เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เห็นภาษาอังกฤษ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นคำภาษาอังกฤษปะปนอยู่ในภาษาไทยที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน

แต่ทั้งนี้ คำอังกฤษที่หลุดเข้ามาในภาษาไทยก็ใช่ว่าจะคงความตาน้ำข้าวไว้ได้ทุกคำ เพราะบางคำก็เหมือนถูกเอามาเปลี่ยนสัญชาติเป็นคำไทยก็ไม่ปาน กล่าวคือถูกนำมาใช้จนมีความหมายต่างไปจากเดิมชนิดที่เจ้าของภาษาฟังครั้งแรกอาจงงเป็นไก่ตาแตก

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า นอกจากคำที่เคยเขียนถึงไปแล้ว (ภาค 1, 2, และ 3)

 มีคำภาษาอังกฤษอะไรอีกที่คนไทยเอามาใช้ในความหมายที่ฝรั่งอาจไม่เข้าใจกับเรา

Psycho –  รุ่นพี่ไซโคมาว่าวิชานี้ยากมาก

ความหมายที่คนไทยใช้: 

ข่มขวัญ ทำให้เสียความมั่นใจ กดดัน; ชักจูงให้เชื่อหรือทำบางสิ่ง

ความหมายในภาษาอังกฤษ:

คำว่า psycho มักใช้เป็นคำนาม ย่อมาจากคำว่า psychopath ในทางการแพทย์หมายถึง ผู้ที่มีอาการผิดปกติด้านบุคลิกภาพ ไม่รู้สึกผิดเมื่อทำร้ายผู้อื่นหรือไม่สามารถเข้าใจหรือมีอารมณ์ร่วมกับเพื่อนมนุษย์คนอื่นได้

แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว คำนี้มักใช้กับผู้ที่มีพฤติกรรมรุนแรงเหี้ยมโหดแลดูน่ากลัวหรือเป็นพิษภัยต่อสังคม เทียบได้คำว่า คนโรคจิต ที่คนชอบใช้กัน (แม้คนคนนั้นจะยังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ก็ตาม) เช่น That psycho poisoned my dog. คือ ไอ้โรคจิตนั่นมันวางยาหมาฉัน หรือไม่อย่างนั้น ก็อาจนำมาใช้เรียกคนที่มีพฤติกรรมแปลกประหลาดก็ได้ เช่น หากเราคิดว่าการใส่สับปะรดในพิซซ่าเป็นเรื่องผิดผีอย่างมาก รับไม่ได้ที่บนโลกนี้มีพิซซ่าหน้าฮาวายเอี้ยนอยู่ ก็อาจจะพูดว่า Only psychos put pineapple on their pizza. คือ มีแต่คนโรคจิตเท่านั้นแหละที่กินพิซซ่าหน้าสับปะรด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คำนี้ในภาษาอังกฤษไม่นำมาใช้เป็นกริยาอย่างในภาษาไทย

คำที่ตรงกับความหมายแบบที่คนไทยใช้:

ปกติแล้วเรามักใช้คำว่า ไซโค หมายถึง ข่มขวัญ พูดขู่ให้กลัว (จึงทำให้น่าเชื่อได้ว่าไม่น่าจะมาจาก psychopath แต่อาจจะมาจากคำอื่นที่ขึ้นต้นด้วยส่วนเติมหน้า psycho- ที่หมายถึง จิตใจ) เช่น รุ่นพี่ไซโคมาว่าวิชานี้ยาก ในกรณีแบบนี้ เราก็อาจใช้คำว่า psych out เพื่อสื่อใจความ เช่น They tried to psych me out by telling me how tough the course would be.

