“แดซังคืออะไร?”
“ถ้าวงเราได้แดซัง เราแจก 300 บาท”
“ทำเพลงเล่นๆ ไม่หวังแดซัง? แกรู้ได้ไงว่าศิลปินเขาไม่หวัง”
ทุกสิ้นปีไปจนถึงต้นปี เราจะได้เห็นการจัดงานประกาศรางวัลหลายเวทีในเกาหลีใต้ งานที่ว่านั้นมีทั้งเวทีระดับเล็ก ระดับกลาง ไปจนถึงงานระดับใหญ่ที่มีศิลปินและไอดอลจำนวนมากตบเท้าเดินพรมแดงร่วมงานประกาศรางวัล และเตรียมการแสดงที่พิเศษกว่าการออกรายการเพลงประจำสัปดาห์ตามสถานีโทรทัศน์ทั่วไป
เมื่อเวทีประกาศรางวัลต่างๆ เริ่มประกาศต่อสาธารณชนว่าจะจัดงานในวันที่เท่าไร แฟนคลับและแฟนเพลงต่างตั้งตารอการประกาศไลน์อัปศิลปินที่จะมีชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขาต่างๆ โดยหวังว่าศิลปินในดวงใจของพวกเขาจะได้เป็นหนึ่งในผู้เข้าชิง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรางวัลที่ไม่ใช่ใครก็มีสิทธิมีชื่อเข้าชิงอย่าง ‘แดซัง’ รางวัลใหญ่ที่เปรียบเสมือนความภาคภูมิใจให้กับตัวศิลปินและแฟนคลับ
แต่ว่า ‘แดซัง’ คือรางวัลอะไรกันแน่?
‘แดซัง’ รางวัลความสำเร็จสูงสุดของเกาหลีใต้
แดซัง (대상 หรือ Daesang) หมายถึงรางวัลใหญ่และทรงคุณค่าที่สุดในงานประกาศรางวัล โดยคำว่า ‘แด’ ในภาษาเกาหลีมีความหมายว่าใหญ่ ส่วน ‘ซัง’ แปลว่ารางวัล เมื่อรวมกันแล้วก็ตรงตามชื่อคือรางวัลใหญ่ที่สุด
รางวัลสูงสุดของการประกาศรางวัลแต่ละเวทีคือแดซัง ทว่าแดซังในแต่ละเวทีก็แตกต่างกันไปตามแบบของตัวเอง บางเวทีอาจจะนับว่ารางวัลแดซังควรจะมีแค่รางวัลที่มอบให้กับศิลปินเพียงแค่คนหรือกลุ่มเดียว (Artist Of The Year) แต่หลายเวทีก็มองว่ารางวัลในบางสาขาสามารถนับเป็นแดซังได้เหมือนกัน เพราะแต่ละสาขารางวัลก็มีความสำคัญแตกต่างกันไป
เวทีประกาศรางวัลด้านดนตรีในเกาหลีใต้มีหลายงาน แต่ถ้าจะให้แฟนเพลงไทยคุ้นชื่อคงหนีไม่พ้นเวทีเหล่านี้
Mnet Asian Music Awards (MAMA)
MelOn Music Awards (MMA)
Golden Disc Awards (GDA)
Asia Artist Awards (AAA)
Seoul Music Awards (SMA)
Korean Music Awards (KMA)
เวทีประกาศรางวัลที่ว่ามานี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของงานประกาศรางวัลในเกาหลีใต้เท่านั้น
บางเวทีจะจัดเกณฑ์การให้รางวัลด้วยการแบ่งแดซังเป็น 2 หมวดใหญ่ ได้แก่ แดซังสาขาดิจิทัล (Digital Daesang) หรือเพลงแห่งปี (Song Of The Year) และแดซังสาขาดิสก์ (Disk Daesang) หรืออัลบั้มแห่งปี (Artist Of The Year)
