ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งที่สร้างความฮือฮามากในโลกออนไลน์ก็คือข่าวที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนทดลองอนุญาตให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทได้ มีทั้งคนที่ออกมาชื่นชมว่าโรงเรียนมีความคิดก้าวหน้า และคนที่กังวลว่าจะมีผลเสียตามมาหากนักเรียนไม่ต้องสวมเครื่องแบบนักเรียน

แน่นอนว่าคำว่า ชุดไปรเวท นี้ดูแค่โหงวเฮ้งก็บอกได้แล้วว่าเป็นคำฝรั่งมังค่า แต่ทำไมเวลาที่เรานำไปพูดกับเจ้าของภาษาอังกฤษ เขากลับเอียงคอทำหน้ามึนใส่เรา

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะนี่คืออีกหนึ่งคำที่แม้จะยืมภาษาอังกฤษมาก็จริง แต่คนไทยนำมาใช้คนละแบบกับที่ใช้ในภาษาอังกฤษ

สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า นอกจากที่เคยเขียนไปในภาคแรกแล้ว ยังมีคำอะไรอีกที่เรายืมมาใช้ในความหมายเฉพาะที่มีแต่คนไทยเท่านั้นเข้าใจ

Private – โรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทไปเรียนได้

ความหมายที่คนไทยใช้:

ชุดลำลอง เครื่องแต่งกายที่แต่งในชีวิตประจำวันทั่วไป

ความหมายในภาษาอังกฤษ:

ในภาษาอังกฤษ คำว่า private ใช้เป็นคำคุณศัพท์เป็นส่วนใหญ่ อาจใช้หมายถึง ส่วนตัว ส่วนบุคคล ไม่ได้ให้ใครมาใช้ก็ได้ เช่น private property ก็จะหมายถึง พื้นที่ส่วนบุคคล หรือ private jet หมายถึง เครื่องบินส่วนตัว ไม่ได้เปิดให้คนแปลกหน้ามาเป็นผู้ร่วมโดยสาร

นอกจากนั้น private ยังอาจหมายถึง ส่วนบุคคลในเชิงที่ไม่ได้เป็นของรัฐ ก็ได้ เรียกอีกอย่างว่า เอกชน นั่นเอง เช่นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนในข่าวก็นับเป็น private school หรือ โรงเรียนเอกชน ส่วนธุรกิจที่ไม่ได้ดำเนินการโดยรัฐ เราก็อาจถือว่าอยู่ใน private sector หรือภาคเอกชน

คำนี้ยังใช้ในความหมาย เป็นความลับหรือรู้กันเฉพาะในวงภายใน ได้ด้วย เช่น มุกภายในที่เข้าใจกันเฉพาะคนในกลุ่ม เราก็จะเรียกว่า private joke หรือส่วนสงวนในร่างกายเราก็อาจเรียกให้นุ่มนวลว่า private parts ก็ได้

นอกจากนั้น private ยังมีความหมายว่า ที่รโหฐาน ได้อีกด้วย เช่น ถ้ามีบอกเราว่า Let’s go somewhere more private. ก็จะหมายถึง เขาอยากพาเราไปที่ที่ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน อาจจะเพื่อคุยเรื่องที่เป็นความลับหรือเพื่อเริ่มกิจกรรมโรแมนติกบางอย่าง

Let’s go somewhere more private. หมายถึง เขาอยากพาเราไปที่ที่ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน อาจจะเพื่อคุยเรื่องที่เป็นความลับ

คำที่ตรงกับความหมายแบบที่คนไทยใช้:

ในภาษาอังกฤษ ชุดลำลองหรือชุดที่ไม่ใช่เครื่องแบบ จริงๆ แล้วเรียกว่า casual attire หรือ casual wear ในที่นี้ก็คือจะใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ก็ยังได้ เช่น Students are allowed to wear casual attire on Tuesdays. ก็จะหมายถึง โรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนแต่งตัวลำลองได้ทุกวันอังคาร

