อัซซูรี (Azzurri) หรือทีมชาติอิตาลี เพิ่งกลายเป็นแชมป์ฟุตบอลยูโร 2020 ไปหมาดๆ สร้างความเบิกบานให้กับคนในชาติอีกครั้งหลังจากหม่นหมองอยู่กับวิกฤตโควิด-19 มานานปี สื่อใหญ่ของอิตาลีอย่าง Corriere della Sera บันทึกด้วยอารมณ์ความรู้สึกว่า ช่วงเวลานี้ ทีมชาติของ โรแบร์โต มันซินี (Roberto Mancini) ทำให้คนในชาติรำลึกได้ว่า ‘ไม่เสียเที่ยวที่เกิดมาเป็นอิตาเลียน’
คำกล่าวนั้นไม่ได้ส่อถึงการแดกดัน แต่มันแสดงให้เห็นถึงความกังขาในตนเองอย่างขมขื่นของชาวอิตาเลียน ที่ชาวยุโรปคนอื่นๆ มักจะยิ้มให้ด้วยเอ็นดูระคนสงสาร จนทำให้เกือบลืมไปว่าประเทศนี้มักจะเป็นแบบอย่างของยุโรปที่สร้างความประทับใจและดึงดูดผู้คน โดยไม่ต้องย้อนเวลากลับไปถึงยุคเรอเนสซองส์ หรือท่องไปกับนิราศของเกอเธ่ (Johann Wolfgang von Goethe)
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยุโรปรู้สึกทึ่งกับการที่ประเทศเกษตรกรรมค่อนข้างล้าหลัง เต็มไปด้วยบาดแผลของสงคราม และเคยถูกลัทธิฟาสซิสต์ครอบงำ จะสามารถก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ช่วงทศวรรษ 1960s-1970s อิตาลียังถูกมองว่าเป็นห้องทดลองทางการเมืองและสังคม ที่ไม่เพียงแต่สร้างความประทับใจให้กับปัญญาชนเท่านั้น ในเวลานั้น อิตาลีกลายเป็น ‘ศูนย์กลางของยุโรป’ ยุโรปที่รวมเป็นหนึ่งเดียวโดยปราศจากบทบาทของกรุงโรมนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
ชัยชนะของอัซซูรีก็เช่นกัน กลายเป็นสปิริตที่ยุโรปทั้งกลุ่มก้อนกำลังเรียกหา ตามคำขวัญของสหภาพยุโรปที่ว่า “รวมกันในความหลากหลาย” โดยเฉพาะอิตาลีเองที่ยังบกพร่องเรื่องของความสามัคคี ทั้งทางการเมืองและสังคม เนื่องจากชาวอิตาเลียนส่วนใหญ่มีพื้นฐานความคิดแบบโบราณ ที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อครอบครัวตัวเอง แต่ทำเพียงน้อยนิดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
โอลิเวอร์ ไมเลอร์ (Oliver Meiler) ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของสำนักข่าวเยอรมันประจำอิตาลี ที่เขียนถึงมาเฟียอิตาลีในหนังสือ Agromafia ของเขา ได้ขุดคุ้ยรากเหง้ามาเล่าว่า มาเฟียมีพื้นเพจากชนบท สมาชิกครอบครัวส่วนใหญ่เคยเป็นเกษตรกร คนเลี้ยงแกะ คนทำชีส หรือไพร่พลของเจ้าของที่ดินรายใหญ่ ที่ค่อยๆ สยายปีก สร้างอิทธิพลจนกลายเป็นกลุ่มคนมีอำนาจ
ที่น่าสนใจคือ ความเฟื่องฟูของอาหารอิตาเลียนได้ช่วยให้พวกเขาค้นพบพื้นที่ธุรกิจนี้อีกครั้ง ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามหาหนทางหวนกลับไปสู่พื้นเพอาชีพเดิม อาหารและสินค้าบริโภคต่างๆ สามารถเติมเต็มอย่างสมบูรณ์แบบให้กับพอร์ตการลงทุนของพวกเขา และในโลกที่ถูกกฎหมาย
พวกเขายังคุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดี เพราะพวกเขามาจากตรงนั้น จึงรับรู้ถึงชีวิตประจำและวัฒนธรรมของการเกษตร แต่ขณะเดียวกัน มันกลับเป็นหายนะย่อยๆ สำหรับการเกษตรของอิตาลี เพราะกลุ่มมาเฟียสามารถเข้าถึงแหล่งเงินอุดหนุนจากสหภาพยุโรป และในบางภูมิภาคพวกเขายังกดดันเกษตรกรทั่วไปด้วยการขโมยปศุสัตว์ ข่มขู่ หรือโจรกรรมที่ดิน ที่เลวร้ายกว่านั้นพวกเขายังกดราคาผลผลิตอีกด้วย
มาเฟียอิตาลีแตกต่างจากยากูซาของญี่ปุ่น ตรงที่พวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตหรือทำธุรกิจสีเทา-ดำอยู่ในโลกใต้ดิน หากพวกเขาใช้ชีวิตคู่ขนานอยู่ในโลกของความจริง
