ลองจินตนาการดูว่า ถ้าคุณกำลังพูดบางอย่างที่จริงจัง แต่คนฟังกลับยืนหัวเราะอย่างสนุกสนาน คุณจะรู้สึกอย่างไร?

ไม่ได้รับการยอมรับ?

ไม่ให้เกียรติ?

แน่นอนว่า คุณจะดูเป็นคนเสียมารยาทในทันทีที่ทำแบบนั้น

แต่ในสังคมที่มีเรื่องจำนวนหนึ่งพูดออกมาไม่ได้ เสียงหัวเราะกลับกลายเป็นเครื่องมือเสียดสีสังคม บอกเล่าความขมปร่าของความไม่เป็นธรรม และความยากลำบากที่ผู้คนต้องเผชิญอยู่ทุกวัน

พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า วันดีคืนดี คนที่ไม่เห็นด้วยกับผู้มีอำนาจจะไปยืนหัวเราะร่าใส่หน้า “ท่านผู้นำ” ระหว่างที่กำลังปราศรัยได้ง่ายๆ แต่การสร้างเสียงหัวเราะสามารถทำผ่านเครื่องมือต่างๆ ได้ เช่น มีม การ์ตูน หรือกราฟิตี เป็นต้น

 

เสียงหัวเราะจุดกระแสอาหรับสปริง

หลายประเทศในตะวันออกกลาง การ์ตูนถือเป็นเครื่องมือทรงพลังในการโค่นล้มอำนาจฉ้อฉล ว่ากันว่า นับแต่ปี 2010 เป็นต้นมา เหล่านักเขียนการ์ตูนมีส่วนช่วยจุดกระแสอาหรับสปริง หรือ กระแสการเรียงร้องประชาธิปไตยของหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

เริ่มที่อียิปต์ การวาดการ์ตูนเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ประท้วงผู้นำ แม้ก่อนหน้านี้ ในช่วง 30 ปีของการปกครองของ ฮอสนี มูบารัค สื่ออียิปต์มักจะหลีกเลี่ยงการล้อเลียนผู้นำมาตลอด แต่หลังปี 2010 เป็นต้นมา นักวาดการ์ตูนคือกลุ่มสำคัญในการปฏิวัติขับไล่ผู้นำที่ครองตำแหน่งมายาวนาน ตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค จนถึง ประธานาธิบดี มูฮัมหมัด มอร์ซี และแม้ว่ากฎหมายของอียิปต์จะกำหนดโทษอาญาของคดีหมิ่นประมาทประธานาธิบดีไว้ แต่นักวาดการ์ตูนต่างวาดภาพล้อเลียนมอร์ซีอย่างไม่หวั่นเกรง

โดอา เอล อัดล กล่าวว่า ภาพวาดสามารถเข้าถึงผู้คนได้เร็วกว่า สื่อสารตรงไปตรงมาและกระจายไปยังวงกว้างมากกว่า

ที่ซีเรีย อาลี ฟาร์ซัต นักวาดการ์ตูนชาวซีเรีย กล่าวว่า ในบรรดาศิลปะทั้งหมด การ์ตูนยืนบนแนวหน้าการต่อต้านเผด็จการ ก่อนหน้านี้เขาเคยทำงานในสำนักพิมพ์ของรัฐ เวลาวาดภาพ เขามักเลือกประเด็นอย่างการคอร์รัปชั่นและสิทธิสตรี โดยยังไม่ได้ใช้ภาพบุคคลที่เป็นที่รู้จัก ต่อมาในปี 2011 ก่อนสงครามการเมืองจะเริ่มปะทุ จึงเปลี่ยนรูปแบบ มาใช้การ์ตูนบุคคลเป็นตัวแทนการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองที่โหดร้ายของซีเรีย

ฟาร์ซัตถือเป็นบุคคลแรกที่วิจารณ์บุคคลที่ล่วงละเมิดไม่ได้อย่างประธานาธิบดีอัสซาดและพวกพ้อง อาจเรียกได้ว่า การ์ตูนของเขาช่วยทลายกำแพงแห่งความหวาดกลัว

ผลงานของฟาร์ซัตที่โดดเด่นเข้าตาเผด็จการ คือ ภาพล้อเลียนอัสซาดกำลังโบกรถของมูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ภาพที่เขาวาดกลายเป็นตัวก่อคลื่นความไม่สงบบางอย่างในใจของผู้นำซีเรีย เขาจึงโชคร้าย เจอมาตรการสวนกลับ ในปี 2011 ฟาร์ซัต ถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงซ้อมพร้อมบอกว่า นี่แค่เตือน ก่อนจะทิ้งร่างโชกเลือดของเขาไว้กลางกรุงดามัสดัส ท้ายที่สุดเขาต้องลี้ภัยไปอยู่คูเวต

 

หัวเราะบ่อยๆ เสรีภาพอายุยืน สวนทางระบอบอำนาจนิยม

การต่อสู้ผ่านเสียงหัวเราะมีให้เห็นในประเทศเพื่อนบ้านของเราด้วย เช่นที่ มาเลเซีย ซูคิฟลิ อัลวาร์ อุลาฮัค หรือ ซูนาร์ หนึ่งในนักวาดที่ใช้การ์ตูนของเขาฉายภาพความไม่ถูกต้องบางอย่างและสะท้อนความสงสัยของชาวมาเลเซียจำนวนมากที่มีต่อผู้นำของพวกเขา ไม่ว่าจะเรื่องการคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ของ นาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีข้อครหาว่าโอนเงินจากกองทุน 1MDB เข้าบัญชีส่วนตัวของตนเอง การใช้ชีวิตอย่างหรูหราของ รอสมะห์ มันโซร ภรรยาของนาจิบ และการฆาตกรรม อัลตันทูยา ชารีบู หญิงชาวมองโกเลียที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ช่วยคนสนิทของ นาจิบ ราซัค

หรืองานของฟาฮ์มี เรซาร์ กราฟิกดีไซน์เนอร์ เจ้าของภาพวาดหน้าตัวตลกนาจิบ ที่กลายเป็นกราฟิกที่ประชาชนใช้ต่อต้านนาจิบ ราซัคอย่างแพร่หลาย เขามีความหวังว่า งานของเขาจะเป็นรากฐานสำหรับคนรุ่นต่อไปในการผลักดันไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

และเขาก็ไม่ต้องรอนานเกินไป เมื่อผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 เป็นคำตอบว่า ชาวมาเลเซียจำนวนมากไม่พอใจในรัฐบาลของนาจิบและต้องการความเปลี่ยนแปลงมากเพียงใด โดยพรรคบีเอ็น (Barisan National-BN) พ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านเป็นครั้งแรกนับแต่มาเลเซียได้รับเอกราช

แม้จะมีส่วนในการเปลี่ยนดุลอำนาจทางการเมือง แต่ชะตากรรมของนักสร้างเสียงหัวเราะสัญชาติมาเลเซียไม่ได้แตกต่างไปจากชาติอื่นมากนัก ในปี 2559 ซูนาร์ถูกกล่าวหาว่าการ์ตูนของเขาเข้าข่ายยุยงปลุกปั่น และถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทนาจิบ ราซัค

ผลจากการกล่าวหาครั้งนี้ ทำให้เขาถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ปีเดียวกัน เรซาร์ถูกจับกุมฐานละเมิดพ.ร.บ.การสื่อสารและมัลติมีเดีย 2541 เพราะโพสต์ภาพนาจิบ ราซัค ในลักษณะตัวตลก ต่อมา เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ศาลตัดสินว่าเขามีความผิดและสั่งจำคุกเป็นเวลาหนึ่งเดือนและปรับเป็นเงิน 30,000 ริงกิต

 

เผด็จการ(ไทย)ก็ไม่ปราณีเสียงหัวเราะ

“เรารักพลเอกประยุทธ์” คือ ชื่อเพจเฟซบุ๊กที่เป็นภาพกราฟิกและมีมขำขันเกี่ยวกับ คสช. ซึ่งเกิดขึ้นมาช่วงหลังรัฐประหารปี 2014 ความสร้างสรรค์ทั้งภาพและข้อความเสียดสีตามสถานการณ์ที่แฟนเพจหรือใครผ่านมาเห็น ก็ต้องปาหัวใจหรือกดไลก์ให้อยู่ตลอด เช่น ภาพพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กำลังยิ้มแย้มและข้อความประกอบว่า “รำไม่ดี โทษรัฐบาลที่แล้ว”

