จากกรณีเคมบริดจ์ แอนะลีติกา (Cambridge Analytica) ที่พบการดักข้อมูลจากบัญชีเฟซบุ๊กกว่า 50 ล้านบัญชีเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง สร้างแรงกดดันและเป็นคำถามไปยังเฟซบุ๊กเกี่ยวกับมาตรการการจัดการข้อมูลผู้ใช้ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก็ยังมีกระแสข่าวว่าร้านสะดวกซื้อในเมืองไทยวางแผนจะใช้โปรแกรมอัจฉริยะจดจำใบหน้าของลูกค้า

สองข่าวนี้เกี่ยวข้องกันในเรื่องข้อมูลบุคคล (Personal Data) และความเป็นส่วนตัว (Privacy) นี่เป็นปัญหาที่เราควรใส่ใจ เพราะมันคือตัวตนของเราเอง

ตัวตน ประเด็นพื้นฐานทางปรัชญา

เราเป็นใคร? อะไรทำให้เราเป็นคนเดียวกันกับเมื่อวาน? เราเป็นคนเดียวกันกับเราในวัยเด็กหรือเปล่า? ในประเด็นปรัชญา คำถามเหล่านี้มีความยุ่งยาก เพราะคำตอบไม่ได้มีเพียง “ใช่ เป็นคนเดิม” เท่านั้น แต่วิธีการทางปรัชญาให้ความสำคัญที่การหาวิธีคิดและวิธีอธิบายคำตอบ

เรื่องตัวตนมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องความรับผิดชอบทางศีลธรรม ถ้าหากเราระบุได้ว่าเราเป็นใคร หรือเราเป็นคนเดียวกันได้อย่างไร? มันก็จะทำให้เราระบุความรับผิดชอบของการกระทำเราได้ด้วย เพราะคำถามที่ว่า ใครเป็นคนทำ? ใครเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้? ท้ายที่สุดแล้ว มันก็ย้อนมาที่คำถามที่ว่า เราเข้าใจ “ใคร” ว่าอย่างไร?

ถ้าหากไม่นับแนวคิดที่ว่า เรามีวิญญาณเป็นแก่นแท้ของเรา (ซึ่งจะต้องหาคำอธิบายทางอภิปรัชญาอีกว่า วิญญาณที่ว่ามีลักษณะอย่างไร เข้ามาอยู่ในร่างกายที่มีเนื้อหนังของเราได้อย่างไร) แนวคิดที่ถือว่าเป็นพื้นฐานในการอธิบายตัวตนก็คือ แนวคิดของนักปรัชญาชาวอังกฤษชื่อ จอห์น ล็อค (John Locke) ที่อธิบายว่า อัตลักษณ์บุคคลหรือสิ่งที่บ่งบอกว่าเราเป็นคนเดิม ก็คือ ความทรงจำของเราเอง แนวคิดของล็อคเป็นคำอธิบายที่หลีกเลี่ยงปัญหาในการอธิบายสถานะทางอภิปรัชญาของวิญญาณ แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่า ถ้าหากจำไม่ได้ว่าทำอะไรลงไป คนนั้นก็ไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำ หรือกรณีคนที่ความจำเสื่อมก็แสดงว่าไม่มีตัวตนหรือเปล่า?

แนวคิดของจอห์น ล็อคเป็นคำอธิบายตัวตนที่ดีและเข้าใจได้ไม่ยาก ถ้าเราจำไม่ได้ เราก็ไม่ใช่คนเดิม แต่ในเรื่องความรับผิดชอบทางศีลธรรมแล้ว ความคิดแบบล็อคดูจะขัดกับสามัญสำนึก เพราะว่าถ้าเราจำไม่ได้ว่าทำอะไรลงไป เราไม่มีความรับผิดชอบกับการกระทำนั้น คนที่เมาไม่ได้สติก็จะไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำตามแนวคิดของล็อค นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความคิดแบบล็อคไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในเรื่องตัวตน

คำถามที่ว่า ใครเป็นคนทำ? ใครเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้? ท้ายที่สุดแล้ว มันก็ย้อนมาที่คำถามที่ว่า เราเข้าใจ “ใคร” ว่าอย่างไร?

