คุณเคยได้ยินคำว่า Gender Pay Gap ไหมครับ
ปกติเวลาได้ยินคำนี้ เรามักจะนึกถึงการที่ผู้หญิงมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายใช่ไหมครับ แต่คำถามก็คือ ถ้าไปดู ‘เพศอื่นๆ’ ล่ะ คนที่มีความหลากหลายทางเพศมีรายได้เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับคนที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้ชายและผู้หญิง (ไม่ว่าการเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงจะมีความหมายเลื่อนไหลอย่างไรก็ตามน่ะนะครับ) อย่างไรบ้าง
แน่นอน เรื่องแบบนี้ไม่มีข้อมูลอะไรทั้งนั้นในเมืองไทยหรอกนะครับ เลยต้องพาคุณไปดูข้อมูลของคนอเมริกัน ที่น่าสนใจก็คือ ข้อมูลที่ว่านี้ มีตั้งแต่เก่าถึงใหม่ จึงบอกอะไรๆ ได้หลายอย่างทีเดียว
ในปี 1995 (ซึ่งเหมือนนานมากมาแล้ว) เคยมีการศึกษาของ เอ็ม.วี. ลี แบดเจ็ตต์ (M.V. Lee Badgett) ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเสทส์-แอมเฮิร์สต์ เขาเขียนรายงานชื่อ “The Wage Effects of Sexual Orientation Discrimination” ซึ่งมีข้อสรุปที่หลายคนอาจไม่ประหลาดใจเท่าไหร่ นั่นคือเขาบอกว่า คนที่เป็นเกย์และเป็นไบเซ็กชวล (ที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย หรือเป็น Bisexual Male) ในสหรัฐอเมริกานั้น มีรายได้ในการทำงานน้อยกว่าคนที่เป็นรักต่างเพศ โดยเฉลี่ยแล้ว เกย์จะได้รับน้อยกว่า 11 เปอร์เซ็นต์ และไบเซ็กชวลได้รับน้อยกว่า 27 เปอร์เซ็นต์ โดยทั้งหมดนี้ได้ควบคุมตัวแปรต่างๆ ทั้งประสบการณ์ในการทำงาน การศึกษา สถานภาพการสมรส หรือภูมิภาคที่อยู่แล้ว
หลังจากนั้น แบ็ดเจ็ตต์ได้ศึกษาซ้ำอีกในช่วงต้นสหัสวรรษใหม่ (คือช่วงปี 2000s) แต่ก็ยังพบผลคล้ายๆ เดิม คือคนที่เป็นเกย์นั้น มีรายได้น้อยกว่าชายรักต่างเพศ 10-32 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็น ‘ช่องว่าง’ ที่ไม่น้อยเลย และแนวโน้มก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นไปตลอดกาลใช่ไหมครับ
แต่เมื่อเร็วๆ นี้ มีการศึกษาของคริสโตเฟอร์ คาร์เพนเทอร์ และ ซามูเอล เอพพิงค์ ชื่อ “Does it Get Better? Recent Estimates of Sexual Orientation and Earnings in the United States” คราวนี้เป็นการศึกษาในปี 2013-2015 เขาพบว่าผู้ชายที่เป็นเกย์กลับหันมามีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าผู้ชายที่เป็นรักต่างเพศเป็นครั้งแรก แต่ยังไม่ได้ศึกษาแน่ชัดว่าสาเหตุเป็นเพราะอะไร แต่ทั้งคู่บอกว่า เป็นไปได้เหมือนกันที่คนกล้าออกมาประกาศตัวเป็นเกย์กันมากขึ้น รายได้เฉลี่ยที่เคยอยู่ในฝั่งของชายรักต่างเพศ จึงเหวี่ยงมาอยู่ฝั่งคนที่เป็นเกย์มากขึ้น
เป็นไปได้เหมือนกันที่คนกล้าออกมาประกาศตัวเป็นเกย์กันมากขึ้น รายได้เฉลี่ยที่เคยอยู่ในฝั่งของชายรักต่างเพศ จึงเหวี่ยงมาอยู่ฝั่งคนที่เป็นเกย์มากขึ้น
ฟังอย่างนี้แล้ว คุณอาจจะสงสัยว่า อ้าว! แล้วถ้าเป็นหญิงรักหญิงหรือเลสเบี้ยนบ้างล่ะ รายได้ของคนกลุ่มนี้เป็นอย่างไร สงสัยว่าจะต้องเป็นไปแบบเดียวกับเกย์แน่ๆ คือมีรายได้น้อยกว่าผู้หญิงรักต่างเพศใช่ไหม
