“ถ้าคุณไม่สามารถหาความเชื่อมโยงระหว่าง การทำงานกับความอยากทำงานได้ ผมว่าท้ายที่สุดมันจะไม่เวิร์กและคนดูสามารถรับรู้ได้”
แมตต์ รีฟส์ (Matt Reeves) พูดถึงการทำงานใน The Batman
แบทแมนภาคล่าสุดเปิดตัวได้ไม่เลวทีเดียว เมื่อเทียบกับภาวะที่ทุกคนยังหวาดกลัวเรื่องโรคระบาด
The Batman ในเวอร์ชันของผู้กำกับ แมตต์ รีฟส์ (Matt Reeves) นำแสดงโดย โรเบิร์ต แพตทินสัน (Robert Pattinson) กลายเป็นหนังบ็อกซ์ออฟฟิศ ที่ทำรายได้เปิดตัวสูงสุดของปีนี้ ด้วยรายรับสัปดาห์แรก 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั่วโลก (ในสหรัฐอเมริกาทำได้ 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากทุนสร้าง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ยังไม่รวมค่าการตลาดทั้งหลาย) รวมถึงแรงส่งจากบทวิจารณ์ในแง่บวก ทั้งจากคนดูและนักวิจารณ์ ทำให้หนังแบทแมนที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรใหม่อีกแล้ว กลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง และเป็นการเกิดใหม่ที่ฉีกตัวเองออกจากความสำเร็จของ The Dark Knight Trilogy ฝีมือผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) และ คริสเตียน เบล (Christian Bale) ผู้มารับบทแบทแมนทั้งสามภาคก่อนหน้านี้
อ้อ! เรามี เบน แอฟเฟล็ก (Ben Affleck) คั่นอีกนิดหน่อย หากคุณลืมเขาไป
แมตต์ รีฟส์ ตีความแบทแมนใหม่หมด ทั้งความหม่นที่ดูเหมือนจะยิ่งกว่าของโนแลน การต้องเอาตัวรอดของ บรูซ เวย์น ในแบบที่แตกต่างจากทุกภาคอย่างไม่เคยมีมาก่อน ลดทอนความเป็นเพลย์บอย พยายามบอกเล่าถึงแบทเมนแบบ self-made ที่มีปมลึกๆ อยู่ข้างใน แบทแมนในเวอร์ชันนี้แทบจะทำให้เราลืมภาพจำของแบทแมนในเวอร์ชันที่ดีที่สุดในรอบทศวรรษ เมื่อนับจาก The Dark Knight Rises ที่ฉายเมื่อปี 2012
ผู้กำกับ แมตต์ รีฟส์ ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์ว่า เมื่อตอนที่เริ่มทำ The Batman ในมุมมองของเขาซึ่งรับหน้าที่ทั้งเป็นผู้กำกับและคนเขียนบทร่วม เขาไม่ได้กำหนดภาพที่ชัดเจนของแบทแมนคนใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร แต่เขาไม่ต้องการให้ซ้ำรอยเหมือนกับที่ โจเอล ชูมัคเกอร์ (จาก Batman Forever ปี 1995 และ Batman & Robin ในปี 1998) ทิม เบอร์ตัน (จาก Batman Return ในปี 1992) หรือโนแลนทำไว้ แต่รีฟส์อยากให้แบทแมทฉีกภาพเดิมๆ ออกไปให้ไกลกว่าการเป็นลูกกำพร้า พ่อแม่รวย เป็นเพลย์บอยและนักบุญ มีชีวิตสองด้าน ฯลฯ แบบที่เราคุ้นเคยในทุกภาค
นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนตัวนักแสดงนำ ซึ่งแต่เดิมจะเป็นเบน แอฟเฟล็ก ที่มารับบทต่อจากแบทแมนที่ปรากฏใน Justice League ซึ่งเขาเป็น Executive Producer อยู่ด้วย แต่การเปลี่ยนตัวเกิดขึ้นหลังจากที่ทิศทางใหม่ของแบทแมนดูไม่เหมาะกับเขา ทั้งอายุที่เด็กกว่า และบุคลิกที่เปลี่ยนไป
ติดว่าลึกๆ แล้ว ความสำเร็จของการตีความใหม่ของโจ๊กเกอร์ (The Joker กำกับโดย ท็อดด์ ฟิลิปส์ และ วาคีน ฟีนิกซ์ รับบทเป็นโจ๊กเกอร์) และสไตล์การทำงานของรีฟส์ที่เราได้เห็นจาก Cloverfield และ Planet of the Ape มีความชัดเจนมาก ทำให้ทั้งสตูดิโอและรวมถึงตัวเบน แอฟเฟล็กโอเคกับทิศทางใหม่ของแบทแมน
The Batman ภาคใหม่กำลังกลับไปที่จุดเริ่มต้นของแบทแมนจริงๆ นั่นคือ การให้น้ำหนักกับการเป็นหนังแนวสืบสวนมากกว่าเน้นฉากบู๊และแก็ดเจ็ต
แบทแมนถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาไม่น้อยกว่า 14 เวอร์ชันตลอดอายุ 80 ปีของตัวละคร ยังไม่นับซีรีส์ การ์ตูนแอนิเมชัน เกม ของเล่น ฯลฯ ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวละครของ DC Comics ที่ถูกนำมารีเมกมากที่สุด และหากย้อนกลับไปดูช่วงต้นกำเนิดของแบทแมนในปี 1939 ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงถดถอยจาก The Great Depression ในปี 1929 อันเป็นผลพวงมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ดัชนีดาวโจนส์ตกต่ำมากที่สุดตั้งแต่เปิดทำการ และยังอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งเรื่องปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งกำลังก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ จากความแข็งแรงของฮิตเลอร์ในยุโรป รวมถึงปัญหาการหลั่งไหลของแรงงานที่ออกมาจากสนามรบหลังสงครามโลกเข้าสู่ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ทำให้ค่าแรงต่ำลง เรียกได้ว่าจำนวน ‘คน’ มีมากกว่า ‘งาน’
ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความไม่มั่นคง ตัวละครอย่างซูเปอร์แมนที่สะท้อนถึงความคิดแบบอเมริกันชนยุคก่อน ซึ่งยกย่องความเป็นฮีโร่และความไร้เทียมทานกำลังถูกสั่นคลอน จนดูเหมือนว่าเริ่มไม่ขลังเหมือนสมัยที่สหรัฐอเมริการุ่งเรือง
ผู้ให้กำเนิดแบทแมน บ็อบ เคน (Bob Kane) และ บิล ฟิงเกอร์ (Bill Finger) อาจเห็นแนวโน้มที่เปลี่ยนไปของสังคมในขณะนั้น พวกเขาจึงสร้างฮีโร่คนใหม่ โดยไอเดียเริ่มต้นของแบทแมนจะเป็นตัวละครแนวสืบสวนสอบสวนมากกว่าจะเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ทำงานจับผู้ร้าย สืบหาความจริง ทำตัวเป็นศาลเตี้ย เพราะอึดอัดที่ตำรวจทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ภาพร่างแรกๆ ของแบทแมนจึงมีภาพลักษณ์คล้ายๆ กับ Mask of Zoro มากกว่า โดยตัวละครนี้ต้องปกปิดหน้าตาของตัวเอง เมื่อออกปฏิบัติภารกิจ ต้องใส่หน้ากากโดมิโน (หน้ากากเแฟนซี) แถมเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีพลังพิเศษ แตกต่างจากซูเปอร์ฮีโร่คนอื่นๆ แต่ฝึกฝนด้วยตัวเอง ผ่านร้อนผ่านหนาวขัดเกลาจนเก่ง และออกช่วยเหลือผู้คนยามค่ำคืน
ทั้งหมดนี้อาจเป็นเสน่ห์ของแบทแมนที่ไม่เหมือนใคร
ภูมิหลังของแบทแมนที่มาจากครอบครัวกำพร้าพ่อแม่ โตขึ้นด้วยตัวลำพัง สถานการณ์ไม่แตกต่างจากหลายครอบครัวหลังสงครามที่อาจต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด หรืออาจสูญเสียคนที่รักไปในสนามรบ ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงสภาพสังคมที่ไม่ปลอดภัย แม้แต่ฮีโร่ก็ไม่อาจช่วยได้ แต่การเห็นคนๆ หนึ่งที่โตมาในบ้านที่ไม่มีพ่อแม่ เผชิญหน้ากับความกลัว จนเอาชนะมันและเปลี่ยนเป็นพลังในการต่อสู้
หากตัดความแฟนตาซีออกไป นี่คือภาพยนตร์ของตัวละครที่สู้ชีวิตคนหนึ่งที่ต้องการเอาชนะตัวเอง และต่อสู้กับสังคมที่บิดเบี้ยว นอกเหนือกว่านั้นการตั้งมั่นในกฎเหล็กของตัวเองว่าจะไม่ฆ่าใครแม้คนคนนั้นจะเป็นฆาตรกร ขณะเดียวกันก็ไม่เคยยอมแพ้ในการเอาชนะ ปัจจัยทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่กินใจนักอ่านและแฟนๆ ของแบทแมนเรื่อยมา
ในแง่ของผู้สร้างหนังเอง การที่แบทแมนไม่ได้มีพลังพิเศษ และพล็อตเรื่องที่อยู่บนพื้นฐานแบบหนังดราม่า (เด็กกำพร้าที่ฝังใจกับความกลัวในวัยเด็ก ต้องการเอาชนะตัวเอง และต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า) ผสมกับความเพ้อฝันแฟนตาซี (แก็ดเจ็ต เทคโนโลยี ทักษะการต่อสู้ การสืบสวนสอบสวน ผู้ร้ายป่วย และความรวยแบบไม่มีเหตุผล) ทั้งหมดนี้เปิดโอกาสให้ผู้กำกับที่เข้ามารับบทบาทในการสร้างเรื่องราวของแบทแมนแต่ละยุคสมัยสามารถตีความและสร้างเรื่องราวได้หลากหลาย และยิ่งได้เห็นตัวเลขยอดขายของที่ระลึกต่างๆ ที่มาจากแบทแมน ซึ่งทำรายได้ทั่วโลกไม่น้อยกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ทำให้การต่อยอดเพื่อให้แบทแมนยังโลดแล่นและมีชีวิตอยู่ในกระแสธารของวัฒนธรรมป๊อปจึงเป็นเรื่องที่ยังน่าลงทุน
ดูจากการตอบรับของ The Batman ในเวอร์ชันของ แมตต์ รีฟส์ และ โรเบิร์ต แพตทินสัน คงไม่แปลกใจ หากเราจะได้เห็นแบทแมนที่กำกับและแสดงโดยสองคนนี้อีก ในอนาคตข้างหน้า
Tags: Batman, Stay Curious Be Open, Entertainment weekly round up, The Momentum