ตลอดการเป็นศิลปินอาชีพกว่าสิบปี มีผลงานมาแล้วเจ็ดอัลบั้ม ยังไม่มีครั้งไหนที่เทย์เลอร์ สวิฟต์จะสร้างเสียงฮือฮาได้มากเท่าเมื่อวันที่ 24 กรกฏาคมที่ผ่านมา เมื่ออยู่ดีๆ เธอก็ปล่อย ‘folklore’ อัลบั้มลำดับที่แปดออกมารวดเดียวทั้ง 16 แทร็ค แบบไม่มีการโปรโมตล่วงหน้า ไม่มีการแจ้งเตือน และไม่มีกระทั่งการบอกใบ้เป็นนัยๆ อื่นใดเลย ที่มากไปกว่านั้น นี่คืออัลบั้มที่งดงามที่สุด เติบโตที่สุดของเธอในฐานะนักร้องนักดนตรีและในฐานะคนคนหนึ่ง

อาจจะกล่าวได้ว่า folklore คือผลพวงของการกักตัวจากกรณีไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก และสวิฟต์ก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่จำต้องเลื่อนโชว์ต่างๆ ออกไปก่อน โดยเฉพาะงานใหญ่อย่างเทศกาลดนตรีแกลสตันบูรี รวมถึงทัวร์คอนเสิร์ตจากอัลบั้มที่เจ็ด Lover (2019) ซึ่งยกเลิกไปอย่างไม่มีกำหนด และนี่เองที่เป็นช่วงเวลาที่ศิลปินสาวได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองอย่างแท้จริงจนให้กำเนิด folklore

folklore คือหลักฐานชั้นดีว่าสวิฟต์เป็นศิลปินและนักแต่งเพลงที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของยุค ความสามารถด้านการเล่าเรื่อง เรียบเรียงเหตุการณ์ต่างๆ ออกมาเป็นท่วงทำนองนั้นประจักษ์ชัดอยู่ในอัลบั้มก่อนๆ ของเธอทั้งแนวคันทรีและป๊อป แต่สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดของ folklore คือการที่เธอยังคงความเป็นป๊อปผ่านเนื้อเพลงและท่วงทำนอง ภายใต้โฉมหน้าของการเป็นอินดี้โฟล์ค 

แม้ว่าอัลบั้มนี้จะยังได้ แจ็ค อันโตนอฟฟ์ โปรดิวเซอร์คู่บุญที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่อัลบั้ม 1989 (2014) ถึง Lover แต่ตัวแปรสำคัญของงานชุดนี้คือ อารอน เดสส์เนอร์ แห่ง The National ที่ทำให้เพลงใน folklore เติบโตและไปไกลผิดหูผิดตาจากสวิฟต์ที่เราเคยรู้จัก นั่นเพราะในอัลบั้มก่อนๆ อย่างน้อยต้องมีสักสองหรือสามแทร็คที่เป็นเพลงที่พลังงานพลุ่งพล่าน เต็มไปด้วยความร่าเริงหรือชวนโดดซึ่งเราจะเห็นได้จาก You Belong with Me ซิงเกิลแจ้งเกิดของเธอในวงกว้าง, The Story of Us, Blank Space, Gorgeous เรื่อยมาจนถึงเพลง ME!  

แต่ใน folklore สวิฟต์เลือกเปิดอัลบั้มด้วย the 1 เพลงโฟล์คที่ใช้เปียโนเป็นเครื่องดนตรีหลักในการเล่าเรื่อง ตามมาด้วย cardigan ซึ่งเป็นซิงเกิลเปิดของอัลบั้ม หากแต่แทร็คที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ exile ที่เธอได้ บอน อีแวร์วงอินดี้โฟล์คชื่อดังร่วมเขียนเพลงและขับร้อง เนื้อเพลงที่ว่าด้วยการหวนกลับไปมองความสัมพันธ์อันแตกดับของชายหญิงกับการโต้ตอบและเล่าเรื่องจากมุมมองของทั้งคู่กับเสียงเปียโนทุ้มต่ำ 

