ช่วงต้นเดือนเมษายน ตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาต้องพบกับความปั่นป่วน โดยเฉพาะหุ้นของบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แม้ปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดมีหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่ง คือกรณีที่บริษัท เคมบริดจ์ แอนะลีติกา (Cambridge Analytica) บริษัทวิจัยข้อมูล ดึงข้อมูลผู้ใช้ออกจากเฟซบุ๊ก แล้วนำข้อมูลไปใช้วางแผนหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016

เรื่องที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องร้อน เพราะทำให้ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ที่ปกติจะไม่ค่อยไปปรากฏตัวที่กรุงวอชิงตันสักเท่าไร กลับต้องไปตอบคำถามต่อหน้าสภาคองเกรสถึงสองวันติดกัน

เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดคำถามสำคัญขึ้นมาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล บทบาทและความรับผิดชอบของเฟซบุ๊กต่อข้อมูลของผู้ใช้ และการควบคุมจากภาครัฐที่มีต่อเฟซบุ๊กและบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

การถามตอบในคองเกรสที่ซัคเคอร์เบิร์กชี้แจงมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น เรื่องที่ซัคเคอร์เบิร์กพยายามชี้แจง โดยย้ำว่า ผู้ใช้มีสิทธิควบคุมข้อความหรือรูปภาพที่อัปโหลดเข้าไปในแพลตฟอร์มเสมอ และยังสามารถเลือกได้ว่าจะให้ใครมีสิทธิเห็นเนื้อหาเหล่านี้ได้บ้าง

แต่ประเด็นที่ซัคเคอร์เบิร์กตอบไม่ได้ คือ ใครมีสิทธิควบคุมข้อมูล ‘พฤติกรรม’ อย่างการกดไลค์ ประวัติการใช้งาน หรือการเบราส์ (browse) บนแพลตฟอร์ม ซึ่งอันที่จริง ข้อมูลเหล่านี้ก็สำคัญไม่แพ้กันกับเนื้อหาที่ผู้ใช้ตั้งใจอัปโหลดเข้าไป

ดูเหมือนว่า ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลยังคงมีอยู่ต่อไปแน่นอน เนื่องจากโมเดลทางธุรกิจของเฟซบุ๊กต้องการขายโฆษณาที่อิงจากพฤติกรรมของผู้ใช้ และหลังจากนี้เราคงได้เห็นแง่มุมความคิดเห็นจากซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ที่สภาคองเกรสมีทีท่าว่าจะขอเรียกพบในไม่ช้า

สิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล กับการพัฒนาเทคโนโลยี

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือเรื่องที่ว่า หากมีการกำกับดูแลเข้มงวด จะมีผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีหรือไม่ ยกตัวอย่างกรณีที่รัฐบาลจีนเองก็พัฒนาเทคโนโลยีเก็บข้อมูลส่วนตัวของประชาชน โดยเฉพาะการทำ Face Recognition หรือการจดจำใบหน้า ที่แม้ด้านหนึ่งเป็นการพัฒนาความสามารถของเทคโนโลยีด้านการระบุตัวตน แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ชาวจีน เวลานี้ซัคเคอร์เบิร์กเองก็มีท่าทีที่กังวลว่า หากเฟซบุ๊กถูกกฎเกณฑ์บังคับมากเกินไป ก็อาจทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่สหรัฐฯ ทำอยู่ตามหลังประเทศจีนก็เป็นได้

ซึ่งหากใครที่ติดตามข่าวไอทีจากฝั่งประเทศจีนคงจะทราบดีถึงวิธีการที่รัฐใช้งานเทคโนโลยี หรือพยายามมีส่วนร่วมในบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วจนรัฐไม่สามารถมองข้ามได้

ตัวอย่างหนึ่งก็คือ การใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าในพื้นที่สาธารณะหลายแห่ง เช่น ในสี่แยกหนึ่งของเมืองจีหนาน มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดและซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้า ระบบจะจับภาพผู้ที่เดินข้ามถนนแบบผิดกฎจราจร หากพบการกระทำผิด ระบบจะวิเคราะห์โดยเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลท้องถิ่นเพื่อยืนยันตัวตนผู้กระทำผิด รูปภาพ เลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ ข้อมูลเหล่านี้จะแสดงผล (หรือประจาน) บนหน้าจอบริเวณสี่แยกนั้น หากใครทำผิด ถูกจับได้ และไม่อยากอายถ้าต้องเห็นข้อมูลส่วนตัวแสดงอยู่กลางสี่แยก ก็ต้องไปเสียค่าปรับประมาณ 100 บาท หรือเข้าอบรมกฎจราจรเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง หรือทางเลือกสุดท้ายก็คือ ช่วยงานตำรวจจราจร 20 นาที