นอกจากนั้น เรายังใช้คำว่า ไซโค หมายถึง การเล่นสงครามประสาทให้อีกฝ่ายกลัวหรือเสียความมั่นใจได้อีกด้วย เช่น สมมติว่าเราขายก๋วยเตี๋ยวแล้วร้านคู่แข่งไซโคเราด้วยการขึ้นป้ายว่าวันนี้ขายหมดแล้วตั้งแต่หัววัน แบบนี้นอกจาก psych me out แล้ว เราจะใช้สำนวน get into someone’s head หรือ shake someone’s confidence ก็ได้ เช่น They put up that sign only to try to get into my head/shake our confidence. ก็คือ มันแค่ขึ้นป้ายพยายามไซโคเราให้เราเสียความมั่นใจเท่านั้นแหละ

ทั้งนี้ คำว่า ไซโค ไม่ใช่คำที่เพิ่งมีใช้ในภาษาไทยแต่อย่างใด แต่มีใช้มานานแล้วพอสมควร ในสมัยก่อนคำนี้มักใช้ในความหมายว่า ชักจูงให้หันเหไปเชื่อหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น เพื่อนๆ ไซโคให้ซื้อกระเป๋ากุชชี่ แบบนี้ก็อาจจะใช้สำนวนว่า talk someone into doing something เช่น My friends talked me into buying a Gucci handbag. เป็นต้น หรือหากมีนัยของการยุยงให้ทำเรื่องที่เราไม่ค่อยอยากจะทำ ก็อาจจะใช้สำนวน egg on เช่น My friends egged me on to buy a Gucci bag.

Form – กลัวเสียฟอร์มเหรอ

ความหมายที่คนไทยใช้: 

มาด, ท่า

ความหมายในภาษาอังกฤษ:

คำว่า form เป็นได้ทั้งนามและกริยาในภาษาอังกฤษ มีความหมายหลากหลายมากจนแทบจะเขียนแยกได้เป็นอีกหนึ่งบทความเลยทีเดียว แต่ form ที่ดูจะใกล้เคียงกับความหมายในภาษาไทยปัจจุบันคือที่แปลว่า มารยาท กาลเทศะ แบบที่เจอในคำว่า good form หรือ bad form ซึ่งใช้กันในภาษาอังกฤษแบบบริติช (ฟังดูเก่าอยู่สักหน่อย) ตัวอย่างเช่น It is considered bad form to wear white to a wedding. ก็คือ การใส่ชุดขาวไปงานแต่งงานเป็นเรื่องเสียมารยาท

คำที่ตรงกับความหมายแบบที่คนไทยใช้:

คนไทยมักใช้คำว่า ฟอร์ม หมายถึง มาด ท่าทาง มักเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของคนที่เราบรรยายถึง พบได้ในสำนวนเช่น วางฟอร์ม และ เสียฟอร์ม

คำว่า วางฟอร์ม ปกติแล้วมีความหมายทำนองว่า แสดงท่าทางให้ดูภูมิฐานหรือดูดีเพื่อให้คนอื่นประทับใจ ในภาษาอังกฤษมีสำนวนให้เลือกใช้หลายคำแล้วแต่สถานการณ์และจุดที่ต้องการเน้น หากต้องการเน้นว่าพยายามทำตัวให้ดูเท่ เช่น เห็นสาวมาเลยวางฟอร์ม ทำเป็นไม่เหลียวมอง ดูคูลๆ แบบนี้ก็อาจจะพูดว่า act cool หรือ act nonchalant (He acted all cool to impress the girls.) หรือหากจุดเน้นอยู่ที่เสแสร้ง ก็อาจจะใช้คำว่า pose เช่น He doesn’t have a clue about art. He’s just posing. แบบนี้ก็คือ มันไม่รู้เรื่องศิลปะอะไรหรอก วางฟอร์มทั้งนั้น

แต่หากเป็นการวางฟอร์มในทำนองว่ายกตนเหนือคนอื่น เช่น รู้สึกว่าจบจากเมืองนอกมาเลยไม่อยากเกลือกกลั้วกับเพื่อนร่วมงานที่เรียนจบในประเทศ เวลาประชุมก็แยกไปนั่งกอดอกขรึมๆ คางเชิดๆ อยู่คนเดียว วางมาดเหนือคนอื่น แบบนี้ก็อาจจะพูดว่า put on airs เช่น He is always putting on airs.

