“การดูหนังครั้งแรกด้วยกันในโรงหนังคือการให้ท่า แต่การไปดูซ้ำด้วยกันครั้งที่สอง ถึงจะเรียกว่าไปออกเดต” กิเยร์โม เดล โตโร (Guillermo Del Toro) ผู้กำกับภาพยนตร์

ช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือโรงภาพยนตร์ สถานการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก ธุรกิจเครือข่ายโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาอย่าง AMC ก็ยังยอบแย่บ ชนิดที่เรียกว่าใกล้จะล้มละลาย มีการประมาณการกันว่า รายได้ของโรงภาพยนตร์ในช่วงปี 2020-2021 หายไปประมาณ 5,000 ล้านเหรียญฯ เลยทีเดียว (ราวๆ 1.6 แสนล้านบาท) และภาพที่สวนทางกันคือ ธุรกิจสตรีมมิงกลับโตวันโตคืน

ฮอลลีวูดรีพอร์ตเตอร์รายงานว่า ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปีนี้ (2021) เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) แพลตฟอร์มสตรีมมิงซึ่งมีฐานสมาชิกมากที่สุดในโลกตอนนี้ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้สมาชิกเพิ่มมาอีก 4.4 ล้านคน ทำให้ยอดสมาชิกของเน็ตฟลิกซ์ปัจจุบันอยู่ที่ราว 214 ล้านแอ็กเคานต์ทั่วโลก ส่วนดิสนีย์พลัส (Disney Plus+) ก็มียอดสมาชิกเพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 90 ล้านแอ็กเคานต์ในปี 2020 มาเป็น 116 ล้านแอ็กเคานต์ในสิ้นปีนี้

เน็ตฟลิกซ์เอาจริงเอาจังกับการสร้างหนังและซีรีส์ของตัวเอง และประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ ซีรีส์อย่าง ‘Squid Game’ ทำให้เน็ตฟลิกซ์ได้ลูกค้าเข้ามาอีกไม่น้อย แม้กระทั่งหนังของเน็ตฟลิกซ์เองก็รุกหนักเช่นกัน ล่าสุด ‘Red Notice’ ภาพยนตร์ที่เน็ตฟลิกซ์นำนักแสดงเบอร์ใหญ่ทั้ง ดเวย์น จอห์นสัน (Dwayne Johnson) กัล กาด็อต (Gal Gadot) และไรอัน เรย์โนลส์ (Ryan Reynolds) มาแสดงร่วมกัน ก็สร้างแรงกระเพื่อมช่วงปลายปีได้ดีไม่น้อย

ไม่ใช่แค่หนังที่เน็ตฟลิกซ์ผลิตเอง แต่หนังหลายเรื่องจากหลายสตูดิโอก็หันมาใช้บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิงแทนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งก็ดูเหมือนว่าเป็นตัวเลือกที่ดี ว่ากันตั้งแต่ ‘The Lovebirds’ ของผู้กำกับ ไมเคิล โชวอลเตอร์ (Michael Showater) ที่ประสบความสำเร็จจาก ‘The Big Sick’ ก็เอาหนังใหม่ของเขามาลงในเน็ตฟลิกซ์ หรือหนังแนวครอบครัวอย่าง ‘Trolls World Tour’ ก็เอามาลงช่องทางฮูลู (Hulu) ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการตัดสินใจเอาหนังชนโรงฟอร์มใหญ่อย่าง ‘Black Widow’ หรือ ‘Jungle Cruise’ ที่เจ้าของค่ายเอามาลงเองในช่องดิสนีย์พลัส ซึ่งหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แทบจะเป็นมหกรรมคืนกำไรให้กับสังคมก็ว่าได้

มองในแง่ของการเข้าถึงหนัง บริการสตรีมมิงดูเป็นทางเลือกที่ดีมากสำหรับการดูหนังของพวกเราซึ่งเป็นผู้ชม แต่ในแง่ของผู้ผลิต ดูเหมือนว่าค่ายหนังทุกค่ายลึกๆ แล้วยังอยากให้เรากลับไปดูหนังในโรงมากกว่า เพราะอะไร?

