ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในโลกโซเชียลฯ ได้มีประเด็นปัญหาการหาซื้อนมพาสเจอร์ไรส์รสจืดยี่ห้อประจำ ที่ผู้ประกอบการร้านกาแฟและผู้บริโภคทั่วไปต่างให้ความนิยม

ภายหลัง ทั้งนมแบรนด์ดังและกรมการค้าภายสลับกันออกประกาศชี้แจงว่า สาเหตุที่ขณะนี้ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มในตลาดมีปริมาณลดลง เพราะเข้าสู่ช่วง ‘ชะลอการรีดนม’ หรือ ‘พักรีด’ (Dry Cow) หรือก็คือช่วงที่เกษตรกรหยุดรีดนมเพื่อให้แม่วัวพักรักษาสุขภาพเต้านม จนพร้อมมากพอที่จะให้นมหลังคลอดลูกของมัน

เดิมทีทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคต่างให้การตอบรับต่อประกาศดังกล่าวในเชิงบวก ไม่ว่าจะคอมเมนต์ให้กำลังใจแม่โค คอมเมนต์แสดงความตั้งใจที่จะรอจนกว่านมพาสเจอร์ไรส์เจ้าประจำจะกลับสู่ตลาด หรือแม้แต่กระแสรีวิวว่ามีนมยี่ห้อใดที่รสชาติดีพอจะดื่มแก้ขัดระหว่างนี้ได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีกลุ่มผู้ใช้โซเชียลฯ จำนวนหนึ่งที่แสดงความคิดเห็นต่าง นั่นก็คือกลุ่มเกษตรกรและบุคลากรที่ทำงานใกล้ชิดกับกิจการฟาร์มโคนมรายย่อย อาทิ

ไม่ได้พักรีด จนถึงตอนนี้ก็ยังรีดทุกวัน แต่ที่นมขาดแคลนเพราะฟาร์มล้มไปเยอะมาก

ไม่เนียนจ้ะ คนสติดีๆ ที่ไหนเขาจะพักรีดวัวยกฟาร์ม

สรรหานมอย่างเต็มที่ แต่ปัญหาไม่เคยแก้ เรื้อรังยันรุ่นลูก

ดังนั้นในคอลัมน์ Environment สัปดาห์นี้ เราจึงถือโอกาสชวนหนึ่งในเกษตรกรโคนมรายย่อย ‘ผู้รอดชีวิต’ จากวิกฤตฟาร์มโคนมไทยระลอกใหญ่ที่ทำให้เกษตรกรโคนมล้มหายไปจากระบบในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มาพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงภาพรวมของสถานการณ์จากมุมมองของ ‘คนใน’

สาเหตุที่ต้องเอาตัวรอดด้วยการ ‘ออกนอกระบบ’

‘นก’ (นามสมมติ) เป็นเกษตรกรและผู้ดำเนินกิจการฟาร์มโคนมรุ่นที่ 3 ของครอบครัว เธอเติบโตมาในครอบครัวเกษตรกร และใช้ชีวิตในช่วงเยาว์วัยเฝ้ามองคุณปู่และคุณพ่อของเธอทำงานหนักด้วยการส่งนมวัวไปขาย ‘ในระบบ’ ผ่านสหกรณ์หรือศูนย์รับน้ำนมดิบของเอกชน

อาจเพราะเธอโตมากับระบบที่แสนจะไม่เป็นธรรม มิหนำซ้ำกลับได้ค่าตอบแทนไม่คุ้มเหนื่อย ด้วยเหตุนี้ นกจึงทุ่มเทเวลาส่วนหนึ่งของเธอไปกับการวางแผนที่จะเอาฟาร์มของครอบครัวออกสู่นอกระบบ ด้วยวิธีเปิดกิจการร้านอาหารโดยใช้ผลผลิตของฟาร์มตนเอง

“เหตุผลแรกที่ไม่ว่าอย่างไรก็อยากออกจากระบบให้ได้ คือตลาดนมในไทยไม่ใช่ตลาดที่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างยุติธรรม ไม่มีทั้งพื้นที่หรือช่องทางให้ฟาร์มรายย่อยสเกลเล็กๆ สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน

“แต่ไหนแต่ไร เกษตรกรโคนมไทยขายเข้าระบบให้กับโรงงานผลิตนมเจ้าใหญ่เกือบ 100% แม้ว่าการขายเข้าระบบจะขูดรีดราคาจนเกษตรกรแทบไม่มีกำไร เหลือเพียงส่วนต่างพอนำมาใช้พยุงฟาร์มเท่านั้น

