นับเป็นอีกครั้งที่ ‘เอเชีย’ ได้ผงาดบนเวทีใหญ่อย่างงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 ที่ผ่านมา หลัง มิเชล โหย่ว (Michelle Yeoh) เป็นนักแสดงเอเชียคนแรกที่คว้ารางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม และคี ฮุย ควน (Ke Huy Quan) ที่คว้ารางวัลนักแสดงชายสมทบยอดเยี่ยม และอาจรวมไปถึง แดเนียล กวัน (Daniel Kwan) ผู้กำกับที่คว้ารางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ซึ่งทั้งหมดมาจากภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน คือ Everything Everywhere All at Once (2022) หรือชื่อไทย ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความเป็น ‘เอเชีย’ หรือ ‘อเมริกันเชื้อสายเอเชีย’ ได้ผงาดในภาพยนตร์ฮิตมากมาย เช่น Crazy Rich Asians (2018) หรือ Parasite (2019) กระทั่ง Everything Everywhere All at Once ที่คว้าไปหลายรางวัลใหญ่ในปีนี้ ก็ยิ่งทำให้ความเป็นเอเชียถูกจับตามอง และถูกคาดหวังว่าจะมีที่ทางมากขึ้นอีกในอนาคต

ถึงแม้มิเชล โหย่ว จะสุดยอดมากๆ กับการคว้ารางวัลใหญ่สาขานักแสดงบนเวทีออสการ์ แต่หากย้อนไปในอดีต มีนักแสดงหญิงคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘นักแสดงเชื้อสายเอเชียคนแรก’ ของภาพยนตร์ฮอลลีวูด และได้รับการยอมรับระดับในสากล ชื่อของเธอคือ แอนนา เมย์ หว่อง

แอนนา เมย์ หว่อง (Anna May Wong) หรือหว่อง หลิวจง เกิดที่ย่านไชน่าทาวน์ของเมืองลอส แอนเจลิส สหรัฐอเมริกา และได้ชื่อภาษาอังกฤษว่า แอนนา เมย์ เป็นลูกคนที่ 2 ในจำนวน 7 คน ทั้งพ่อและแม่ของเธอมีเชื้อสายจีนและเกิดในแคลิฟอร์เนีย ทั้งคู่ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของร้านซักรีดในชุมชนที่มีความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของลอสแอนเจลิส ซึ่งมีความผสมผสานระหว่างชาวจีน ไอร์แลนด์ เยอรมัน และญี่ปุ่น

แอนนามีประสบการณ์การถูกเหยียดเชื้อชาติตั้งแต่อายุน้อย และถูกรังแกระหว่างเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนรัฐของท้องถิ่น กระทั่งต้องย้ายไปเรียนที่โรงเรียนจีนนิกายเพรสไบทีเรียน ในย่านไชน่าทาวน์ ที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่เธอจะเข้าเรียนในช่วงบ่ายที่มีการเรียนการสอนเป็นภาษาจีน

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น สตูดิโอผลิตภาพยนตร์ของสหรัฐฯ เริ่มย้ายจากชายฝั่งตะวันออกไปยังพื้นที่ลอสแอนเจลิส และละแวกบ้านของแอนนาก็ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำอยู่บ่อยครั้ง เธอจึงมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมกองถ่าย และเริ่มใช้เวลา รวมถึงเงินค่าอาหารกลางวัน ไปกับการเข้าโรงภาพยนตร์ที่เธอชื่นชม

และในที่สุด แอนนาก็ตัดสินใจว่าเธอจะเป็นดาราหนัง แม้ว่าครอบครัวจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

เมื่ออายุ 11 ขวบ แอนนาตัดสินใจรวมชื่อภาษาจีนและภาษาอังกฤษของเธอเข้าด้วยกัน เพื่อใช้เป็นชื่อในการแสดง นั่นก็คือ แอนนา เมย์ หว่อง ต่อมาในปี 1919 เมื่ออายุได้ 14 ปี เธอได้เดบิวต์ในภาพยนตร์เป็นครั้งแรก โดยปรากฏกายเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์เงียบเรื่อง The Red Lantern และไม่ได้รับเครดิตใดๆ ก่อนที่ต่อมาจะได้มีส่วนร่วมนิดๆ หน่อยๆ ในภาพยนตร์เป็นประปราย

ในปี 1921 แอนนาตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนมัธยม เพื่อโฟกัสไปที่อาชีพการแสดงของเธออย่างเต็มที่ กระทั่งได้รับบทบาทหลักครั้งแรกในภาพยนตร์ The Toll of the Sea (1922) ซึ่งการแสดงของเธอได้รับการวิจารณ์ในแง่ดีอย่างมาก ก่อนที่ความสำเร็จอื่นๆ จะเริ่มตามมาในภาพยนตร์เรื่อง Drifting (1923) และ The Thief of Bagdad (1924)