อีกแนวคิดหนึ่งก็คือ แนวคิดที่ว่า ตัวตนก็คือการเป็นคนเดียวกันในเรื่องเล่า (narrative) (ตามความคิดของนักปรัชญาอย่าง Marya Schechtman และ Paul Ricoeur) ตัวตนของเราเป็นเหมือนตัวละครที่อยู่ในเหตุการณ์ของชีวิต สิ่งที่เราเป็นก็คือความเข้าใจที่เรามีเมื่อเราผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต

คำอธิบายแบบเรื่องเล่าขยายบริบทของตัวตนเอาออกไปจากแค่ความทรงจำของเราเอง และการอธิบายตัวตนผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ก็ช่วยบ่งบอกที่มาที่ไปของสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราด้วย ว่าเราจะเข้าใจตัวเองในเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดกับเราอย่างไร แต่แนวคิดนี้อาจจะถูกโต้แย้งว่า การตีความสิ่งที่เราเป็นอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง และเหตุการณ์ในชีวิตของเราเกี่ยวข้องกับคนอื่นเสมอ แล้วเรื่องราวที่เป็นฉากของชีวิตนั้นเป็นเรื่องของใครกันแน่

ประเด็นเรื่องตัวตนก็ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายนักปรัชญาให้ถกเถียงกันและแก้ปัญหาในคำอธิบายของแต่ละแนวคิดต่อไป

ตัวตนออนไลน์

เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เรื่องตัวตนและความรับผิดชอบของการกระทำมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเรื่องตัวตนผ่านเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่นักปรัชญาหลายคนเข้ามาร่วมถกเถียงเพื่อหาคำตอบ นักปรัชญาจำนวนหนึ่งมีความเชื่อว่า ตัวตนที่แสดงผ่านเทคโนโลยี โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ไม่ได้แสดงตัวตนที่แท้จริง หรือมองว่าสื่อออนไลน์แสดงถึงองค์ประกอบของตัวตนไม่ได้ทั้งหมด ความคิดเช่นนี้อยู่ในงานของ Hubert Dreyfus, Dean Cocking, Steve Matthew, Albert Borgmann ซึ่งมองว่า การแสดงตัวตนออนไลน์ไม่ตรงกับตัวตนออฟไลน์

ทั้งนี้ นิยามตัวตนเดิมก็มีปัญหาอยู่แล้ว แต่เทคโนโลยีใหม่ๆ กลับยิ่งทำให้ปัญหายุ่งยากขึ้นไปอีก และการจะบอกว่า สิ่งที่ปรากฏผ่านสื่อดิจิทัล หรือเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่เชื่อมโยงกับตัวตนจริงๆ ที่อยู่ในโลกออฟไลน์ ก็ดูจะเป็นการตัดคำอธิบายเรื่องความรับผิดชอบของบุคคลออกไป

นักปรัชญาที่สนใจเรื่องเทคโนโลยีและประเด็นตัวตนก็พยายามอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างตัวตนออนไลน์กับตัวตนจริงๆ นอกจอ แนวคิดที่น่าสนใจก็คือแนวคิดที่ว่า ทั้งตัวตนออนไลน์และออฟไลน์ประกอบขึ้นมาจากสารสนเทศ (information)

แนวคิดเรื่องตัวตนสารสนเทศเป็นการสลายเส้นแบ่งระหว่างตัวตนออนไลน์และตัวตนออฟไลน์ เพราะว่า ทั้งตัวตนที่ปรากฏออนไลน์และตัวตนที่ปรากฏออฟไลน์ต่างก็มีธรรมชาติเป็นสารสนเทศ

ลูชาโน ฟลอริดิ (Luciano Floridi) หนึ่งในนักปรัชญาสารสนเทศที่มีชื่อเสียงที่สุด อธิบายว่า ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) มีสองประเภท คือ ข้อมูลที่เป็นของเรา ข้อมูลลักษณะนี้อยู่ในการควบคุมของเรา แต่เราอาจจะให้แก่คนอื่นได้ เช่น การบอกว่าบ้านเราอยู่ที่ไหน เรียนจบสาขาอะไร กับข้อมูลอีกประเภทหนึ่งคือข้อมูลที่ประกอบสร้างเป็นตัวเราขึ้นมา เช่น DNA หรือข้อมูลไบโอเมตริก การที่ได้ข้อมูลนั้นไปจากตัวเราก็เหมือนกับการเอาตัวตนเราไปด้วย