เห็นได้จากเวที GDA ที่ดิจิทัลแดซังจะมอบให้กับเพลงที่มียอดสตรีมแบบไม่ซ้ำบัญชีผู้ใช้สูงสุด เพลงที่มีกระแสตอบรับดีที่สุดในปีนั้น หรือเพลงที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ฯลฯ ก่อนจะรวมเข้ากับคะแนนในด้านอื่นๆ ส่วนดิสก์แดซังจะประเมินจากอัลบั้มที่ทำยอดขายได้สูงสุด รวมถึงอัลบั้มมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้
ไม่บ่อยนักที่ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปจะได้รับรางวัลดิสก์แดซัง ทว่าในปี 2010 อัลบั้ม Oh! ของ โซนยอชิแด (Girls’ Generation) กลายเป็นไอดอลหญิงกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวที่ได้รับรางวัลในสาขานี้จากงาน GDA
ทางด้านของเวที SMA แต่เดิมมีรางวัลแดซังเพียงแค่รางวัลเดียวมาตลอด 29 ปี ตั้งแต่ปี 1990-2019 จนกระทั่งในปี 2020 ก็ได้แบ่งแดซังออกเป็นสองสาขา โดยผู้ชนะปีแรกฝั่งดิจิทัลคือ แทยอน (Taeyeon) ส่วนฝั่งดิสก์คือ บังทันโซยอนดัน (BTS)
หากมองดูสถิติและข้อมูลการมอบแดซังในเวทีต่างๆ จะพบว่าบังทันโซยอนดันยังคงครองสถิติศิลปินที่ได้รับแดซังมากที่สุดในประวัติศาสตร์ K-Pop โดยได้แดซังไปแล้วกว่า 70 ถ้วย (สถิติจากวันที่ 30 พฤศจิกายน 2022)
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกเวทีประกาศรางวัลจะมีแดซัง เพราะเวที MAMA ไม่ได้เรียกรางวัลใหญ่ของตัวเองว่าแดซัง แต่จะเรียกตามชื่อหมวดเหมือนกับงานประกาศรางวัลต่างประเทศ คือ ศิลปินยอดเยี่ยม อัลบั้มยอดเยี่ยม เพลงยอดเยี่ยม และ ไอคอนทั่วโลกแห่งปี (Worldwide Icon of the Year) แต่แฟนคลับและคนส่วนใหญ่ต่างก็มองว่า 3 สาขารางวัลหลัก มีดีกรีเทียบเท่ากับแดซังสาขาต่างๆ ของเวทีอื่นๆ
การจะได้มีสิทธิเข้าชิงแดซังจะต้องทำอะไรบ้าง?
แดซังแต่ละสาขาแต่ละเวทีต่างมีวิธีการประเมินและนับคะแนนไม่เหมือนกัน เช่น ตัวแทนผู้จัดงาน GDA เคยอธิบายเกี่ยวกับเกณฑ์ประเมินดิสก์แดซังไว้ว่า อัลบั้มที่จะมีสิทธิเข้าชิงต้องมีเพลงมากกว่า 6 เพลงขึ้นไป (นั่นหมายความว่ามินิอัลบั้มที่มีน้อยกว่า 6 เพลง จะหมดสิทธิโดยอัตโนมัติ)
เพลงที่ว่านี้จะไม่นับแทร็ก Intro (ท่อนเปิด), Outro (ท่อนปิด), Instrumental (ดนตรีที่ไม่มีคำร้อง) ไปจนถึงเพลงในอัลบั้มที่ทำซ้ำในเวอร์ชันรีมิกซ์ และเพลง OST (Original Soundtrack) ที่ใช้ประกอบซีรีส์หรือภาพยนตร์ก็จะไม่ถูกนับรวมเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดอีกว่า หากศิลปินรายหนึ่งปล่อยอัลบั้มมากกว่าหนึ่งอัลบั้มในปีเดียวกัน กรรมการจะตัดสินจากอัลบั้มที่มียอดขายสูงสุดเท่านั้น โดยคิดเป็นคะแนน 60% ส่วนคะแนนที่เหลือ 40% จะถูกประเมินโดยคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญในแวดวงดนตรี เช่น คณะกรรมการผู้บริหารของ GDA โปรดิวเซอร์ นักวิจารณ์ดนตรี นักข่าวสายดนตรี ฯลฯ
