“เลือกชีวิต เลือกงาน เริ่มต้นเลือกบ้าน เลือกประกันทันตกรรม ชุดพักผ่อนและกระเป๋าเดินทางที่เข้าชุดกัน เลือกอนาคตของคุณ ว่าแต่ทำไมใครๆ ก็อยากทำแบบนั้น?”

นั่นคือประโยคเปิดเรื่องของหนัง Trainspotting (1996) ที่ผู้กำกับฯ แดนนี บอยล์ (Danny Boyle) ดัดแปลงจากนวนิยายของเออร์วิน เวลช์ (Irvine Welsh) ก่อนจะกลายเป็นหนังคลาสสิกแห่งทศวรรษ 1990s 

ในช่วงก่อนหน้าและเวลาเดียวกันนั้นสถิติผู้ติดยาเสพติดในสกอตแลนด์กำลังถีบตัวขึ้นสูง รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิตจากยาเสพติดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะคนในกลุ่มวัย 35-54 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่มีประวัติการเสพยามานานปี

สำนักข่าว BBC เคยรายงานเกี่ยวกับผลของยาเสพติดว่า ผู้เสพสูงวัยจะได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วจากโรคระบบทางเดินหายใจและตับ ส่วนการติดเชื้อไวรัสในเลือดก็เป็นอันตรายถึงชีวิต สองในสามของผู้เสียชีวิตจากยาเสพติดในปัจจุบันคือกลุ่มคน ‘Trainspotting Generation’ นั่นเอง

ใครที่เคยเสพยาตอนอายุ 18 ได้อย่างเมามัน พอถึงวัย 38 หรือ 48 ร่างกายจะไม่พร้อมที่จะเมามันแบบเก่าได้อีกแล้ว

ปี 2013 สกอตแลนด์มีผู้เสียชีวิต 527 รายจากยาเสพติดทั้งโดยตรงและทางอ้อม จากนั้นตัวเลขทางสถิติได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปี 2020 จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 1,339 ราย เทียบอัตรา 318 คนต่อจำนวนประชากรหนึ่งล้านคน นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าประเทศไหนๆ ในยุโรป แซงหน้าสวีเดน นอร์เวย์ หรือไอร์แลนด์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีปัญหาหนักหน่วงด้านยาเสพติดเหมือนกัน

บนถนนย่านกลางเมืองกลาสโกว์มักคลาคล่ำไปด้วยคนติดยา ที่สุมหัวกันอยู่ตามมุมถนนหน้าสถานีกลาง หรือไปเที่ยวขอเศษเงินจากคนสัญจรผ่านในย่านอาร์กิลสตรีท สถานที่นัดพบอย่างไม่เป็นทางการของพวกเขาคือ Abbey Pharmacy ซึ่งบรรดาผู้ติดยามักจะนำเข็มฉีดใช้แล้วไปเปลี่ยนเข็มใหม่ที่นั่น แลกกับการตรวจโรค รักษาแผลหรือฝี

แอบบีย์ ฟาร์มาซี เป็นหนึ่งในเครือข่ายขององค์กรช่วยเหลือผู้ติดสุราและยาเสพติดในกลาสโกว์ ปัจจุบันมีผู้ป่วยในทะเบียนราว 9,000 คน ส่วนใหญ่เสพติดเฮโรอีน ทางองค์กรจึงต้องจัดหาสารเสพติดสำรองไว้ให้ เพื่อว่าพวกเขาจะได้ไม่ต้องพาตนเองเข้าสู่กระบวนการค้ายาที่ข้างถนน

แต่ปัญหาหลักคือ การเสพยาผสม ทุกวันนี้ผู้ติดยาส่วนใหญ่มักเสพยาหลายตัวในเวลาเดียวกัน นั่นเพราะยอดขายเฮโรอีนตก กลุ่มค้ายาจึงต้องหายาตัวอื่นหรือตัวใหม่ป้อนเข้าสู่ตลาด ไม่ว่าโคเคน ยาระงับปวดโอปิออยด์ (opioid) หรือล่าสุด อีทิโซแลม (etizolam) ยานอนหลับชนิดใหม่ ที่กลายเป็นสาเหตุการตายของผู้เสพในกลาสโกว์ 70-80 เปอร์เซ็นต์    

