ถ้าหากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) เคยทำคนฟังเพลงแตกตื่นมาแล้วด้วยการปล่อยอัลบั้มอัลเทอร์เนทีฟ Folklore (2020) แบบไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ในเดือนธันวาคมนี้ เธอก็เซอร์ไพรส์ทุกคนเช่นนั้นอีกครั้งด้วยการปล่อย Evermore (2020) อัลบั้มลำดับที่เก้า อบอวลด้วยกลิ่นอายคันทรี-โฟล์ก ที่เธอนิยามว่าเป็นเสมือนอัลบั้มน้องสาวของ Folklore ที่คลอดออกมาก่อนเพียงห้าเดือน
กล่าวได้ว่า ทั้ง Folklore และ Evermore คือผลผลิตจากช่วงการกักตัวอันยาวนานของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ในอพาร์ตเมนต์ ซึ่งเปิดเปลือยให้เห็นมิติอื่น ๆ ของเธอ นอกเหนือจากการเป็นคนเล่าเรื่องประสบการณ์ของตัวเองไปสู่การเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ ผ่านถ้อยคำและเสียงดนตรีมากกว่าที่เราเคยรู้จัก
อัลบั้มก่อนหน้าของเทย์เลอร์ นับตั้งแต่อัลบั้มคันทรีที่พาเดบิวต์เข้าสู่วงการ Taylor Swift (2006) มาจนถึงอัลบั้มป๊อปจัดจ้านคว้ารางวัลแกรมมี่ 1989 (2014) จนถึงอัลบั้มลำดับที่เจ็ดก่อนหน้าการมาเยือนของไวรัสโควิด-19 อย่าง Lover (2019) ใจกลางสำคัญของเรื่องคือตัวของเทย์เลอร์เองที่เผยเรื่องราวหลากแง่มุมในชีวิตตัวเอง จนกลายเป็นภาพจำกึ่งธรรมเนียมที่คนฟังเพลงจะคาดเดากันว่าเพลงของเธอพูดถึงใครคนไหนบ้าง กระทั่งการมาถึงของ Folklore ที่เธอหยิบจับเอาเรื่องราวของคนอื่นมาร้อยเรียงเป็นบทเพลง และยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดขึ้นใน Evermore ที่เต็มไปด้วยเนื้อเรื่องหลากหลาย ประกอบเข้ากับดนตรีที่ต่างไปจากเทย์เลอร์คนเดิมที่เราคุ้นเคย
ตัวแปรสำคัญทำให้ Evermore ต่างจาก Folklore คือการที่ อารอน เดสส์เนอร์ มือกีตาร์จาก The National วงอัลเทอร์เนทีฟสัญชาติอเมริกันนั่งแท่นเป็นโปรดิวเซอร์เต็มตัว โดยโปรดิวเซอร์คู่บุญของเทย์เลอร์อย่าง แจ็ค อันโตนอฟฟ์ ที่กอดคอร่วมงานกันมาตั้งแต่อัลบั้ม 1989 ถอยกลับไปช่วยดูแลสองเพลงคือ Gold Rush และ Ivy บทเพลงต่าง ๆ ในอัลบั้มจึงสดและดิบกว่าที่งานเก่า ๆ ที่เราเคยรู้จัก เพราะในมุมใดมุมหนึ่ง การร่วมงานกับเดสส์เนอร์อย่างเต็มตัว (ทั้งยังได้ ไบรซ์ เดสส์เนอร์ น้องชายฝาแฝดของเขามาร่วมโปรดิวซ์ด้วย) มีส่วนช่วยให้เทย์เลอร์ ‘ทลายขอบเขตทางดนตรี’ ที่เธอเคยทำมาตลอดสิบสามปีในวงการเพลง และขยายมิติทางดนตรีของตัวเองไปสู่เขตแดนอื่น ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์