กฎเกณฑ์ที่ว่ามานี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกปี โดยที่ผู้จัดงานประกาศรางวัลจะแจ้งหรือไม่แจ้งกับสาธารณชนก็ได้ แต่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนการนับคะแนน ผู้จัดส่วนใหญ่มักออกมาแจ้งวิธีการนับคะแนนแบบใหม่เพื่อความโปร่งใส และป้องกันการเกิดคำครหาถึงการตัดสิน
ไม่ได้มีเพียงแค่ยอดขาย ยอดสตรีม หรือคะแนนจากคณะกรรมการเท่านั้นที่มีส่วนชี้ชะตา บางเวทียังเปิดโอกาสให้นักฟังเพลงทั่วโลกมีส่วนร่วมกับการนับคะแนนด้วยการ ‘เปิดโหวต’ เช่น เวที MMA และเวที GDA
ขณะเดียวกัน บางเวทีเลือกใช้ดุลพินิจจากคณะกรรมการ 100% เช่น งาน KMA ที่แฟนคลับต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเขี้ยวลากดิน และไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรนักที่ศิลปินสายไอดอลจะคว้ารางวัลใหญ่จากเวทีนี้
อย่างที่ระบุไว้แล้วว่าบางเวทีจะมีแดซังแค่รางวัลเดียว หลายเวทีมีแดซัง 3 รางวัล และบางเวทีมีแดซังมากถึง 4 รางวัล เวทีที่ว่าคือ MMA กับการเพิ่มรางวัลศิลปินผู้สร้างสรรค์และประสบความสำเร็จทางดนตรี (Record Of The Year) ขึ้นมาในปี 2018 ซึ่งการประเมินผู้ชนะในสาขาดังกล่าวจะแตกต่างจากสาขาเดิมที่มีอยู่แล้วอย่างศิลปินแห่งปี อัลบั้มแห่งปี และเพลงแห่งปี เพราะรางวัลใหม่ที่เกิดขึ้นนี้จะมาจากคะแนนกรรมการ 100% เพื่อมองหาศิลปินและทีมงานทำเพลงที่มีผลงานตรงกับชื่อรางวัลมากที่สุด
โดยศิลปินชายกลุ่มแรกที่ได้รับรางวัลนี้คือ วอนนาวัน (Wanna One) ในปี 2018 ส่วนศิลปินหญิงกลุ่มแรกได้แก่ เอสป้า (aespa) ในปี 2021
เช่นเดียวกับงาน MAMA ที่เพิ่มรางวัลใหญ่อย่าง ไอคอนทั่วโลกแห่งปี (Worldwide Icon of the Year) ในปีเดียวกับที่ MMA เพิ่มแดซังสาขาที่ 4
เมื่อมี ‘แดซัง’ ก็ต้องมี ‘บนซัง’
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้ศิลปินมีสิทธิเอื้อมถึงแดซังนั่นคือ บนซัง (본상 หรือ Bonsang) ซึ่ง ‘บน’ หมายถึงความสำคัญ เมื่อรวมกับ ‘ซัง’ ที่แปลว่ารางวัล เท่ากับรางวัลสำคัญ (สามารถมีหลายรางวัลได้) แต่จะไม่ใช่รางวัลใหญ่เทียบเท่ากับแดซัง
บนซังจะถือเป็นใบเบิกทางให้ศิลปินมีสิทธิได้รับแดซังในสาขาต่างๆ เพราะถ้าพวกเขาหรือเธอไม่ได้บนซัง ศิลปินรายนั้นจะหมดสิทธิเข้าชิงแดซังทันที
