หลังจากนั่งจนเมื่อยขาบนเครื่องบินจากกรุงเทพฯ-อิสตันบูล-อิซมีร์ ถึงเครื่องบินจะไม่มีอาการดีเลย์ แต่ก็รู้สึกว่านานแสนนาน ทั้งๆ ที่ตุรกีก็ยังถือว่าอยู่ (ปลายสุด) ทวีปเอเชีย หลังจากลงจากเครื่อง ก็ต้องมานั่งแกร่วในรถบัสอีกหนึ่งทอดเพื่อไปยังจุดหมายแรกของวันคือบ้านของพระแม่มารี (House of the Virgin Mary) สถานที่สำคัญทางศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิกที่เชื่อกันว่าที่นี่คือบ้านหลังสุดท้ายที่พระแม่มารีอาศัยจวบจนสิ้นลมหายใจ
การค้นพบบ้านหลังนี้นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ เพราะมาจากคำบอกเล่าของ แอนน์ แคเทอรีน เอมเมอริช (Anne Catherine Emmerich) แม่ชีชาวฝรั่งเศสที่ตาบอดตั้งแต่กำเนิด เธอได้ถ่ายทอดความฝันถึงเส้นทางสู่บ้านใจกลางป่าลงในหนังสือซึ่งตีพิมพ์หลังจากที่เธอเสียชีวิตแล้ว กระทั่งปลายศตวรรษที่ 19 นักบวชชาวฝรั่งเศสได้เดินทางไปตามคำบรรยายดังกล่าว และพบกับโครงบ้านไร้หลังคาที่สร้างจากหิน จากคำบอกเล่าของชาวชุมชนดั้งเดิม เชื่อว่าบ้านหลังนี้คือที่พำนักสุดท้ายของพระแม่มารี
โรงละครครึ่งวงกลมขนาดเล็กริมทางเข้าสู่ถนนหลักเมืองเอฟิซุส
เรานั่งรถขึ้นเขาออกห่างจากชุมชนไปค่อนข้างไกล กระทั่งรถจอดลงที่ลานกว้าง โดยมีเส้นทางเดียวนำไปสู่บ้านของพระแม่มารี ผมสูดกลิ่นทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่โชยอ่อนๆ บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนสุดเกือบยอดเขาล้อมรอบด้วยแมกไม้ นับว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่คำบอกเล่าของแม่ชีสามารถพาเรามาถึงสถานที่แห่งนี้ได้ แม้ว่าจะไม่มีการขุดค้นเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าว แต่บ้านบนยอดเขาแห่งนี้ก็ต้อนรับผู้แสวงบุญจากทั่วโลกที่หลั่งไหลมาอย่างต่อเนื่อง
ผมชิมน้ำรสแปลกแปร่งจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสริมสร้างด้านสุขภาพ ความร่ำรวย และความรัก เดินผ่านกำแพงอธิษฐานที่เต็มไปด้วยผ้าฝ้ายส่งสาส์นสีขาวสะอาด หลังจากยืดแข้งยืดขาพอหายเมื่อยขบก็ได้เวลาเดินทางไปยังจานหลักของวัน มรดกโลกแห่งแรกเมืองโบราณเอฟิซุส (Ephesus) เมืองหลวงแห่งโลกตะวันออกของอาณาจักรโรมัน
ย้อนอดีตในเมืองโบราณกลางแสงแดด
เลาะเลี้ยวตามเส้นทางลงเขา เราย้อนกลับมาทางเดิมเพื่อหยุดจอดบริเวณช่องเขาแคบๆ ที่มองลึกเข้าไปเห็นเป็นซากปรักหักพังสีขาวตระหง่านกลางแสงแดด อากาศทางเหนือพอบรรเทาให้การเดินกลางแจ้งในตอนกลางวันไม่เป็นเรื่องทรมานเกินไปนัก จุดแรกที่เราแวะชมคือบริเวณลานกว้างก่อนจะเป็นเส้นทางทอดยาวไปยังตัวเมืองหลัก จุดน่าสนใจคือท่อน้ำโบราณที่ทำมาจากวัสดุสีคล้ายเครื่องปั้นดินเผา ฝังเรียงรายอยู่ใต้ดินเพื่อป้อนน้ำสู่ประชาชนในเมืองใหญ่
ประวัติเมืองโบราณเอฟิซุสสามารถสืบย้อนกลับไปหลายพันปีก่อนคริสตกาล ถูกรุกรานโดยชาวเปอร์เซีย เปลี่ยนผู้ปกครองอีกครั้งสู่มืออเล็กซานเดอร์มหาราช แล้วตกอยู่ในมือของจักรวรรดิโรมันในฐานะเมืองหลวงแห่งภูมิภาคเอเชีย
ถนนเส้นหลักทอดยาวไปถึงห้องสมุดแห่งเซลซุส สองข้างทางมีโรงอาบน้ำโรมัน ห้องน้ำ และร้านค้าในอดีต
