เบิร์ต กลินน์ (Burt Glinn) ช่างภาพของแม็กนัมชอบความโกลาหล โดยเฉพาะฉากเรื่องราวที่เกี่ยวกับชาวบีตนิค (Beatnik) เขาชอบที่จะตระเวนถ่ายภาพเวลากลางคืน บันทึกเรื่องราววัฒนธรรมย่อยในช่วงเวลาที่พีค ตรงไหนสักแห่งระหว่างการเดินทางกับความเศร้าสร้อย

กลินน์เป็นช่างภาพในสังกัดของแม็กนัมตั้งแต่ปี 1951 เคยถ่ายภาพชุดเรื่องราวของกลุ่มบีตนิคในนครนิวยอร์กให้กับนิตยสารเอสไควร์เมื่อปี 1957 ปีนั้นเป็นปีที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับช่างภาพวัย 31 เริ่มแรกเขามีโอกาสได้บันทึกภาพควีนเอลิซาเบธระหว่างเสด็จเยือนนครนิวยอร์ก หลังจากนั้นเขาไปเกาะติดเหตุการณ์ในโรงเรียนลิตเติล ร็อก ไฮสคูล และได้ถ่ายภาพเด็กนักเรียนผิวสี 9 คนระหว่างที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกำลังให้ความคุ้มครองจากกลุ่มม็อบ

ตอนที่นิตยสารเอสไควร์ส่งตัวเขาไปที่บาร์ในแมนฮัตตัน ที่นั่นกำลังมี ‘ไข้ใหม่’ ระบาดพอดี นั่นคือ วรรณกรรมบีต มีการร่ายร้อยแก้วกันอย่างเร่าร้อน เอ่ยอ้างความดีงามของชีวิตร่อนเร่ และวิถีชีวิตที่ไม่เคยหยุดนิ่ง โดยมีท่วงทำนองอันเร้าใจของบีบอปและแอมเฟตามีนเต็มกำมือ

ช่วงนั้นหนังสือ On the Road คัมภีร์แห่งยุคสมัยบีตเพิ่งปรากฏออกมา นักเขียนแจ็ก เครูแอ็ก (Jack Kerouac) เล่าถึงการเดินทางผ่านสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก การผจญภัยกับผู้หญิงและยาเสพติดที่เปลี่ยนสติสัมปชัญญะ จากต้นฉบับที่เขาเขียนลงในกระดาษวาดเขียนซึ่งแปะกาวต่อกันและม้วนเก็บ เพื่อจะเขียนได้อย่างลื่นไหล ไม่ต้องเสียสมาธิกับการพลิกกระดาษ

เสียงกระหึ่งแบบใหม่นี้ฟังดูคล้ายเป็นการปลดปล่อยในยุคสมัยของไอเซนฮาวร์ เป็นเสมือนคำสัญญาที่จะสร้างบรรยากาศใหม่ระหว่างที่สงครามเย็นในอเมริกากำลังแผ่ซ่าน และชีวิตสุขสบายของละแวกชานเมืองที่กลายเป็นกระแสหลัก

ภาพถ่ายของเบิร์ต กลินน์ที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นชีวิตวัยรุ่นที่ดุดัน กระปรี้กระเปร่า แต่ดูหลงทิศทางอยู่ในที เป็นภาพถ่ายที่นำพาผู้ชมไปสู่งานปาร์ตี้ส่วนตัว ตามลอฟต์ ห้องพักของศิลปิน และไนต์คลับในย่านกรีนิช วิลเลจ

แต่ที่อยู่อาศัยที่แท้จริงของ ‘บีต เจเนอเรชัน’ ก็คือ คาเฟ่ ไม่ว่าไวท์ ฮอร์ส แทเวิร์น, กาสไลท์ คาเฟ่ หรือเซเวน อาร์ต คอฟฟี แกลเลอรี ชาวบีตนิคมักจะกันอยู่ที่นั่นพร้อมหญิงสาวที่ข้างกาย หรือนั่งนัยน์ตาเหม่อลอยไปที่ไกลๆ อยู่ตามลำพังคนเดียว สิ่งที่ดูแปลกเป็นที่สังเกตก็คือ พวกเขามีเครื่องแบบเป็นแจ็กเก็ต ไว้หนวดเคราแพะ สวมหมวกเบเรต์ และถึงแม้จะอยู่ในที่สลัวของห้องดนตรีแจ๊ซที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่ พวกเขาก็จะยังสวมแว่นตากันแดด

