สำหรับใครหลายคนคำว่า เคมบริดจ์ แอนะลีติกา อาจเป็นคำที่เคยคุ้นหูแต่เริ่มเลือนลางไปแล้ว แต่สำหรับมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก เชื่อว่าชื่อของบริษัทนี้กับเหตุการณ์ต่อๆ มา เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เขาต้องครุ่นคิดเกี่ยวกับแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กที่เขาและทีมงานสร้างขึ้นมาเป็นเวลายาวนาน เหตุการณ์เมื่อปีที่แล้วทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักถึงบทบาทของเทคโนโลยีโดยเฉพาะโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีผลกระทบไม่ได้อยู่เพียงแค่โลกออนไลน์อีกต่อไป แต่ยังส่งผลกับสังคมในวงกว้าง มีบทบาทสำคัญถึงระดับการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบล่าสุดของสหรัฐอเมริกา

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งซัคเคอร์เบิร์กและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทคโนโลยีแนวหน้าของโลก เช่น Apple, AT&T, Google, Twitter ต่างโดนเรียกตัวไปยังสภาคอนเกรสเพื่ออธิบายมุมมองธุรกิจ การใช้ข้อมูล และความรับผิดชอบต่อสังคมของแต่ละบริษัท การไปเยือนกรุงวอชิงตันเพื่อโดนซักถามต่อหน้าสมาชิกสภาและสื่อหลายชั่วโมงย่อมเป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ของผู้บริหารเหล่านี้ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของบริษัทด้านเทคโนโลยี เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ออกกฎเกณฑ์ต่างๆ เริ่มเล็งเห็นถึงอิทธิพลที่ดูเหมือนจะมากเกินขอบเขตของบริษัทดังกล่าว และต้องการมีบทบาทในการควบคุมบริษัทเหล่านั้นมากขึ้น

แล้วแพลตฟอร์มทั้งหลายจะปรับตัวอย่างไร?

เฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มแรกที่ปฏิวัติตัวเองอย่างชัดเจน หนึ่งปีผ่านไปหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซัคเคอร์เบิร์กออกมาเขียนลงในเฟซบุ๊กของเขา ใจความบอกถึงทิศทางของแพลตฟอร์มในอนาคต ที่หลังจากเหตุการณ์นี้ ซัคเคอร์เบิร์กจะหันมาให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว (privacy) ของผู้ใช้ โดยซีอีโอของเฟซบุ๊กเชื่อว่า การติดต่อของผู้ใช้ต่อไปนี้จะเป็นแบบการส่งข้อความหากันรายบุคคลหรือกับกลุ่มย่อยมากขึ้น หากพูดให้เห็นภาพก็คือ News Feed ที่ผู้ใช้เข้ามาเยี่ยมชมกันทุกวันนี้เพื่อติดตามเรื่องราวของเพื่อนหรือข่าวต่างๆ จะถูกลดความสำคัญลง

ฟีเจอร์ News Feed ที่มีมานานกว่า 13 ปี จะถูกแทนที่ด้วยฟีเจอร์การส่งข้อความที่ป้องกันความเป็นส่วนตัวของเนื้อหาที่ผู้ใช้สื่อสารกัน แม้แต่เฟซบุ๊กเองก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข้อความเหล่านี้ได้ เพราะว่าเนื้อหาถูกเข้ารหัส (encrypted) ตั้งแต่ต้นทางผู้ส่งจนถึงปลายทางผู้รับสารคล้ายกับบริการของ WhatsApp ในปัจจุบัน

ในเฟซบุ๊กของเขา ซัคเคอร์เบิร์กให้มุมมองว่าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาเฟซบุ๊กเปรียบเสมือน “จตุรัสของเมือง” ในแง่ที่ผู้คนสามารถสื่อสารกับคนอื่นในวงกว้างแบบเปิดเผยโดยไม่จำเป็นต้องมีอะไรที่เป็นความลับ แต่ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ซัคเคอร์เบิร์กเชื่อว่าความเป็นส่วนตัวจะกลับมามีบทบาทมากอีกครั้ง การสนทนาจะกลับกลายเป็นการพูดคุยที่เสมือนเกิดขึ้นในห้องรับแขก คุยกันได้แทบทุกเรื่องกับคนที่เราเลือกจะคุยด้วยในแบบที่ไม่ต้องเป็นห่วงว่าคนหมู่มากจะรับรู้ นอกจากนั้น ซัคเคอร์เบิร์คยังกล่าวว่าต่อไปนี้ Messenger และ WhatsApp จะเป็นช่องทางหลักที่ผู้ใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กจะใช้สื่อสารกัน