หากมองในมุมผู้บริโภค ระบบสตรีมมิงดีกับเราแน่นอน เพราะทำให้เราเข้าถึงเนื้อหาได้ง่ายมากขึ้น ทว่าในแง่ของยอดขาย ค่ายหนังไม่สามารถเห็น ‘ตัวเงิน’ ที่แท้จริงจากการฉายในระบบสตรีมมิง คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือเจ้าของแพลตฟอร์มและคนดู ค่ายหนังก็รับส่วนแบ่งจากการสตรีมมิง หากดูในกรณีของ ‘Black Widow’ กับของดิสนีย์พลัสเป็นตัวอย่าง นิตยสารวาไรตี้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า กลยุทธของดิสนีย์สำหรับหนัง Black Widow อาจไม่ได้อยู่ที่รายได้ของหนังโดยตรง แต่อยู่ที่การ ‘ดึงฐานคนดู’ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนี้มากกว่า 

เช่นเดียวกับการเปิดตัว ‘Jungle Cruise’ หนังฟอร์มใหญ่ของดิสนีย์ นำแสดงโดย ดเวย์น จอห์นสัน และเอมิลี บลันต์ (Emily Blunt) ที่ตัวหนังลงทุนไป 200 ล้านดอลลาร์ฯ แต่เข้าฉายตามหลังจากการฉายในโรงเพียง 45 วันเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจากรายได้ที่ไม่ค่อยได้รับการตอบรับดีนักในโรงภาพยนตร์

แต่อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นแผนการตลาดของดิสนีย์ ที่ต้องการโปรโมตชื่อของ Jungle Cruise ให้เข้าถึงกลุ่มครอบครัวมากขึ้น เพราะเครื่องเล่นในดิสนีย์แลนด์ที่แอตแลนตา เปลี่ยนชื่อจาก ‘Jungle River Cruise’ ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1995 มาเป็น ‘Jungle Cruise’ รวมถึงอัพเดตฟีเจอร์สและเนื้อเรื่องให้ล้อกับตัวหนัง มองในแง่ของการจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นี่คงเป็นวิธีการบริหารจัดการในภาพรวมของดิสนีย์ ที่น่าจะหวังรายได้จากสิ่งอื่นมาทดแทนรายได้จากการฉายในโรงภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น หรือการตีตั๋วไปดิสนีย์แลนด์เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งของหนังที่ฉายทางสตรีมมิงก็คือ ไม่ใช่หนังทุกประเภทจะเหมาะกับการสตรีมมิง เท่าที่มีการเปิดเผยข้อมูล พบว่าหนังที่ผู้ชมนิยมดูในแพลตฟอร์มสตรีมมิงจะเป็นเนื้อหาสำหรับครอบครัวมากกว่าหนังประเภทอื่น ค่ายหนังในสหรัฐอเมริกาเองก็พิจารณาเรื่องนี้เช่นกันว่า การเอาหนังใหญ่มาลงในช่องทางสตรีมมิง จะเลือกหนังที่เป็นเป็นเรท PG หรือให้มีสัดส่วนของหนังประเภทนี้มากที่สุด เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่ดูหนังสตรีมมิงที่มักดูด้วยกันและไม่น้อยที่เป็นเด็ก

หนังเหล่านี้แม้ว่าอาจทำเงินไม่มากนักสตรีมมิง แต่ก็มีแนวโน้มว่าสามารถขายสินค้าอย่างของเล่นได้ต่อ หรือสร้างการรับรู้ การจดจำ ในกลุ่มเป้าหมาย เพื่อรอเวลาที่บ้านเมืองกลับมาเป็นปกติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ก็จะมาเสริมให้เนื้อหาที่ดูในสตรีมมิง ทำหน้าเป็นเสมือนหนึ่งโฆษณาชั้นดีให้คนจดจำ ซึ่งกรณีนี้เห็นได้ชัดเจนจากกลยุทธ์แบบดิสนีย์พลัส แต่สำหรับค่ายหนังอื่นๆ ที่เน้นผลิตเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ พวกเขาอาจเลือกรอเวลาที่เหมาะสม มากกว่าจะกระโดดเข้าไปในสนามสตรีมมิง