แนวคิดของฟลอริดิมาจากปรัชญาสารสนเทศของเขาที่อธิบายว่า สารสนเทศคือกระบวนการทางญาณวิทยาที่เราเข้าใจโลก สารสนเทศในความหมายของฟลอริดิแตกต่างจากสารสนเทศในความหมายทั่วไปตรงที่ฟลอริดิมองว่า การได้สารสนเทศมาจะต้องผ่านกรอบการให้ความหมาย ที่เขาเรียกว่า (Levels of Abstraction)

แนวคิดเรื่องตัวตนสารสนเทศ มองว่าทั้งตัวตนที่ปรากฏออนไลน์และตัวตนที่ปรากฏออฟไลน์ต่างก็มีธรรมชาติเป็นสารสนเทศ

ตัวอย่างของกรอบความเข้าใจที่แก้ปัญหาอัตลักษณ์บุคคล ก็คือ ฟลอริดิอธิบายเรื่อง เรือของธีซุส ที่ว่าถ้าเรือของธีซุสเปลี่ยนแผ่นไม้ออกทีละแผ่น จนกระทั่งไม่มีแผ่นไม้เดิมเหลืออยู่ ยังเป็นเรือลำเดิมรึเปล่า เช่นเดียวกับร่างกายของเราที่ผลัดเซลล์ในร่างกายทุกวัน

ปรัชญาสารสนเทศของฟลอริดิอธิบายเรื่องนี้ว่า ถ้าเราใช้กรอบความเข้าใจเรื่องความเป็นเจ้าของเรือ ถ้ามันยังเป็นของธีซุสมันก็คือลำเดิมหรือ แม้ว่าจะเปลี่ยนเจ้าของ แต่ตามประวัติ มันก็หาที่มาที่ไปได้ว่าเรือมาจากไหน ถ้าหากมองจากมุมมองเรื่องแผ่นไม้ มันก็ไม่ใช่ลำเดิม ดังนั้น การจะระบุอัตลักษณ์ว่าเป็นคนเดิมหรือไม่ ต้องดูว่าเราอธิบายอัตลักษณ์จากกรอบความเข้าใจแบบไหน สำหรับเรือที่มีธีซุสเป็นเจ้าของถือว่าเป็นลำเดิม แต่ถ้ามองในแง่แผ่นไม้ของเดิมมันก็เป็นคนละลำ

เช่นเดียวกันกับคน คนที่เปลี่ยนชื่อ ย้ายที่อยู่ เปลี่ยนอาชีพ แวดวงสังคม เปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ก็เป็นคนใหม่ แต่ถ้านับที่ความต่อเนื่องของร่างกาย คนคนนั้นก็ยังเป็นคนเดิมที่มีรหัสพันธุกรรม หรือมีลายนิ้วมือเดียวกัน แม้ว่าจะเปลี่ยนวิถีชีวิต

แนวคิดของฟลอริดิพยายามแสดงให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องอัตลักษณ์และตัวตนอยู่ที่เครื่องมือในการเข้าใจและอธิบายว่า เราใช้วิธีคิดแบบไหนเป็นตัวตัดสิน และท้ายที่สุดแล้ว ทุกกรอบการอธิบาย ข้อมูลจะเป็นตัวกำหนดว่าอัตลักษณ์ยังเป็นสิ่งเดิมหรือไม่ เช่น ถ้าธีซุสยกเรือให้เพอร์ซุส แม้ว่าจะเป็นเรือที่ไม่เปลี่ยนแผ่นไม้ แต่มันก็ไม่ใช่เรือของธีซุสอีกต่อไป เพราะมันเปลี่ยนเจ้าของไปแล้ว

การอธิบายด้วยปรัชญาสารสนเทศ แสดงความเชื่อมโยงให้กับตัวตนออนไลน์และตัวตนออฟไลน์เพราะตัวตนออนไลน์และออฟไลน์อธิบายได้ด้วยสารสนเทศและข้อมูลที่ประกอบกัน และการแสดงออกออนไลน์ที่แตกต่างจากออฟไลน์ก็อธิบายความเชื่อมโยงได้ด้วยสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็นตัวตนที่ปรากฏที่ไหนก็มีสารสนเทศของตัวตนปรากฏอยู่ทั้งนั้น และนักปรัชญาสารสนเทศอย่างฟลอริดิมองว่า สิ่งที่แสดงถึงตัวตนของเรา จริงๆ แล้วคือสารสนเทศทั้งหมด ซึ่งแนวคิดของฟลอริดิอธิบายตัวตนไปถึงระดับอภิปรัชญาว่า ทุกๆ สิ่งเป็นสารสนเทศ งานปรัชญาของฟลอริดิจึงเป็นการตอบปัญหาปรัชญาด้วยสารสนเทศ ไม่ว่าตัวตนที่ปรากฏออนไลน์หรือตัวตนที่อยู่ออฟไลน์จึงไม่แตกต่างกัน เพราะมันคือการปรากฏตัวของสารสนเทศเช่นเดียวกัน

