่าจดจำ ดังเช่นที่เจอาร์เข้ามาช่วยเติมเต็มความหวังของวาร์ดาที่จะการได้พานพบกับใบหน้าและเรื่องราวของผู้คนใหม่ๆ ในช่วงเวลาที่สายตาของเธอเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ

จากความหลงใหลร่วมกันในงานภาพ สู่การร่วมทำงานอันแสนประหลาด สู่การหยอกล้อเย้าแหย่ต่างๆ นานา จนไปสู่ความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างจดจ้องเข้าไปในดวงตาแล้วมองเห็นหัวใจของกันและกันได้ในท้ายที่สุด

Faces Places จึงเป็นสารคดีที่ดูแล้วตกหลุมรักได้อย่างง่ายดาย ไม่เพียงครุ่นคิดอย่างลุ่มลึกถึงสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ หากยังไม่รั้งรอที่จะมอบหัวใจของความเป็นมนุษย์ให้คนดูได้สัมผัส พิสูจน์ให้เห็นว่าแม้ดวงตาของวาร์ตาจะเสื่อมประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ไม่ได้เลือนหายตามไปด้วยคือวิสัยทัศน์ การจดจ้องอย่างละเอียดลออ และความหลงใหลที่มีต่อเรื่องราวของเพื่อนมนุษย์

Tags: , , , ,