จากความสำเร็จในภาพยนตร์ ทำให้แอนนาเริ่มมีชื่อเสียง รวมถึงได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ไอคอนสไตล์’ จากการแต่งกายของเธอ เนื่องจากเธอเป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกที่อ้าแขนรับแฟชั่นแฟลปเปอร์ (Flappers) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของยุคนั้น คือชุดลำตัวตรง กระโปรงสั้น และผสมผสานเข้ากับชุดจีนแบบดั้งเดิม และเคยได้รับการโหวตให้เป็นผู้หญิงที่แต่งตัวดีที่สุดในโลก จาก Mayfair Mannequin Society of New York

แม้ว่าแอนนาจะมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เธอก็ยังคงได้รับเลือกให้แสดงเฉพาะในบทตัวประกอบ หลายครั้งก็เป็นบทบาทแบบ ‘เหมารวม’ ของชาวเอเชีย นอกจากนี้ กฎหมาย Anti-Miscegenation Laws ที่บังคับใช้การแบ่งแยกทางเชื้อชาติ ก็ทำให้เธอไม่สามารถปรากฏตัวในฐานะนักแสดงนำของภาพยนตร์ที่มีความโรแมนติกได้

ด้วยความเบื่อหน่ายต่อการเลือกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในฮอลลีวูด แอนนาจึงก่อตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ของตัวเองในปี 1924 อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ต้องปิดตัวลงในไม่นาน เพราะการโกงของหุ้นส่วนทางธุรกิจของเธอ หลังจากนั้น ในช่วงปลายทศวรรษ 1920 แอนนาเลือกเดินทางไปยังยุโรป ที่นั่นเธอยังคงแสดงภาพยนตร์และได้ปรากฏตัวในละครเวทีเป็นครั้งแรก

กระทั่งเมื่อโลกเริ่มมีการสร้างภาพยนตร์ที่มีบทพูด แอนนาจึงกลับมาที่อเมริกาในปี 1930 และได้เดบิวต์ในละครบรอดเวย์เรื่อง ‘On the Spot’ ก่อนที่ปีถัดมา จะได้แสดงเรื่อง Daughter of the Dragon และปรากฏตัวในภาพยนตร์ที่โด่งดังที่สุดเรื่องหนึ่งของเธอ นั่นคือ Shanghai Express (1932) และอีกหลายเรื่อง เช่น A Study in Scarlet (1933), Daughter of Shanghai (1937) และ Lady from Chungking (1942)

ในปี 1951 แอนนากลายเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้รับบทในนำรายการโทรทัศน์ของอเมริกาชื่อ The Gallery of Madame Liu-Tsong ซึ่งเธอรับบทเป็นนักสืบชาวจีน ก่อนที่จะได้รับบทบาทอื่นๆ อีกมากมายทางโทรทัศน์ รวมถึงการปรากฏตัวบนจอภาพยนตร์ครั้งสุดท้ายของเธอ กับหนังเมโลดราม่าเรื่อง Portrait in Black (1960)

ในปี 1960 แอนนาเป็นผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรกที่มีชื่อบนดวงดาวใน Hollywood Walk of Fame ก่อนจะเสียชีวิตในปีถัดมาด้วยอาการหัวใจวาย ที่ซานตาโมนิกา แคลิฟอร์เนีย

แม้แอนนาจะจากไปกว่า 60 ปี แต่ความเป็นดาวของเธอยังคงจรัสแสง ในปี 2022 รัฐบาลสหรัฐฯ เลือกแอนนาให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ American Women Quarters ที่เฉลิมฉลองความสำเร็จและการมีส่วนร่วมของสตรีอเมริกันด้านการพัฒนาและสร้างประวัติศาสตร์แก่ประเทศ โดยบรรดาสตรีที่ได้รับเกียรติในโครงการนี้ต่างมาจากภูมิหลังที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เชื้อชาติ และภูมิศาสตร์

ในโครงการนี้มีการออกแบบเหรียญกษาปณ์เพื่อเชิดชูเกียรติแด่เธอ ในฐานะผู้สนับสนุนความกล้าหาญ ประสบความสำเร็จในการเพิ่มความหลากหลายและบทบาทในมิติที่หลากหลายมากขึ้นสำหรับนักแสดงอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ทำให้เธอกลายเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรก ที่มีรูปเหมือนปรากฏบนสกุลเงินของสหรัฐฯ

ที่มา

https://www.womenshistory.org/education-resources/biographies/anna-may-wong

https://www.nytimes.com/2022/10/18/us/anna-may-wong-quarter.html

https://www.prachachat.net/world-news/news-1093318

Tags: , , ,