นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะ ‘อัตราดอกเบี้ย’ ในเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว ธนาคารกลางก็จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจและครัวเรือนลดลง การจับจ่ายใช้สอยของผู้คนก็จะมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ในการกลับกัน หากเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณว่าขยายตัวมากเกินไปจนอาจเกิดภาวะฟองสบู่ ธนาคารกลางก็ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อที่จะชะลอการกู้ยืมที่ไม่จำเป็นเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจลง 

นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ธนาคารกลางทั่วโลกต่างรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำมากเป็นประวัติการณ์มาโดยตลอด รวมถึงประเทศไทยด้วย ที่ประชาชนทั่วไปก็คงเห็นผลกระทบได้จากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาร่วมทศวรรษ

ในช่วงปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณที่ไม่ดีอีกครั้ง มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเริ่มชะลอตัวลง ทั้งเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมถึงผลจากกำลังซื้อในหลายประเทศที่เริ่มลดลง ธนาคารกลางหลายประเทศต่างทยอยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย บราซิล อินโดนีเซีย รวมไปถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา

การลดอัตราดอกเบี้ยในลักษณะนี้ บางคนเรียกว่าเป็น Insurance Cut คือการลดดอกเบี้ยก่อนที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวชัดเจน เรียกว่าเป็นการกันไว้ก่อนที่เศรษฐกิจจะมีปัญหา ซึ่งแม้ว่าจะลดดอกเบี้ยไปแล้วหนึ่งครั้ง แต่นักลงทุนก็เหมือนจะยังไม่ค่อยพอใจ เพราะส่วนใหญ่มองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ควรลดดอกเบี้ยลงมากกว่านี้

แต่ทางอีกฟากฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก สถานการณ์กลับซับซ้อนกว่าเยอะ 

ภาพรวมเศรษฐกิจของยุโรปเรียกว่ายังน่าเป็นห่วงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เพราะนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนัก อาทิ กรีซ สเปน ไอร์แลนด์ หรืออิตาลี ก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ อัตราการว่างงานในหลายประเทศยังอยู่ในระดับที่สูง เช่นเดียวกับหนี้สาธารณะ 

เมื่อสถานการณ์ของประเทศพี่ใหญ่อย่างเยอรมนีเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจดอยช์แลนด์มายาวนานได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ สถานการณ์ในภาพรวมของทวีปยุโรปจึงกลับมาน่าเป็นห่วงอีกครั้ง

แม้ว่าในการประชุมคณะกรรมการกำกับการบริหารธนาคารกลางยุโรปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมตัดสินใจที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ต่ำมากแล้ว แต่สัญญาณที่สื่อออกมาค่อนข้างชัดเจนว่า ธนาคารกลางยุโรปจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อไปอย่างน้อยจนถึงกลางปีหน้า และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรปจะตัดสินใจลดดอกเบี้ยในเร็ววันนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ยุโรปต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้ง

แต่สถานการณ์ของกลุ่มประเทศยูโรโซนกลับไม่ง่ายดายเช่นหลายประเทศ เมื่อธนาคารกลางยุโรปไม่ได้ดูแลนโยบายการเงินของประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงแห่งเดียว หากแต่ครอบคลุมถึง 19 ประเทศ [1] ที่ต้องใช้เงินสกุลเดียวกัน และอัตราดอกเบี้ยระดับเดียวกัน

ธนาคารกลางยุโรปไม่ได้ดูแลนโยบายการเงินของประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงแห่งเดียว หากแต่ครอบคลุมถึง 19 ประเทศ ที่ต้องใช้เงินสกุลเดียวกัน และอัตราดอกเบี้ยระดับเดียวกัน

เมื่อธนาคารกลางยุโรปต้องตัดสินใจเชิงนโยบาย ไม่ว่าจะลดหรือจะขึ้นดอกเบี้ย ก็มักจะสนใจกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งสี่ (BIG 4) อันได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราวร้อยละ 75 ของกลุ่มยูโรโซน เมื่อสถานการณ์ของประเทศเหล่านี้เริ่มไม่สู้ดี ธนาคารกลางยุโรปก็พร้อมที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในทันที เช่นที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้

แต่สำหรับประเทศที่ระดับการพัฒนาน้อยกว่าโดยเฉพาะประเทศในยุโรปตะวันออก อย่าง ลัตเวีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย ที่แต่ละประเทศมีขนาดเศรษฐกิจเล็กมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจยูโรโซนโดยรวม สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้กลับตรงกันข้ามกับกลุ่ม BIG 4 อย่างสิ้นเชิง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับร้อยละ 4-5 ต่อปี อัตราเงินเฟ้อยังสูงกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป 

สำหรับประเทศที่ระดับการพัฒนาน้อยกว่าโดยเฉพาะประเทศในยุโรปตะวันออก อย่าง ลัตเวีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย ที่แต่ละประเทศมีขนาดเศรษฐกิจเล็กมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจยูโรโซนโดยรวม สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้กลับตรงกันข้ามกับกลุ่ม BIG 4 อย่างสิ้นเชิง

ตามตำราเศรษฐศาสตร์มาตรฐาน สถานการณ์เช่นนี้ ธนาคารกลางไม่ควรที่จะลดอัตราดอกเบี้ย เพราะอาจจะเร่งภาวะฟองสบู่ให้กับประเทศเหล่านี้ ที่ในทางกลับกัน ควรได้รับการปรับขึ้นดอกเบี้ยเสียด้วยซ้ำ 