นอกจากแนวคิดของฟลอริดิแล้ว อาจารย์ปรัชญาในไทยอย่าง ศ.ดร.โสรัจจ์ โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ก็มีแนวคิดที่ว่า ตัวตนมีลักษณะเป็นสารสนเทศ นั่นคือ การแสดงออกผ่านสื่อเป็นส่วนขยายของตัวตน (Extended self) ซึ่งการระบุตัวตนเป็นสิ่งที่ระบุโดยปัจจัยภายนอก สารสนเทศเกี่ยวกับตัวเราที่ปรากฏในที่ต่างๆ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราไปด้วย

การอธิบายตัวตนด้วยสารสนเทศและการระบุตัวตนจากสารสนเทศภายนอก ไม่เพียงสลายปัญหาระหว่างตัวตนออนไลน์กับตัวตนออฟไลน์ ให้กลายเป็นตัวตนในรูปแบบสารสนเทศ ไม่ว่าตัวตนจะปรากฏออนไลน์หรือไม่ มันก็ถือว่าเป็นสารสนเทศ นอกจากนี้วิธีการตอบปัญหาปรัชญาด้วยแนวคิดแบบสารสนเทศแสดงถึงความเชื่อมโยงประเด็นปรัชญาเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศและรวมไปถึงประเด็นอภิปรัชญาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป

เทคโนโลยีสารสนเทศ: เทคโนโลยีของตัวตน

แนวคิดเรื่องตัวตนที่อธิบายด้วยสารสนเทศพยายามแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีสารสนเทศที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบข้อมูลให้กลายเป็นระบบดิจิทัลนั้น มีผลกับความเข้าใจตัวตนของเราด้วย เทคโนโลยีสารสนเทศจัดการข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราโดยที่เราอาจจะไม่ทันรู้ตัวว่าเราส่งข้อมูลอะไรเข้าระบบไปบ้าง และสารสนเทศบางอย่าง แม้เรามีมันอยู่แต่อาจจะไม่รู้ตัวว่าเราเป็นเจ้าของ เช่น ข้อมูลไบโอเมตริกอย่างลายนิ้วมือ ภาพโครงสร้างใบหน้า 

เราไม่รู้ว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นลักษณะเฉพาะของตัวตนเราอย่างไร แต่เทคโนโลยีรู้จักความแตกต่างข้อมูลของแต่ละคน เช่น เวลาที่เราแสกนลายนิ้วมือในโทรศัพท์ อุปกรณ์จะบอกได้ว่า เป็นนิ้วที่ใช้เปิดล็อคหรือไม่ หรือการปลดล็อคโทรศัทพ์ด้วยใบหน้า มันไม่ได้จำภาพใบหน้า แต่การระบุด้วยไบโอเมตริกเป็นการระบุโครงสร้างจากจุดสมมติบนใบหน้า และข้อมูลที่เราแสดงผ่านเทคโนโลยี ก็เป็นร่องรอยตัวตนของเราด้วย คนบางคนอาจจะรู้จักได้ด้วยการเข้าไป ‘ส่อง’เฟซบุ๊ก เพราะเขาบอกกิจกรรมและความคิดเกือบทุกอย่างไว้ในเฟซบุ๊ก

ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของข้อมูลดิจิทัล ก็คือ การทำสำเนามีคุณภาพเท่ากับต้นฉบับ และสามารถส่งต่อในจำนวนกี่สำเนาก็ได้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จัดการสารสนเทศผ่านระบบดิจิทัล จึงเป็นช่องทางสำหรับการคัดลอก จัดเก็บ และส่งต่อข้อมูลออกไปได้ และร่องรอยของตัวตนที่เราแสดงผ่านสารสนเทศก็อาจจะถูกคัดลอกออกไปผ่านเทคโนโลยีเช่นกัน

