สัปดาห์ที่ผ่านมา คนไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน ต่างโอดครวญเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ช่วยด้วย’ เมื่อปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 ทะลุปรอทขึ้นอันดับ 1 ของโลก ทำให้ประชาชนต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการแห่ซื้อเครื่องกรองอากาศจนขาดตลาด

นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ผ่านแฮชแท็กต่างๆ เช่น #เผาหาป้อคิงหยัง และ #savemaesai เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว รวมถึงแชร์เนื้อหาเสียดสีล้อเลียนฝุ่น PM2.5 ว่า รุนแรงราวกับอยู่ในวันสิ้นโลก

แม้ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าภาครัฐจะไม่ได้นิ่งดูดาย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย ‘แผนแก้ไขวาระฝุ่นแห่งชาติ ปี 2562’ ที่มีสโลแกนว่า ‘สร้างอากาศดีเพื่อคนไทยและผู้มาเยือน’ แต่ผ่านมาแล้วเกือบ 4 ปี การสร้างอากาศดีเพื่อคนไทยยังคงไร้วี่แวว ส่วนผู้มาเยือน เช่น ชาวต่างชาติที่วางแผนเตรียมมาเที่ยว ‘สงกรานต์’ เพียงเปิด AirVisual ตรวจเช็กสภาพอากาศ ก็ต้องส่ายหัวเบือนหน้าหนี ยกเลิกไฟลต์บิน ส่งผลให้เกิดปัญหาภาคเศรษฐกิจตามมา และปัญหาฝุ่น PM2.5 กลายเป็นโจทย์ที่รัฐบาลไม่ว่ายุคไหนก็แก้ไม่ตก

อย่างไรก็ดี หากมองแผนที่ประเทศไทยจากมุมสูง และพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ในจังหวัดทางภาคเหนือและอีสานจะพบว่า ในหลายพื้นที่ต่างมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบ และมีทิศทางลมที่พัดผ่านจุดความร้อน (Hotspot) จากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่บ้านเรา ก็จะพอจะอนุมานได้ว่า ทำไมภาคเหนือและอีสานถึงเผชิญปัญหาฝุ่นควันอ่วมกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยว่า ในเดือนมีนาคม 2566 ประเทศไทยพบจุดความร้อนสูงถึง 5,572 จุด ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 5 ปี ส่วนประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา พบจุดความร้อน 10,563 จุด และ สปป.ลาว 9,652 จุด แต่สิ่งที่น่าตกใจคือจุดความร้อนทั้งหมดล้วน สัมพันธ์กับจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาของทั้ง 3 ประเทศ โดยเฉพาะในที่ราบสูงที่ชาวบ้านหลายครัวเรือนลงมือเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้กลายเป็นไร่ข้าวโพด

จากข้อมูลนิตยสารสารคดีในบทความ ‘เบื้องหลังไร่ข้าวโพด เบื้องลึกเขาหัวโล้นและไฟป่า’ ของฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้มีการขยายพื้นที่เพื่อปลูกไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีมาตั้งแต่ปี 2525 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 และมีมาตรการส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงราวปี 2549 ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิด ‘เกษตรพันธสัญญา’ (Contract Farming) เริ่มเคลื่อนไหว เมื่อไทยได้เข้าร่วมยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรตามแนวชายแดนเมียนมา ลาว และกัมพูชา หันมาปลูกไร่ข้าวโพดเพื่อแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ โดยมีบริษัทเอกชนสัญญาว่าจะรับซื้อผลผลิต รวมถึงการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์

นอกจากนี้ ในปี 2557 รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงหน้าแล้งหลังฤดูทำนา เดินหน้าเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ชื่อ ‘โครงการสานพลังประชารัฐ’ ซึ่งมีเกษตรกรบนพื้นที่สูงเข้าร่วมมากกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศ ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ

ขณะเดียวกัน การจัดการวัชพืชในไร่เชิงเดี่ยวบนพื้นที่สูง วิธีที่ง่ายสะดวกและลดต้นทุนที่สุดคือใช้ไฟ ซึ่งหลังฤดูเก็บเกี่ยวสิ้นสุดลง เกษตรกรต้องทิ้งไร่ในช่วงปลายปีเพื่อให้วัชพืชแห้งตาย จากนั้นจึงเริ่มต้นการเผาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องไปจนถึงหน้าฝน และเริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์อีกครั้ง ซึ่งการใช้ไฟจะนิยมกับการปลูกพืชประเภทอ้อยและข้าวโพด เพื่อจัดการกับซังข้าวหลังการแปรรูป

