“การได้เป็นส่วนหนึ่งในโลกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ เหมือนเราเป็นนักบินอวกาศที่ได้ไปเหยียบดวงจันทร์ มีไม่กี่คนในโลกจริงๆ ที่ได้โอกาสอย่างเรา”
รูเพิร์ต กรินต์ หนึ่งในนักแสดงนำพูดถึงการแสดงในบทบาท รอน วิสลีย์ ที่เขารับบทยาวนานถึง 10 ปี
ไม่น่าเชื่อว่าหนัง แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะอยู่กับเรามากว่า 20 ปีแล้ว ในวาระพิเศษเช่นนี้ ทางช่อง HBO GO จึงมีโปรแกรมพิเศษ Harry Potter 20th Anniversary; Return to Hogwarts ที่พาย้อนกลับไปดูเบื้องหลังประสบการณ์ของนักแสดง หลังจาก 20 ปีของหนังแฟรนไชส์ระดับตำนาน ซึ่งออกแนว ‘รวมรุ่น’ ของคนที่เกิดทันหนังชุดนี้ฉายในโรงหนัง และรำลึกถึงบรรยากาศการรอคอย แฮร์รี่ พอตเตอร์ ภาคใหม่ที่ทยอยฉายมาตั้งแต่ปี 2001-2011 ซึ่งหากนับรวมแล้วคือ 10 ปีพอดี
ไม่ว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะเป็นเวอร์ชันหนังสือหรือหนัง ก็เป็นปรากฎการณ์ของวัฒนธรรมป็อปที่สร้างกระแสไปทั่วโลก และสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่เรื่องราวต่างๆ อีกมากมาย สร้างการเปลี่ยนแปลงให้วงการหนังสือ และวงการหนัง เกม กีฬา สวนสนุก ของเล่น ฯลฯ จนกระทั่งสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษถึงกับแซวว่า หากจะมีนักธุรกิจสักคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นก็น่าจะมีชื่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ด้วย
คอลัมน์สัปดาห์นี้ จะลองมาไล่เรียงกันดูว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ สร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงอะไรไว้บ้าง
อย่างแรกที่ปฎิเสธไม่ได้เลยก็คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ นั้น ‘รวย’ ขึ้น ว่ากันตั้งแต่ตัวนักเขียน เจ. เค. โรว์ลิง เธอกลายเป็นนักเขียนที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลกก็ว่าได้ เทียบรายได้ให้เห็นภาพ นักเขียนอย่าง ฮารูกิ มุราคามิ ทำรายได้เมื่อปีที่แล้วราว 640 ล้านบาทจากผลงานของเขา ส่วนข้อมูลจากนิตยสารฟอร์จูนคาดว่า เจเคน่าจะมีรายได้ปีที่แล้วราว 32,000 ล้านบาท ทั้งจากการขายหนังสือและค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ ที่เธอได้จากการใช้ผลงานของเธอ
เท่านั้นยังไม่พอ มันยังทำให้ The Golden Trio หรือนักแสดงนำทั้งสามคนของหนังเรื่องนี้อย่าง แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (ปีที่แล้วทำรายได้ 3520 ล้านบาท) เอ็มมา วัตสัน (รายได้ของเธออยู่ที่ 2,720 ล้านบาท) และ รูเพิร์ต กรินต์ (รายได้รวมเมื่อปีที่แล้ว 1,600 ล้านบาท) เป็นนักแสดงที่ทำรายได้งาม จากการทุ่มเทการทำงานเมื่อสมัยเป็นนักแสดงเด็ก ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่า ในสมัยนั้น แดเนียล แรดคลิฟฟ์ มักถูกสื่อพูดถึงบ่อยมากเกี่ยวกับความร่ำรวยของเขา ในฐานะนักแสดงเด็กที่รวยที่สุดในเกาะอังกฤษ
ไม่ใช่แค่เฉพาะนักแสดงหรือนักเขียนเท่านั้นที่ได้ดิบได้ดี เพราะทั้งหนังสือและหนังเรื่องนี้ได้สร้างห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจขึ้นมาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำก็ว่าได้ เฉพาะช่วงที่มีการถ่ายทำหนัง เจ. เค. โรว์ลิง ต้องการให้มีการถ่ายทำเนื้อเรื่องทั้งหมดในอังกฤษ และใช้นักแสดงนำเป็นคนอังกฤษ นั่นทำให้ตลอดสิบปีกว่าปี เมื่อรวมทั้งการเตรียมงาน หนังสามารถสร้างงานให้กับคนอังกฤษไม่น้อยกว่า 4,000 ตำแหน่ง
ปัจจุบันหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ยังคงขายได้ ข้อมูลจาก Scholastic พบว่า หนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ จำหน่ายไปแล้วกว่า 500 ล้านเล่มทั่วโลก ถูกแปลไปแล้วกว่า 80 ภาษา หนังสือเล่มแรก Harry Potter and the Philosopher’s Stone ในปี 1997 โดยสำนักพิมพ์บลูมส์เบอร์รี ยังคงรักษาตำแหน่งเป็นหนึ่งในหนังสือขายดีที่สุดในโลกตลอดกาลและเล่มสุดท้ายในชุด Harry Potter and the Deathly Hallows ในปี 2007 ถือเป็นหนังสือที่สร้างยอดขายเร็วที่สุดนั่นคือ 8.3 ล้านเล่มในระยะเวลา 24 ชั่วโมง คาดว่ายอดขายที่เกิดจากการจำหน่ายหนังสือนี้อยู่ที่ 7,700 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 246,400 ล้านบาท