รายงานจากสถาบันวิจัย Eurispes ของอิตาลี ระบุว่า แก๊งมาเฟียเริ่มแผ่อิทธิพลเข้าสู่เครือข่ายอุตสาหกรรมสินค้าบริโภคตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งมีมูลค่าทางการตลาดราว 1.4 หมื่นล้านยูโร และราว 7 พันล้านยูโรจากจำนวนนั้นเป็นมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว
คำเตือนของโอลิเวอร์ ไมเลอร์ ผ่านหนังสือของเขาคือ การอุดหนุนสินค้าเกษตรจากอิตาลี ไม่ว่ามะเขือเทศ น้ำมันมะกอก มอซซาเรลลา หรืออะไรก็ตาม เท่ากับเป็นการอุดหนุนแรงงานเถื่อนในอิตาลี และกิจการของแก๊งมาเฟียให้ยั่งยืนต่อไป
อิตาลีไม่ติดอยู่ในรายชื่อลำดับต้นๆ ของประเทศที่คนส่วนใหญ่ใฝ่ฝันอยากโยกย้ายจากถิ่นฐานของตนเองไปใช้ชีวิตอยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะอีกหลายประเทศในยุโรปก็มีคุณสมบัติคล้ายอิตาลี แม้จะมีความสวยงาม สีสันแปลกตา ทั้งทัศนียภาพและผู้คน แต่ในสายตาของชาวยุโรปด้วยกันเป็นเรื่องของการไม่ตอบโจทย์ความต้องการ
บล็อกเกอร์ชาวเยอรมันเขียนถึงการใช้ชีวิตในอิตาลีลงในเว็บไซต์ idealista ว่าด้วยเรื่องค่าครองชีพที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของอิตาลีที่เลือกไปอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศยุโรปทางตอนใต้ด้วยกันแล้ว อิตาลีจัดว่ามีค่าครองชีพค่อนข้างสูงสำหรับคนย้ายถิ่นฐาน โดยเฉพาะค่าเช่าห้องพักตามเมืองใหญ่ๆ อย่างมิลาน โรม โบลอนญา ฟลอเรนซ์ และเมืองหลักของการท่องเที่ยว
Numbeo แหล่งข้อมูลออนไลน์ขนาดใหญ่เผยถึงค่าครองชีพในอิตาลีล่าสุดให้เห็นเป็นตัวอย่าง เช่น นมสด (1 ลิตร) ราคาเฉลี่ย 1.16 ยูโร น้ำดื่ม (ขวด 1.5 ลิตร) ราคา 42 เซนต์ ไวน์ระดับปานกลาง 5 ยูโร ค่าอาหารสำหรับสองคนในร้านระดับกลาง 55 ยูโร เบียร์เหยือกละ 4.50 ยูโร คาปุชชิโนธรรมดา 1.39 ยูโร ตั๋วรถประจำทางและรถไฟเที่ยวเดียว 1.50 ยูโร และบุหรี่ซองละ 5.50 ยูโร
ถ้าอ่านเรื่องราวจากบล็อกของบรรดา Expats เรายังได้รับรู้เกี่ยวกับบุคลิกลักษณะที่โดดเด่นของชาวอิตาเลียนด้วยว่า บางครั้งพวกเขาขยันกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เป็นชนชาติที่ชอบใช้มือไม้ประกอบการสนทนา โดยเฉพาะเวลาพูดคุยออกรสถึงอารมณ์ และที่เด่นชัดที่สุดคือ พวกเขาไม่ค่อยตรงเวลา
ซึ่งน่าจะพ้องกับสุภาษิตประจำชาติที่ว่า ‘Chi va piano va sano e va lontano’ – คนที่ทำอะไรช้าและง่าย มักจะมีสุขภาพที่ดีและไปได้ไกล หรือแปลเป็นภาษาไทยก็คือ ‘ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม’ นั่นเอง
อ้างอิง
Oliver Meiler, Agromafia Wie Ndrangheta & Co. die italienische Lebensmittleproduktion beherrschen – und was auf unsere Teller kommt, dtv Verlagsgesellschaft (2021)
https://www.sueddeutsche.de/sport/fussball-em-italien-europasieger-wembley-marcini-1.5349216
https://www.srf.ch/news/international/wenn-sie-italienische-tomaten-essen-verdient-die-mafia-mit
Fact Box
อิตาลี มีพื้นที่ประเทศ 301,338 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2020 มีประชากร 60,026,546 คน เฉลี่ย 119 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร ระหว่างปี 1876-1915 อิตาลีประสบปัญหาประชากรหลั่งไหลออกนอกประเทศ คาดการณ์ว่ามีจำนวนถึง 14 ล้านคน ส่วนใหญ่เดินทางไปแสวงโชคในสหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และบราซิล โดยเฉพาะปี 1913 ในยุคที่ยังเป็นราชอาณาจักรภายใต้การปกครองของพระเจ้าวิกเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 แห่งอิตาลี ชาวอิตาเลียนพากันอพยพออกจากประเทศสูงสุดถึง 870,000 คน