จากข้อมูลการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา พบว่า มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จากเดิมปี 2558 มีการนำเข้าอยู่ที่ 770 ล้านบาท ส่วนปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 14,325 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 18 เท่า ซึ่งสาเหตุดังกล่าวมาจากการขยายอิทธิพลของ ‘กลุ่มทุนไทย’ ที่เข้าไปรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน

ทางด้านประเทศไทย แม้ว่าจะมีกฎหมาย ‘ห้ามเผา’ ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งวงจรดังกล่าวได้ เนื่องจากการเผาเป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดต้นทุนมากที่สุด ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา การทำไร่นาบริเวณที่ราบสูงก็มักใช้วิธีดังกล่าวในการเตรียมพื้นที่ ทำให้เกษตรกรบางส่วนใช้วิธีการลักไก่โดยการลักลอบเผาป่าเพื่อให้ไฟลามมาถึงบริเวณไร่นา ทำให้จากที่จะเกิดการเผาเพียงไม่กี่แปลงกลับต้องสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก สิ่งสำคัญคือการห้ามเผา สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐไม่ได้เข้าใจปัญหาต้นตอ และที่กระทำอยู่ไม่ต่างจากการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซ้ำร้ายยังเป็นการยัดเยียด ‘อคติ’ ที่ร้ายแรงให้เกษตรกรต้องตกเป็นจำเลยของสังคม ที่มีส่วนสำคัญในการก่อ PM2.5

ที่แย่ไปกว่านั้นคือเกษตรกรที่หันมาทำไร่ข้าวโพด ส่วนใหญ่กลับไม่ได้มีฐานะดีขึ้น และมีหนี้สินมากขึ้นกว่าเดิม จากการที่ต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย และค่ายาฆ่าแมลง ฯลฯ ซึ่งอยู่ในข้อตกลงของการทำเกษตรพันธสัญญา จึงอาจกล่าวเป็นนัยได้ว่า การประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดแปรรูปเลี้ยงสัตว์ภายใต้เกษตรแบบพันธะสัญญา ‘เข้าแล้วออกไม่ได้’ จำต้องทนอยู่ในวงจรเช่นนี้ต่อไป

กระทั่งปัญหาดังกล่าวได้ลุกลามกลายเป็นปัญหา ‘ความเหลื่อมล้ำ’ และย้อนกลับมาเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ โดยที่มีเกษตรกรต้องตกเป็น ‘แพะรับบาป’ เพียงผู้เดียว สุดท้ายหากรัฐไม่แก้ไขและไม่กล้าเดินหน้าชนกับ ‘ทุนครอบงำ’ อย่างจริงจัง ประเทศคงไม่สามารถเดินแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ในระยะยาว

นานมาแล้ว ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านบทความของ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนสารคดีมากฝีมือ เรื่อง ‘กินไส้กรอกสะเทือนถึงป่าต้นน้ำ’ ที่เขียนขึ้นในปี 2558 ซึ่งวันชัยพาเราสำรวจถึงปัญหาความเปลี่ยนแปลง จากป่าต้นน้ำในหลายพื้นที่ในภาคเหนือสู่ไร่ข้าวโพด และในท้ายที่สุด ข้าวโพดเหล่านั้นได้แปรรูปมาเป็นอาหารสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ภายในฟาร์มปศุสัตว์ มากพอให้สัตว์ผู้โชคร้ายร้ายเหล่านั้นสวาปามจนอ้วนท้วนและกลายมาเป็น ‘ไส้กรอก’ หรือ ‘โบโลน่า’ ที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อในทุกวันนี้ และจากวันนั้นถึงวันนี้ยังไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง และคงไม่มีใครปฏิเสธว่า การเกิดไฟป่า การปลูกข้าวโพดป้อนอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ และปัญหา PM2.5 ทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงถึงกัน

Tags: , , , , , , ,