ถึงแม้เรนตัน (ยวน แม็คเกรเกอร์) จะย้ำนักย้ำหนามาตั้งแต่ภาคแรกจนถึงภาคต่อว่า “Choose your future, choose life.”

แต่เอาเข้าจริง ชีวิตของเขาและกลุ่มเพื่อนอย่างซิกบอย (จอนนี ลี มิลเลอร์), แฟรงโก้ (โรเบิร์ต คาร์ไลล์), สปั๊ด (ยวน เบรมเมอร์), ทอมมี (เควิน แม็คคิดด์), ไดแอน (เคลี แม็คโดนัลด์) หรืออาจเหมารวมคนส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรยุค 1980-1990 ที่เติบโตในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นสังคมเสรีนิยมสมัยใหม่ ก็ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก

เมื่อทางเดินชีวิตมีให้เลือกไม่กี่ทาง ประกอบกับบางคนไม่อาจหาที่อยู่ที่ยืนในสังคมสมัยใหม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยมือไม่ถึง ศักยภาพไม่ได้ หรือว่าไม่ชอบใจความเปลี่ยนแปลง ก็ทำให้คนกลุ่ม working class ในวันวาน ต้องกลายมาเป็นเหล่า underclass ของ ค.ศ. นี้ แบบเดียวกับเรนตันและผองเพื่อน ที่ใช้ยาเสพติดพาตัวเองหลุดออกจากความเป็นจริงเมื่อ 20 ปีก่อน

อาจเป็นเพราะรู้สึกต่อต้านสังคม จังหวะชีวิตของเรนตัน ซิกบอย แฟรงโก้ และสปั๊ดสมัยเป็นวัยรุ่น จึงเหวี่ยงหลุดแตกต่างจากคนทั่วไปอย่างสุดขั้ว ไม่ได้พาตัวเองเข้าสู่ถนนสายหลัก เรียนให้จบแล้วหางานทำ แต่กลับจัดหนักจัดเต็มทั้งยาเสพติด เซ็กซ์ ไปจนถึงการลักขโมย ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลยสักอย่าง จนโดนมองว่าเป็นพวก ‘trainspotting’ ไม่ทำงานทำการ เอาแต่นั่งมองรถไฟไปวันๆ

แต่นั่นก็เป็นเรื่องราวสมัย Trainspotting ภาคแรกที่ตัวละครยังเป็นวัยรุ่นคึกคะนอง ต่างจากปัจจุบันที่พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่วัยขึ้นเลข 4 ที่ชีวิตมีเรื่องให้ต้องคิดและรับผิดชอบมากกว่าแต่ก่อนหลายเท่าตัว

T2 Trainspotting เป็นเรื่องราว 20 ปีต่อจาก Trainspotting ภาคแรก เมื่อเรนตันที่เชิดเงินก้อนโตหนีไปใช้ชีวิตใหม่ที่อัมสเตอร์ดัม ตัดสินใจกลับประเทศบ้านเกิดมาเคลียร์ปัญหาที่ค้างคาเนิ่นนานกับเพื่อนๆ ซึ่งแต่ละคนต่างก็เก็บงำความแค้นที่มีต่อเรนตันเอาไว้อย่างเต็มเหนี่ยว โดยเฉพาะแฟรงโก้ที่ตั้งใจแก้แค้นให้ตายกันไปข้างหนึ่ง ต่างจากซิกบอยและสปั๊ดที่ยังให้โอกาสเรนตันกลับมาเป็นเพื่อน และทำธุรกิจร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

ด้วยอายุที่มากขึ้นของตัวละครทั้งสี่ ความคึกคะนองแบบเด็กๆ จึงหายไป แทนที่ด้วยความพยายามดิ้นรนทำงานหาทางเอาตัวรอดในสังคมปัจจุบัน นั่นก็หมายความว่าพวกเขาไม่ได้เป็นพวก trainspotting ที่นั่งมองรถไฟไปวันๆ อีกแล้ว แต่นั่นก็หาได้เป็นปัญหาสำหรับตัวหนัง มันกลับช่วยเพิ่มเสน่ห์และหาทางลงให้ตัวละครแต่ละตัวได้เป็นอย่างดี ทั้งเรนตัน สปั๊ด ซิกบอย แฟรงโก้ หรือแม้แต่ไดแอนที่ภาคนี้มีบทน้อยนิด

ทว่าการมีงานทำและมีเรื่องให้รับผิดชอบ ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นกว่าเมื่อ 20 ปีก่อนจริงหรือ เพราะหลายเรื่องที่ทำไปในอดีตก็ส่งผลกระทบต่อพวกเขามากพอตัว หนำซ้ำการงานที่ทำก็ไม่ได้ดีเด่สักเท่าไร

