โอ่ง-ณัฐชา ปัทมพงศ์ เป็นนักร้องเพลงแจ๊สที่ไม่ได้เริ่มต้นจากการอยากเป็นนักร้อง
แต่เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อนจนทำให้ปลอกประสาทเสียหายจนแขนขวาไม่สามารถขยับได้ตั้งแต่หัวไหล่ลงมาจนถึงข้อศอก ขณะเป็นนักศึกษาสาขา Fine Arts ที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) ที่สหรัฐอเมริกา จนต้องพักการวาดรูปที่รักมากและการเล่นกีตาร์ที่รักไม่แพ้กันไปนานถึง 2 ปี สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ทำให้เธอค้นพบว่าการร้องเพลงคือหนึ่งในสิ่งที่ช่วยให้เธอผ่านช่วงเวลาที่โหดร้ายที่สุดในชีวิตไปได้
นอกจากการร้องเพลงแล้ว อีกสิ่งที่ณัฐชาได้ค้นพบในช่วงนั้นก็คือความสนุกของการเรียนแบบสหวิทยาการ หรือ interdisciplinary ที่มาจากการเปลี่ยนวิชาเอกที่เรียน เพื่อให้ไม่ขัดกับสภาพร่างกายในช่วงที่รักษาตัว ทั้งยังอยู่ในขอบเขตของสิ่งที่ตัวเองมีแพสชัน จนเป็นที่มาของปริญญาตรีจากคาร์เนกีเมลลอน 2 เมเจอร์ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเทคโนโลยีดนตรี พ่วงด้วยอีก 3 เมเจอร์ ได้แก่ สาขาศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ศิลปะ และการขับร้องเพลงแจ๊ส
ปรัชญาแบบการเรียนรู้แบบสหวิทยาการนี้เองคือแนวคิดหลักของโปรแกรม Entertainment Innovation Center หรือ EIC หลักสูตรนานาชาติ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตกรรมการบันเทิง (Master of Science in Entertainment Innovation) ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่กำลังจะเปิดสอนในไทยเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ปี 2563 โดยมีนักร้องนำวง Mellow Motif อย่างณัฐชารับหน้าที่โปรแกรมไดเรกเตอร์ของหลักสูตรที่เธอเชื่อมั่นว่า จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงไทยในอนาคต
จุดเริ่มต้นที่ทำให้นักร้องอย่างคุณเข้ามาทำงานในวงการการศึกษาได้คืออะไร
ตัวโอ่งจบทั้งตรีและโทจากคาร์เนกีเมลลอน พี่ๆ ที่เป็นผู้ก่อตั้งของซีเอ็มเคแอลเองก็เป็นรุ่นพี่ของโอ่งที่นั่น เรารู้จักและสนิทกันพอสมควร พอเขาต้องการจะเริ่มต้น EIC ซึ่งเป็นโปรแกรมใหม่ เขาก็เลยนึกถึงโอ่ง เพราะโอ่งเป็นหนึ่งในน้อยคนที่อยู่ในวงการบันเทิงและเรียนที่นั่นด้วย ซึ่งปกติจะไม่ค่อยมีคนไทยที่เรียนโปรแกรมอาร์ตที่นั่น
