นัยระนาบนอก อินซิทู : แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน คือนิทรรศการที่เปิดพื้นที่ทับซ้อนทางประวัติศาสตร์ของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) โดยศิลปินร่วมสมัยและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา โดยมีศิลปินที่เข้าร่วมถึง 7 ท่านคือธนัฐชัย บรรดาศักดิ์, ออน คาวารา, อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ, นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์, ปรัชญา พิณทอง, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และหยังโว จัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ในวันที่ 6 มีนาคม – 28 เมษายน 2562
ประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า ความทรงจำ พิพิธภัณฑ์ การจัดแสดง พื้นที่ และเวลา คำศัพท์สำคัญเหล่านี้ถูกถ่ายถอดออกมาเป็นผลงานศิลปะในรูปแบบการทำงานที่หลากหลายทั้งภาพวาด วิดีโอ ศิลปะจัดวางรวมไปถึงศิลปะการแสดงสด ภายในพื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติซึ่งทำหน้าที่ในการกักเก็บ จัดแสดง เผยแพร่ ผลิตซ้ำ อุดมการณ์ ความทรงจำร่วมซึ่งถูกควบคุมกำกับโดยรัฐผ่านการคัดสรรเลือกหยิบเอาเรื่องเล่าที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ และชนชั้นนำ มาสถาปนาห่อหุ้มเคลือบทับให้กลายเป็นประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของชาติซึ่งชนทุกชั้นควรยึดถือท่องจำ ตัดเอาส่วนที่ไม่ต้องการทิ้งไปเพื่อที่วันหนึ่งมันจะถูกลืมเลือนแต่มันก็อาจกลับมามีชีวิตอีกครั้ง…
การทำงานของศิลปินทั้ง 7 ได้ชวนให้เราขบคิดใคร่ครวญและตั้งคำถามต่ออดีตผ่านการสืบค้นร่องรอยเกร็ดเก่า สิ่งซึ่งเคยถูกมองข้ามละเลยมาจัดแสดงจนเกิดเป็นบทสนทนาร่วมสมัยระหว่างอดีตกับปัจจุบัน พื้นที่กับเวลา วัตถุและผู้คน การจดจำและการลืมเลือน ประเด็นเหล่านี้สอดแทรกอิงแอบอยู่ภายในผลงานชิ้นต่างๆ โดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงผลงานจำนวน 3 ชิ้น
//////// ภาพยนตร์ 16 มม. ความยาว 2.39 นาทีของธณัฐชัย บรรดาศักดิ์ ฉายภาพการทำงานของคนสวนประจำโรงละครแห่งชาติซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของวังหน้า ผู้ชมจะมองเห็นมือทั้งสองข้างของคนสวนที่กำลังขูดลอกพืชพรรณออกจากร่องระหว่างแผ่นปูพื้นคอนกรีตอย่างประณีตบรรจง จากร่องหนึ่งไปอีกร่องหนึ่งไปเรื่อยๆ
ภาพยนตร์ขนาดสั้นเพียงไม่กี่นาทีที่นำเสนอการทำงานของคนสวนชิ้นนี้แฝงฝังการวิพากษ์ประวัติศาสตร์ชาติอย่างถึงแก่น ผ่านการชี้ชวนให้ผู้ชมคิดถึงกลุ่มคนซึ่งมักถูกละเลย และเบียดขับออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์อันทรงเกียรติ เนื่องจากประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมที่ถูกนำเสนอถ่ายทอดภายในพิพิธภัณฑ์ให้ความสำคัญกับการบอกเล่าเรื่องราวที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลอันทรงคุณค่าในราชวงศ์ซึ่งมีคุณูปการต่อประเทศชาติ ตำแหน่งแห่งที่ของชีวิตไพร่ฟ้าหน้าใสเป็นได้เพียงแค่องค์ประกอบ การงานสามัญของคนธรรมดาที่บรรจุเป็นประเด็นหลักอยู่ภายในภาพยนตร์สั้นจึงนำเสนอมุมมองที่แตกต่าง และชวนให้เราตั้งคำถามต่อบทบาทของบุคคลธรรมดาสามัญทั่วไปในอดีตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่วังหน้าแห่งนี้