หลังจากติดตั้งระบบนี้ พบว่าสถิติผู้ละเมิดกฎจราจรลดลงจาก 200 ครั้ง เหลือเพียง 20 ครั้งต่อวันเท่านั้น

ในระหว่างที่สหรัฐฯ เริ่มขยับตัวปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของประชาชนมากขึ้น โดยที่ยังรักษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำธุรกิจเชิงเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมอื่นๆ แต่ประเทศจีนกลับแน่วแน่ในนโยบายเชิงสังคมนิยมของตน ส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีมีทางเลือกไม่กี่ทางเพื่อทำธุรกิจ

ในสัปดาห์เดียวกับที่ซัคเคอร์เบิร์กไปให้การต่อหน้าสภาคองเกรส ภาครัฐจีนก็ตรวจพบเนื้อหาข่าวที่ไม่เหมาะสมในแอปพลิเคชันข่าวหลายๆ แอปของจีน รวมถึงแอปชื่อดังอย่าง Toutiao ซึ่งมีผู้ใช้สูงถึง 120 ล้านคนต่อวัน จากการค้นพบนี้ ทางการจีนออกคำสั่งให้ถอดแอป Toutiao และแอปอื่นๆ อีกสี่แอป ออกจาก App Store ชั่วคราว เพื่อส่งสัญญาณไปถึงบริษัทผู้พัฒนา ให้ใส่ใจดูแลเนื้อหาบนแพลตฟอร์มของตัวเองอย่างใกล้ชิด

เรื่องนี้ทำให้จางอี้หมิง (Zhang Yiming) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท Bytedance ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Toutiao ต้องออกจดหมายขอโทษต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และในอนาคตอันใกล้ อี้หมิงคงต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เนื่องจากธุรกิจ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐของเขาคงเป็นที่จับตาของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดกว่าเดิม หลังจากเกิดกรณีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในครั้งนี้

ฝรั่งเศส กับมุมมองการพัฒนาไอที โดยมีกลไกตรวจสอบในตัวเอง

จากกรณีของเฟซบุ๊กและ Toutiao แสดงให้เราเห็นถึงกระบวนการคิดและวิธีแก้ปัญหาของสองประเทศที่ต่างกัน

นอกจากสองค่ายนี้ ก็ยังมีอีกฝ่ายเริ่มขยับตัว คือฝั่งยุโรป นำทีมโดยฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีประเทศฝรั่งเศส ประกาศว่ารัฐจะลงทุน 1,850 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในห้าปี เพื่อสนับสนุนงานวิจัย และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนางานด้านไอที

ภายใต้นโยบายนี้ มาครงไม่ได้มองปัญญาประดิษฐ์เป็นแค่ technological disruption แต่เป็น political disruption เลยทีเดียว (!) ดังนั้น สิ่งที่มาครงเลือกกำหนดนโยบายอาจแตกต่างจากฝั่งอเมริกาและจีน คือ ขณะที่มาครงพร้อม ‘เปิดบ้าน’ ต้อนรับการมาของเทคโนโลยี บนความเชื่อว่า หากมัวนิ่งเฉยหรือต่อต้าน อาจมีผลเสียมากกว่าผลดี หากฝรั่งเศสไม่รีบศึกษาพัฒนาตามชาติอื่นให้ทันในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ชาวเมืองฝรั่งเศสจะต้องตกอยู่ในสภาวะที่ลำบากกว่านี้อย่างแน่นอน

ส่วนในมุมมองของการใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาอัลกอริธีมให้ฉลาดขึ้นนั้น มาครงมองว่า กลไกหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีไปในทางที่ไม่ดี คือการสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนทำข้อมูลระบบเปิด หรือเปิดเผยอัลกอริธึมที่พัฒนาขึ้น การเปิดเผยวิธีคิดทางไอทีเหล่านี้ จะช่วยสร้างความโปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้

จากเรื่องราวของรัฐบาลทั้งสามประเทศ ที่มีแนวทางการรับมือการเกิดขึ้นของข้อมูลในโลกดิจิทัลและการพัฒนาของเทคโนโลยีปัญญาอัจฉริยะที่ต่างกัน ในเวลาอันสั้นนี้ คงยังไม่มีคำตอบชัดว่าแผนกลยุทธ์หรือนโยบายแบบไหนจะตอบโจทย์ได้ถูกต้องที่สุด ปัจจัยต่างๆ ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ แต่ที่แน่นอนก็คือ นวัตกรรมหรือผลประโยชน์ที่ได้จากเทคโนโลยี ย่อมต้องมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งคงต้องเกิดจากการร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชน

แนวทางของสามประเทศที่ว่ามา เป็นที่น่าติดตามมากว่า ประเทศไทยจะเดินหมากอย่างไรเพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้ทัดเทียมกับประเทศอื่น

Tags: , , , , ,