“ที่เป็นแบบนี้เพราะทางเลือกอื่นน้อยมาก กฎหมายห้ามไม่ให้เราจำหน่ายน้ำนมดิบหากไม่มีใบอนุญาต เพื่อควบคุมอันตรายทางชีวภาพอย่างการเกิดโรคระบาดต่างๆ น้ำนมจึงถือเป็นสินค้าควบคุมที่จะต้องนำเข้ากระบวนการก่อนบริโภคเท่านั้น

“แต่ปัญหาคือการขอใบอนุญาตแปรรูปน้ำนมดิบ เป็นผลิตภัณฑ์นมเพื่อจำหน่ายเองอย่างอิสระให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับรายย่อย เงื่อนไขหลักคือต้องมีกำลังผลิตไม่น้อยกว่าร้อยตันต่อเดือน และระบบโรงงานจากการลงทุนอย่างน้อยหลายสิบล้าน ประเภทที่ว่าต่อให้ขายนมทั้งชาติก็อาจจะไม่คืนทุน”

ความจริงเกี่ยวกับ ‘ฤดูกาลพักรีด’

โดยพื้นฐานการที่โคตัวหนึ่งจะผลิตน้ำนมได้นั้นจะต้องตั้งท้อง คลอดลูก และมีช่วงให้นม ซึ่งโคนมจะมีวงจรการตั้งครรภ์ที่คล้ายกับคนหลายประการ ทั้งระยะเวลาตั้งท้อง 9 เดือน การคลอดลูกทีละตัว หรือแม้แต่ระยะเวลาให้นมบุตรประมาณ 6-9 เดือน

ทันทีที่ได้ยินคำถามว่า ‘คิดเห็นอย่างไรต่อประกาศพักรีดนมวัวของแบรนด์ที่ถูกแชร์บนโลกออนไลน์’ นกหัวเราะแห้ง พลางให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกับเกษตรกรรายอื่นว่า ไม่ว่าใครที่เคยทำฟาร์มโคนม ย่อมรู้ดีว่านี่ไม่ใช่คำชี้แจงที่สมเหตุสมผล

“แน่นอน แม่วัวทุกตัวมีระยะเวลาที่ต้องพักอยู่แล้วเป็นธรรมชาติ แต่โดยปกติ หากคุณทำฟาร์ม มีวัวสัก 100 ตัว ในแง่ของความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ คุณจะปล่อยให้มันท้องและพักพร้อมๆ กันไหม? ไม่มีทางอยู่แล้ว สัตว์เหล่านี้ไม่ใช่เครื่องจักร เราไม่สามารถที่จะควบคุมให้เขาพักพร้อมกัน 100% ได้และไม่ควรทำด้วย”

การที่แบรนด์นมเจ้าใหญ่เริ่มเผชิญกับผลกระทบในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งที่ช่วงหลายปีก่อนหน้าแทบไม่เคยมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนนมเพราะเข้าฤดูกาลพักรีดมาก่อน จึงเป็นปัญหาระดับยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นผิวน้ำ 

‘อาชีพพระราชทาน’ ที่ถูกทอดทิ้งให้ตกยาก

ในปี 2503 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จประพาสเยือนราชประเทศเดนมาร์ก พระองค์ทรงทอดพระเนตรกิจการโคนม แล้วจึงทรงหันมาริเริ่มและส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมในไทย

อาชีพเกษตรกรโคนมจึงถูกเรียกว่าเป็น ‘อาชีพพระราชทาน’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยคุณปู่ของนกเองก็เป็นหนึ่งในเกษตรกรรุ่นแรกที่เข้าสู่เส้นทางอาชีพเกษตรกรโคนมที่ผ่านโครงการต่างๆ ในช่วงเวลานั้น

แน่นอนว่านกเองก็เคยวาดภาพอนาคตยาวไกลของตนเองบนเส้นทางสายอาชีพพระราชทานเช่นกัน เธอยังจำช่วงเวลาสมัยเด็กที่ได้มีโอกาสไปดูงานในโรงนมไทย-เดนมาร์กในฐานะทายาทครอบครัวเกษตรกรโคนมได้ แต่ยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไร เส้นทางก็ยิ่งเริ่มมืดมัวขึ้นเท่านั้น

นกมองว่าธุรกิจนมโคในประเทศไทยติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก เพราะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำเข้าโคนมมาเลี้ยงเป็นวงกว้าง แทนที่จะศึกษาตลาดให้รอบคอบแล้วส่งเสริมอย่างค่อยเป็นค่อยไป