ในขณะที่ เรือนร่างของสิ่งที่ไม่มีอยู่นั้นเป็นรูปวงกลม ของนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ชิ้นงานประกอบไปด้วยห่วงเหล็กสลักตัวอักษร เนื้อเพลงลาวแพน ภาษาไทยและภาษาลาว จำนวน 2 ชิ้น ตู้กระจกจัดแสดงลูกแก้วปรอท (Mercury ball) จัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศรานิจฉัยและลูกแก้วปรอทจำลองติดตั้ง ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์
นิพันธ์สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ในฐานะพื้นที่จัดแสดงศิลปวัตถุที่พ่วงมิติทางประวัติศาสตร์ ศิลปินได้ทำการเคลื่อนย้ายลูกแก้วปรอทซึ่งเป็นวัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์ที่แต่เดิมจัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ มาจัดแสดงในนิทรรศการ และได้จัดทำลูกแก้วจำลองขึ้นเพื่อนำไปจัดแสดงในตำแหน่งพื้นที่เดิม ประเด็นที่น่าสนใจของงานชิ้นนี้คือการหยิบยกเอาลักษณะและความเชื่อที่มีต่อการใช้งานลูกแก้วปรอทซึ่งสันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อประดับห้องรับประทานอาหาร สำหรับพ่อบ้าน คอยชำเลืองมองดูแขกที่กำลังรับประทานอาหารเพื่อจะได้ทราบว่าต้องการอะไร แทนการจ้องมองไปที่แขกโดยตรง
ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับวัตถุผ่านการจ้องมองซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิดโดยการที่ศิลปินได้ตั้งตู้กระจกซึ่งเปิดประตูไว้ด้านหนึ่ง จัดวางลูกแก้วปรอทในตำแหน่งที่ไม่ได้อยู่กึ่งกลางตามที่ควรจะเป็นและอนุญาตให้ผู้ชมจ้องมองได้ในระยะประชิดได้ท้าทายขนบการเข้าชม ชวนให้นึกถึงประเด็นเรื่องความจริงแท้และการจ้องมองเพ่งพินิจลึกลงไปในวัตถุซึ่งสอดคล้องกับคุณสมบัติของลูกแก้วจำลองที่สะท้อนให้เห็นถึงพื้นที่รอบข้างอย่างบิดเบี้ยวเปรียบเสมือนการที่ผู้ชมควรตระหนักถึงบทบาทและความจริงแท้ของศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ว่าในทางหนึ่งวัตถุที่กำลังจ้องมองอยู่นั้นแท้จริงแล้วได้บรรจุเรื่องเล่า ภาพแทน หรือความจริงที่ถูกปรับปรุงเสริมแต่งมาแล้วมันจึงบิดเบี้ยวในตัวเอง และสามารถที่จะมองเห็นได้ในอีกหลากหลายมุมมอง โลกในวัตถุจึงซับซ้อนมากกว่าที่ถูกนำเสนอ ในขณะเดียวกันวัตถุเหล่านี้ก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉยแต่ทำหน้าที่ฉายภาพแทนที่บิดเบี้ยวจ้องมองกลับมายังผู้ชม กำกับสายตาและจำกัดการรับรู้ของผู้ชม ดวงตาของมนุษย์จึงไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะอวัยวะของร่างกายเท่านั้นแต่กลับเป็นพื้นที่ซึ่งทับซ้อนไปด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
ลูกแก้วปรอทถูกจัดวางสร้างบทสนทนากับห่วงโลหะ 2 วงที่สลักเนื้อเพลงลาวแพนภาษาไทยและภาษาลาว เนื้อเพลงลาวแพนเป็นบทเพลงที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง พูดถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลาวในสมัยรัชกาลที่ 3 เพลงลาวแพนพาดพิงไปยังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงโปรดการแอ่วลาวเป่าแคนหรือวัฒนธรรมลาวมากจนเป็นเหตุให้รัชกาลที่ 4 (พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงไม่พอพระทัย เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นการละทิ้งการละเล่นของไทย ทรงออกประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2409
งานศิลปะเพียงชิ้นเดียวแต่หลากหลายองค์ประกอบของนิพันธ์จึงนำเสนอถึงเรื่องเล่าที่ถูกละเลยและไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในประวัติศาสตร์กระแสหลัก อาทิ วัฒนธรรมลาวในสังคมไทย บทบาทของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกทั้งยังวิพากษ์ต่อระเบียบการเข้าชม ความจริงแท้ของศิลปวัตถุ การจ้องมองไปจนถึงการเมืองเรื่องสิ่งของและการมองเห็น