หากเปิดตำราสาเหตุแห่งความมั่งคั่งของเมืองสมัยโบราณ สูตรสำเร็จก็คงหนีไม่พ้นทำเลที่ตั้งซึ่งต้องอยู่ติดกับทะเล ตามข้อมูลในเว็บไซต์ยูเนสโก เมืองเอฟิซุสนั้นตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเคย์สตรอส (Kaystros) ที่เชื่อมต่อไปถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ปัจจุบัน มองไปทางไหนก็เห็นแต่ภูเขากับแผ่นดิน เพราะการทับถมของตะกอนนับพันปีทำให้ภูมิทัศน์ของเมืองแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และลดความสำคัญลงอย่างรวดเร็วเมื่อท่าเรือที่เคยพลุกพล่านกลายเป็นอดีต
บริเวณหน้าร้านจำหน่ายสินค้าริมถนนสายหลัก บริเวณพื้นหน้าร้านยังมีโมเสกที่ยังพอมองเห็นลวดลายเรขาคณิต
เราเดินตามถนนที่เรียงรายด้วยเสาโรมัน หยุดถ่ายรูปที่โรงละครครึ่งวงกลมซึ่งจุคนได้ราวพันชีวิต ผู้เขียนนึกว่านี่คือไฮไลท์เลยหยุดอยู่ซะนาน ก่อนจะเดินตามถนนไปเพื่อหาทางออก แล้วต้องตะลึงกับภาพที่เห็นด้านหน้า เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงน้ำจิ้มเท่านั้น โดยถนนหลักของเอฟิซุสซ่อนตัวอยู่หลังเหลี่ยมเขา ทอดยาวไปยังห้องสมุดแห่งเซลซุส (Library of Celsus) อายุร่วม 2,000 ปีที่การตกแต่งหน้าอาคารยังงดงามมาก รวมถึงร้านรวงสองข้างทางที่การประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องยังคงหลงเหลือพอให้เห็น โครงสร้างโรงอาบน้ำโรมัน และห้องน้ำในอดีตก็ยังมีค่อนข้างสมบูรณ์
ด้านหน้าห้องสมุดแห่งเซลซุส สถาปัตยกรรมชั้นเลิศของยุคกรีก ห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามในยุคโบราณ โดยมีอายุร่วม 2,000 ปี
ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้นจะผ่านกาลเวลามาหลายชั่วอายุคน!
อีกหนึ่งจุดที่สำคัญคือโรงละครขนาดยักษ์ (the Great Theatre) ที่ใหญ่ระดับสนามกีฬาแห่งชาติเลยทีเดียว น่าเสียดายที่วิหารอาร์ทิมิส (Temple of Artemis) 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคโบราณหลงเหลือเพียงเสาไม่กี่ต้นให้ดูต่างหน้า แต่หากเปรียบเทียบกับซากปรักหักพังของโรมันฟอรัม (Roman Forum) ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ผู้เขียนพบว่าเอฟิซุสนั้นสมบูรณ์กว่าค่อนข้างมาก เรียกว่าพลาดไม่ได้สำหรับคนรักประวัติศาสตร์
โรงละครขนาดยักษ์ที่กำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะ ในอดีตโรงละครแห่งนี้สามารถจุคนได้ถึง 25,000 คน
แตะฟ้าบนปราสาทปุยฝ้าย ศูนย์สุขภาพแห่งเอเชียไมเนอร์
หลังจากอิ่มอดีตจากเมืองเอฟิซุส ก็ได้เวลาเดินทางต่อเข้ามาในแผ่นดินใหญ่อีกประมาณ 3 ชั่วโมง ผมครึ่งหลับครึ่งตื่นตลอดทาง ถนนไม่พลุกพล่าน สองข้างทางไม่มีอะไรสะดุดตานักนอกจากส่วนส้ม สวนมะกอก และสวนพีช ผมรู้ตัวอีกทีเมื่อได้เสียงฮือฮาบนรถเมื่อปามุกคาเล (Pamukkale) เผยตัวด้านหน้า
ชื่อปามุกคาเล แปลตรงตัวว่าปราสาทปุยฝ้าย เขาตระหง่านสีขาวจากหินปูนที่มีความสูงร่วม 200 เมตร ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมืองชื่อเดียวกัน ภูมิประเทศแปลกตาในแสงยามเย็นทำให้เราอดไม่ได้ที่จะยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูป คืนนั้นเราหลับฝันดี หวังเพียงว่าพรุ่งนี้ตุรกีจะเปิดฟ้าให้เรายลโฉมปราสาทสีขาวสะอาดอย่างเต็มตา