หลังจากที่ชูเรื่องความเป็นส่วนตัวของเนื้อหาที่ผู้ใช้พูดคุยกัน หัวข้อต่อมาที่ซัคเคอร์เบิร์คเน้นย้ำคือเรื่องการเข้ารหัสของข้อความต่างๆ เพื่อไม่ให้มีใครเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นแฮกเกอร์ รัฐบาลบางประเทศที่ประสงค์ใช้อำนาจเกินขอบเขต หรือแม้กระทั่งพนักงานเฟซบุ๊กเอง

การเข้ารหัสข้อมูลไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มธุรกิจอื่นที่ข้อมูลมีความสำคัญมาก เช่นในวงการธนาคารหรือวงการการแพทย์ แต่ผลกระทบที่ตามมาแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ หากมีคนไม่ประสงค์ดี ใช้แพลตฟอร์มนี้ในการทำผิดกฎหมาย หรือแม้กระทั่งก่อการร้าย การตรวจสอบแบบเต็มรูปแบบย่อมเป็นไปไม่ได้เหมือนแต่ก่อน ซัคเคอร์เบิร์คยอมรับในจุดนี้ แต่เขายังเชื่อว่ายังมีวิธีอื่นที่จะช่วยป้องกันไม่ให้คนร้ายใช้แพลตฟอร์มในทางที่ผิดและยืนยันว่าการเข้ารหัสให้ข้อความเป็นความลับมีผลดีมากกว่าผลเสีย

เขายังเชื่อว่ายังมีวิธีอื่นที่จะช่วยป้องกันไม่ให้คนร้ายใช้แพลตฟอร์มในทางที่ผิดและยืนยันว่าการเข้ารหัสให้ข้อความเป็นความลับมีผลดีมากกว่าผลเสีย

อีกแง่มุมของโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ซัคเคอร์เบิร์ควาดภาพไว้ในอนาคตคือ ข้อมูลที่แชร์กันในแพลตฟอร์มจะมีวันหมดอายุ ไม่เหมือนกับในปัจจุบันที่ถ้าโพสต์อะไรบนเฟซบุ๊กนานเท่าไรก็สามารถ “ขุด” กลับไปเจอได้เสมอ ประเด็นนี้มีความสำคัญกับผู้คนที่ใช้แพลตฟอร์มมานาน โดยอาจมีรูปตอนวัยรุ่นที่เต็มไปด้วยความคะนองสนุกตามวัย ภาพเหล่านี้อาจะถูกขุดขึ้นมาโดยผู้ไม่ประสงค์ดีทำให้ชื่อเสียงเสียหายก็เป็นได้ ซึ่งเฟซบุ๊กจะให้ผู้ใช้เลือก “วันหมดอายุ” ของโพสต์หรือบทสนทนาต่างๆ ด้วยตัวเอง ว่าจะให้ลบข้อความภายใน 24 ชั่วโมง หนึ่งเดือน หรือหนึ่งปีแล้วแต่ผู้ใช้จะกำหนดเอง

ความท้าทายของซัคเคอร์เบิร์คในการวางแผนกลยุทธ์ของแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กก็คือ บริษัทมีหลายผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ตัวเฟซบุ๊กเอง จนถึงบริษัทที่ซัคเคอร์เบิร์คลงทุนซื้อกิจการมาอย่างเช่น Instagram และ WhatsApp หากเป็นแต่ก่อน ซัคเคอร์เบิร์คอาจจะบริหารแบบให้ภาพรวมของแต่ละผลิตภัณฑ์แยกกันอยู่ แต่ละผลิตภัณฑ์มีกลุ่มผู้ใช้ ฟีเจอร์ที่ต่างไปในรายละเอียด แต่เมื่อมาถึงการปฏิวัติแพลตฟอร์มครั้งนี้ ซัคเคอร์เบิร์คตัดสินใจให้ผู้ใช้ของแต่ละแอปพลิเคชันสามารถติดต่อกันได้ข้ามแอพฯ

แนวความคิดนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายในเชิงเทคนิคอยู่มาก เพราะว่าระบบหลังบ้านของแต่ละแอปสร้างกันมาแบบแยกกันอยู่ เมื่อวันหนึ่งต้องติดต่อสื่อสารข้ามแอปฯ กัน แถมยังต้องดูแลเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการเข้ารหัส แน่นอนว่าซัคเคอร์เบิร์ครู้ถึงความท้าทายนี้ แต่เชื่อว่าจะมีประโยชน์กับผู้ใช้แพลตฟอร์มในอนาคต หากผู้ใช้ไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะต้องเลือกใช้แพลตฟอร์มไหนเพื่อติดต่อใครก็จะเพิ่มความสะดวกให้กลับผู้ใช้และจะยังใช้แพลตฟอร์มต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลดีกับทั้งสามแอป เอง

เรื่องสุดท้ายที่ซัคเคอร์เบิร์คกล่าวถึงทิศทางของแพลตฟอร์มคือ เรื่องที่ตั้งของศูนย์เก็บข้อมูลของแพลตฟอร์ม แน่นอนว่าเฟซบุ๊กอยากให้มีจำนวนผู้ใช้มากๆ บนแพลตฟอร์ม แต่ซัคเคอร์เบิร์คคิดว่า หากในบางประเทศที่ไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการดำเนินธุรกิจของเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะเรื่องการรักษาความลับของผู้ใช้ เฟซบุ๊กก็จะไม่เลือกจะมีศูนย์เก็บข้อมูลในประเทศนั้นๆ

การตัดสินใจแบบนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ตั้งของศูนย์เก็บข้อมูล แต่บางรัฐบาลอาจบล็อคไม่ให้แพลตฟอร์มให้บริการกับคนในประเทศนั้น ซัคเคอร์เบิร์คเชื่อว่าการตัดสินใจแบบนี้จะดีกับผู้ใช้แพลตฟอร์มและยอมที่จะเสี่ยงกับโอกาสเติบโตธุรกิจของตัวเอง

จากทั้งหมดที่ซัคเคอร์เบิร์คได้แชร์ในเฟซบุ๊กโพสต์นี้ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เป็นเรื่องที่ตัดสินใจไม่ง่าย เรียกได้ว่าเหมือนซัคเคอร์เบิร์คกำลังหันหัวเรือลำใหญ่ (มาก) ที่ชื่อแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กกลับหลังหันแบบ 180 องศา แน่นอนว่าจะกระทบกับการดำเนินธุรกิจของแพลตฟอร์ม ยังไม่มีใครรู้ว่าโฆษณาในเฟซบุ๊กแบบโลกใหม่จะมีหรือไม่ ถ้ามี จะเป็นแบบใด ในเมื่อข้อความที่ถูกส่งผ่านในแพลตฟอร์มทั้งหมดถูกเข้ารหัส  

ส่วนประเด็นการเข้ารหัสและการตรวจสอบข้อมูลผู้กระทำความผิดก็ยังเป็นประเด็นที่ดูเหมือนจะไม่มีทางออกโดยง่าย พูดง่ายๆ คือ ดูเหมือนเฟซบุ๊กยังต้องงัดข้อกับผู้คุมกฎเกณฑ์ในประเทศต่างๆ ต่อไป

จุดหักเหของเฟซบุ๊กในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่บริษัทเปิดตัว News Feed เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา เชื่อแน่ว่าฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ซัคเคอร์เบิร์คพูดถึงจะคงเปิดตัวให้ผู้คนได้ลองใช้ในเร็วๆ นี้ ทั้งบุคคลและธุรกิจที่อาศัยแอปทั้งสามในการใช้ชีวิตหรือดำเนินธุรกิจอาจต้องเตรียมปรับตัวกันขนานใหญ่ในไม่ช้า

Tags: , , , ,