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพในงานประกาศรางวัลของ GDA ที่มักจะมอบบนซังให้กับศิลปิน 10 คนหรือกลุ่ม เช่น รางวัลบนซังแก่ศิลปิน 10 อันดับแรกที่สามารถทำยอดขายอัลบั้มได้สูงสุด
หรืออย่างงาน MMA ที่วัดคะแนนดิจิทัลทั้งหมดจากชาร์ตเพลงเมลอน (Melon) บริการสตรีมเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเกาหลีใต้ ก็จะมอบบนซังแก่ศิลปิน 10 อันดับแรกที่มียอดดิจิทัลชาร์ตสูงที่สุดแห่งปี
เมื่อศิลปินเหล่านี้ได้รับบนซังในหมวดต่างๆ พวกเขาก็จะมีสิทธิลุ้นรางวัลใหญ่อย่างแดซังโดยอัตโนมัติ
ปัญหาโลกแตกเกี่ยวกับความเถรตรงในการมอบแดซัง
หากใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับแวดวง K-Pop แทบทุกปี คงต้องได้เห็นดราม่าหลังงานประกาศรางวัลในแต่ละเวทีจบลง บางครั้งอาจเป็นการกระทบกระทั่งกันเล็กๆ หลายครั้งเกิดการโต้เถียงกันจนเป็นเรื่องใหญ่ เราจึงขอยกบทสนทนาซึ่งเป็นเหตุการณ์สมมติเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ดังนี้
“ทำไมวงนี้ถึงได้ มันควรจะเป็นอีกวงหนึ่งไหมที่ได้แดซัง”
“ถ้านับคะแนนโหวตด้วย ยังไงวงอื่นก็ไม่มีวันได้แดซัง แบบนี้ยุติธรรมแล้วจริงเหรอ”
“รางวัลปลุกเสกสุดๆ งานประกาศรางวัลแบบ cooking show”
“แบบนี้มีนอกมีในหรือเปล่า”
“แต่เราก็ว่าสมมงแล้วนะ”
“ในกรณีที่เวทีประกาศรางวัลแบนค่ายเพลง ศิลปินในค่ายนั้นจะมีสิทธิได้แดซังหรือเปล่า ถ้าไม่ได้แล้วจะยุติธรรมจริงเหรอ”
ประโยคในเหตุการณ์สมมติเหล่านี้อาจมีให้เห็นจริงๆ ในฤดูประกาศรางวัล เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นการมอบรางวัล ต้องมีคนที่สมหวังได้รางวัลกลับบ้าน และต้องมีคนที่ผิดหวังไม่มีถ้วยรางวัลติดมือกลับไป
เมื่องานประกาศรางวัลเปรียบเสมือนการแข่งขันเพราะมีผู้แพ้ มีผู้ชนะ ดราม่าจึงอยู่คู่กันเป็นเรื่องปกติ หากประเด็นร้อนเหล่านี้เป็นสิ่งที่มาจากความคิดเห็นของแฟนคลับ เป็นการคาดคะเนแทนคณะกรรมการเพียงอย่างเดียว ยังไม่ได้พบความผิดปกติ ความเชื่อมั่นของเวทีประกาศรางวัลจะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไรนัก
ทว่าเมื่อไรก็ตามที่พบว่ามีคนบางกลุ่มพยายามทำบางอย่างเพื่อเปลี่ยนผลคะแนนจริงๆ มีการลงข่าวถึงปัญหาภายในระหว่างค่ายเพลงกับผู้จัดงานประกาศรางวัล หรือการวิจารณ์จากตัวศิลปิน เมื่อนั้นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็จะร้อนแรงขึ้นกว่าเดิมทันที