แม้ว่าที่ผ่านมา สวิฟต์จะเป็นที่รู้จักจากการเขียนบทเพลงที่เล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตมาโดยตลอด แต่อัลบั้มนี้เธอขยับไปอีกขั้นด้วยการเล่าเรื่องของผู้อื่นผ่านบทเพลงในรูปแบบของเธอ อย่างที่เธอเคยให้คำจำกัดความชื่อของอัลบั้มไว้ว่า 

เรื่องเล่าที่ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นนิทานนั้น ถูกบอกเล่า ถูกกระซิบกระซาบส่งต่อกันมา และบางครั้งกลายเป็นบทเพลง เส้นแบ่งระหว่างเรื่องแต่งกับเรื่องจริงลางเลือน ขอบเขตของความจริงกับความฝันแทบไม่ปรากฏ และความคิดอ่านเหล่านี้ เมื่อล่วงผ่านมันกลับกลายมาเป็นตำนาน เป็นเรื่องของวิญญาณ เป็นนิทาน เป็นเทพนิยายหรือแม้แต่เรื่องอุปมาอุปไมย

เรื่องของผู้อื่นปรากฏอยู่ในบทเพลงอย่าง epiphany กับท่วงทำนองเคลิ้มฝันที่เล่าถึงเจ้าหน้าที่พยาบาลหลายชีวิตซึ่งต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำในช่วงที่ไวรัสระบาด, the last great american dynasty ช่วงชีวิตและครอบครัวของเจ้าของบ้านหลังหนึ่งซึ่งในเวลาต่อมาเธอได้ครอบครอง ทั้งเพลงกล่าวถึงคนหนุ่มสาวและสายสัมพันธ์ที่สวิฟต์มองเข้ามาในฐานะคนนอก ตลอดจนการเล่าถึงมุมมองของคนสามคนผ่านบทเพลงสามเพลงในความสัมพันธ์อันยุ่งเหยิงของพวกเขา ทั้งหมดนี้ยิ่งชี้ชัดว่าอาวุธที่แข็งแกร่งที่สุดของสวิฟต์นั้นอาจไม่ใช่การเล่นดนตรีอย่างหวือหวาน่าจับตา แต่เป็นการเล่าเรื่องและวิธีเลือกใช้คำหรือแม้กระทั่งซ่อนความนัยอย่างแยบยล

สวิฟต์บอกว่าเมื่ออยู่ตามลำพัง จินตนาการของฉันขยับขยายไปไกลจนออกมาเป็นอัลบั้มนี้ มันคือการรวบรวมบทเพลงและเรื่องราวที่เลื่อนไหลอยู่ในจิตใต้สำนึก การหยิบปากกาขึ้นมาขีดเขียนเรื่องราวเหล่านี้คือการหลบหนีเข้าไปสู่โลกเหนือจริง สู่ความทรงจำและเรื่องราวในอดีต” 

ดังที่กล่าวไปแล้ว การได้อยู่กับตัวเองในช่วงกักตัวเป็นต้นธารของการก่อกำเนิดอัลบั้มที่แปดนี้ ซึ่งในด้านหนึ่ง อาจจะนับได้ว่าเป็นอัลบั้มที่ทำลายตารางชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งของเธอ เพราะหากมองย้อนกลับไป สวิฟต์จะปล่อยอัลบั้มใหม่ของเธอในช่วงปลายปีประมาณเดือตุลาคมหรือพฤศจิกายน และทิ้งช่วงห่างจากอัลบั้มก่อนเพียงสองสามปีเท่านั้น เนื่องจากตารางชีวิตในการออกอัลบั้ม การโปรโมต และการออกทัวร์ของเธอเข้มงวดอย่างหนัก เช่นที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า ค่ายเพลงจะกำหนดตารางชีวิตของเธอล่วงหน้าเป็นรายปีเสียด้วยซ้ำ การที่ได้อยู่กับตัวเองในช่วงล็อคดาวน์ อาจทำให้สวิฟต์ตกผลึกหรือก้าวข้ามเส้นแบ่งบางอย่างซึ่งส่งให้เธอเติบโตงดงามมากไปกว่าที่เคยเป็น 