ส่วนแนวหลับยากมักจะพากันไปขลุกอยู่ตามบาร์ ในมือข้างหนึ่งถือแก้ว และมืออีกข้างถือบุหรี่อยู่ตลอดเวลา ทั้งสองอย่างเป็นของคู่กัน เครื่องดื่มที่ชาวบีตนิคโปรดปรานคือ mulled wine หรือเหล้าเอล เบิร์ต กลินน์เล่าว่า ทุกอย่างจะเริ่มตอนเที่ยงคืน ในช่วงเวลาสงบที่กวีจะอ่านบทกลอนของเขาคลอไปกับเสียงดนตรี หลังจากนั้นบรรยากาศในบาร์จะครึกครื้นไปจนถึงตีสี่ของวันใหม่

ดนตรีประกอบความรู้สึกของชีวิตคือบีบอป ท่วงทำนองเพลงด้นที่เหล่านักสร้างวรรณกรรมบีตใช้เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนงาน สำหรับบีตนิคแล้ว เพลงแจ๊ซไม่ต่างอะไรกับอาหารหรือเครื่องดื่ม กลินน์เขียนไว้ที่ใต้ภาพถ่ายใบหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพของนักดนตรีสองคนกำลังเล่นหมากรุก มีอุปกรณ์ดนตรีของพวกเขาถูกวางทิ้งให้เห็นที่ด้านหลัง

ปี 1959 ช่างภาพของแม็กนัมกลับไปที่ไนต์คลับในนครนิวยอร์กอีกครั้ง คราวนี้เขาได้รับมอบหมายงานจากนิตยสารฮอลิเดย์ ถ่ายภาพประกอบให้กับความเรียง And this is the beat nightlife of New York ของแจ็ก เครูแอ็ก เกี่ยวกับค่ำคืนปกติในชีวิตของ ‘บีตนิค’ – ไม่มีเงินในกระเป๋า มีแต่ความฝันอันยิ่งใหญ่ …นั่งอยู่ในร้านอาหารราคาถูกในย่านไทม์สแควร์ ที่ซึ่งทั้งคนผิวดำและผิวขาวนั่งเคียงข้างกันภายใต้แสงนีออน เคลิบเคลิ้มอยู่กับบทสนทนาที่เต็มไปด้วยปรัชญา ระหว่างที่เสียงเพลงแนวตะวันออกดังแผ่วจากตู้เพลง

หลังจากนั้นก็แวะซื้อยาเสพติดที่ริมถนนแสงสลัว ก่อนเดินตุปัดตุเป๋เข้าไปในบาร์ชั้นใต้ดิน ที่มีนักแซกโซโฟนขี้เมาเป่าเพลง และหนุ่มๆ ที่หนีเกณฑ์ทหาร “นั่นคือศูนย์กลางของเมืองใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยพบเห็น” นักพยากรณ์บีตเขียนบรรยายในความเรียงของเขา “และนั่นคือสิ่งที่บีตนิคทำกันที่นี่”

กวีอย่างเครูแอ็กกลายเป็นวีรบุรุษของค่ำคืน ที่รายล้อมด้วยหนุ่มๆ เมามัวอยู่ท่ามกลางกลิ่นอายของการผจญภัย นั่นคือวิถีของ ‘บีต เจเนอเรชัน’ ที่ขับเคลื่อนคนหนุ่มสาวด้วยวรรณกรรม การอ่านบทกวีสามารถเรียกแขกได้เต็มร้าน ให้มานั่งฟังร้อยกรองที่ส่วนใหญ่ตีพิมพ์เผยแพร่แต่ในนิตยสารใต้ดินเท่านั้น

On the Road ได้สร้างรูปแบบขึ้น และเครูแอ็กก็ก้าวขึ้นเป็นตัวละครหลักและสำคัญของบีตนิค ภาพถ่ายของกลินน์เผยให้เห็นนักเขียนในชุดเสื้อคลุมยาว ใบหน้าอิ่มเอิบ เคลื่อนไหวอยู่ภายในคาเฟ่ บางครั้งนั่งทอดอารมณ์ที่โต๊ะ หรือนั่งแกร่วอยู่ในบาร์จนย่ำรุ่ง

แจ็ก เครูแอ็ก

แล้วก็มีแอลเลน กินสเบิร์ก (Allen Ginsberg) ที่เมื่อปี 1956 เคยตกเป็นข่าวอื้อฉาวกับบทกวี ‘Howl’ ของเขา เหตุเพราะความ ‘อนาจาร’ ทำให้กินสเบิร์กและเจ้าของสำนักพิมพ์ต้องถูกจับกุม และบทกวีเล่มนั้นกลายเป็นหนังสือต้องห้าม แต่ทั้งสองก็หลุดคดี เมื่อศาลตัดสินว่า ‘Howl’ เป็นงานเขียนที่สะท้อนเสรีภาพทางการแสดงออก ภาพถ่ายขาว-ดำที่มีกินสเบิร์กถ่ายร่วมกับเกรกอรี คอร์โซ (Gregory Corso) นักเขียนคลื่นลูกใหม่ และเจ้าของสำนักพิมพ์ใต้ดิน เป็นภาพที่ทั้งสามนั่งกันอยู่บนม้านั่งในสวน มีต้นฉบับวางอยู่บนเข่า และเผยรอยยิ้มกว้าง