ในปี 2007 กับงาน MAMA (ชื่อที่จัดในตอนนั้นคือ MKMF) ลี มินวู (Lee Min-woo) และชิน ฮเยซอง (Shin Hye-sung) จากวงชินฮวา (Shinhwa) ตัดสินใจยกเลิกการเข้าร่วมงาน 1 ชั่วโมงก่อนเริ่มประกาศรางวัล ทางต้นสังกัดของพวกเขาให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ไว้วางใจว่างานประกาศรางวัลจะมอบรางวัลให้กับศิลปินอย่างยุติธรรม และแสดงความกังวลเรื่องเกณฑ์การนับคะแนนที่ไม่สามารถตรวจสอบได้
ต่อมาในปี 2009 Inwoo Production และ SM Entertainment คว่ำบาตร MAMA ด้วยการไม่ส่งศิลปินในสังกัดเข้าร่วมงานประกาศรางวัลในปีนั้น ตัวแทนบริษัททั้งสองระบุว่า ที่ทำแบบนี้เป็นเพราะต้องการตั้งคำถามถึงกระบวนการพิจารณาผู้ได้รับรางวัลว่าเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมจริงหรือไม่
โดยเฉพาะกับค่าย SM ที่ตั้งคำถามว่าทำไมเพลง Gee ของ Girls’ Generation ซึ่งครองอันดับ 1 ในชาร์ตเพลงได้นานถึง 9 สัปดาห์ติดต่อกัน ไม่เคยชนะในรายการเพลงประจำสัปดาห์ M Countdown เลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะรายการดังกล่าวเป็นของ Mnet ผู้จัดเดียวกับงานประกาศรางวัล MAMA มิหนำซ้ำยังต้องให้แฟนคลับควักกระเป๋าจ่ายเงินเพื่อทำให้ตัวเองมีสิทธิได้โหวตศิลปินที่ชอบ จึงอยากให้ MAMA ถอนรายชื่อศิลปินของ SM ที่มีสิทธิชิงรางวัลในสาขาต่างๆ ออกให้หมด เพื่อป้องกันไม่ให้แฟนคลับต้องตกเป็นเหยื่อการตลาดของงานประกาศรางวัล ความตึงเครียดยังคงลากยาวไปยังปี 2010 ก่อนที่ในปี 2011 บริษัท SM จึงจะยอมส่งศิลปินเข้าร่วมงานประกาศรางวัลอีกครั้ง
ในปี 2014 กับงาน MAMA มีการแสดงหนึ่งที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง เพราะ จี-ดรากอน (G-Dragon) วงบิ๊กแบง (Bigbang) จากค่าย YG Entertainment ได้แรปโชว์ในงานประกาศรางวัล โดยมีตอนหนึ่งระบุว่า MAMA เปรียบเสมือนคนตกปลาที่มี ‘รางวัล’ เป็นเหยื่อ ทำให้มีปลาจำนวนมากมากินเหยื่อ รวมถึงท่อนที่กล่าวว่า MAMA มักให้รางวัลศิลปินแบบ ‘แบ่งเค้ก’
นักฟังเพลงจำนวนมากต่างแสดงความคิดเห็นไปหลายทาง ส่วนใหญ่รู้สึกเห็นด้วยว่างานประกาศรางวัลบางเวทีมักจะแบ่งรางวัลให้กับศิลปินที่มาร่วมงานจริงๆ บ้างก็มองว่าการแรปแบบ Diss Track (สไตล์การแรปแบบปะทะคารม มีเนื้อหาแซะหรือจิกกัดฝ่ายตรงข้าม) เป็นเรื่องปกติของวงการนี้ และเชื่อว่าทางผู้จัดงานอย่าง MAMA ก็ยินยอมที่จะให้ศิลปินแรปดิสตัวเองตั้งแต่แรก เพื่อสร้างสีสันและโหมกระแสให้กับงาน