โรงละครครึ่งวงกลมที่นครโบราณเฮียราโปลิส มีความโดดเด่นอยู่ที่ฉากหลังซึ่งยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์
เราตื่นเช้าตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางดี กินอาหารที่โรงแรมซึ่งอุดมไปด้วยชีสและมะกอกหลากชนิด จุดเด่นที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใครของชาวตุรกีคือน้ำสลัดทับทิมที่พบเห็นได้ตามทุกร้านอาหาร เรียกว่าเป็นเครื่องเคียงที่ใครๆ ต้องมีติดบ้าน กินแกล้มกับน้ำมันมะกอกรสชาติหวาน หอม มัน เปรี้ยวอ่อนๆ ให้สดชื่นพร้อมรับวันใหม่
กลับขึ้นรถได้ไม่นานเกินรอ ปราสาทปุยฝ้ายก็เผยตัวรับแดดเช้า แต่เส้นทางวันนี้คือการมุ่งหน้าไปบนที่ราบเหนือภูเขา เพื่อชมนครโบราณเฮียราโปลิส (Hierapolis) ก่อตั้งโดยราชาแห่งเพอร์กามอนราว 200 ปีก่อนคริสตกาลเพื่อเป็นเมืองแห่งสปาสำหรับผู้รักสุขภาพ ต่อมาก็อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโรมัน ภายหลังกษัตริย์คอนสแตนตินเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ เมืองแห่งนี้ก็กลายเป็นศูนย์กลางทางศาสนาแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันออก และเป็นที่ประทับของพระชั้นผู้ใหญ่
โครงสร้างที่ยังหลงเหลืออยู่ของเมืองเฮียราโปลิส ในตอนเช้าจะมีขบวนบอลลูนขึ้นไปชมความงามในมุมสูง
เมืองเฮียราโปลิสอาจไม่ได้สมบูรณ์เท่ากับเอฟิซุส แต่มีความโดดเด่นคือระบบส่งน้ำไฮดรอลิคที่มีความยาวถึง 70 กิโลเมตร รวมถึงสุสานขนาดใหญ่ หรือเนโครโปลิส (Necropolis) ที่มีความยาวถึง 2 กิโลเมตร อีกจุดที่น่าสนใจอยู่บนเนินขาวที่ต้องใช้สองเท้าเดินราว 20 นาที ปลายทางทุ่งดอกไม้ป่าสีแดงสดใส เราก็พบกับโรงละครครึ่งวงกลมขนาดจุคนเรือนหมื่นที่มีฉากหลังค่อนข้างสมบูรณ์ซ่อนตัวอยู่
ด้านบนของปราสาทปุยฝ้ายที่นักท่องเที่ยวสามารถไปเดินชมทิวทัศน์ตระการตาได้ นอกจากนี้ยังมีลักษณะเป็นบ่อน้ำอุ่นให้พอแช่เท้า
แล้วก็ถึงเวลาสำคัญคือการเอาเท้าแช่น้ำเล่นบนปราสาทปุยฝ้าย ภูมิทัศน์แปลกตาที่เกิดจากปฏิกิริยาทางธรรมชาติของน้ำแร่ร้อนที่อุดมด้วยแคลเซียม สร้างหินงอกหินย้อยสีขาวสะอาด กัดเซาะพื้นผิวด้านบนเป็นบ่อน้ำที่ภายในที่น้ำสีมรกตที่สามารถไปเดินย่ำได้ นักท่องเที่ยวคลาคล่ำท่ามกลางบอลลูนลอยเอื่อยเฉื่อย และฉากหลังเป็นภูเขาที่ยอดมีหิมะปกคลุม เรียกได้ว่าสวยตระการตาและหาที่ไหนไม่ได้ในโลก
น้ำแร่ธรรมชาติที่มีสารประเภทหินปูนทำให้ภูเขาทั้งลูกถูกเคลือบกลายเป็นสีขาวสะอาดตา เป็นที่มาของชื่อปราสาทปุยฝ้าย
บอกตามตรงว่าทริปตุรกีครั้งนี้ผู้เขียนไม่เคยคาดหวังว่าจะประทับใจ อาจเพราะด้วยราคาที่ไม่สูงนัก และชื่อเสียงที่ไม่ได้กระฉ่อนไกลเท่าหลายประเทศในสหภาพยุโรป แต่แค่สองวันแรกก็เล่นเอาตะลึงไปกับความงาม ความแปลกตา และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ จนแทบอดใจไม่ไหวที่จะไปชมภูมิทัศน์ในเทพนิยายของเมืองคัปปาโดเกีย และการปะทะสังสรรค์ของศาสนาคริสต์และอิสลามที่กรุงอิสตันบูล
เอกสารประกอบการเขียน
House of the Virgin Mary in Ephesus
Tags: ตุรกี