เทย์เลอร์เล่าว่า “หลังจากปล่อยอัลบั้ม Folklore ฉันกับอารอนก็ยังเอาแต่แลกเปลี่ยนเรื่องเพลงกันอยู่นั่น แล้วก็ยังเขียนเพลงอยู่เรื่อย ๆ ตอนนั้นฉันยังไม่รู้เลยว่าเพลงที่เขียนจะถูกนำมาใช้ในอัลบั้มของตัวเอง หรือจะเอาไปอยู่ในโปรเจกต์ของอารอนที่ชื่อ Big Red Machine แต่เราก็ทำเพลงกันตลอดเวลา แล้วก็พบว่าเพลงที่ฉันเขียนไปทั้งหมดคือบทต่อไปของอัลบั้ม Folklore”
ก่อนหน้านี้ เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ภายหลังจากต้องงดแสดงคอนเสิร์ตและการขึ้นโชว์ทั้งหมด ทำให้ตัวเองไม่ต้องคิดว่าแต่ละเพลงจะเป็นอย่างไรเมื่อต้องขึ้นแสดงสด พอเป็นแบบนี้ เลยทำเพลงโดยไม่ต้องคิดแล้วว่า ถ้าเอาเพลงนี้ไปเล่นในสเตเดียม เสียงมันจะเป็นยังไง หรือคิดว่า ถ้าเปิดเพลงนี้ตามวิทยุ เสียงมันจะออกมาแบบไหน เมื่องานเพลงก้าวมาสู่ยุคที่ไม่จำเป็นต้อง ‘คำนึงเผื่อตอนขึ้นคอนเสิร์ต’ จึงเกิดความอิสระและเบิกทางให้ตัวเธอเองได้ค้นหาและรังสรรค์งานดนตรี โดยปราศจากข้อจำกัดใหญ่
‘Willow’ ซิงเกิลเปิดตัวของ Evermore อบอวลด้วยกลิ่นอายคันทรี-โฟล์กจากเครื่องดนตรีหลากชนิดทั้ง เชลโล ฟลุต และเครื่องเป่า เนื้อเพลงถูกเขียนโดยเทย์เลอร์ ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต และได้เดสส์เนอร์นั่งแท่นโปรดิวเซอร์
‘Champagne Problems’ บทเพลงที่ว่าด้วยชีวิตคู่แสนเปราะบางและดำเนินมาถึงทางแยกที่ต้องเลือก รวมทั้งหลาย ๆ เพลงที่เขียนถึงชีวิตหลากหลายมิติ อาทิเพลงลำดับที่ 13 อย่าง ‘Marjorie’ ที่เล่าถึงคุณยายผู้ล่วงลับ อีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการทำงานดนตรีมาอย่างยาวนานของเทย์เลอร์ บทเพลงนี้คู่ขนานกันไปกับ epiphany จากอัลบั้มก่อนที่เล่าถึงคุณตาที่ต้องออกรบในสงครามโลกครั้งที่ 2
‘Dorothea’ คือตัวละครที่เทย์เลอร์สร้างขึ้นเพื่อเล่าเรื่องของเด็กสาวคนหนึ่งในรั้วโรงเรียน แม้ผลงานทั้งหมดได้กลายเป็นเครื่องยืนยันที่พิสูจน์การเป็นนักเขียนเพลงอันดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมเพลง ทว่าผู้คนยังพบอีกว่า เพลงลำดับที่ 6 ‘No body, No crime’ ที่เล่าถึงคดีฆาตกรรมอันซับซ้อนผ่านสายตาของคนนอก ที่เฝ้ามองไปยังคู่รักคู่หนึ่งที่ภรรยาหายตัวไปอย่างลึกลับ บทเพลงแบ่งออกเป็นสามองก์สั้น ๆ ถึงการควานหาคนร้าย ก่อนจะหักมุมได้อย่างน่าประทับใจ