พรรคชาติสกอต (Scottish National Party: SNP) ของสกอตแลนด์ โยนความผิดให้กับรัฐบาลอนุรักษนิยมในลอนดอนให้ร่วมรับผิดชอบ พร้อมเสนอทางออกให้เปิดทางสกอตแลนด์ได้ปกครองตนเองอย่างอิสระ เพื่อให้นโยบายด้านยาเสพติดบรรลุผลสำเร็จในอนาคต แต่พรรค SNP เองก็ไม่สามารถชี้แจงเหตุผลได้ว่า ทำไมจำนวนผู้ติดยาในสกอตแลนด์จึงสูงกว่าในอังกฤษและเวลส์ ทั้งที่ต่างก็บังคับใช้กฎหมายเดียวกัน

มาถึงตอนนี้แรงกดดันทางการเมืองเริ่มหนักขึ้น หลังจากรัฐบาลแถลงยอดผู้เสียชีวิตจากยาเสพติดครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ดังขึ้นในสังคม ในการประชุมพิเศษของสภาระดับภูมิภาคพรรคอนุรักษนิยมสกอตเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับผู้เข้ารับการบำบัดจากยาเสพติด ส่วนพรรคแรงงานวิจารณ์พรรค SNP ว่าครองตำแหน่งบริหารมานานถึง 15 ปีแล้ว แต่ไม่เคยแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดสำเร็จเสียที

นโยบายของหน่วยงานด้านยาเสพติดของรัฐเท่าที่มีอยู่ตอนนี้คือ งบประมาณจำนวน 50 ล้านปอนด์ที่จัดสรรให้กับสถานที่บำบัดรักษาและคลินิกเลิกยาไปจนถึงปี 2025

Trainspotting Generation ของเออร์วิน เวลช์ มีวังวนอยู่ในย่านคนใช้แรงงานที่ทรุดโทรมของเมืองหลวงเอดินบะระ แต่ปัญหาเรื่องยาเสพติดและยอดผู้ตายจากการเสพยาจนกลายเป็นสถิติของยุโรปนั้นวนเวียนอยู่ในกลาสโกว์ เมืองศูนย์กลางการค้า วิศวกรรม และอุตสาหกรรมต่อเรือของสกอตแลนด์ เป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหราชอาณาจักร รองจากกรุงลอนดอน และเบอร์มิงแฮม 

ฟากตะวันตกของกลาสโกว์มีย่านที่พักอาศัยของคนมีฐานะ มีอาคารบ้านหรูจากยุคศตวรรษที่ 19 สวนโบทานิก พิพิธภัณฑ์ และมหาวิทยาลัย เป็นภาพตรงข้ามกับบริดจ์ตันในย่านอีสต์เอ็นด์ ที่เต็มไปด้วยบ้านที่พักอาศัยของครอบครัวแรงงาน ไม่ว่าอุตสาหกรรมผ้า กระจก กระดาษ หรือเคมี แต่ทุกวันนี้โรงงานต่างๆ พากันปิดตัว อัตราคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นพร้อมๆ กับสถิติอาชญากรรม

แม้ตามท้องถนนในบริดจ์ตันจะมองไม่เห็นความยากจนอย่างชัดเจน แต่สภาวะขาดโอกาสทางสังคมของผู้คนในพื้นที่นั้นมีให้ประจักษ์ชัดเจน เด็กวัยรุ่นชอบไปจับกลุ่มมั่วสุมกันตามป้ายรถประจำทาง ตามร้านค้าลดราคามักจะพลุกพล่านด้วยผู้คนที่เข้าไปซื้อเบียร์และเหล้าจินราคาถูก ผู้คนในละแวกนั้นส่วนใหญ่ติดเหล้า ติดยา และสุขภาพย่ำแย่ และทุกรุ่นสานวัฒนธรรมประเพณีเดียวกันสืบต่อๆ กันมา

