คำว่า ‘แฮนยอ’ (Haenyeo) มาจากการรวมตัวกันของคำยืมจีนในภาษาเกาหลี 2 คำ ได้แก่ แฮ (Hae) ที่แปลว่า ทะเล และนยอ (Nyeo) ที่แปลว่า ผู้หญิง รวมกันแล้วแปลว่า ‘ผู้หญิงแห่งท้องทะเล’ ทำให้เหล่านักดำน้ำหญิงปอดเหล็ก ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้นำเจ้าของรายได้หลักที่จุนเจือครอบครัว ถูกเปรียบเปรยเป็นนางเงือกแห่งเกาะเชจูอยู่บ่อยครั้ง

อาชีพนักดำน้ำหญิงแห่งเกาะเชจูถูกรับรองสถานะให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยยูเนสโก (UNESCO) เมื่อปี 2017 พวกเธอมีชื่อเสียงด้านความสามารถดำน้ำลึกกว่า 10 เมตร โดยไม่ใช้เครื่องมือดำน้ำหรือเครื่องช่วยหายใจใดๆ รวมถึงความอึดที่ทำให้สามารถทำงานต่อเนื่องทั้งวันได้นาน 7-8 ชั่วโมง เพื่อเก็บเกี่ยวหอยเม่น หอยเป๋าฮื้อ ปลิงทะเล ปลาหมึก หรือแม้กระทั่งปลากะพง

ปัจจุบัน แม้มีอุปกรณ์ทันสมัยที่อำนวยความสะดวกต่อการเก็บผลผลิตในท้องทะเล แต่ด้วยภูมิปัญญาและวิถีปฏิบัติแบบดั้งเดิมของแฮนยอ พวกเธอจึงเลือกไม่ใช้ถังอากาศหรืออุปกรณ์ใดๆ นอกเหนือจากชุดยางและหน้ากากดำน้ำพื้นฐาน สาเหตุเพราะต้องการจำกัดปริมาณการเก็บผลผลิต ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของทะเลรอบเกาะได้

ดังนั้น นอกเหนือจากทักษะการดำน้ำและเทคนิคการกลั้นหายใจแล้ว สิ่งที่แฮนยอทุกคนต้องมีคือ ความกล้าหาญ จิตใจที่แข็งแกร่ง สติสัมปชัญญะ และก่อนดำน้ำทุกครั้ง พวกเธอจะสวดภาวนาให้ตนปลอดภัยและได้ของดีๆ กลับมา ส่วนหนึ่งเพื่อรวบรวมสมาธิ ขจัดความกลัวยามต้องเผชิญกับอุณหภูมิอันหนาวเหน็บและความลึกลับใต้ท้องทะเล

โครงสร้างครอบครัว ‘กึ่งหญิงเป็นใหญ่’ บนเกาะเชจู

วัฒนธรรมการดำน้ำเพื่อการประมงของชาวเกาะเชจู มีขึ้นตั้งแต่ 2,000 ปีก่อน โดยแรกเริ่มถือเป็นอาชีพของผู้ชายเท่านั้น เนื่องจากเกาะเชจู ณ ขณะนั้นมีชื่อว่าอาณาจักร ‘ทัมรา’ (Tamna) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ของขงจื๊อ ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ บนคาบสมุทรเกาหลี

ไม่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงนักดำน้ำหญิงเลย จนกระทั่งช่วงศตวรรษที่ 17-18 (กลางยุคโชซอน) เป็นต้นมา ตัวเลขประชากรนักดำน้ำหญิงค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย จนมีสัดส่วนมากกว่านักดำน้ำชายในที่สุด

สาเหตุที่เกิดปรากฏการณ์ข้างต้น มาจากประชากรชายจำนวนมากล้มตายไปในสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการสังหารหมู่เกาะเชจูในช่วงปี 1948-1949 ที่มีรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตบนเกาะถึง 3 หมื่นราย

ฉะนั้น การหาเลี้ยงครอบครัว จึงกลายเป็นงานของผู้หญิงที่ยังเหลือรอดโดยปริยาย นอกเหนือจากปัจจัยด้านสงคราม ยังมีการพูดถึงปัจจัยด้านกายภาพ คือชั้นไขมันใต้ผิวหนังตามธรรมชาติของผู้หญิงที่มีมากกว่าผู้ชาย ทำให้สามารถทำงานในสภาพอากาศหนาวเย็นได้ดีกว่าอีกด้วย

