การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กลายมาเป็นอีกหนึ่งภัยหลักที่คุกคามกระบวนการลดและบรรเทาความยากจน ผลข้างเคียงของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นนี้ได้ปรากฏให้เห็นชัดมาหลายทศวรรษ ผ่านทั้งภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรงและเกิดบ่อยขึ้น และประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกที่เปราะบางและอ่อนกำลังลงทุกที

แม้ว่านี่เป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่ทุกคนควรได้รับผลกระทบ และแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเท่าเทียมกัน แต่น่าเศร้าที่ในความเป็นจริง ยิ่งผู้คนมีรายได้น้อยเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งเปราะบางและได้รับผลกระทบจากปัญหาข้างต้นมากเท่านั้น โดยเฉพาะ ‘แรงงานชายขอบ’ ที่ต้องรับแรงกระแทกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมก่อนเสมอ

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและใช้ชีวิตใกล้ชิดกับสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติ มากกว่าชนชั้นกลางที่มีรายได้สูงกว่าและอาศัยในพื้นที่เมือง ด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจหลากหลายประการ พวกเขาจึงมีทางเลือกในการรับมือกับภัยพิบัติที่รุนแรงและความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดอยู่อย่างจำกัด

คอลัมน์ Environment คราวนี้ ขอชวนร่วมจับตา 3 ประเด็นปัญหา และ 4 ข้อเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อมล่าสุด จาก ‘สมัชชาคนจน’ (Assembly of the Poor) กลุ่มชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาล เพื่อทวงสิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิในการรับการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรมจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ สิทธิในการประกอบอาชีพเพื่อดำรงชีวิตตามวิถีของชุมชน และสิทธิแรงงานจากรัฐบาล โดยผลัดกันรวมกลุ่มเดินทางมาชุมนุมเรียกร้อง ต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี

1. อุทกภัยจากการสร้างเขื่อน

‘เขื่อนโป่งขุนเพชร’ จังหวัดชัยภูมิที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างโครงการอ่างเก็บน้ำที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านห้วยทับนายน้อยมาเป็นเวลากว่า 20 ปีตลอดกระบวนการก่อสร้าง เนื่องจากการเปิด-ปิดประตูน้ำเพื่อการกักเก็บน้ำในพื้นที่เขื่อนดังกล่าว มักส่งผลให้เกิดน้ำท่วมยาวนานในพื้นที่บ้านห้วยทับนายน้อย ตำบลโคกสะอาด อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ

ชาวบ้านห้วยทับนายน้อยกำลังรอรัฐบาลจัดสรรที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยทดแทนที่ดินเดิม เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการปรับตัวครั้งใหญ่ในชีวิตของพวกเขา กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับป่าเขา มีอาชีพหลักคือเก็บหาของป่ากินและขายเพื่อยังชีพ ต้องเปลี่ยนมาใช้ชีวิตหากินกับน้ำ หัดลงเรือล่องแพ และในขณะเดียวกัน ก็ต้องหาเวลามารวมตัวกับเครือข่ายสมัชชาคนจนเพื่อย้ำเตือนข้อเรียกร้อง

ซ้ำร้าย ทุกครั้งที่ฝนตกลงมาอย่างหนัก ก็มักประสบปัญหาจากเขื่อนจนเกิดวิกฤตน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลถึงชาวบ้านที่ต้องเดินทางด้วยเรือหรือแพนานนับชั่วโมง เพื่อไปกลับระหว่างบ้านห้วยทับนายกับบ้านห้วยทับนายน้อย ซึ่งมีระยะทางเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้พวกเขาใช้เวลาเดินทางไม่กี่นาทีก็ถึงแล้ว

2. Carbon Credits ที่ไม่เป็นมิตรกับคนจน

แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านกลไกตลาดและการค้าคาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และคำเตือนมาโดยตลอดว่า เป็นแนวทางที่เสี่ยงแย่งยึดที่ดินชุมชนในเขตป่า เสี่ยงซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ ยังไม่นำไปสู่การแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตัวแทนจากสมัชชาคนจนให้สัมภาษณ์กับองค์กรสาธารณประโยชน์ กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ว่า พวกเขาก็คัดค้านคาร์บอนเครดิตอย่างเต็มตัว โดยยืนยันว่า การสร้างระบบปลูกป่าดูดซับคาร์บอน เพื่อเปิดโควตาการก่อมลพิษให้กลุ่มทุน ไม่ใช่แค่เพียง ‘ผิดธรรมดา’ เท่านั้น แต่ยังเป็น ‘เรื่องลวงโลก’