ต้องอธิบายก่อนว่า คาร์เนกีเมลลอนดังในด้านเทคโนโลยีมาก แต่จริงๆ แล้วด้านอาร์ตของเขาก็ดีมากๆ เหมือนกัน ความที่ที่นั่นเป็นโรงเรียนที่แข็งแรงทั้งด้านเทคโนโลยีและศิลปะ ก็เลยทำให้มี synergy เกิดขึ้นระหว่างโปรแกรมต่างๆ ค่อนข้างมาก ที่นั่นจะมีโปรแกรมหนึ่งชื่อว่า Entertainment Technology Center หรือ ETC ซึ่งมีผู้ก่อตั้งคือ แรนดี เพาช์ เจ้าของหนังสือเรื่อง The Last Lecture เพาช์ก่อตั้งโปรแกรมนี้ขึ้นโดยเชื่อว่า ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราเปิดกว้าง เปิดรับสิ่งต่างๆ จากหลายมุมมอง สมมติว่าคุณเรียนศิลปะ แล้วคุณวาดรูปอยู่ในสตูดิโออย่างเดียว จินตนาการของคุณก็จะสุดแค่แผ่นกระดาษนั้น ขณะเดียวกันคนที่อยู่ในสายเทคโนโลยี ถ้าอยู่แต่กับโค้ดต่างๆ ทุกวัน จินตนาการก็จะสุดที่ 0 1 1 1 0 แต่เมื่อไหร่ที่คุณเปิดกว้างที่จะรับศาสตร์อื่นเข้ามา คุณก็จะสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ และทำให้โลกมีพลังก้าวหน้าขึ้นไปได้
โปรแกรม EIC ของเราซื้อหลักสูตรมาจาก ETC เพราะฉะนั้นแนวคิดนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญของ EIC เช่นกัน เราเป็น interdisciplinary program หรือโปรแกรมสหวิทยาการ ซึ่งเป็นการรวมศาสตร์ระหว่างด้านเทคนิคและศิลปะ ตัวโอ่งเองก็เรียนแนวนี้มาก่อนก็เลยเข้าใจถึงความพิเศษของมัน การเรียนการสอนแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า คุณเรียนศิลปะมาแล้วพอมาเรียนด้านโปรแกรมมิงกับเราเพิ่ม แล้วคุณจะต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ หรือไม่ใช่ว่าคุณจบโปรแกรมเมอร์มาแล้วจะต้องเปลี่ยนไปเป็นศิลปิน แต่การเรียนแบบนี้จะช่วยให้คุณมองโลกได้กว้างขึ้น มีขอบเขตที่กว้างไกลขึ้น ซึ่งโอ่งคิดว่าสำคัญและเป็นเสน่ห์
โอ่งไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาสายการศึกษาเลย แต่เป็นคนเชื่อในการเรียนรู้ เพราะโอ่งรู้ตัวว่าทุกวันนี้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงได้ก็เพราะความขยันมากกว่าพรสวรรค์ เพราะมีวินัย ขยัน มีเป้าหมายชัดเจน ดังนั้น ตอนที่เข้ามาคุยเรื่องเป้าหมายของโปรแกรมนี้กับพี่ๆ ผู้ก่อตั้ง แนวคิดของเราก็เลยเข้ากันได้ คือโอ่งไม่ได้เรียนสายรีเสิร์ชก็จริง แต่เป็นคนชอบรีเสิร์ช ชอบทำจริง และชอบสร้างงานให้เกิด ก็เลยเข้ากับโปรแกรมนี้ที่เป็น professional program ไม่ใช่ research program พอคุยแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เรามีแพสชันกับมัน แล้วก็มองว่าการที่เราเป็นคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้จริงๆ ก็จะสามารถนำพาบุคลากรหรือใครก็ตามอยากจะมีส่วนร่วมกับโปรแกรมเราเข้ามาได้ ไม่ว่าจะในฐานะอาจารย์หรือพาร์ตเนอร์
เพราะฉะนั้นขอเดาว่าตอนที่ผู้ก่อตั้ง CMKL มาชวนให้รับหน้าที่นี้ คุณใช้เวลาตัดสินใจไม่นานเลยใช่ไหม