กรณีข้อมูลบัญชีเฟซบุ๊กรั่วไหลมาจากการใช้แบบสอบถามที่ชื่อว่า thisisyourdigitallife เป็นตัวล่อ และผู้ใช้กดอนุญาตให้เชื่อมต่อกับเฟซบุ๊กด้วยตนเอง ซึ่งรูปแบบการเชื่อมต่อแอปฯ แบบนี้ เป็นรูปแบบของแอปฯ หลายประเภท โดยเฉพาะแบบทดสอบที่ต้องยินยอมให้เชื่อมต่อกับเฟซบุ๊กก่อนจึงจะทำแบบทดสอบได้ ข้อมูลที่รั่วไหลออกไปจากบัญชีเฟซบุ๊กจึงถูกนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมต่อแล้วสรุปออกมาเป็นกลยุทธ์หาเสียง โดยที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กยังคงอยู่ในเฟซบุ๊กเหมือนเดิม

การทำสำเนามีคุณภาพเท่ากับต้นฉบับ ทำให้ร่องรอยของตัวตนที่เราแสดงผ่านสารสนเทศก็อาจจะถูกคัดลอกออกไปผ่านเทคโนโลยีเช่นกัน

กรณีการใช้ประโยชน์ข้อมูลส่วนตัวของบริษัท เคมบริดจ์ แอนะลีติกา แสดงให้เห็นว่า เพียงแค่เข้าถึงชุดข้อมูลที่เราให้ไว้ในเฟซบุ๊ก ก็สามารถทำนายได้แล้วว่า เราจะมีแนวโน้มทางการเมืองอย่างไร มันแสดงให้เห็นว่าเฟซบุ๊กของเรามีองค์ประกอบที่บ่งบอกตัวตน และมีมากพอที่จะให้คนอื่นเอาไปทำนายได้ว่าเราจะคิดอะไร

ปัญหาเรื่องข้อมูลในเฟซบุ๊กรั่วไหล นำไปสู่การเคลื่อนไหวที่จะลบบัญชีเฟซบุ๊ก แต่นั่นอาจจะสายเกินไป เพราะแอปที่เชื่อมต่อกับเฟซบุ๊กนั้น เชื่อมต่อมาเป็นเวลานาน จนอาจจะได้ข้อมูลของเราจนพอใจแล้วก็ได้ ซึ่งประเด็นนี้ก็มีคำถามให้เฟซบุ๊กต้องตอบและแก้ไขว่า เฟซบุ๊กรู้เท่ากันกับแอปฯ ที่นำข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กไปแค่ไหน และเฟซบุ๊กจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้อย่างไร

กรณีของเคมบริดจ์ แอนะลีติกา เตือนให้เราเห็นความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล และเราควรจะตระหนักว่า ข้อมูลที่เรานำเข้าสู่สื่อออนไลน์นั้นไม่ใช่แค่ตัวหนังสือที่กรอกลงในช่องว่าง แต่มันเป็นข้อมูลที่ระบุตัวตนและบ่งบอกตัวตนของเราได้ เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นแหล่งเก็บเกี่ยวข้อมูลส่วนบุคคลชั้นดี เพราะผู้ใช้บ่งบอกชื่อ เช็กอินเพื่อบอกที่อยู่ กดติดตามสิ่งที่สนใจ รูปถ่าย ข้อมูลเหล่านี้ก็เพียงพอที่จะบอกได้ว่าใครมีลักษณะนิสัยอย่างไร

แนวคิดเรื่องตัวตนสารสนเทศแสดงให้เราเห็นว่า ตัวตนของเราคือข้อมูลของเราด้วย ดังนั้น ก่อนที่เราจะให้ข้อมูลหรือประกาศข้อมูลเกี่ยวกับตัวเรา เราควรระลึกไว้เสมอว่า เมื่อเราส่งมันขึ้นออนไลน์แล้ว มันไม่ได้เก็บไว้กับตัวเราอีกต่อไป และการเก็บเกี่ยวข้อมูลส่วนบุคคลจากกรณีเคมบริดจ์ แอนะลีติกา แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของเรามีประโยชน์อย่างมหาศาลแก่นักวิเคราะห์ ไม่ว่าจะในทางการตลาดหรือการเมือง โดยเฉพาะเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลที่เก็บข้อมูลจากเราแล้วสามารถสำเนาลงฐานข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว ภาพถ่ายใบหน้าของเราก็คือส่วนหนึ่งจากตัวตนของเรา

นั่นหมายความว่า ถ้าเราซื้อสินค้าในร้านที่เก็บภาพใบหน้าของเรา เราไม่ได้จ่ายแค่ราคาสินค้าเท่านั้น แต่เราจ่ายส่วนหนึ่งของตัวตนเราไปด้วย

Tags: , , , , ,