แต่หากเราต้องการบรรยายลักษณะนิสัยคนที่วางฟอร์มจัดมาก ดูมีความกระแดะที่กระเดียดค่อนไปทางตอแหล เช่น ไม่กินข้าว กินแต่คีนัวที่เก็บเกี่ยวในอเมริกาใต้ หากจะกินผลไม้ก็จะกินเฉพาะผลไม้ออร์แกนิกที่สุกคาต้นเท่านั้น แบบนี้ก็อาจจะบรรยายคนแบบนี้ไปเลยว่า pretentious หรือ highfalutin เช่น What a pretentious ass! คือ วางฟอร์ม

แต่เมื่อวางฟอร์มได้ก็เสียฟอร์มได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น หากมีชายหนุ่มมาดเข้มหน้าตาดีพาแฟนสาวเข้าบ้านผีสิงหวังแสดงความเป็นชายชาตรีปกป้องฝ่ายหญิงตามขนบสังคมปิตาธิปไตยเต็มที่ แต่ก้าวเท้าเข้าไปได้สามก้าวเจอผีตัวแรกกระโดดออกมากลับกรีดร้องเสียงหลงจนฝ่ายหญิงต้องเป็นคนปลอบ แบบนี้ก็อาจจะบอกว่า lose face หรือเสียหน้า ไม่ก็พูดว่า blow his image หรือทำให้ภาพลักษณ์ที่บรรจงสร้างขึ้นต้องพังทลายลงนั่นเอง เช่น He completely blew his image.

ไฟต์บังคับ – ทริปนี้ไฟต์บังคับนะจ๊ะ

ความหมายที่คนไทยใช้: 

สิ่งที่ต้องทำ สิ่งที่ขอเลี่ยงหรือปลีกตัวไม่ทำไม่ได้; สิ่งที่ใครๆ ก็ทำ

ความหมายในภาษาอังกฤษ:

คำว่า ไฟต์บังคับ ในภาษาไทยมาจากคำว่า mandatory fight ซึ่งเป็นศัพท์ในแวดวงมวย มาจากคำว่า mandatory ที่แปลว่า บังคับ มารวมกับ fight ที่แปลว่า นัดการแข่งขัน หมายถึง นัดบังคับชกที่แชมป์ต้องลงแข่งเพื่อป้องกันตำแหน่ง ตั้งขึ้นเป็นกติกาเพื่อป้องกันไม่ใช่แชมป์เลี่ยงการลงชกเพื่อจะได้ครองตำแหน่งต่อไปเรื่อยๆ ส่วนท้าชิงในนัดการชกเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า mandatory challenger แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คำนี้ในภาษาอังกฤษใช้เฉพาะในวงการมวยเท่านั้น

คำที่ตรงกับความหมายแบบที่คนไทยใช้:

หากเราต้องการพูดถึงสิ่งที่ต้องทำ หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีคนสั่งหรือมีกฎระเบียบกำหนดไว้ แบบนี้เรามักจะใช้คำว่า mandatory หรือ compulsory เช่น This is a mandatory trip. แต่สองคำนี้จะให้ความรู้สึกทางการอยู่สักหน่อย ฟังแล้วรู้สึกเหมือนเป็นทริปที่บังคับพนักงานทุกคนให้เข้าร่วม แต่หากต้องการจะพูดให้เป็นทางการน้อยกว่านั้น เช่น ทริปนี้ไฟต์บังคับนะจ๊ะ เราก็อาจจะพูดว่า You have to go on this trip with us. We’re not letting you bail out on us. คือ ต้องไปกับพวกเรานะ ห้ามเบี้ยว

แต่บางครั้งเราก็ใช้คำว่า ไฟต์บังคับ ในความหมายว่า สิ่งที่ใครๆ ก็ทำ ไม่ควรพลาด เช่น หากไปสิงคโปร์แล้ว เมอร์ไลอ้อนนี่เป็นไฟต์บังคับเลย แบบนี้ก็อาจจะพูดว่า The Merlion is a must-see. หรือ You simply can’t miss the Merlion.

บรรณานุกรม

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Elizabeth, Mary. Barron’s American Slang Dictionary and Thesaurus. Barron’s Education Series: New York, 2009.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

 

Tags: