เคยสงสัยไหมว่า เหตุใดฝนในเขตเมืองมักจะตกลงมาในจังหวะที่แย่ที่สุด นั่นคือเวลาเดินทางกลับบ้าน ทั้งที่ตอนทำงานฟ้ากลับปลอดโปร่งใสสว่างแทบทั้งวัน แต่ทันทีที่ก้าวเท้าออกจากออฟฟิศเท่านั้นแหละ จู่ๆ พระพิรุณก็นึกเอ็นดูคนกรุงขึ้นมาเสียดื้อๆ

แม้คนไทยจะมีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับฝนตลอดทั้งปีอยู่แล้ว เพราะเป็นประเทศภูมิอากาศแบบร้อนชื้นซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม แต่นับจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ฝนก็ดูเหมือนจะตกถี่ขึ้นทุกวัน มิหนำซ้ำยังตกในช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่กำลังเดินทางกลับบ้านอีกต่างห่าง

หลายคนอาจเหมาว่าเกิดจากความบังเอิญ นามของพระพิรุณจึงมักถูกยกขึ้นมาอ้างถึงบ่อยๆ แต่ในความเป็นจริง มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายที่มาของปรากฏการณ์นี้อยู่

1. ตำแหน่งที่ตั้งเป็นใจ

วุฒิพงศ์ หนูบรรจง นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ ให้คำตอบเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ตำแหน่งที่ตั้งของกรุงเทพฯ และปริมณฑล คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝนมักเดินทางมาถึงในช่วงบ่ายแก่ไปจนถึงเย็น

โดยปกติ เมฆฝนที่เกิดในทะเลอันดามันจะนำพาฝนมาถึงจังหวัดในภาคตะวันตกก่อนเป็นที่แรกในช่วงบ่ายต้นๆ และในขณะที่เมฆกลุ่มนั้นขยับตัวเข้ามาในภาคพื้นทวีปมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะสะสมความชื้นไปตลอดเส้นทางที่เคลื่อนผ่าน ทำให้เมื่อเดินทางถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเย็น ความชื้นทั้งหมดที่สะสมมาเริ่มควบแน่นจนตกลงมาเป็นฝนห่าใหญ่เทลงมาอย่างกะทันหัน

“กรุงเทพฯ อยู่ในเส้นทางของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นี่จึงเป็นแพตเทิร์นการตกในฤดูฝน ฝนจะเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ กี่โมงขึ้นอยู่กับความเร็วลม อย่างเร็วฝนก็จะตกตั้งแต่บ่ายสามโมง แต่ถ้าช้าหน่อย นั่นหมายความว่าฝนจะตกในช่วงเย็น” วุฒิพงศ์อธิบาย

2. ปรากฏการณ์ ‘Urban Heat Island’

‘Urban Heat Island’ (UHI) หรือปรากฏการณ์ ‘เกาะความร้อนเขตเมือง’ ถือเป็นอีกหนึ่งทฤษฎีที่มีการศึกษาวิจัยมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ที่เริ่มมีพื้นที่เขตป่าคอนกรีตเติบโตขึ้นทั่วทุกมุมโลก โดยค้นพบว่าในพื้นที่เขตเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหานคร (Metropolitan Cities) หรือเมืองเอกของภูมิภาคที่มีชุมชนเมืองขนาดใหญ่ อุณหภูมิจะสูงกว่าบริเวณโดยรอบอย่างมีนัยสำคัญ

สาเหตุสำคัญของปรากฏการณ์ดังกล่าว คือพื้นผิวของแผ่นดินที่เปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการเมือง พื้นผิวในพื้นที่เมืองมักเป็นพื้นผิวที่มนุษย์สร้างขึ้นจากวัสดุที่ดูดซับและนำความร้อนได้ดีอย่างคอนกรีต เหล็กกล้า หรือยางมะตอย

เมื่อผนวกรวมกับความร้อนสะสมจากการใช้พลังงานภายในอาคาร เมืองใหญ่จึงไม่ต่างอะไรจากเตาอบมหึมาที่อุณหภูมิค่อยๆ ร้อนขึ้น แม้จะบรรเทาได้ด้วยเครื่องปรับอากาศในพื้นที่ร่ม แต่ทันทีทีออกมาอยู่กลางแจ้ง ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากอากาศร้อนระอุ นอกจากนี้ ในบางเมืองอาจเกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมืองชัดเจนที่สุดในช่วงเวลากลางคืน

นอกจากผลกระทบที่ชัดเจนเกี่ยวกับอุณหภูมิเฉลี่ยแล้ว ปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมืองยังมีผลกระทบต่ออุตุนิยมท้องถิ่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการพัดของลมประจำถิ่นและปริมาณน้ำฝน

เท่าที่ทราบกันดีตามหลักการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน อากาศร้อนจะลอยตัวสูงขึ้นโดยมีอากาศที่เย็นกว่าเข้ามาแทนที่ เมื่ออุณหภูมิในเมืองพุ่งสูง อากาศในเมืองก็จะยกตัว อากาศที่เย็นกว่ารอบนอกจึงพัดเข้ามาแทนที่ โดยมีโอกาสที่จะพัดเอาความชื้นและเมฆฝนเข้ามาในเขตเมืองด้วย เขตเมืองที่อยู่ใต้ลมจึงมักได้รับผลกระทบในรูปแบบของฝนที่ตกอย่างยาวนานและบ่อยครั้งนั่นเอง

ปัญหาฝนตกชุก ผังเมืองที่ขาดประสิทธิภาพ และระบบระบายน้ำที่ไม่เพียงพออันนำไปสู่สภาวะน้ำท่วม ถือเป็นปัญหาเก่าแก่ที่อยู่คู่กรุงเทพฯ มาช้านาน และยังไม่เคยมีผู้ว่าฯ รายใดสามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน จนกล่าวได้ว่า รบร้อยครั้ง ก็แพ้หมดทั้งร้อยครั้ง

แน่นอนว่าลักษณะภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำและข้อจำกัดประจำท้องถิ่นหลายประการ คือสาเหตุที่ทำให้เราไม่สามารถเลี่ยงปัญหาฝนตกและน้ำท่วม ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็ตาม 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะอุดตันท่อระบายน้ำ พื้นที่สีเขียวที่ร่อยหรอลงทุกวัน หรือการกระจุกตัวของอาคารตึกสูง ล้วนเป็นปัจจัยที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น

Tags: , , , , , , ,