สวิฟต์เคยถูกจับตาจากสื่อว่า เธอจะก้าวข้ามความสำเร็จระดับขีดสุดเมื่อสมัยออกอัลบั้ม 1989 ได้อย่างไร และเธอก็ตอบโต้ด้วยอัลบั้มใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแนวทางอยู่เรื่อยๆ เพื่อหลีกหนีความจำเจ หากแต่มันยังคงรูปแบบและขั้นตอนเดิมในการทำงาน นั่นคือเริ่มจากการโปรโมต ปล่อยซิงเกิลให้ติดชาร์ตทะลุเพดาน และออกทัวร์ หากแต่กับอัลบั้ม folklore  เธอปล่อยทุกเพลงออกมาพร้อมกัน เป็นท่าทีที่เหมือนบอกให้รู้ว่า เธอไม่ได้สนใจหรือคาดหวังทั้งยอดขายและความสำเร็จ อาจจะไม่ได้หวังกระทั่งยอดคนดูในยูทูบเสียด้วยซ้ำ 

folklore ไม่ได้เป็นเพียงอัลบั้มที่เราจะได้รับฟังผลงานเพลงใหม่ๆ แต่การก้าวข้ามรูปแบบและขั้นตอนเดิมในการทำงาน ยังทำให้เราสัมผัสได้ถึงอิสรภาพแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่งดงามของศิลปินสาวคนนี้

 

อ้างอิง

https://www.popsugar.com/entertainment/photo-gallery/47643000/image/47643186/This-Time-Swift-Hid-Easter-Eggs-Within-Lyrics

https://www.capitalfm.com/news/taylor-swift-cardigan-folklore-lyrics/

Fact Box

  • เทย์เลอร์ สวิฟต์ เงียบหายไปจากสื่อทุกชนิดนับตั้งแต่การเคลื่อนไหว Black Lives Matter เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (ขณะที่รูปเซลฟี่ของเจ้าตัวปรากฎให้เห็นครั้งล่าสุดก็ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม) แฟนคลับต่างหวังให้เธอส่งข่าวความเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ พอให้หายคิดถึง ปรากฏว่าเมื่อเธอกลับมาในวันที่ 24 กรกฎาคม เธอไม่ได้มาแค่ข่าวคราวหรือภาพ แต่เธอมาทั้งอัลบั้ม!
  • ขณะที่แฟนๆ ต้องคาดเดาจากคำบอกใบ้มากมาย กว่าที่สวิฟต์จะเฉลยรายละเอียดต่างๆ ของอัลบั้ม Lover ให้สาธารณชนรับรู้ แต่กับอัลบั้มล่าสุด folklore นั้นกลับกัน ไม่ต้องมีการเดาหรือคำใบ้ใดๆ ซึ่งเธอบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ทำแบบนี้ในการออกผลงานชุดใหม่
  • แต่สวิฟต์ยังคงความชวนหัวในแบบของเธอเอง เธอลงภาพตัวเองในวันที่ 27 เมษายนพร้อมแคปชั่น ‘ช่วงนี้ไม่ค่อยมีอะไรเลย’ ซึ่งแฟนเพลงก็เชื่อว่าเธอคงว่างเพราะการกักตัวนั่นแหละ แต่ล่าสุดเธอบอกว่า วันที่ส่งร่างแรกของเพลง cardigan ไปให้เดสส์เนอร์—โปรดิวเซอร์ของอัลบั้ม ก็คือวันที่ 27 นี่แหละ
  • อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่สี่ที่สวิฟต์ได้ร่วมงานกับอันโตนอฟฟ์ ซึ่งเธอบอกว่าถึงจุดนี้ก็แทบจะเรียกได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวสาขาการทำดนตรีไปแล้ว
Tags: , ,