หากดูยอดขายของหนังสือย่อมบอกเป็นนัยได้ว่า เนื้อหาในหนังสือช่วยสร้างงานได้มากมายขนาดไหน
นอกจากด้านธุรกิจ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ยังสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมอื่นๆ อีก เช่น ในแวดวงของการศึกษา หลากหลายสาขาวิชามีการนำเอาจักรวาลของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไปต่อยอด ทั้งตีความเชื่อมโยงมายาคติในนิยายสู่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้อ่าน หรือแม้กระทั่งการศึกษาแบบสนุกๆ ที่บางทีคนอ่านก็ยังไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม เช่น บทวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจของโลกพ่อมด ของ เจโทร เอลสเดน (Jthro Elsden) ที่ว่า หากโลกเวทย์มนต์ของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ มีอยู่จริงเป็นโลกคู่ขนานกับมักเกิลนั้น จะมีสภาพเศรษฐกิจอย่างไร แข่งขันได้ไหม และระบบเศรษฐกิจจะเติบโตได้จากสินค้าส่งออกอะไรเป็นหลัก แม้ว่าบทความนี้อาจไม่ได้สะท้อนโลกของความเป็นจริง แต่ก็ทำให้เราเห็นว่า กระแสของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ นั้นส่งผลกระทบออกไปในวงกว้างจริงๆ
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งในอังกฤษและอเมริกาให้ความสนใจนำเอา แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไปศึกษา ทั้งในแง่มุมของการวิเคราะห์วรรณกรรม การศึกษาในแง่สังคมและมานุษยวิทยาว่าจักรวาลของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ว่าสะท้อนให้เห็นถึงมายาคติของผู้เขียนที่มีต่อสังคมอย่างไรบ้าง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยยูทาห์ และมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ก็เปิดคอร์สเกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ในแง่มุมต่างๆ
นักมานุษยวิทยาหลายคนแงะรหัสที่ซ่อนอยู่ในวรรณกรรมเรื่องนี้ และตีความกันไปต่างๆ นานา แต่โดยสรุปแล้ว ส่วนใหญ่ยังเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า เส้นเรื่องยังคงมีคติการเล่าเรื่องแบบนิทานตะวันตก ตัวละครอิงกับความเชื่อในกรีกโบราณ นิทานปรัมปรา เช่น เรื่องพ่อแม่ แม่มด มังกร ดัดแปลงมาจากเรื่องราวที่คุ้นเคยในสังคมตะวันตก แต่เปลี่ยนความเป็น ‘คนนอก’ อย่างพ่อมดแม่มดให้มีมิติมากขึ้นนอกจากภาพเดิมๆ ที่คนกลุ่มนี้ถูกมองในสายตาที่เป็นลบมากกว่า รวมถึงการเป็นลูกกำพร้า ไม่มีพ่อแม่ของตัวเอก ยิ่งเป็นตัวแทนของคนที่ถูกลืมในสังคมสมัยใหม่ ตัวละครแบบนี้เองที่ผู้อ่านมักตามเชียร์ ให้ความสนใจ และตรงใจผู้อ่าน เรื่องของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ จึงกลายเป็นตัวแทนความร่วมสมัยของเด็กในยุคมิลเลนเนียม ที่สังคมตะวันตกกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในช่วงที่โลกกำลังเข้าสู่สหัสวรรษใหม่
แต่กระนั้นสิ่งที่ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้มีความแตกต่างก็คือ มันสามารถอ่านสนุกได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หากดูจากการเก็บข้อมูลของ Vox พบว่า 55% ของแฟน แฮร์รี่ พอตเตอร์ อยู่ในวัยผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ซึ่งมีไม่มากนักที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับวรรณกรรมที่เกิดมาเพื่อตั้งใจจะขายเด็ก
หากมองจากตัวผู้เขียนเอง สิ่งที่ทำให้ผู้อ่านรุ่นใหญ่สนใจ แฮร์รี่ พอตเตอร์ อาจมาจากรายละเอียดที่มีมากมายในเนื้อเรื่อง เบื้องหลังตัวละครหรือเรื่องราวของฉาก ที่มาของเหตุการณ์ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็มีรายละเอียดให้เราได้ตามค้นคว้าต่อ มีการทำเป็นหนังสือภาคแยก เช่นรวมรายละเอียดเรื่องเวทมนตร์ เรื่องสัตว์ต่างๆ ที่ปรากฎในหนังสือ ซึ่งเรื่องแบบนี้มักถูกจริตของผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่
