ครั้งแรกที่ ทิม วิศวกรซอฟต์แวร์ชาวอังกฤษ สังเกตเห็นว่า ตนและครอบครัวต้องสละเงิน เวลา พลังกาย พลังใจ รวมถึงพลังงานปริมาณมหาศาล ในการซักผ้าแต่ละครั้ง คือช่วงล็อกดาวน์ในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งแรก โดยทิมให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน (The Guardian) ถึงช่วงเวลาดังกล่าวว่า เมื่อต้องงดการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น เสื้อผ้าที่ต้องซักก็เริ่มมีน้อยลง และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาตัดสินใจว่า ตัวเองสามารถอยู่ได้โดยซักผ้าแค่ปีละ 1-2 ครั้งเท่านั้น

การตัดสินใจของทิมเป็นการตัดสินใจจากเหตุผลส่วนตัว เขาไม่ได้ต้องการกอบกู้โลก หรือคาดหวังผลลัพธ์แง่บวกต่อสิ่งแวดล้อมจากการซักผ้าน้อยลง เขาเพียงสังเกตเห็นว่า ชีวิตของเขายุ่งยากน้อยลงเพียงใดเมื่อไม่ต้องซักผ้า ทั้งยกข้อดีของการไม่ซักผ้าหรือซักผ้าให้น้อยลง ที่ไม่ใช่แค่ในด้านการบริหารจัดการเวลา แต่รวมไปถึงด้านการถนอมเนื้อผ้าและด้านสิ่งแวดล้อม

สเตลล่า แม็กคาร์ตนีย์ (Stella McCartney) แฟชั่นดีไซเนอร์คนดังแห่งเกาะอังกฤษ (หลายคนอาจรู้จักเธอในฐานะลูกสาวมากความสามารถของ พอล แม็กคาร์ตนีย์ แห่งวงเดอะบีเทิลส์) ก็เคยให้สัมภาษณ์ถึงวิธีการดูแลรักษาเสื้อผ้าของตนเองว่า

“หลักการง่ายๆ เลย คือถ้าคุณไม่ได้รู้สึกว่า หัวเด็ดตีนขาดอย่างไร ก็จะต้องซักเสื้อผ้าชิ้นนี้เดี๋ยวนี้ให้ได้ ก็อย่าไปซักมันจะดีกว่า อย่างบราเนี่ย ฉันก็ไม่ได้เปลี่ยนทุกวันหรอกนะ ฉันจะไม่โยนทุกอย่างใส่เครื่องซักผ้า เพียงเพราะฉันสวมมันไปแล้วครั้งหนึ่ง ฉันมั่นใจว่าตัวเองมีสุขลักษณะที่ดีมาก ฉันแค่ไม่เห็นด้วยกับการซักแห้งหรือการซักผ้ารูปแบบใดก็ตามบ่อยจนเกินไป”

เหตุผลที่ทำให้เธอคิดเช่นนั้น สาเหตุอาจมาจากอิทธิพลด้านแฟชั่น เพราะวิธีปฏิบัติที่จะส่งผลร้ายต่อสภาพและความคงทนของเสื้อผ้ามากที่สุด ก็คือการซักบ่อยเกินไป แต่นอกเหนือจากนั้น แม็กคาร์ตนีย์ยังมีเหตุผลเบื้องหลังอีกหนึ่งข้อที่สอดคล้องกับหลักการของขบวนการ ’No-Wash’ นั่นคือ การพยายามเสาะหาวิธีการต่างๆ ในการรักษาความสะอาดเสื้อผ้า ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการซักผ้าด้วยเครื่องบ่อยๆ

มาร์ก ซัมเนอร์ (Mark Sumner) ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นยั่งยืนจากมหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) ศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเสื้อผ้าในระหว่างซัก และพบว่า นอกจากเสื้อผ้าจะขาดเสียหาย หด ยืด และสีจางลงทุกครั้งที่ซักแล้ว ทุกครั้งที่เราซักผ้า เส้นใยไมโครไฟเบอร์ที่หลุดร่อนจากผ้าแต่ละชิ้นจะเดินทางจากท่อน้ำทิ้งของบ้านแต่ละหลัง พลันลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และมักมีจุดจบคือไปสะสมอยู่ในร่างกายของสัตว์น้ำที่เรามีโอกาสบังเอิญบริโภค นอกจากนี้ สารทำความสะอาดเสื้อผ้าที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ยังส่งผลเสียต่อสภาพของน้ำในแหล่งน้ำอีกด้วยเช่นกัน

แม้ว่าซัมเนอร์จะสนับสนุนให้ผู้คนลดและคำนึงถึงผลกระทบจากการซักผ้า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พวกเขาต้องการให้ทุกคนเลิกซักผ้า เพียงเพราะกลัวว่าจะเป็นการทำร้ายโลก โดยซัมเนอร์ยกอีกข้อเท็จจริงอันน่าสนใจผ่านการสัมภาษณ์กับ BBC Culture ว่า “สำหรับบางคน การซักเสื้อผ้ามีความสำคัญทั้งในด้านการแพทย์และสุขอนามัย เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นผื่นแพ้หรือผิวหนังอักเสบ อาจมีความจำเป็นที่จะต้องซักเสื้อผ้าบ่อย เพื่อหลีกเลี่ยงการระคายเคืองจากแบคทีเรียบนผิวหนังที่อาจสะสมอยู่ภายใต้ร่มผ้า”

ฉะนั้น The ‘No-Wash’ Movement จึงไม่ใช่กฎตายตัวที่จะมากำหนดว่าใครควรซักผ้ามากน้อยแค่ไหน แต่เป็นหลักคิดเกี่ยวกับการรักษาสมดุลในการดูแลรักษาเสื้อผ้าและสุขอนามัยส่วนบุคคล เพราะยังมีปัจจัยอีกมากมายหลายอย่างที่มีผลต่อความจำเป็นในการซักทำความสะอาดเสื้อผ้า

นอกเหนือจากเรื่องสภาพผิวและโรคประจำตัว สภาพอากาศเองก็เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากนี่เป็นมูฟเมนต์ที่เริ่มต้นขึ้นในประเทศตะวันตก ดินแดนที่มีฤดูหนาวและอุณหภูมิเฉลี่ยแตกต่างจากประเทศไทยลิบลับ ดังนั้น ต่อให้ไม่ซักเสื้อผ้าและนำมาวนใส่ซ้ำเป็นเวลาหลายสัปดาห์ เสื้อผ้าก็อาจแทบไม่ส่งสัญญาณกลิ่นอับชวนคลื่นเหียน

กลับกันหากเป็นคนไทยที่คิดจะลดความถี่ในการซักผ้าลง ขั้นตอนแรกที่ควรคำนึงอาจเป็นการสำรวจกลิ่นกายของตนเองให้ดี หรือศึกษาหาวิธีที่เหมาะสมแก่ตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่า ความพยายามนี้จะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายในภายหลัง

Tags: , , , ,