ไม่เลย เพราะโอ่งชอบสปิริตของโปรแกรม ชอบที่เขาโฟกัสที่ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้โฟกัสว่าถ้าคุณมาเรียนโปรแกรมนี้แล้วจะต้องสร้างซอฟต์แวร์แบบนั้นแบบนี้เป็นหรือใช้โปรแกรมตัดต่อนู่นนี่ แต่สิ่งที่คุณต้องทำคือทำ proposal เพื่อพิตช์โปรเจกต์ก่อน ในกลุ่มอาจจะมีทั้งคนที่มีแบ็กกราวนด์ด้านวิศวะ เป็นดีไซเนอร์ หรือเป็นไดเรกเตอร์ ก็ต้องคุยกันว่าจะทำอะไร แล้วค่อยดูว่าสิ่งที่จะทำต้องใช้ซอฟต์แวร์อะไร เราก็จะซัพพอร์ต
โปรแกรมของเราจะไม่ได้เริ่มจากตั้งคำถามว่านักศึกษาใช้โปรแกรมอะไรเป็นบ้าง แต่ถามว่านักศึกษาอยากทำอะไร เพราะความสามารถที่จะใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆ มันมีวันหมดอายุนะ พอถึงวันหนึ่ง ซอฟต์แวร์ที่เคยใช้อาจจะไม่มีใครใช้กันแล้ว สิ่งที่เรียนมาก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเริ่มจากการคิดว่าจะทำอะไร สิ่งที่นักศึกษาของเราจะได้ก็คือเขาจะสามารถเรียนรู้ทักษะต่างๆ ได้ และบอกได้ว่าอะไรที่เขายังขาด ต้องหัดเพิ่ม ถ้า learning curve สูง ทำเองไม่ได้ ก็บอกได้ว่าจะหาใครมาทำดี ความสามารถในการในการเรียนรู้คือทักษะที่ไม่มีวันหมดอายุ
จุดเด่นอย่างหนึ่งของหลักสูตรนี้คือการเรียนรู้จากคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมจริงๆ อยากให้ช่วยพูดถึงอาจารย์ที่จะสอนในโปรแกรมนี้ได้ไหม
อาจารย์คนหนึ่งที่โอ่งรีครูตมาเป็นฟูลไทม์ เป็นคนเก่งมากๆ ชื่อ คามิน ภัคดุรงค์ เขาจบปริญญาตรีจากที่วิศวะ จุฬาฯ แล้วไปต่อปริญญาโทที่ MIT ด้าน Integrated Design & Management หลังจากจบ MIT เขาก็พิตช์ขอทุนทำสตาร์ตอัปของตัวเอง แล้วก็ได้ทุนทำสตาร์ตอัปด้าน interactive installation ชื่อ Look Alive Studio อยู่ที่บอสตัน อีกด้านหนึ่งยังเป็นมือคีย์บอร์ด เป็นนักดนตรีสังกัดจีนี่ เรคคอร์ด แต่งเพลงก็ได้ คามินเป็นคนเก่งที่มี awareness ทางเทคโนโลยีและมีความเป็นศิลปินด้วย เขาเป็นคนที่มีความเป็น interdisciplinary คามินกำลังจะย้ายกลับมาเมืองไทยเพราะเหตุผลเดียวเลยคือโอ่งชวนเขามาทำงานที่ EIC มาร่วมสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นด้วยกัน
ตอนนี้อาจารย์ที่เป็นฟูลไทม์ยังมีแค่ 2 คน คือตัวโอ่งเองกับคามิน และกำลังจะรีครูตคนที่ 3 แต่ก็คิดว่าจะไม่มีเยอะไปกว่านี้ ที่เหลือจะเป็นอาจารย์พิเศษทั้งหมด เราอยากให้มีอาจารย์พิเศษเยอะๆ เพราะอยากให้นักศึกษาได้เจอกับอาจารย์ให้ได้มากสุด จะได้เป็นคอนเน็กชันสำหรับเขาด้วย
อีกเหตุผลหนึ่งที่โอ่งพยายามทำฟอร์แมตนี้ เพราะอาจารย์ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยคอนเน็กกับอุตสาหกรรม แล้วของเราจะไม่ใช่ระบบที่ต้องโฟกัสที่เรื่องการทำเปเปอร์ ทำผลงาน แต่เราเน้นการทำงานกับพาร์ตเนอร์ อาจารย์เองสามารถทำโปรเจกต์ให้พาร์ตเนอร์ได้ ตรงนี้นี่เองที่จะมาชดเชยเรื่อง research funding ของเรา ให้อาจารย์รับงานและทำงานที่ใช้ได้จริงๆ ในอุตสาหกรรม
เราวางโปรแกรมแบบนี้เพราะเชื่อว่าจะทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จริงๆ อย่างตอนที่โอ่งเรียนปริญญาโท พอถึงปี 2 โอ่งได้เจออาจารย์ที่เป็นอาจารย์พิเศษทั้งหมด แล้วได้เจอแค่ศุกร์กับเสาร์นะ เพราะอาจารย์เป็นรองประธานกรรมการของ Sony Pictures วันธรรมดาเขาก็จะต้องทำงานที่นั่น หรือเวลาไปเรียนก็คือไปนั่งเรียนที่ห้องประชุมของ Sony Pictures เลย ซึ่งการเรียนสนุกมาก ได้เรียนจากเรื่องที่เขาทำจริง โอ่งเลยอยากทำสิ่งนี้ในเมืองไทย อยากให้นักศึกษาได้ประสบการณ์จากตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนจากอาจารย์ที่เป็นคนไทยหรือเป็นคนต่างชาติที่เราจะให้เขาบินมาจากต่างประเทศเพื่อสอนนักศึกษาของเรา
เราลงทุนในเรื่องอาจารย์ที่จะมาสอนมาก หาคนที่เก่งจริงๆ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนกับคนที่เป็น the best ในอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะเลือกจากผลงานเป็นหลักแล้ว ยังดูเรื่องของคอนเน็กชัน เพราะว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราอยากให้นักศึกษาได้รับนอกเหนือจากทักษะก็คือคอนเน็กชัน การรู้จักคนต่างๆ ในอุตสาหกรรมจะเป็นเหมือนชอร์ตคัตในการเข้าไปทำงานในวงการ
ในเทอมแรกของโปรแกรม EIC นักศึกษาจะได้เรียนวิชาอะไรบ้าง
เทอมแรกจะเป็น core class ซึ่งตัวโปรแกรมของเราจริงๆ จะมี core class แค่ 4 คลาส คลาสแรกคือ Fundamentals of the EIC เป็นการปูพื้นฐาน การสอนจะเป็นสไตล์เวิร์กช็อปหมุนเวียน มีอาจารย์หลายคนมาสอน
คลาสที่ 2 คือ Improvisational Acting คลาสนี้ไม่ใช่แอ็กติงที่จะไปเป็นนักแสดง แต่เราสอนทักษะนี้เพราะว่าการที่คุณทำงานกับคนหลายๆ แบ็กกราวนด์ ทักษะในการ improvise มันสำคัญมาก นึกถึงการทำงานกับคนที่หลากหลาย วิธีการทำงานต่างกัน ถ้าไม่มีทักษะนี้ การทำงานจะวุ่นวายมาก นอกจากนี้ คลาสนี้ยังมีการสอนเรื่องการพูดในที่สาธารณะ, การพรีเซ็นต์งาน, การพิตช์งาน และอื่นๆ อีกด้วย
ส่วน Visual Storytelling เป็นคลาสสอนการทำหนังสำหรับคนที่ไม่ได้เป็นคนทำหนัง ต่อให้คุณไม่มีประสบการณ์ทำหนังมาก็สามารถเรียนได้ เพราะโปรแกรมเราเน้นความคิดสร้างสรรค์ที่ส่งต่อไปถึงคนที่เสพคอนเทนต์ที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นคนฟัง คนดู หรือแม้แต่คนเล่มเกม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ต้องอาศัยทักษะการเล่าเรื่องที่ดี คลาสนี้จะสอนว่าการเล่าเรื่องที่ดีคืออะไร ซึ่งพาร์ตเนอร์ของคลาสนี้จะเป็น The Monk Studios สตูดิโอแอนิเมชันของไทยที่ใหญ่มากและได้รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาหลายรางวัล
สุดท้ายคือ Building Virtual Worlds คลาสจะเน้นปฏิบัติ นักศึกษาจะได้เรียนรู้การปั้นโปรเจกต์ในระยะเวลาสั้นๆ นักศึกษาจะได้ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม สมมติว่ามีนักศึกษาทั้งหมด 25 คน ก็จะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีเวลา 2 อาทิตย์ในการคิดไอเดีย พิตช์ และปิดจ๊อบ ปิดจ๊อบนี่อาจจะยังไม่ได้ working model นะ แต่จะต้องได้โปรโตไทป์คร่าวๆ เพื่อไปพรีเซนต์หน้าคลาส มีการวิจารณ์กันว่ามันเป็นไปได้จริงหรือเปล่า ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 2 อาทิตย์ ซึ่งพอครบ 2 อาทิตย์ปุ๊บก็จะสลับกลุ่มกัน คลาสนี้จะเป็นคลาสที่นักศึกษาจะได้รู้จักกับทุกคน เป็นคลาสที่ชั่วโมงการทำงานเยอะ ต้องเจอกันบ่อย ซึ่งคามินจะเป็นคนสอนคลาสนี้เองเพราะเขามาทางนี้เลย
งาน open house ที่จัดไปเมื่อไม่นานมานี้เป็นอย่างไรบ้าง
ฟีดแบ็กดีค่ะ ในวันนั้นโอ่งได้สัมภาษณ์นักศึกษาไป 6 คน เขามาพร้อมกับใบสมัครเลย เห็นแล้วดีใจมาก บางคนเก่งมากๆ แบ็กกราวนด์ก็หลากหลาย มีทั้งนักดนตรีที่เคยได้ทุนมาก่อนแล้ว มีโปรแกรมเมอร์ มีคนที่ทำสตาร์ตอัป คนที่ทำวิดีโอเป็นสายโปรดักชันเลยก็มี ทำมาร์เก็ตติงก็มี หลากหลายมาก ซึ่งความหลากหลายนี้เป็นสิ่งที่โอ่งชอบ เพราะเรามองหาทุกศาสตร์เลย คือตราบใดที่เขียนโค้ดได้ เป็นโปรแกรมเมอร์ ออกแบบเป็น โปรดิวซ์งานได้ คิดงาน คอนเทนต์ ทำมาร์เก็ตติงเก่ง ก็เรียนได้ พวกนี้คือทักษะที่เราค่อนข้างชอบ
เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่สนใจสมัคร เราไม่อยากให้คิดว่าแบ็กกราวนด์จะเป็นตัวลิมิต คำถามที่ว่าต้องจบอะไรมาถึงจะสมัครได้ คำถามนี้โอ่งขยี้ทิ้งเลย เพราะจบอะไรก็ได้ สิ่งที่สำคัญสำหรับโอ่งคือคาแรกเตอร์มากกว่า เขาพร้อมจะทำงานกับคนหลายๆ รูปแบบ หลายๆ แบ็กกราวนด์หรือเปล่า ความเปิดกว้างและคอมมอนเซนส์มีไหม เรามองหาคนที่มีคอมมอนเซนส์ เพราะคนทำโปรเจกต์ต้องมีเรื่องนี้ และต้องมีความสามารถที่จะทำงานร่วมกันเป็นทีมด้วย เรื่องนี้ก็เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมาก เราต้องการคนแบบนี้ แล้วปีแรกเราคิดไว้ว่าคงไม่ได้รับนักศึกษาเยอะ น่าจะประมาณ 25 คน
ทักษะที่ว่ามาทั้งหมดนี้ถือเป็นทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการในวงการบันเทิงปัจจุบันใช่หรือไม่
ใช่ค่ะ มันจะเป็นประโยชน์มากในวงการบันเทิงที่อยากจะก้าวไปข้างหน้า เพราะวงการบันเทิงทุกวันนี้ เราอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเทคโนโลยี
สำหรับทุนการศึกษา มีเกณฑ์ในการตัดสินใจให้ทุนกับนักศึกษาอย่างไรบ้าง
แล้วแต่โปรไฟล์ของแต่ละคน แต่ข้อดีคือทุกคนที่สมัครมาในปีแรกจะได้รับการพิจารณาเรื่องทุนการศึกษาโดยอัตโนมัติ อีกอย่างหนึ่ง เวลาสมัครจะต้องมี personal statement ที่เขาต้องเขียนอยู่แล้ว คนที่สนใจสามารถระบุได้เลยว่าต้องการทุนการศึกษา พร้อมเหตุผลว่าทำไมคุณถึงควรจะได้รับทุน
คนมักจะถามว่าให้ทุนเท่าไร เอาเป็นว่าถ้าคุณมีคุณสมบัติเหมาะสมจริงๆ ก็อาจจะได้ทุน 100 เปอร์เซ็นต์เลยก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นอยากให้ลองสมัครกันดูก่อน เพราะการสมัครไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรนอกจากค่าสมัครพันกว่าบาท
ส่วนเรื่องค่าเล่าเรียน ถึงเราจะเป็นโปรแกรมที่ซื้อหลักสูตรมาจากของอเมริกา แต่ค่าเล่าเรียนเราเป็นแบบคนไทยจับต้องได้ อยู่ที่เทอมละประมาณสองแสนกว่าบาท ในมุมมองของโอ่ง มีโปรแกรมปริญญาโทในเมืองไทยที่ค่าใช้จ่ายสูงกว่านี้ และแน่นอนว่าก็มีที่ถูกกว่านี้เช่นกัน ความต้องการของโอ่งจริงๆ คือโอ่งอยากให้คนในวงการนี้ วงการที่โอ่งอยู่ ซึ่งพูดกันตรงๆ ว่าเป็นวงการที่เม็ดเงินไม่เยอะ โปรดิวเซอร์แบบซีเนียร์โปรดิวเซอร์เลยตามสถานีโทรทัศน์ใหญ่ๆ ได้เงินเดือนอย่างสูงก็หกหมื่น นี่คือคนที่ทำงานมาหลายปีแล้วด้วยนะ ซึ่งต่างจากคนที่ทำงานในสายการเงิน การลงทุน หรือโปรแกรมมิง ที่เงินเดือนเริ่มต้นเขาก็มากกว่านี้แล้ว เพราะฉะนั้นโอ่งเลยไม่ได้ต้องการให้ค่าเล่าเรียนของที่นี่มันเกินเอื้อมสำหรับคนในวงการบันเทิงที่โอ่งอยู่ เพราะสุดท้ายเราทำโปรแกรมนี้ก็เพราะอยากจะพัฒนาการวงการ และตัวเลขนี้โอ่งว่ามันไม่แพงเลยสำหรับอาจารย์แต่ละคนที่เราตั้งใจหามา
สำหรับคนที่สนใจสมัครเพื่อเริ่มต้นเรียนในเดือนสิงหาคมปีหน้า สามารถสมัครได้ถึงเมื่อไร
วันที่ 31 มกราคม 2563 โอ่งอยากให้เด็กเก่งๆ มาเรียนกันเยอะๆ เด็กที่มีของอยู่แล้ว โปรแกรมของเราไม่ได้อยากจะเปลี่ยนเขา แต่เราอยากจะช่วยให้เขามีอนาคตที่ไกลยิ่งขึ้น ต่อยอดมุมมองของเขาในด้านอื่น เพราะฉะนั้นถ้าได้คนเก่งๆ อย่างเป็นศิลปิน เป็นคนที่เก่งมากในสิ่งที่ตัวเองทำ แต่เขาไม่รู้เรื่องการเขียนโค้ดเลยก็ไม่เป็นไร มาเลย มาเถอะ เพราะเราเชื่อว่าคุณมีอะไรที่จะ contribute ให้กับคอมมูนิตี้ได้ และจะเป็นสิ่งที่ทำให้คอมมูนิตี้น่าสนใจ ซึ่งเมืองไทยเราต้องการสิ่งนี้จริงๆ
Tags: ณัฐชา ปัทมพงศ์, Entertainment Innovation Center, EIC