แน่นอน ลำพังเพียงความสามารถในการดำน้ำอันโดดเด่นของหญิงชาวเกาะเชจู คงไม่สามารถลบล้างโครงสร้างสังคมเดิมที่ยกให้ชายเป็นใหญ่ได้ เพราะท้ายที่สุด  เพศที่ได้รับบทบาทผู้นำพิธีบูชาบรรพบุรุษ และตัวแทนครอบครัวที่สามารถสืบทอดทรัพย์สินมรดกหรือนามสกุลได้ ก็ยังคงเป็นผู้ชายเพียงฝ่ายเดียวอยู่ดี

อย่างไรก็ดี อาจกล่าวเป็นนัยได้ว่า การมีตัวตนอยู่ของแฮนยอได้เข้าไป ‘เจือจาง’ ความเข้มข้นของระบบนี้ลงเล็กน้อย เนื่องจากบทบาททางสังคมบางอย่างของชายหญิงได้สลับกันโดยสิ้นเชิง เช่น ภรรยาทำหน้าที่ออกจากบ้านไปทำงาน ในขณะที่สามีอยู่บ้านเลี้ยงลูก ครอบครัวฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายเรียกสินสอดให้ครอบครัวฝ่ายชายจ่าย (หากธรรมเนียมแบบเกาหลีแผ่นดินใหญ่ ครอบครัวฝ่ายหญิงจะต้องจ่าย เพื่อตอบแทนผู้ชายที่จะต้องเป็นฝ่ายออกเงินซื้อบ้านและทำงานหาเลี้ยงภรรยาต่อไป)

อนาคตของอาชีพแฮนยอภายใต้ ‘ภาวะโลกรวน’

ประชากรที่ประกอบอาชีพแฮนยอกำลังลดน้อยอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมในทศวรรษ 1970 ที่มีจำนวนมากถึง 1 หมื่นคน แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 3,000 คน สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามยุคสมัย ที่ทำให้ครอบครัวเริ่มสนับสนุนให้ลูกสาวเรียนจบสูงๆ และเข้าเมืองไปทำงานกันมากขึ้น

สาเหตุแรกที่ทำให้อนาคตอาชีพแฮนยอลดน้อยลง คือ ‘ภาวะโลกรวน’ (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งสภาพภูมิอากาศของเกาะเชจู ที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตร ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 2.6 เท่า หากเทียบกับพื้นที่อื่นๆ

และอีกหนึ่งผลกระทบที่ชัดเจน คือการเติบโตของประชากรสาหร่ายผักกาดทะเล (Sea Lettuce) พืชทะเลในกลุ่มสาหร่ายสีเขียวที่มีสารอาหารต่ำ ที่กำลังรุกรานแย่งชิงพื้นทะเลรอบๆ เกาะจนพืชทะเลประจำถิ่นชนิดอื่นๆ ที่เป็นอาหารของสัตว์ทะเลไม่มีพื้นที่เติบโต

ขณะเดียวกัน น้ำทะเลที่ขุ่นขึ้นกว่าเดิม ก็เป็นอีกหนึ่งในผลกระทบจากการท่องเที่ยวของเกาะเชจูที่เฟื่องฟูต่อเนื่องมาหลายปี ส่งผลต่อทัศนวิสัยการดำน้ำประมงแบบพื้นบ้านของแฮนยอโดยตรง จากเดิมที่เสี่ยงอันตรายอยู่แล้ว งานของแฮนยอก็ยิ่งยากทวีคูณ

แม้ไม่อยากล้มเลิกความหวังที่จะสืบทอดตำนานที่ยังมีลมหายใจนี้ แต่ผู้คนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า นักดำน้ำหญิงรุ่นปัจจุบัน อาจเป็นแฮนยอรุ่นสุดท้ายของเกาะเชจูและของโลก

และต่อให้มีคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่ให้ความสนใจอาชีพนี้ แต่การทำประมงในแบบของแฮนยอที่เคารพระบบนิเวศ และให้ความสำคัญกับการเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอย่างหาที่เปรียบไม่ได้นั้น จะเห็นผลลัพธ์ชัดเจนก็ต่อเมื่อคนกลุ่มใหญ่ร่วมมือกันทำเป็นกิจจะลักษณะ โดยไม่นำวิธีการทำประมงเชิงอุตสาหกรรมที่เน้นปริมาณมาใช้

อ้างอิง

Hong, S.K. (1965). “Hae-nyo, the diving women of Korea”. In: Rahn, H; Yokoyama, T (Eds) Physiology of Breath-Hold Diving and the Ama of Japan. United States: National Academy of Sciences – National Research Council: 99–112.

Kook, A. (2023). “The Take: Can Korean sea women survive climate change?” Al Jazeera. https://www.aljazeera.com/podcasts/2023/6/9/can-korean-sea-women-survive-climate-change

Song, W. (2023). “Climate Change and Tourism Sustainability in Jeju Island Landscape” Sustainability 15, no. 1: 88. https://doi.org/10.3390/su15010088

Tags: , , , , , ,