ไม่แปลกที่หนังฟอร์มใหญ่อย่าง ‘No Time to Die’ หรือ ‘Fast & Furious9’ หรือ ‘Top Gun: Maverick’ จะเลื่อนฉายออกไป เพื่อให้ได้เวลาที่เหมาะสมจริงๆ ในการฉาย เพราะหากดูจากยอดขายตั๋วและรายได้ที่กลับมาหาค่ายหนัง การเข้าฉายในโรงหนังสามารถทำเงินได้เร็วกว่าปล่อยหนังในลอยอยู่ใน My List โดยที่เราเองก็ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มดูเมื่อไร ซึ่งแตกต่างจากรอบของการฉายในโรงภาพยนตร์ที่เร่งให้เราต้องออกจากบ้านไปดูหนัง 

ตัวอย่างนี้เห็นได้ชัดจากหนังที่ดังและรับเงินได้อย่างไม่คาดคิดทั้งหลาย เช่น ‘A Quiet Place’ ของผู้กำกับ จอห์น คราซินสกี (John Krasinski) ที่ลงทุนไปแค่ 17 ล้านดอลลาร์ฯ แต่สามารถทำเงินในการฉายในโรงหนังถึง 340 ล้านดอลลาร์ฯ ลองคิดดูว่าการรับรู้รายได้แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นแน่นอนในเวลาอันรวดเร็ว หากฉายในระบบสตรีมมิง ทำให้ ‘A Quiet Place 2’ ก็เลือกที่จะเปิดตัวฉายในโรงหนังก่อนที่จะไปหาแพลตฟอร์มอื่นๆ

ไปดูฝั่ง HBOMax (บ้านเรามาในรูปแบบ HBOGo) ก็จะพบว่าหนังอย่าง ‘Godzilla vs. Kong’ ที่สตรีมมิงเกือบจะชนโรงนั้น แม้ว่าจะได้ยอดคนดูค่อนข้างมาก แต่หนังก็อยู่ให้ดูไม่นานนัก และก็ถูกถอดออกไป ส่วนหนึ่งค่ายหนังอาจมองว่าส่วนแบ่งที่ได้จากการขายหนังบนสตรีมมิงอาจยังไม่สามารถทำกำไรเป็นเนื้อเป็นหนังได้เท่ากับการฉายหนังในโรงหรือการเช่าซื้อเป็นครั้ง แนวคิดนี้ก็เช่นเดียวกับหนังเจมส์ บอนด์ หรือแฮรี่ พอตเตอร์ ซึ่งมีมูลค่าทางการตลาดสูง พวกเขาก็เลือกที่จะไปสตรีมมิงเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับแพลตฟอร์มในระยะยาว 

นอกเหนือจากเรื่องของเงินแล้ว ‘กล่อง’ ก็เป็นเรื่องที่ผู้สร้างหนังวางไว้เป็นกลยุทธหนึ่งของการขาย หนังฮอลลีวูดหลายเรื่องที่สร้างมาเพื่อหวัง ‘กล่อง’ ก่อนเอาเงิน ย่อมต้องฉายในโรงหนังก่อน ด้วยข้อจำกัดของกฎการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ซึ่งกำหนดไว้ว่าหนังที่จะเข้าชิงได้ จะต้องเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ (เพื่อการค้า) ในเขตลอสแอนเจลิส อย่างน้อยๆ เป็นเวลา 7 วัน มีรอบฉายอย่างต่ำ 3 รอบต่อวัน ถึงจะมีสิทธิในการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขาต่างๆ ได้ หนังบางเรื่องที่ผลิตมาโดยใช้กลยุทธเอากล่องมาก่อนเพื่อให้คนเข้าไปดู จึงจำเป็นต้องพึ่งพาระบบโรงหนัง หากให้เห็นภาพชัดเจน เราอาจดูโมเดลของ ‘Parasite’ หนังจากเกาหลีใต้เป็นตัวอย่าง รายได้ก่อนและหลังการได้รับรางวัลออสการ์ในสหรัฐอเมริกานั้นแตกต่างกันมาก

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าโลกอนาคตของการดูหนังจะเปลี่ยนไปแน่นอน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเพลง แต่จะช้าหรือเร็วและออกมาในรูปแบบไหน ต้องรอดูกันต่อไปว่า ธุรกิจค่ายหนังและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจะปรับตัวเข้าหากันอย่างไร  

Tags: , , , ,