หลังจากที่ เจ. เค. โรว์ลิง ประสบความสำเร็จกับหนังสือชุดนี้ เธอจึงสร้างโลกของเวทมนตร์ขึ้นหรือ Wizard World เพื่อขยายจักรวาลของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่ไม่ได้มีเรื่องราวในหนังสือ แต่ไปได้ไกลกว่านั้น มีการสร้างสรรค์ภาคแยกต่างๆ ขึ้นมา เช่น หนังแฟรนไชส์ใหม่ The Fantastic Beasts and Where to Find Them มีการนำไปสร้างเป็นละครเวที Harry Potter and the Cursed Child รวมถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ที่นำเอาเนื้อหาเกี่ยวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไปใช้ ทั้งหนังสือรวมเวทมนตร์ บอร์ดเกม สวนสนุก และแอพพลิเคชันที่ใช้เนื้อหาและตัวละคร
นอกจากนี้ ความสำเร็จของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ยังเปลี่ยนแปลงธุรกิจหนังสือ โดยเฉพาะในหนังสือเด็ก สำนักพิมพ์เริ่มมองหาหนังสือที่สามารถสร้างเรื่องราวความผูกพันธ์กับผู้อ่านได้ในระยะยาว เนื้อเรื่องที่เต็มไปด้วยรายละเอียด และวรรณกรรมแนวแฟนตาซี ใน Booklist Blog อ้างตัวเลขว่าในช่วงปี 1996-2006 พบว่า วรรณกรรมสำหรับเด็กที่ใช้กระบวนการผลิตแบบ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 37.3% ในปี 2006-2016 หลังจาก แฮร์รี่ พอตเตอร์ จบไปแล้ว วรรณกรรมแนวนี้เพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ยอีก 115%
แต่ใช่ว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะได้รับการต้อนรับเชิงบวกเท่านั้น เพราะเชิงลบก็มีเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องศาสนาและความเป็นคนนอกของแฮร์รี่
ช่วงสองสามปีแรกของหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ภาคแรก The American Library Association บอกว่าปี 1999 แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นหนังสือที่ถูกแบนมากที่สุดในห้องสมุดโรงเรียนประถมในสหรัฐอเมริกา เหตุผลส่วนใหญ่เห็นว่าตัวละครเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา ความชั่วร้าย และส่งเสริมให้เด็กหลงเชื่อในเรื่องพ่อมดแม่มด กระแสนี้กลับมาอีกครั้งในช่วงปลายซีรีส์ของหนังสือ เมื่อมีกระแสออกมาว่าดัมเบิลดอร์เป็นเกย์ เรื่องนี้แม้ผู้เขียนเองไม่ได้ออกมาพูด แต่ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง
รวมถึงเรื่องท่าที่ของ เจ. เค. โรว์ลิง ที่ออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศ ก็ดูจะตรงกันข้ามกับที่ใครๆ คิดว่าดัมเบิลดอร์เป็นเกย์ เพราะดูเหมือนเธอไม่ค่อยปลื้มนักกับเรื่องนี้ จนกระทั่งสมาคมควิชดิช (ในโลกจริง) ในอังกฤษ กำลังคิดกันเรื่องการเปลี่ยนชื่อกีฬาประเภทดังกล่าว เพราะสมาคมฯ ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ ซึ่งขัดกับค่านิยมของผู้ที่ตั้งกีฬานี้ขึ้นมา
ในส่วนของภาพยนตร์ หลังจากความสำเร็จของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ใครๆ ก็มองหาวรรณกรรมแนวนี้มาผลิตเป็นภาพยนตร์มากขึ้น แต่กระนั้นก็ยังไม่มีเรื่องไหนที่สามารถทำได้ในสเกลแบบที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทำไว้
เหมือนอย่างที่นักแสดง รูเพิร์ต กรินต์ พูดไว้ในสารคดีตอนพิเศษ ฉลองครบรอบ 20 ปี ของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ว่า การแสดงของพวกเขาหลายๆ คนนั้นเหมือนคนนักบินอวกาศที่ไปเหยียบดวงจันทร์ เพราะการได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง หรือการที่นักแสดงนำต้องแสดงต่อเนื่องกันอย่างยาวนานกว่าสิบปีในบทบาทเดียวกัน และพวกเขาได้โตตามบุคลิกของตัวละคร ราวกับว่าพวกเขาหลุดออกมาจากหนังสือจริงๆ ซึ่งด้วยระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้ ยังไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนทำได้ ประสบการณ์ที่นักแสดงเหล่านี้ได้รับจึงเป็นเรื่องที่พิเศษและแตกต่าง
ที่สำคัญ ความสำเร็จของหนังแฟรนไชส์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทำให้มุมมองของสตูดิโอภาพยนตร์เปลี่ยน และกล้ามองหาโอกาสใหม่ๆ ในการหนังแฟรนไชส์มากขึ้น
และว่ากันตามตรง หากจะให้เครดิตว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นใบเบิกทางให้ลอร์ดออฟเดอะริงส์และจักรวาลมาร์เวลได้เกิด
ก็อาจไม่ใช่เรื่องเกินจริง
Tags: 20 ปี แฮร์รี่ พอตเตอร์, Entertainment Weekly, Harry Potter, HBO GO, Harry Potter: Myth and Magic