1960 ปีถัดมา แถบชายฝั่งตะวันตกเริ่มมีการทดลองยาเสพติดชนิดใหม่ และเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีจากตะวันออกไกล ซึ่งหลายปีต่อมาได้กลายเป็นทิศทางของเหล่าบุปผาชน ภาพถ่ายของกลินน์จากซาน ฟรานซิสโกเผยให้เห็นฮิปปีรุ่นแรกระหว่างการแสดงศิลปะในสตูดิโอชั้นใต้ดิน นั่นคือภาพการนั่งกินอาหารบนพื้นห้อง “มิสเตอร์และมิสซิสโรเจอร์ ซัมเมอร์ส ที่บูชาลัทธิเซนกำลังผ่อนคลายกับศาลเจ้าญี่ปุ่นที่พวกเขาออกแบบจำลองขึ้นมา” กลินน์เขียนบรรยายที่ใต้ภาพ

บุคคลที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับลัทธิเซนคือนักปรัชญาด้านศาสนาชื่อ อลัน วัตต์ส (Alan Watts) ภาพภาพหนึ่งซึ่งกลินน์ถ่ายที่สตูดิโอ MEA เป็นภาพวัตต์สกำลังอ่านบทกวีไฮกุ นักดนตรีนั่งคุกเข่าเล่นเครื่องสายของตะวันออก ดนตรีแจ๊ซในช่วงเวลานั้นหมดความนิยมไปจากซาน ฟรานซิสโกนานแล้ว และมีดนตรีแนวทดลองของทศวรรษ 1960s เข้ามาแทนที่

รวมทั้งเสรีภาพทางเพศก็เริ่มเป็นกระแสนิยม “เด็กสาวคนหนึ่งเต้นรำโดยที่สวมใส่เพียงแค่เสื้อยกทรงกับกางเกงใน เธอบอกว่าชุดของเธอคับเกินไป” กลินน์เขียนบรรยายใต้ภาพ และยังเล่าอีกว่า “ผมต้องรอจนได้จังหวะเพื่อบอกให้เธอสวมเสื้อผ้าอีกครั้ง”

เบิร์ต กลินน์มองภาพความเป็นไปที่โกลาหลนั้นอย่างมีระยะห่าง แต่ก็เข้าใจ เขาบรรยายภาพบีตนิคว่าเป็น “คล้ายพวกยิปซี ที่ดูบ้าบอแต่ก็มีอารยธรรมในเวลาเดียวกัน”

ไม่กี่ปีต่อมา พวกเขาพากันออกจากรังชั้นใต้ดิน และบุกยึดถนนของซาน ฟรานซิสโก ด้วยสุ้มเสียงที่ดัง เสื้อผ้าหลากสีสัน และคำมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงโลก ถึงตอนนั้นใครๆ พากันรู้จักพวกเขาในชื่อเรียกใหม่ว่า ‘ฮิปปี’

 

อ้างอิง:    

Fact Box

เบอร์ตัน แซมวล กลินน์ เกิดเมื่อปี 1925 ที่พิตต์สเบิร์ก ร่ำเรียนทางด้านวรรณกรรมที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เคยทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการและช่างภาพของหนังสือพิมพ์ Harvard Crimson ของมหาวิทยาลัย เมื่อสำเร็จการศึกษา กลินน์เข้ารับราชการทหาร ก่อนเข้าไปทำงานให้กับนิตยสารLIFE อยู่ราวปีเศษ จากนั้นเข้าเป็นช่างภาพของแม็กนัม โฟโตส์ มีผลงานสร้างชื่อจากการติดตามฟิเดล คาสโตร ผู้นำการปฏิวัติเข้าสู่ฮาวานาของคิวบา และถ่ายภาพบุคคลมีชื่อเสียง อาทิ แอนดี วอร์โฮล และเฮเลน แฟรงเคนธาเลอร์ เขาเสียชีวิตจากภาวะไตวายและโรคปอดบวมเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2008 ในเซาธ์แฮมป์ตัน รัฐนิวยอร์ก ขณะอายุ 82 ปี

Tags: , , , , , ,