การเขียนเพลงเคล้าบรรยากาศเหมือนหนังฆาตกรรม มีพล็อตและเส้นเรื่องชัดเจน ประกอบกับการหักมุมทรงพลัง ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความเป็นมืออาชีพของผู้แต่ง และ ‘No body, No crime’ ได้ช่วยยืนยันข้อเท็จจริงนี้มากขึ้นไปอีกขั้น
“ฉันดีใจมากที่ตัวเองก้าวข้ามขีดการสร้างงานที่เคยเป็นมา ก่อนนี้มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ฉันจะเขียนเพลงที่เป็นส่วนตัวมาก ๆ (Diaristic) เท่านั้น และคิดว่ามันคงไม่ดีต่องานเพลงในอนาคต เหมือนพอเราถอยออกมามองจากที่ไหล ๆ ก็จะเกิดความสงสัยว่า ทำไมฉันถึงได้เขียนถึงแต่เรื่องของตัวเองนะ ถ้าฉันสร้างคาแรกเตอร์ หรือสร้างเมืองสมมติสักแห่งในอเมริกาขึ้นมา ไม่ว่าฉันจะจินตนาการถึงอะไร มันก็ยังสะท้อนตัวตนและห้วงอารมณ์ของตัวเองลงในบทเพลงได้อยู่ดี”
อาจกล่าวได้ว่า Folklore คือการเปิดประตูบานแรกของเทย์เลอร์ ไปสู่ดินแดนทางดนตรีที่เธอไม่เคยย่างกรายมาก่อน Evermore ได้รับไม้ต่อในสิ่งที่อัลบั้มก่อนหน้าแผ้วถางไว้ ออกวิ่งไปยังเขตแดนแห่งใหม่อันน่าตื่นตาตื่นใจและสมควรได้รับการจดจำยิ่ง
ท่ามกลางระบบการสตรีมมิงที่จำแนกการฟังเพลงแบบเต็มอัลบั้มไปสู่การฟังเพลงแยกแบบเดี่ยว ๆ ของแต่ละศิลปิน Evermore ท้าทายวัฒนธรรมการฟังรูปแบบนี้ด้วยการดึงรั้งคนฟังให้อยู่กับทุกเพลงในอัลบั้มตั้งแต่ต้นจนจบได้อย่างน่าประทับใจ กลายเป็นความทรงพลังอย่างหนึ่งของตัวอัลบั้มที่ทำให้ผู้ฟังไม่กดข้าม และยินดีจะอยู่ในโลกแห่งเสียงดนตรีที่เธอรังสรรค์ขึ้นมาทั้งหมด 15 บทเพลง
สำหรับผู้ติดตามผลงานเพลงของเทย์เลอร์ สวิฟต์ มาโดยตลอด การเปลี่ยนแปลงนี้นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่พบว่า การเดินทางบนถนนสายดนตรีของเทย์เลอร์ยังก้าวไกลและเติบใหญ่ไปพร้อมกับผู้ฟัง ครั้งหนึ่งอาจเป็นเด็กอ่อนไหวกับโลก แล้วเปลี่ยนเป็นคนหนุ่มสาวที่กล้าปะทะผู้คน จนมาสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ ‘ตกผลึก’ กับเรื่องราวบางอย่างของชีวิต
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายถึงการปลงตก ทว่าหมายถึงการปล่อยผ่าน คล้ายกับนั่งมองทุกอย่างไหลผ่านรอบตัว ความเจ็บช้ำ ความว้าวุ่นใจ ความผิดหวัง หรือกระทั่งการแตกร้าวของชีวิต ทั้งหมดไหลผ่านไปอย่างช้า ๆ และจะมีบทเพลงของเธอคอยอยู่เป็นเพื่อนเคียงข้าง ปลอบประโลมเรื่อยไปจนกว่าจะเยียวยาตัวเองและฟื้นคืนใหม่อีกครั้ง
Tags: willow, Taylor Swift, folklore, evermore