แม้ผลงานแอนิเมชันล่าสุดจากค่าย Sony Pictures Entertainment อย่าง Spider-Man: Across the Spider-Verse จะกอบโกยรายได้ถล่มทลายและสร้างความสำเร็จมากมาย โดยเฉพาะคำชมในเรื่องการรังสรรค์งานภาพที่โดดเด่น แตกต่าง และฉูดฉาด จนเป็นที่ประทับใจของแฟนคลับไอ้แมงมุมทั่วโลก
ถึงกระนั้น รู้หรือไม่ว่าเบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวล้วนเต็มไปด้วยความขมขื่น หลังมีการเปิดเผยจากนิตยสาร Vulture เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ในตลอดระยะ 3 ปีของการสร้าง Spider-Man: Across the Spider-Verse คือช่วงเวลายากลำบากที่เต็มไปด้วยการแก้งานไม่รู้จบ
หนึ่งในศิลปินผู้ร่วมสร้างแอนิเมชันไอ้แมงมุมออกมาแฉผ่านนามแฝง ‘สตีเฟน’ โดยเขาเล่าว่า มีพนักงานกว่า 100 ชีวิตที่ถอนตัวออกจากโปรเจกต์นี้ไป เพราะไม่สามารถทนความกดดัน มีหลายคนที่อยู่เพียงเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่พวกเขาทำจะไม่ถูกแก้ไข แต่สุดท้ายผลงานที่ปรากฏบนหน้าจอภาพยนตร์กลับถูกแก้ไขจนแทบไม่เหลือผลงานเค้าเดิม
“เหมือนกับว่าพวกเขาใช้เวลาร่วมปีอยู่ในโรงงานนรก แต่ก็ไม่มีผลงานออกมา เหมือนเขาไปนั่งเฉยๆ อยู่ในนั้น ไม่ได้ทำสิ่งใด”
สตีเฟนอธิบายต่อว่า ส่วนใหญ่แล้วขั้นตอนการแก้ไขระหว่างกระบวนการผลิตมักเกิดขึ้นแต่เนิ่นๆ ก่อนจะถึงกำหนดเข้าฉาย (ค่ายของ Pixar ใช้เวลาถึง 4-7 ปีก่อนหน้า ในการแก้ไขโครงเรื่อง ก่อนที่จะเริ่มผลิตงานใหม่อีกครั้ง) แต่สำหรับ Spider-Man: Across the Spider-Verse พวกเขาเพิ่งได้รับการยืนยันว่า โครงเรื่องจะถูกแก้ไขในช่วงต้นปี 2022 ซึ่งในตอนนั้น แอนิเมชันมีกำหนดเข้าฉายในเดือนเมษายน 2022 ก่อนจะเลื่อนฉายไปเป็นเดือนตุลาคม 2022 และเดือนมิถุนายน 2023 ตามลำดับ โดยเรื่องนี้ทาง Entertainment Weekly รายงานว่า เป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้ตัวแอนิเมชันต้องเลื่อนออกไป
อย่างไรก็ตาม มีทีมงานบางส่วนโต้แย้งว่า กระบวนการข้างต้น มีปัญหาต่างไป อันดับแรกคือในช่วงปี 2021 มีพนักงานบางส่วนที่ถูกจ้างมาแต่ก็ไม่มีงานใดๆ ให้ทำต่อจาก ฟิล ลอร์ด (Phill Lord) มือเขียนบทที่กำลังปรับแก้ไขเนื้อหาบางส่วน กระทั่งนำไปสู่สภาวะทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ ที่บรรดาทีมงานต้องแข่งกับเดดไลน์ในช่วงสุดท้ายของการผลิต โดยทีมงานต้องทำงานถึง 11 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่มีวันหยุดเพื่อชดเชยเวลาที่เสียไป ทั้งในระหว่างขั้นตอนการผลิต โครงเรื่องก็ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก 5 ครั้ง จนดูเหมือนว่าเป็นการแก้ไขงานที่ไม่รู้จบ
“คนกว่า 100 คน ออกจากโปรเจกต์นี้เพราะทนต่อไปไม่ไหว แต่หลายคนก็ยังอยู่เพียงเพื่อให้มั่นใจว่า งานของพวกเขาจะคงอยู่จนจบ เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะไม่ใช่ของคุณอีกต่อไป พวกเขาล้วนผ่านขั้นตอนนรกการผลิต และหลังจากนั้นก็ไม่มีผลงานใดที่ได้ออกมา” สตีเฟนระบุทิ้งท้าย
ด้าน มิเชล เกรดี้ (Michelle Grady) รองประธานบริหารและผู้จัดการทั่วไปของ Sony Pictures ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในขั้นตอนของ กระบวนการผลิตซ้ำ (Iterative Process) ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ดังนั้น จึงไม่แปลกใจหากผลงานของ ฟิล ลอร์ด ที่ทำร่วมกับผู้กำกับหลายคน จะมีการเปลี่ยนแปลงไปมา จนวินาทีสุดท้าย เพื่อความสมบูรณ์แบบของหนัง
“มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในแอนิเมชันทุกเรื่อง โอเค ขั้นตอนเหล่านี้อาจจะชวนสร้างความหงุดหงิด แต่เราก็พยายามอธิบายเสมอว่า มันเป็นกระบวนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จริงๆ”
คงต้องติดตามกันต่อว่า หลังจากนี้ Spider-Man: Beyond the Spider-Verse ซึ่งบทสรุปของแอนิเมชันเรื่องนี้ ที่จะมีกำหนดเข้าฉาย ในวันที่ 29 มีนาคม 2024 จะลงเอยอย่างไร และจะถูกเลื่อนออกไปเพื่อให้ทีมได้ผลิตงานด้วยระยะเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะหากดูจากกำหนดการเดิมช่างกระชั้นชิดบีบคอคนทำงานเสียเหลือเกิน
Tags: Spider-Man, Entertainment, Across the Spider-Verse