ส่วน unclock ของปรัชญา พิณทอง จัดแสดงกระดาษเคมีในตัวจากเครื่องนาฬิกายามขนาดกว้าง 1 ซม. ความยาวไม่แน่นอน บันทึกวัน เวลาและตัวเลขระบุบุคคลที่ได้รับบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดย เลข 1 สำหรับชาวต่างชาติ เลข 2 สำหรับชาวไทย ศิลปินจะระบุกลุ่มคำหรือรหัส (keyword) ให้กับตัวแทนที่จะถ่ายทอดกลุ่มคำเหล่านั้นต่อผู้ที่กำลังจะเข้าชมพิพิธภัณฑ์ เพื่อใช้สำหรับเข้าชมพิพิธภัณฑ์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เมื่อผู้ชมพูดกลุ่มคำเหล่านั้นต่อเจ้าหน้าที่ประจำห้องจัดจำหน่ายบัตร เหตุการณ์เมื่อผู้ชมเอ่ยคำสำคัญและได้รับบัตรเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้งจะถูกบันทึกลงในกระดาษเคมีและนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ
งานของปรัชญามีลักษณะของปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกันระหว่างผู้ชม เจ้าหน้าที่ บทสนทนา ภาษา การสื่อสาร การบันทึกลงเวลา และการจัดแสดง ปรัชญาชวนให้ตั้งคำถามต่อประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือการเขียนประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องเล่าต่างๆ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านคำสำคัญไม่กี่คำซึ่งแน่นอนว่าคำเหล่านี้ล้วนถูกคัดเลือกและกำหนดมาแล้วจากศิลปินหรือผู้มีอำนาจ หากผู้ชมเชื่อฟัง สยบยอมก็จะได้รับรางวัลอันเป็นผลพลอยได้จากการเชื่องเชื่อ อีกทั้งยังถูกให้ความสำคัญโดยการบันทึกเวลาที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจากนั้นจึงนำไปจัดแสดงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และห้วงเหตุการณ์ ในขณะที่ผู้ชมซึ่งไม่พูด ไม่เชื่อ ไม่รับฟังจะไม่ถูกบันทึกลงเวลาไว้ ไม่ถูกจดจำจนไม่มีตัวตนอยู่ราวกับว่าไม่เคยเกิดเหตุการณ์หรือบทสนทนาใดๆ ปรัชญาได้ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการอันสลับซับซ้อน และเต็มไปได้การช่วงชิงเชิงอำนาจที่ทำให้เกิดการสถาปนาความรู้หรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ขึ้นในแต่ละครั้ง
นิทรรศการ นัยระนาบนอก อินซิทู : แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน ชวนผู้ชมให้นึกถึงเรื่องอื่นที่ไม่ถูกเล่า คนอื่นที่ไม่ได้ถูกนับรวมให้เป็นส่วนหนึ่ง วัฒนธรรมที่ถูกผลักไสไล่ส่ง กระบวนการเบื้องหลังที่ไม่ถูกเผย ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้สิ่งแปลกใหม่งอกเงยเพิ่มพูนขึ้นจากซอกหลืบทำให้เห็นถึงมิติความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แฝงฝังอยู่ในประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า ความทรงจำ พิพิธภัณฑ์ การจัดแสดง พื้นที่ และเวลา ผ่านงานศิลปะร่วมสมัยก่อให้เกิดการสืบค้น คิดใคร่ครวญต่อความเข้าใจในอดีตของมนุษย์อีกครั้งซึ่งทั้งหมดล้วนแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วอดีตไม่เคยเป็นอดีตในตัวมันเอง ไม่ได้ตรงข้ามหรือแยกส่วนกับปัจจุบัน และอนาคต แต่อดีตคือผลลัพธ์จากการปะทะช่วงชิงกันระหว่างอดีต ปัจจุบันและอนาคต เหมือนดั่งวรรคทอง ในวรรณกรรมดิสโทเปีย 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ “ผู้ใดควบคุมอดีตผู้นั้นย่อมควบคุมอนาคต ผู้ใดควบคุมปัจจุบันผู้นั้นย่อมควบคุมอดีต”
Tags: art, Exhibition, Art exhibition