4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในด้านกฎหมายป่าไม้หลายประการ รวมถึงการเกิดขึ้นของ ‘พ.ร.บ.ป่าชุมชน’ ซึ่งเป็นสัญญาณหนึ่งของการยอมรับว่า ‘คนกับป่า’ คือความสัมพันธ์ที่ยังเป็นไปได้ ท่ามกลางยุคสมัยแห่งความเสื่อมโทรมของธรรมชาติทั่วโลก

ถึงกระนั้น ความก้าวหน้าด้านการบัญญัติพระราชบัญญัติต่างๆ ยังไม่น่ากังวลเท่ากับข้อจำกัดเกี่ยวกับ ‘กฎหมายลำดับรอง’ ซึ่งมีการกำหนดระเบียบมากมายที่ซับซ้อน ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติจริงและทำให้การดำเนินงานต่างๆ ล่าช้า ซ้ำร้ายระเบียบบางข้อยังขัดแย้งกับกฎหมายหลัก ส่งผลให้ชุมชนในหลายพื้นที่ยังคงตกอยู่ในสถานะคลุมเครือ ขาดการรับรองสิทธิหลายประการ และไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ได้ตามสิทธิที่กฎหมายหลักระบุไว้

นั่นจึงเป็นที่มาของการปฏิบัติงานดูแลและเฝ้าติดตามป่าชุมชน โดย ‘องค์กรภาคประชาสังคมและชุมชน’ ซึ่งครอบคลุมป่าประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน และที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าของชุมชน รวมไปถึงเมื่อวันที่ 14-15 กันยายน 2566 ที่มีการเปิด ‘เวทีสมัชชาป่าไม้ภาคพลเมือง’ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อติดตามสถานการณ์และสะท้อนความคิดเห็นต่อการดำเนินงานเรื่องป่าชุมชน พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอเพื่อนำเสนอต่อภาครัฐ 

‘ภาวะสุญญากาศ’ ของสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน

นิพนธ์ วงศ์กาฬสินธุ์ กรรมการป่าชุมชนสกลนคร เล่าเท้าความถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า พื้นที่ป่าชายเลนหลายแห่งที่เคยเป็นป่าชุมชนที่เข้มแข็งในกำลังตกอยู่ในภาวะสุญญากาศ จากการที่สิทธิของชุมชนในการจัดการป่าขาดหายไป เหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากการแยกการทำงานระหว่างกรมกับการบริหารของภาคราชการ สังเกตได้จากการที่ป่าชายเลนถูกกำหนดให้บริหารและควบคุมด้วยกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับ ซึ่งรับผิดชอบโดยหน่วยงานรัฐที่แตกต่างกัน

หลายครั้ง เจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่มีหน้าที่ตามกฎหมายและชุมชนพิสูจน์ให้ชุมชนเห็นว่า พวกเขาขาดความรู้ความเข้าใจต่อเนื้อหาในกฎหมายและไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ต่อการปฏิบัติงานเกี่ยวกับป่าชุมชนเลย

แผนงานที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่ขาดความเข้าใจ จึงขาดการส่งเสริมให้มีการจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชนที่สอดคล้องกับบริบทและการใช้ประโยชน์ของชุมชน ทั้งยังยุ่งยากไม่เอื้อต่อการสร้างฐานเศรษฐกิจของชุมชนจากป่าชุมชนและวิถีชีวิต

ในขณะที่การบังคับใช้กฎหมายกับชุมชนเป็นไปอย่างเข้มงวด มีการ ‘ทวงคืน’ พื้นที่สาธารณะที่เคยสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ไปจากคนในชุมชน แต่ภาครัฐกลับจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนที่ทวงคืนมาได้ไปให้กับเอกชน เพื่อทำโครงการฟื้นฟูและโครงการคาร์บอนเครดิตโดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน 

กระแสความเปลี่ยนแปลงของ ‘สังคม ทุน และสิ่งแวดล้อม’

ทั้งนี้ สมัชชาฯ ตระหนักถึงสภาวะของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ แต่ยังขาดการส่งต่องานป่าชุมชนสู่คนรุ่นใหม่ หรือความตระหนักรู้ของสังคมเกี่ยวกับ ‘บทบาทและสิทธิสตรี’ วัฒนธรรมและภาระทางเศรษฐกิจที่ตีกรอบไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องการจัดการป่าชุมชนได้อย่างเต็มที่

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่นิพนธ์อ้างอิงถึง คือภาวะ Climate Change ที่กำลังรุกคืบเข้ามาใกล้ชิดกับความเป็นไปของชุมชนมากขึ้นทุกที

“เราพบกับสภาวะความแปรปรวนของธรรมชาติที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น ภาวะภัยแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ระดับน้ำทะเลนั้นเพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจกระทบต่อที่อยู่อาศัยของชุมชนชายฝั่ง แต่การหนุนเสริมให้ชุมชนเหล่านี้เข้าถึงความช่วยเหลือในการรับมือกับภัยธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลับไม่ได้ถูกจัดเป็นงานที่ได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้น” นิพนธ์ระบุ