‘ทำงานหนัก ดื่มเยอะ การศึกษาห่วย ยากจนซ้ำซาก’

ปัญหาสังคมผุดขึ้นเป็นสถิติ ชี้ให้เห็นว่า ความยากจนได้แพร่กระจายไปทั่ว 4 ใน 5 เขตของกลาสโกว์ ติดอันดับความยากจน และใครที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขาดโอกาสทางสังคมมีโอกาสเสียชีวิตจากยาเสพติดมากกว่าผู้คนในย่านหรูอยู่ดีถึง 18 เท่า อายุขัยเฉลี่ยของชาวสกอตจึงต่ำกว่าประชากรที่อื่นใดทั้งในจักรภพอังกฤษและยุโรปตะวันตก

ตัวละครหลักสามคนของเออร์วิน เวลช์ ในภาคต่อของ Trainspotting พากันเลือกชีวิต เลือกงาน แล้ว ‘มาร์ก เรนตัน’ ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า เขาไม่จำเป็นต้องรวยก็ได้ แต่เขาจะใช้กลโกงระบบเพื่อใช้ชีวิตอยู่รอด ‘ฟรานซิส เบ็กบี’ พ้นโทษออกจากคุกแล้วพลิกผันไปเป็นศิลปินมีชื่อเสียงในสังคมอเมริกัน ‘ซิกบอย’ ไปใช้ชีวิตในลอนดอนและเป็นเจ้าของบาร์และธุรกิจเอสคอร์ต จะมีก็แต่ ‘แดนนี เมอร์ฟี’ หรือ ‘สปัด’ คนเดียวในกลุ่มที่แทบไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ยังใช้ชีวิตอยู่ข้างถนน และครองตนเป็น ‘ผู้แพ้’ ตลอดกาล

แม้ว่าชีวิตของตัวละครสามในสี่จะเปลี่ยนไป แต่เออร์วิน เวลช์ยังยึดมั่นในความเชื่อเดิมของเขาว่า ชีวิตของคนชายขอบเป็นเรื่องน่าสนใจ

ในความเป็นจริงที่กลาสโกว์ ใครบางคนออกมาเผยเรื่องราวของตนเองกับสื่อ เขาคนนั้นใช้ชีวิตอยู่ข้างถนนและในคุกมาตลอดยี่สิบปี เขาไม่ได้เกิดมาเป็นขี้ยาที่ชอบใช้ความรุนแรง แต่เขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ในบ้านที่พ่อแม่ติดเหล้า ทะเลาะเบาะแว้ง และทุบตีกันตลอดเวลา

ครู เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้พิพากษา และนักสังคมสงเคราะห์ นับหน้านับตาไม่ถ้วน พยายามจัดการกับปัญหาการเป็นอาชญากรติดยาของเขา แต่ไม่เคยมีใครตั้งคำถามแม้สักครั้งว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับเขา

ความในใจสั้นๆ ของใครบางคนนั้น บางทีก็สะท้อนถึงโครงสร้างปัญหายาเสพติดและสังคมของสกอตแลนด์ได้เหมือนกัน  

 

อ้างอิง:

 

 

Fact Box

  • สกอตแลนด์มีพื้นที่ 77,910 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจเมื่อปี 2018 มีประชากรราว 5,438,100 คน 
  • ราว 700 ปีก่อน สกอตแลนด์เคยพยายามปลดแอกจากการเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพอังกฤษ แต่ไม่สำเร็จ และมีความพยายามอีกครั้งเมื่อปี 2014 คราวนี้ด้วยการทำประชามติ ทว่าเสียงของประชากรส่วนใหญ่ที่ยังติดอยู่กับวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ และคิดว่าสกอตแลนด์ยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ยังคงต้องการอยู่กับอังกฤษ 
  • กระทั่งหลังจากอังกฤษประกาศถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016 เสียงของผู้คนเริ่มแตกอีกครั้ง และชาวสกอตถึง 2 ใน 3 ยืนยันจะยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปเช่นเดิม
Tags: , , ,