เรนตันที่มีโอกาสดีหน่อยก็มีแววโดนเลย์ออฟ ขณะที่สปั๊ดต้องวนเวียนอยู่กับงานก่อสร้างและตกงานอยู่บ่อยๆ แฟรงโก้ติดคุก ส่วนซิกบอย แม้จะมีบาร์เป็นของตัวเอง แต่ลูกค้าก็บางตาเหลือเกิน เพราะตัวร้านตั้งอยู่ชายขอบของเมืองเอดินบะระ ทั้งที่เมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจแข็งแรงมากที่สุดในสหราชอาณาจักร แต่เพราะการกระจายความเจริญที่ไม่เท่าเทียม เลยทำให้ร้านของซิกบอยโดนหางเลขไปด้วย

แต่อย่างน้อยที่สุด การกลับมาของเรนตันทำให้ซิกบอยและสปั๊ด (ยกเว้นแฟรงโก้ที่คิดแต่จะแก้แค้นอย่างเดียว) โหยหาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่แน่นแฟ้นดังเช่นในอดีต ซึ่งจุดนี้ ผู้กำกับฯ แดนนี บอยล์ ทำออกมาได้ดีเยี่ยม ซึ่งมันช่วยจุดประกายให้ทั้งสามคนกลับมามีไฟอีกครั้ง แล้วจับมือกันดัดแปลงบาร์เก่าให้กลายเป็นซาวน่า (จริงๆ คือซ่อง) เพื่อดึงดูดให้คนมาเที่ยวมากกว่าเดิม

แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ looser ทั้งสามคนและสาวน้อยหน้าใหม่เวโรนิกา (แอนเจลา เน็ดยาลโควา) จะทำฝันให้เป็นจริง ไหนจะต้องหาเงินมาลงทุน ไหนจะโดนมาเฟียคุมซาวน่าขาโหดข่มขู่ ไหนจะโดนทรยศอีกรอบ สุดท้ายพวกเขาเลยต้องพาตัวเองกลับสู่วังวนเดิมคล้ายกับเมื่อ 20 ปีก่อน แม้คราวนี้ไม่หนักหนาเท่าสมัยวัยรุ่น แต่ก็ต้องยอมรับว่าชีวิตของพวกเขาไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิมมากนัก

จะว่าไป ชีวิตของพวกเขาก็ไม่ต่างจาก ‘ฮิเบอร์เนียน’ สโมสรฟุตบอลแห่งเมืองเอดินบะระที่พวกเขาเป็นแฟนพันธุ์แท้สักเท่าไร เพราะนับตั้งแต่ผ่านพ้นยุค 1970 เป็นต้นมา สโมสรแห่งนี้ก็ต้องระหกระเหินดิ้นรนหนีการตกชั้นอยู่บ่อยๆ แม้ครั้งหนึ่งจะได้ตัวยอดดาวเตะอย่าง จอร์จ เบสต์ แนวรุกชาวไอร์แลนด์เหนือมาร่วมทีม แต่ก็เป็นช่วงบั้นปลายอาชีพของเขา จอร์จ เบสต์ จึงช่วยทีมไม่ได้มากอย่างที่แฟนบอลคาดหวัง

ล่าสุด ฮิเบอร์เนียนเพิ่งพาตัวเองโงหัวเลื่อนชั้นขึ้นมาสู่ลีกสูงสุดของสกอตแลนด์ได้สำเร็จเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา หลังจากเล่นในลีกรองมา 3 ปีเต็ม ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่าในฤดูกาลหน้า สโมสรแห่งเมืองเอดินบะระจะท่าดีทีเหลวเหมือน 3 หนุ่มแห่ง Trainspotting หรือจะมีชีวิตที่ดีกว่าเหมือนไดแอน

ความจริงนอกจากประเด็นหลักๆ ในเรื่อง แดนนี บอยล์ ยังใส่ประเด็นชวนคิดรองๆ ลงไปอีกเยอะมาก เช่น การอพยพย้ายถิ่นฐาน เรื่องแรงงานต่างชาติที่ไม่แน่ใจว่าเป็นแบบถูกหรือผิดกฎหมาย เมืองเอดินบะระในวันนี้ที่ในหนังมีทั้งสาวสโลวาเกียมายืนแจกใบปลิวชวนคนเที่ยวเมืองถึงหน้าสนามบิน และสาวโครเอเชียที่มาทำงานกลางคืนในซาวน่า รวมไปถึงประเด็นทางการเมือง ศาสนา และประวัติศาสตร์ ที่พูดถึงแนวคิดซึ่งแอบซ่อนอยู่ในหัวของพวกคลั่งศาสนา และปัญหาของชาวคริสต์ต่างนิกายที่อาศัยอยู่ในเมืองเดียวกัน

T2 Trainspotting อาจสร้างความหวือหวาหรือเรียกเสียงฮือฮาได้ไม่เท่าภาคแรก แต่ถ้าเป็นแฟนกันมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน รับรองว่าภาคสองจะช่วยเติมเต็มความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน

Tags: , , , , , , , , , ,