ในปี 2017 MAMA ประกาศระงับการลงคะแนนชั่วคราว หลังพบว่ามีแฟนคลับบางกลุ่มใช้บอต (Bot) ปั๊มโหวตให้ศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ และพบบัญชีปลอมที่เพิ่งสร้างขึ้นมาเพื่อโหวตโดยเฉพาะ จึงต้องบล็อก IP ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและหยุดการโหวตไปก่อน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างเสียงวิจารณ์ต่อสาธารณชนไม่น้อย และไม่ใช่แค่กับเวทีนี้เวทีเดียว แต่ทุกงานประกาศรางวัลที่เปิดโหวตควรให้ผู้คนร่วมลงคะแนนจริงหรือ จะเชื่อได้อย่างไรว่าแต่ละคะแนนที่ได้มา เป็นคะแนนจากคนคนหนึ่งจริงๆ ไม่ใช่คนที่สร้างแอ็กเคานต์หลักร้อยหรือหลักพันขึ้นมาเพื่อปั๊มโหวต รวมถึงการถกเถียงในโซเชียลมีเดียว่าจะป้องกันเรื่องการฉ้อโกงคะแนนแบบนี้ได้ด้วยวิธีไหน
ช่วงปลายปี 2021 มีดราม่าคล้ายๆ กันเกิดขึ้นกับงาน SMA เนื่องจากงานเปิดให้ผู้คนได้โหวตศิลปินที่ชอบได้จนถึงวันที่ 16 มกราคม 2022 ทว่าศิลปินหลายคนที่ได้รับรางวัลบนซังกลับอัดคลิปขอบคุณไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2021 ทำให้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งเกิดคำถามว่า หากคณะกรรมการเลือกศิลปินที่จะมอบรางวัลอยู่แล้ว ทำไมยังต้องให้ประชาชนเข้ามาร่วมโหวตอีก ก่อนกลุ่มแฟนคลับหลายด้อมจะมาร่วมพูดคุยกันจนได้ความว่า การโหวตครั้งนี้ต้องเสียเงินก่อนจึงจะลงคะแนนได้
แม้หลายเวทีจะเจอกับการตั้งคำถามหรือคำครหา ทว่าเมื่อถึงวันจัดงาน แฟนคลับจำนวนมากต่างก็หวังว่าศิลปินที่ชื่นชอบจะได้รางวัลที่หวังกลับบ้านไปด้วย
แล้วยิ่งเห็นว่าศิลปินเหล่านั้นมีรีแอ็กชันอย่างไรเมื่อได้ยินว่าตัวเองได้รับรางวัล บางคนร้องไห้ บางคนยิ้มกว้าง กล่าวขอบคุณทีมงานเบื้องหลังและแฟนเพลงที่คอยสนับสนุนมาโดยตลอด สิ่งที่เห็นตรงหน้านั้นกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานประกาศรางวัลที่เกิดขึ้นทุกปียังคงได้รับความนิยม และมีผู้คนจำนวนมากเฝ้ารอดูอยู่เสมอ เพราะหลายคนเชื่อว่าไม่มีใครที่ตั้งใจทำงานแล้วไม่อยากได้คำชมเชย ได้รับเสียงชื่นชม หรือได้รางวัลที่เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จในอาชีพ
อ้างอิง
– https://www.starnewskorea.com/stview.php?no=2007111718134228940
– https://forums.soompi.com/topic/111359-minwoo-hyesung-cancel-mkmf-appearances/
– https://www.donga.com/news/Entertainment/article/all/20101117/32646576/5
– https://www.billboard.com/pro/mama-awards-2017-shut-down-voting-fraud/
Tags: แดซัง, บนซัง, เพลง, งานประกาศรางวัล, ดนตรี, Daesang, K-Pop, Bonsang, เกาหลีใต้, รางวัลดนตรี, รางวัล, Entertainment, เคป๊อป, วัฒนธรรมเกาหลี