นอกจากนี้ ประเด็นเกี่ยวกับความตื่นตัวของภาคธุรกิจต่อบทบาทของภาคป่าไม้ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นสิ่งที่สมัชชาฯ ให้ความสนใจ โดยเฉพาะการจัดทำโครงการ ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit)

แง่หนึ่ง ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่จะเกิดความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจกับชุมชนที่ดูแลป่า แต่ในอีกแง่หนึ่งพวกเขากลับพบว่า ชุมชนจำนวนมากไม่ได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลและเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจอย่างเต็มที่ โดยชุมชนเหล่านั้นสะท้อนมาว่า ต้องการร่วมสนับสนุนในการประเมินผลดีผลเสียของการจัดทำโครงการคาร์บอนเครดิตด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน มากกว่าข้อมูลด้านเดียว และต้องการได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม 

นอกจากนี้ กลไกการเงินเพื่อสนับสนุนป่าชุมชนนั้นไม่ควรมุ่งไปเพียงการจัดทำคาร์บอนเครดิต แต่ควรมีเครื่องมือหลากหลายที่ทำให้ชุมชนเข้าถึงได้ง่ายและได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน

‘9 ข้อเสนอ’ ต่อรัฐบาลเศรษฐา

ณ เวทีสมัชชาป่าไม้ภาคพลเมือง ปี 2566 ภาคประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ แลกเปลี่ยน ร่วมกันกำหนดเป้าหมาย และวางแผนการดำเนินการที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต สิ่งที่พวกเขาคาดหวัง คือการขับเคลื่อนงานผลักดันให้ ‘สิทธิชุมชน’ ในการจัดการป่าเป็น ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’ ของชุมชนในทุกพื้นที่ป่า         

การยกระดับสิทธิตามกฎหมายในการจัดการป่าของชุมชน ถือเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของชุมชน ขยายผลการทำงานออกไปในวงกว้าง และสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจบนฐานความร่วมมือที่เท่าเทียมกัน เพื่อทำให้ป่าชุมชนเป็นแหล่งงานและรายได้ โดยที่ผู้หญิงและคนรุ่นใหม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมผลักดัน อีกทั้งยังควรนำเครื่องมือและเทคโนโลยีการสื่อสาร และการตรวจสอบติดตามผลมาใช้สนับสนุนการทำงานของป่าชุมชน เพื่อสร้างระบบมาตรฐานการทำงานป่าชุมชน มีการสื่อสารและรายงานผลการทำงานสู่สาธารณะเป็นระยะๆ

เด่นนภา สกลธนาวัฒน์ ตัวแทนคนรุ่นใหม่จากเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวสรุปข้อเสนอทางนโยบายและกฎหมาย และสิ่งที่ต้องการฝากถึงรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เอาไว้ทั้งหมด 9 ข้อ ดังนี้

1. ในพื้นที่อนุรักษ์ ควรเร่งออกกฎหมายลูก มาตรา 64 และ 65 เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนในการรับรองสิทธิและบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากการขาดความชัดเจนทางกฎหมายอาจนำไปสู่ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ โดยระหว่างนี้ รัฐควรมีมาตรการป้องกันปกป้องป่า ไม่ให้เกิดการบุกรุกเพิ่ม ไม่ควรกำหนดอนุบัญญัติที่ขัดแย้งกับกฎหมายแม่ และควรมอบอำนาจในการอนุมัติอนุญาตแก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เช่น หัวหน้าอุทยานหรือเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชน แทนการส่งเรื่องเข้าส่วนกลาง เพื่อทำให้การดำเนินงานรวดเร็วและมีความเข้าใจบริบทพื้นที่

2. พื้นที่ คทช.ซึ่งมีจำนวนมากถึง 12.5 ล้านไร่ ควรมีการตั้งเป้าที่ชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการให้ลุล่วงในจำนวนเท่าไร และมีการกำหนดระยะเวลาที่จะดำเนินการเสร็จให้ชัดเจน รวมถึงยกเลิกเงื่อนไขที่ยิบย่อยมากเกินไปที่อาจก่อภาระกับเจ้าหน้าที่และชุมชน เช่น การยกเลิกการใช้เกณฑ์ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำในการจัดสรรที่ดินทำกิน และเงื่อนไขในการใช้ที่ดิน และควรมีการสนับสนุนบทบาทขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการสำรวจการถือครอง ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความสอดคล้องกัน

3. ปรับปรุงให้กฎหมายป่าชุมชนเป็นกฎหมายที่อยู่บนฐานสิทธิชุมชน ควรมีการปรับปรุงกฎหมายแม่และกฎหมายลูก เพื่อลดความยุ่งยากและเงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นภาระทั้งต่อเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชน

4. ควรมีการปรับปรุงกฎหมายทางทะเล ซึ่งกฎหมายบางประการเป็นการบังคับที่มากเกินไป เช่น การห้ามเรือประมงขนาดเล็กใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำหลายประเภท ควรยกเลิกโครงการก่อสร้างที่จะไปทำลายระบบนิเวศชายฝั่ง และแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานทางทะเล มาตรา 65 ซึ่งในปัจจุบันมีการกำหนดขอบเขตของการเก็บหา ซึ่งไม่เอื้อให้ชุมชนสามารถเก็บหาทรัพยากรที่ทดแทนได้

5. ควรทำนโยบายการส่งเสริมการจัดทำป่าชุมชนในพื้นที่ชายเลน เพื่อให้เกิดการรับรองอย่างถูกต้องโดยกฎหมายและได้รับสิทธิประโยชน์

6. รัฐควรยกเว้นการส่งเสริมโครงการคาร์บอนเครดิตที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและการฟอกเขียว และกำกับให้ภาคธุรกิจที่จะชดเชยคาร์บอนจากภาคป่าไม้ลดหรือมุ่งมั่นที่จะลดจากภาคการผลิตของตนเอง ก่อนที่จะใช้ภาคป่าไม้ชดเชยทางเดียว รวมถึงสร้างความเป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์และการปรึกษาหารือกับชุมชนอย่างครบถ้วนก่อน

7 รัฐควรจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนแผนการจัดการป่า ดังนั้น ต้องมีกองทุนในการสนับสนุนชุมชนให้สามารถดำเนินการตามแผนได้ พร้อมกับทำให้งบประมาณที่นำมาใช้ในงานป่าไม้นั้นเกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้

8. ควรมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นบนฐานทรัพยากรชีวภาพโดยใช้เทคโนโลยี ยกระดับให้สามารถไปได้ไกล สู่วิสาหกิจในท้องถิ่น

9. ควรมุ่งเน้นด้านการให้ความรู้และการพัฒนาศักยภาพแก่บุคลากร ทั้งภาครัฐและคณะกรรมการ ป่าชุมชนทั้งระดับจังหวัดและระดับชุมชน ให้มีความรู้เรื่องกฎหมายและการจัดการป่าชุมชนอย่างแท้จริง โดยรัฐสร้างความร่วมมือและเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพร่วมกับภาคประชาสังคม เพื่อลดภาระของภาครัฐ และมีการจับมือกันทำงานระหว่างรัฐและชุมชน รวมถึงให้มีกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชน และกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ ประชาสังคม และชุมชน

ทั้งนี้ เด่นนภาได้กล่าวปิดท้ายเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ว่าของสมัชชาว่า

“ในนามของภาคประชาสังคม ชุมชน และพลเมืองที่มารวมกันในเวทีสมัชชาป่าไม้ภาคพลเมืองนี้ ขอแสดงความตั้งใจและความยินดีที่จะร่วมมือทำงานกับภาครัฐและรัฐบาล ในฐานะของพลเมือง พวกเราต้องการมีส่วนร่วมดูแลและรักษาทรัพยากรป่าไม้ของประเทศให้คงอยู่ต่อไป และทำให้ภาคป่าไม้เป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศได้ตามที่ภาครัฐและทุกภาคส่วนคาดหวัง”

ทั้งนี้ หลังจากการนำเสนอผลการประชุม ได้มีการจัดวงเสวนาในประเด็น ‘ป่าชุมชน ความหมายและความสำคัญ และประเด็นฝากถึงรัฐบาลใหม่’ อย่างละเอียด โดยตัวแทนชุมชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมจากป่าประเภทต่างๆ จากหลากหลายพื้นที่ในประเทศไทย เพื่อให้ร่วมกันสร้างความตระหนักและผลักดันสิทธิของชุมชนและภาคพลเมือง และเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในกระบวนการตัดสินใจและบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้แก่คนทุกกลุ่ม

สำหรับผู้ที่สนใจฟังข้อเสนอของสมัชชาฯ อย่างละเอียด สามารถชมไลฟ์เสวนาย้อนหลังของเฟซบุ๊กเพจ ‘RECOFTCThailand – ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ประเทศไทย’ ได้ทาง https://www.facebook.com/recoftcinThailand/videos/1046184813226261/?__cft__[0]=AZUngOfyRBvaPdQJ2ed12xgGAVeiSdKi7Y4OBpWiBa5tNIlrSzW9j3csjBg-9o4RjQKg7a5FwggCau6NFGJQz8m6wirglBA6ktNn7t_wfivUUbHZhDipFimEy1Sm2p4rRzuS-Zowt_Vx293Ie2E1X8zD2KSO87blR5FlgnKK08-wLpb3Iy62TPfX6uWp_wwhrWX7EjvJlaT4UMynttgN0SV-tMqDC26N5GDEHrTCr_XgrQ&__tn__=%2CO%2CP-R 

Tags: , , , , , , , ,