นอกจากนั้น หากพูดหลวมๆ ในชีวิตประจำวัน จะใช้คำว่า informal clothes ก็ได้ เช่น You can wear informal clothes to class. หมายถึง คุณจะใส่ชุดลำลองมาเรียนก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากเห็นคำว่า informal attire ในบัตรเชิญต่างๆ อันนี้ไม่ได้แปลว่า คีบแตะใส่เสื้อยืดไปงานนั้นได้ เพราะแท้จริงแล้ว informal attire มีความเป็นทางการอยู่ คือยังต้องใส่สูทผูกไทหรือชุดค็อกเทลอยู่ ไม่ได้หมายถึงชุดลำลองใส่ในชีวิตประจำวันแบบ casual attire

Ban – โดนเพื่อนแบนเพราะมีแฟนเป็นคนแรกในกลุ่ม

ความหมายที่คนไทยใช้:

ไม่พูดด้วย ไม่ข้องแวะด้วย ตัดออกหรือกีดกันจากกลุ่ม

ความหมายในภาษาอังกฤษ:

คำว่า ban ในภาษาอังกฤษเป็นได้ทั้งนามและกริยา ปกติแล้วหมายถึง สั่งห้าม ใช้กับอะไรที่ค่อนข้างเป็นทางการ เช่น หากรัฐบาลไทยจะประกาศห้ามไม่ใช้ถุงพลาสติกในปี 2020 เราก็อาจพูดว่า Plastic bags will be banned across Thailand in 2020. อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น หากเราเคยลักลอบหนีเข้าไปทำงานเป็นผีน้อยในเกาหลีแล้ววันหนึ่งถูกจับได้แล้วส่งตัวกลับประเทศ พร้อมห้ามไม่ให้เข้าประเทศเกาหลีอีก เราก็อาจพูดว่า I was banned from entering South Korea.

คำที่ตรงกับความหมายแบบที่คนไทยใช้:

หากต้องการสื่อความประมาณว่า อัปเปหิออกจากกลุ่ม คำที่ใกล้เคียงในภาษาอังกฤษก็คือ ostracize ทำนองว่า ตัวอย่างเช่น Tyler was ostracized by his friends after they found out that he’d been gossiping about them. ก็จะหมายถึง ไทเลอร์โดนเพื่อนแบน ขับออกจากกลุ่มหลังจากที่เพื่อนรู้ว่าโดนไทเลอร์เอาไปนินทามานาน หรือจะใช้คำว่า banish ที่แปลว่า ขับไล่ ก็พอได้เช่นกัน เช่น Tyler was banished from the group.  

แต่ถ้าการแบนในที่นี้ไม่ใช่การดีดออกจากกลุ่ม แต่แค่หมายถึง ไม่คุยด้วย ไม่ข้องแวะด้วย เมินใส่ เราก็อาจจะใช้สำนวนง่ายๆ อย่าง not talking to (ไม่พูดด้วย) shun (หลีกเลี่ยง) หรือ give someone the cold shoulder (เมินใส่) ก็ได้ ถ้าเราถูกเพื่อนในรุ่นแบน เดินไปทางไหนเพื่อนก็ไม่คุยกับเรา ก็อาจพูดว่า They’re not talking to me. หรือ I am shunned by my peers. หรือ They’re giving the cold shoulder.

Retire – ถ้าผลการเรียนยังแย่แบบนี้ ระวังโดนรีไทร์นะ

ความหมายที่คนไทยใช้:

หมดสภาพนักศึกษาเพราะผลการเรียนไม่ดี ถูกไล่ออก

ความหมายในภาษาอังกฤษ:

ในภาษาอังกฤษ คำว่า retire เป็นกริยา ใช้กันหลักๆ ในความหมายว่า เกษียณ ออกจากงาน ตัวอย่างเช่น Most people retire at 60 in Thailand. ก็จะหมายถึง คนส่วนใหญ่ในเมืองไทยเกษียณตอนอายุ 60 หรือถ้าพูดว่า Her dream is to retire at the age of 40 and travel the world. ก็จะหมายถึง เขาฝันอยากเลิกทำงานตอนอายุ 40 แล้วไปเที่ยวรอบโลก

นอกจากจะใช้หมายถึงหยุดทำงานแล้ว ยังใช้หมายถึง ปลดระวางหรือเลิกใช้สิ่งๆ หนึ่งก็ได้ ตัวอย่างเช่น สมมติเรามีจักรยานคู่ใจที่ใช้มา 10 ปีจนสภาพเยิน เลยคิดจะเลิกใช้ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ ก็อาจพูดว่า It’s time to retire my trusty bicycle.