ข้อวิจารณ์หลักๆ ของการใช้นโยบายการเงินร่วมกัน (Monetary Union) ก็คือ การที่ประเทศที่เศรษฐกิจแตกต่างกัน แต่ต้องอยู่ภายใต้นโยบายการเงินเดียวกันนี้ ทำให้นโยบายการเงินที่ใช้อาจจะเหมาะกับบางประเทศแต่ทำร้ายบางประเทศ บทเรียนนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนวิกฤตเศรษฐกิจที่ค่าเงินยูโรค่อนข้างแข็งค่าและอาจจะไม่เหมาะสมกับความสามารถทางการแข่งขันของบางประเทศเช่น กรีซ อิตาลี 

การที่ประเทศที่เศรษฐกิจแตกต่างกัน แต่ต้องอยู่ภายใต้นโยบายการเงินเดียวกันนี้ ทำให้นโยบายการเงินที่ใช้อาจจะเหมาะกับบางประเทศแต่ทำร้ายบางประเทศ

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่างโจเซฟ สติกลิตซ์ เป็นหนึ่งในคนที่วิจารณ์การใช้นโยบายการเงินร่วมกันมาโดยตลอด โดยเขาระบุว่า ระบบการเงินแบบยูโรนี้สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะล้มเหลว 

ประเด็นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว เพราะนักเศรษฐศาสตร์ระดับตำนานอย่าง มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) ก็เคยเขียนไว้ในปี 1997 หรือสองปีก่อนที่เงินสกุลยูโรจะเริ่มใช้งานจริง ฟรีดแมนมองว่าการที่กลุ่มประเทศยุโรปมองสหรัฐอเมริกาถึงความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ การค้าขายลงทุนระหว่างรัฐทั้ง 50 รัฐเป็นไปโดยง่ายเพราะใช้เงินสกุลเดียวกันและไม่มีเรื่องกำแพงภาษีระหว่างกันนั้น ตัวอย่างที่ฟรีดแมนยกมาอธิบาย คือวิกฤตราคาน้ำมันในช่วงปี 1970s ที่ทำให้แถบมิดเวสต์ที่เน้นอุตสาหกรรมหนักได้รับผลกระทบ มีคนตกงานเพิ่มขึ้น แต่รัฐทางตอนใต้ เช่น เท็กซัส ซึ่งผลิตน้ำมัน กลับได้รับผลประโยชน์ คนงานบางส่วนจึงโยกย้ายถิ่นฐาน เม็ดเงินลงทุนก็เปลี่ยนทิศทางลงสู่ภาคใต้มากขึ้น รัฐบาลกลางเองก็นำรายได้ภาษีจากรัฐทางใต้มาช่วยรัฐที่ได้รับผลกระทบจนในที่สุด เศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงสามารถผ่านวิกฤตครั้งนั้นไปได้   

แต่การมองความสำเร็จของสหรัฐฯ ผ่านเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ใช้เงินสกุลเดียวกัน รวมถึงการเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายของทุนและแรงงานโดยอิสระนั้น เป็นการมองข้ามหลายประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องนโยบายการคลัง เพราะแม้ว่าแต่ละรัฐแต่ละเมืองในสหรัฐอเมริกาจะมีอัตราภาษีที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากเหมือนในยุโรป เช่นเดียวกับระดับค่าจ้างและราคา ที่ปรับตัวได้ง่ายดายกว่า และที่สำคัญคือ รัฐบาลกลางพร้อมจะช่วยเหลือรัฐที่มีปัญหา โดยการนำรายได้ภาษีที่อาจจะเก็บจากรัฐที่ไม่ประสบปัญหามาใช้จ่าย 

แต่แน่นอนว่า การทำเช่นนี้ในยุโรป เช่นที่เยอรมนีนำเงินไปช่วยเหลือกรีซยามเกิดวิกฤต ก็โดนต่อต้านจากกลุ่มชาตินิยม จนกลายเป็นเชื้อไฟให้กับการกลับมาเกิดใหม่ของกลุ่มนีโอนาซี  ยังไม่นับเรื่องความแตกต่างกันเรื่องการปรับตัวของค่าจ้าง ระดับรายได้ ที่พร้อมจะเป็นระเบิดเวลาของยูโรโซน 

ฟรีดแมนจึงสรุปว่า การรวมตัวกันของกลุ่มประเทศยูโรโซน เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ    

เช่นที่เยอรมนีนำเงินไปช่วยเหลือกรีซยามเกิดวิกฤต ก็โดนต่อต้านจากกลุ่มชาตินิยม จนกลายเป็นเชื้อไฟให้กับการกลับมาเกิดใหม่ของกลุ่มนีโอนาซี  ยังไม่นับเรื่องความแตกต่างกันเรื่องการปรับตัวของค่าจ้าง ระดับรายได้ ที่พร้อมจะเป็นระเบิดเวลาของยูโรโซน 

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน หรือความไม่แน่นอนของเบร็กซิต (Brexit) การตัดสินใจของธนาคารกลางยุโรปที่ตั้งใจจะช่วยประเทศหนึ่ง แต่กลับทำร้ายอีกประเทศหนึ่ง อาจจะทำให้ยุโรปลุกเป็นไฟขึ้นมาอีกครั้ง และการรวมกันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างประเทศ ตามที่ฟรีดแมนทำนายไว้เมื่อกว่ายี่สิบปีก่อนก็เป็นได้

Fact Box

[1] กลุ่มประเทศที่นโยบายการเงินร่วมกัน หรือที่มักเรียกกันว่ากลุ่มยูโรโซน (Eurozone) มีทั้งสิ้น 19 ประเทศ ได้แก่ Austria, Belgium, Cyprus, Estonia, Finland, France, Germany, Greece, Ireland, Italy, Latvia, Lithuania, Luxembourg, Malta, the Netherlands, Portugal, Slovakia, Slovenia, and Spain ส่วนประเทศในสหภาพยุโรป (European Union) มีทั้งสิ้น 28

Tags: , , , , , , ,