ต่อมาในเดือนเมษายน 2016 แปดแอดมินผู้สร้างเสียงหัวเราะของเพจนี้ถูกจับกุมเข้าค่ายมทบ.11 เป็นเวลาหนึ่งคืน ก่อนจะถูกแจ้งความดำเนินคดียุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นอกจากนี้ ณัฏฐิกาและหฤษฎ์ 2 ใน 8 แอดมินยังถูกกล่าวหาเพิ่มเติมในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

ผ่านไปราวสองปี คดีความของทั้งแปดแอดมินยังอยู่ในขั้นสืบพยานโจทก์ที่ศาลทหาร ทั้งความกดดันยังส่งผลให้ณัฏฐิกา แอดมินหญิงหนึ่งเดียวของเพจนี้ลี้ภัยไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เธอเล่าถึงเหตุผลของการทำเพจแรกเริ่ม คือ หลังรัฐประหาร ประชาชนเคลื่อนไหวหรือใช้เสรีภาพไม่ได้ จึงสร้างเพจเฟซบุ๊กนี้โดยใช้ความตลกขบขันเข้าผลักดันเนื้อหา

แม้เพจจะนำภาพของพลเอกประยุทธ์และคนรอบข้างมาดัดแปลง ทำมีมสร้างเสียงหัวเราะ แต่เธอยืนยันว่า ข้อความในมีมล้อ ก็บอกเล่าจากข้อเท็จจริง เช่นเรื่องที่ว่า ทหารเข้ามายึดอำนาจ ซึ่งเป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ เพียงแต่ไม่ใช่ทุกคนที่อยากฟังหรือเห็นข้อเท็จจริงดังกล่าว

อีกเสียงหัวเราะหนึ่ง คือ เพจ Headache Stencil ที่มีการโพสต์ภาพกราฟิตีหรือสติกเกอร์ตามที่สาธารณะต่างๆ แต่ละภาพมีเนื้อหาเกี่ยวกับ คสช. และความไม่ชอบธรรมบางอย่างในสังคมไทย ผลงานชิ้นโด่งดังของเขา คือ กราฟิตีนาฬิกาปลุกหน้าพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่สะพานลอยย่านซอยสุขุมวิท 39 ซึ่งทำให้เขาถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจนตลอด 24 ชั่วโมง จนต้องหลบออกจากที่พักไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดอื่นชั่วคราว หลังจากนั้น ภาพดังกล่าวก็ถูกลบออกโดยใช้สีขาวทากลบทับ ท้ายที่สุด เขาและเพื่อนเข้าพบตำรวจสน.พระโขนง และยินยอมเสียค่าปรับจำนวน 3,000 บาทจากการพ่นกราฟิตี้ในที่สาธารณะ

นอกจากกราฟิตีนาฬิกาปลุกแล้ว เขายังเป็นเจ้าของภาพกราฟิตี้ที่เกี่ยวข้องกับคสช. เช่น ตุ๊กตาหมีสีฟ้า ใบหน้าคล้ายกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีข้อความเขียนที่หน้าท้องว่า Return of Happiness (คืนความสุข) ภาพพลเอกประยุทธ์ถือกระป๋องสีเขียนว่า เลข 44 และเขียนข้อความประกอบโพสต์ว่า I’m always right! (ฉันถูกเสมอ) ภาพสติกเกอร์ตุ๊กตาหมีหน้าคล้ายพลเอกประยุทธ์ที่ถูกแปะตามที่สาธารณะทั่วไป และกราฟิตีเสือดำ

อาจต้องบอกว่า เสียงหัวเราะมีพลังที่ช่วยทำลายกำแพงความกลัวของผู้คน และอาจมีผลสั่นคลอนอำนาจเผด็จการที่กดทับสังคมอยู่ได้ แต่จากหลายๆ กรณีในหลายประเทศทำให้เห็นว่า หากสังคมไม่แข็งแรงพอ ผู้สร้างเสียงหัวเราะเหล่านั้นก็มักมีชะตากรรมที่ต้องแบกรับเสี่ยงไว้ตามลำพัง

 

เรียบเรียงจาก:

Tags: , , , , , , , ,