ทั้งนี้ retire ยังใช้หมายถึง เคลื่อนย้ายไปยังสถานที่หนึ่ง ส่วนใหญ่ใช้ในเชิงว่า ไปอีกสถานที่หนึ่งเพื่อพักผ่อนหรือทำอะไรเงียบๆ ใช้ในบริบทที่เป็นทางการ ฟังดูแล้วมีความเป็นผู้ดี ตัวอย่างเช่น She retired to her room for a quick nap. ก็จะหมายถึง กลับห้องไปงีบ หรือถ้าตกดึกแล้วเลยขอตัวไปนอน ก็อาจพูดว่า Please excuse me, but I think it’s time for me to retire to bed.

คำที่ตรงกับความหมายแบบที่คนไทยใช้:

แม้ retire จะมีความหมายว่า หยุดทำงาน แต่ว่าในภาษาอังกฤษไม่ได้ใช้คำนี้กับการเรียนมหาวิทยาลัย หากจะสื่อความหมายว่า หมดสภาพนักศึกษาเพราะผลการเรียนไม่ถึงเกณฑ์ คำที่จะใช้ได้ก็คือ dismiss หรือ expel ที่แปลว่าห้วนๆ ได้ว่า ไล่ออก นั่นเอง ตัวอย่างเช่น Students earning over 4 Fs in a single semester shall be dismissed/expelled. ก็จะหมายถึง นักศึกษาที่ได้เกรดเอฟเกินสี่รายวิชาในภาคการศึกษาเดียวจะถูกรีไทร์หรือพ้นสภาพนักศึกษา

Fit – เสื้อฟิตมาก พุงปลิ้นแล้ว

ความหมายที่คนไทยใช้:

คับ เล็กเกินไป

ความหมายในภาษาอังกฤษ:

คำนี้เป็นอีกคำที่คนไทยสับสนเพราะว่าเป็นคำที่เจ้าของภาษาก็ใช้พูดถึงเสื้อผ้า แต่ดันใช้ในความหมายที่ต่างจากในภาษาไทย

คำว่า fit นี้เป็นได้ทั้งกริยาและคุณศัพท์ เวลาที่เป็นกริยา มักใช้หมายถึง ขนาดพอดี พอดีตัว ไม่ได้แปลว่า คับ เล็กเกินไป อย่างที่หลายคนเข้าใจ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราซื้อกางเกงตัวใหม่มาแล้วใส่ได้พอดีเป๊ะ ก็อาจบอกว่า The trousers fit perfectly. หรือ ตอนที่เจ้าชายในเรื่องซินเดอเรลล่าเที่ยวนำรองเท้าไปสวมเท้าหญิงทั้งเมืองเพื่อหาตัวซินเดอเรลล่า สวมเท้าใครก็ไม่พอดี ก็อาจจะบอกว่า The shoe didn’t fit anyone.

คำว่า fit ที่เป็นกริยายังใช้หมายถึง สอดคล้อง เหมาะสม ได้อีกด้วย เช่น The punishment didn’t seem to fit the crime. ก็จะหมายถึง บทลงโทษไม่สอดคล้องกับความผิดที่ก่อ อาจจะหนักไปหรือเบาไป

คำว่า fit มักใช้หมายถึง ขนาดพอดี พอดีตัว ไม่ได้แปลว่า คับ

ส่วนถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ ก็อาจใช้แปลว่า เหมาะสม ได้เช่นกัน These eggs are not fit for human consumption. ก็จะหมายถึง ไข่เหล่านี้มนุษย์ไม่ควรกิน หากกินแล้วอาจเป็นภัยต่อสุขภาพ

นอกจากนั้น fit ที่เป็นคุณศัพท์ยังใช้หมายถึง สุขภาพแข็งแรง ได้อีกด้วย เหมือนที่คนไทยชอบพูดว่า ฟิตแอนด์เฟิร์ม ตัวอย่างเช่น He keeps fit by hitting the gym three times a week. ก็จะหมายถึง เขารักษารูปร่างสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการเข้ายิม (หรือที่หลายคนเรียกฟิตเนส) สัปดาห์ละสามครั้ง