“ขณะคุณเอาที่ดินชาวบ้านไปปลูกป่า แต่คุณไม่ได้หยุดอุตสาหกรรม คุณยังเดินหน้าตั้งนิคมอุตสาหกรรมตลอดเวลา เพราะฉะนั้น คาร์บอนเครดิตไม่มีทางแก้ไขปัญหานี้ได้ คุณต้องไปลดที่ต้นเหตุ ลดที่ภาคอุตสาหกรรม ลดที่ภาคบริการ ลดที่ภาคการผลิตที่ปลดปล่อยคาร์บอนและสารเคมีปริมาณมหาศาล” ชาวบ้านตัวแทนกล่าว

3. อธิปไตยทางอาหาร

อธิปไตยทางอาหาร (Food Sovereignty) หมายถึงสิทธิในการผลิตอาหารที่สอดคล้องกับหลักโภชนาการ สอดคล้องกับวัฒนธรรม และสอดคล้องกับระบบนิเวศและความยั่งยืน ตลอดจนสิทธิที่จะกำหนดนโยบายหรือขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมและอาหารของชุมชนตนเอง ถือเป็นหนึ่งในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สมัชชาคนจนขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยสมาชิกส่วนมากของสมัชชา หากไม่เป็นเกษตรกรเสียเอง ก็เป็นกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมและอาหารอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 กลุ่มสมาชิกหญิงของสมัชชาคนจน รวมตัวกันบริเวณถนนกรุงเกษม ก่อนเคลื่อนขบวนรณรงค์เนื่องในโอกาส ‘วันสตรีชาวนา’ จากเชิงสะพานมัฆวาน มุ่งหน้าสู่แยกมัฆวานรังสรรค์ โดยพวกเธอมุ่งเน้นเนื้อหาการเรียกร้องในวันนั้นไปที่ประเด็น อธิปไตยทางอาหาร โดยมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. รัฐบาลต้องมีความเด็ดเดี่ยว ความกล้าหาญ ความเต็มใจ และความจริงใจที่จะแก้ไขความเดือดร้อนของสมัชชาคนจนโดยเร็ว

2. รัฐต้องรับผิดชอบความปลอดภัย ไม่ให้ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐอื่นใดมาก่อกวน สกัดขัดขวาง หรือละเมิดสิทธิของผู้หญิงในการชุมนุมโดยเด็ดขาด

3. รัฐต้องคุ้มครองสิทธิเกษตรกร ส่งเสริมการผลิตแบบเกษตรนิเวศ เพราะเป็นรูปแบบการเกษตรที่เอื้อต่อผู้หญิงชาวนา และสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีสิทธิด้านอาหาร ที่จะเข้าถึงอาหารที่เราผลิตได้โดยง่าย

4. เพื่อปลดเปลื้องภาระครอบครัวให้ผู้หญิงชาวนา เราเรียกร้องให้รัฐดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและเท่าเทียมโดยเร็ว

เหล่านี้ล้วนเป็นข้อเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อมอันเกี่ยวโยงกับสถานะทางสังคมเศรษฐกิจโดยตรง ในขณะที่ปัญหาเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต หรืออธิปไตยทางอาการอาจเป็นกลุ่มคำศัพท์ใหม่ที่ใครหลายคนเพิ่งจะเรียนรู้ความหมายได้ไม่นาน ทว่าแรงงานกลุ่มหนึ่งกลับร่วมกันผลักดันสิ่งเหล่านี้ในนามของสมัชชาคนจนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันที่พิสูจน์ว่า ในหลายครั้ง กว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ ณ ใจกลางความเจริญจะเริ่มสังเกตเห็นและได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบตัว คนชายขอบมักถูกทอดทิ้งให้เผชิญหน้าและรับมือกับปัญหาเหล่านี้ โดยปราศจากความช่วยเหลือจากภาครัฐมาเนิ่นนาน เกินกว่าที่ใครหลายคนจะจินตนาการออก

อ้างอิง

https://www.facebook.com/profile.php?id=100064381883555

https://www.matichon.co.th/politics/news_4238856

https://mgronline.com/local/detail/9660000085038

https://www.greenpeace.org/thailand/story/28665/assemblyofthepoor/

Tags: , , , , ,