กระดุมเม็ดถัดมาที่ติดผิด คือการกำหนดให้นมโคเป็นสินค้าควบคุมที่มีเพดานราคา

“ความจริงประการหนึ่งที่หลายคนไม่ยอมรับ คือคนไทยไม่ได้กินนมเป็นอาหารหลักเหมือนข้าว แต่เป็นอาหารทางเลือก ร่างกายของเราไม่เหมือนกับคนขาวหรือคนอินเดียที่บริโภคนมกันมาเป็นพันๆ ปี กระเพาะเราไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสในนมได้ นมจึงเป็นสินค้าที่มีอุปทานส่วนเกินในตลาดเสมอ”

การทำฟาร์มโคนมรายย่อยจึงเป็นธุรกิจที่ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอดและผ่านวิกฤตมามากมายหลายครั้ง แม้อาชีพเกษตรโคนมจะถูกสรรเสริญเยินยอในฐานะอาชีพพระราชทาน แต่ภาพในความเป็นจริงกลับห่างไกลจากคำว่าสวยหรู

“ลองถามตนเองดูว่าคุณซื้อนมพาสเจอร์ไรส์ขวดเล็กในราคาสิบกว่าบาทมากี่ปีแล้ว ตั้งแต่คุณจำความได้เลย ถูกไหม?

“ในขณะที่ราคารับซื้อและราคาขายออกถูกควบคุมโดยกรมการค้าภายในมาโดยตลอด แต่กลับไม่เคยมีการควบคุมราคาปัจจัยการผลิต อย่างที่รู้กันว่าราคานมพาสเจอร์ไรส์รสจืดจะขยับขึ้นแค่นานๆ ครั้งและขึ้นราคาเป็นหลักสตางค์ แต่นั่นสวนทางกับราคาอาหารสัตว์ขึ้นที่แบบก้าวกระโดดอยู่ตลอดเวลา

“ในช่วงเวลาเพียง 1-2 ปี (2565-2566) ฟาร์มโคนมในไทยทยอยล้มละลายไปกว่า 50% โดยมีสาเหตุหลักคือต้นทุนด้านอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นมาราว 1 เท่าตัว หรือก็คือประมาณ 100% จากเคยซื้อ 100 ตอนนี้ต้องใช้ 200 แล้วเขาจะอยู่กันอย่างไรล่ะ ในเมื่อราคานมมันเท่าเดิม

“หากถามว่าเจ้าใหญ่เจ้าไหนผูกขาดอาหารสัตว์ ก็เจ้าเดิม คนในวงการรู้กันทั้งนั้นว่าเขาอยู่ในเครือเดียวกับนมแบรนด์ไหน แค่อาจจะไม่ได้ใช้ชื่อเดียวกับชื่อแบรนด์ที่เราคุ้นเคย”

วิ่งวนบนหนทาง ‘ผูกขาด’ อันมืดมิด

       โคนมที่กำลังราคาตกส่วนหนึ่งจากฟาร์มที่เลิกกิจการในช่วงที่ผ่านมาถูกกว้านซื้อไปโดยเจ้าใหญ่อย่างรวดเร็วเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งน้ำนมในตลาด โคนมอีกส่วนหนึ่งถูกส่งเข้าโรงเชือดเพื่อเอาเงินที่ได้จากการขายเนื้อมาจุนเจือครอบครัว

       ความกลัวหลักของกลุ่มเกษตรกรที่ยังเหลืออยู่ คือความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เมื่อเกษตรกรรายย่อยเหลือจำนวนน้อยลงทุกที กำลังผลิตน้ำนมในประเทศกำลังค่อยๆ ลดลง และเป็นไปได้ว่าอาจมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการนำเข้าน้ำนมชั่วคราว

แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง เมื่อกำลังการผลิตฟื้นฟูกลับมา กว่าจะถึงตอนนั้น ตลาดนมโคของไทยอาจเดินทางไปถึงจุดที่เจ้าใหญ่คุมตลาดได้เบ็ดเสร็จ จนมีอำนาจในการกำหนดราคานมในฐานะหนึ่งในผู้ค้าจำนวนน้อยราย

จึงน่าจับตามองว่าหลังจากนี้อนาคตของอุตสาหกรรมนมโคในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร จะกลายมาเป็นตลาดกึ่งผูกขาด แทนที่อุตสาหกรรมสุราที่กำลังมีการเรียกร้องให้เปิดกว้างหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจว่าเมื่อไรจึงจะยอมเปิดตาที่ปิดไว้ เพื่อเร่งหาทางออกแก่ทุกฝ่าย

       อ้างอิง

       กรุงเทพธุรกิจ

       InfoQuest

       ประชาชาติ

       Lean Farming Facebook Page

       OFF CHAINON

Tags: , , , , ,