คำที่ตรงกับความหมายแบบที่คนไทยใช้:

หากต้องการบอกว่าเสื้อผ้าใส่แล้วคับเพราะมีขนาดเล็กเกินไป คำที่เหมาะคือคำว่า tight ที่แปลว่า คับ ตัวอย่างเช่น I must have gained at least a couple of kilos. These jeans are getting tight. หมายความประมาณว่า สงสัยน้ำหนักขึ้นมาอย่างน้อยได้สักสองโล ยีนส์เริ่มคับแล้วเนี่ย หรืออาจจะพูดตรงๆ ว่า too small ก็ได้ เช่น I think this jacket is a little too small. Do you have a larger one? ก็จะหมายถึง แจ็กเก็ตตัวนี้สงสัยคับไปหน่อย มีตัวใหญ่กว่านี้ไหม

Inner – น้องไม่มีอินเนอร์เลย

ความหมายที่คนไทยใช้:

ตัวตนอารมณ์ความรู้สึกภายใน

ความหมายในภาษาอังกฤษ:

คำว่า inner ในภาษาอังกฤษใช้เป็นคุณศัพท์เป็นส่วนใหญ่ ปกติใช้กับอะไรที่แบ่งออกเป็นส่วนหรือชั้น หมายถึง ชั้นใน เช่น กรุงเทพฯ ชั้นในก็อาจเรียก inner Bangkok หรือคนใกล้ชิดสนิทสนมรู้เรื่องราวความเป็นไปต่างๆ ในชีวิตเรา ก็อาจเรียก inner circle friends ทำนองว่าถ้าแบ่งคนรู้จักเป็นวงในวงนอก คนเหล่านี้ก็จะอยู่ในวงด้านในที่ติดกับตัวเรา

นอกจากนั้น inner ยังใช้เรียกสิ่งที่เป็นนามธรรมภายในความคิดจิตใจเราได้ด้วย เช่น หากหิวข้าวตอนสี่ทุ่ม แต่มีเสียงเล็กๆ ในหัวบอกว่า อย่ากินเลย เดี๋ยวเป็นกรดไหลย้อนนะ ก็อาจบอกว่า I was so hungry, but an  inner voice told me not to eat. อีกตัวอย่างเช่น หากเราไปนั่งสมาธิแล้วรู้สึกว่าสงบลึกถึงภายในอย่างแท้จริง ก็อาจจะบอกว่า I’ve found true inner peace.

คำที่ตรงกับความหมายแบบที่คนไทยใช้:

อินเนอร์ เป็นคำที่เรามักได้ยินใช้กันในวงการบันเทิง เพื่อพูดถึงการทำงานของนักแสดง นักร้อง หรือแม้แต่นายแบบ เช่นในรายการ เดอะเฟซ ความหมายของคำนี้ค่อนข้างคลุมเครือ เพราะใช้สื่อถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรม จับต้องไม่ได้

ในบางบริบท คำว่า อินเนอร์ ก็ใช้สื่อความหมายประมาณว่า ตัวตน อารมณ์ ความรู้สึกภายใน ของตัวละครที่กำลังสวมบทบาทอยู่ ในกรณีนี้ เราก็อาจใช้คำว่า character เช่น ถ้าพี่เกดจะบอกลูกทีมว่า น้องเข้าไม่ถึงอินเนอร์ของตัวละครเลย ก็อาจพูดเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า You’ve totally failed to embody the character. หรือไม่ก็พูดว่า You’ve totally failed to capture the essence of the character. ก็น่าจะพอได้

แต่ถ้าหากใช้คำว่ามีอินเนอร์ในความหมายว่า เข้าถึงอารมณ์  เช่น เขาร้องเพลงแบบมีอินเนอร์ พูดว่า He sang his heart out./ He poured his heart into the song. หรือไม่ก็ The singer gave an impassioned performance. ก็น่าจะสื่อความได้พอไหวเหมือนกัน

 

บรรณานุกรม

  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary

Tags: , , , ,