เรื่องนี้มีการศึกษาในปี 2015 โดย มาเรียก้า คลาวิตเทอร์ (Marieka Klawitter) ซึ่งสอนด้านนโยบายสาธารณะและการปกครองอยู่ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เธอศึกษาวิเคราะห์ในแบบที่เรียกว่า Meta-Analysis คือเอาการศึกษาอื่นๆ ถึง 31 ชิ้น ในช่วงปี 1995-2012 มาวิเคราะห์ (ซึ่งก็รวมถึงงานของแบ็ดเจ็ตต์ด้วย) เธอพบว่าในเกย์ชายนั้นได้ผลคล้ายๆ แบ็ดเจ็ตต์ (เพราะการศึกษาจนถึงช่วงปี 2012) แต่ว่าถ้าเป็นเกย์ผู้หญิง (หรือเลสเบี้ยน) นี่สิ การศึกษาของเธอชื่อ “Meta-Analysis of the Effects of Sexual Orientation on Earnings” พบว่าถ้าเป็นหญิงรักหญิงในอเมริกาแล้ว โดยเฉลี่ยจะมีรายได้สูงกว่าผู้หญิงที่เป็นรักต่างเพศราว 9 เปอร์เซ็นต์ และเป็นแบบนี้มาโดยตลอด
นี่เป็นปรากฏการณ์ที่อาจทำให้หลายคนอึ้ง เพราะมันไม่ตรงกับที่คาดเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ นักสังคมวิทยาเรียกว่า ‘เลสเบี้ยนพรีเมียม’ (Lesbian Premium)
คำถามก็คือ – ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
เรื่องนี้อาจเป็นไปอย่างที่ เมลินดา เกตส์ (Melinda Gates) ภรรยาของบิล เกตส์ เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ก็ได้นะครับ เธอเคยบอกว่า ผู้หญิง (ที่เป็นรักต่างเพศ) ต้องใช้เวลาในการทำงานต่างๆ ที่ไม่ได้เงิน (Unpaid Work) เช่น ทำกับข้าว ทำความสะอาดบ้าน เปลี่ยนผ้าอ้อมลูก ฯลฯ เฉลี่ยถึงวันละ 4.5 ชั่วโมง ในขณะที่ผู้ชายใช้เวลาน้อยกว่านั้นราวครึ่งหนึ่ง เมลินดาพูดตามผลสำรวจเฉลี่ยของคนทั้งโลกนะครับ แต่ถ้าเฉพาะในอเมริกา พบว่าผู้หญิงต้องใช้เวลาทำงานบ้านเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง 12 นาที ส่วนผู้ชายใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 1 ชั่วโมง 21 นาที นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจของ National Women’s Law Center พบว่าคนที่เป็นแม่และทำงานเต็มเวลาในอเมริกา จะทำรายได้เฉลี่ยปีละ 40,000 เหรียญ ในขณะที่คนที่เป็นพ่อและทำงานเต็มเวลา จะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 56,999 เหรียญ ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่า สิ่งมีชีวิตที่เป็น ‘เพศหญิง’ ต้องแบ่งเวลาในการทำงานที่มีรายได้มาทำงานที่ไม่มีรายได้มากกว่าคนเพศอื่นๆ ผลลัพธ์ก็คือ ผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำเอาไว้ก่อนว่า ทั้งหมดนี้เป็นแค่ ‘ดูเหมือน’ เท่านั้น แต่ยังนำมาเป็นข้อสรุปไม่ได้นะครับ ว่าการทำงานบ้านหรืองานที่ไม่ได้ค่าจ้างนั้น ไปเบียดบังการทำงานที่ทำให้ผู้หญิงได้ค่าจ้างเต็มๆ แต่ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเนวาด้า ที่ใช้ข้อมูลระดับชาติตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ศึกษาผู้หญิงที่เป็นเลสเบี้ยนและรักต่างเพศ พบว่าเลสเบี้ยนที่ ‘เคย’ อยู่กินกับผู้ชายหรือมีสามีมาก่อน เป็นเลสเบี้ยนกลุ่มที่ทำรายได้น้อยกว่าคนที่ไม่เคยอยู่กินกับผู้ชายเลยเฉลี่ยราว 9.5 เปอร์เซ็นต์
นี่มีความหมายอย่างไรกัน?
เขาพบว่า เมื่อมีการควบคุมตัวแปรเรื่องการศึกษาและประสบการณ์ในการทำงานแล้ว ผู้หญิงที่เป็นเลสเบี้ยนและอยู่กินกับผู้หญิงด้วยกัน จะมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าผู้หญิงรักต่างเพศที่อยู่กินกับผู้ชาย 6.6 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นเลสเบี้ยนที่ในอดีตเคยมีสามีเป็นผู้ชายมาก่อน ตัวเลขนี้จะตกลงไปอยู่ที่ 5.2 เปอร์เซ็นต์
นั่นจึงยิ่งไปตอกย้ำข้อสงสัยที่ว่า – หรือ ‘ผู้ชาย’ จะเป็นตัวการฉุดรายได้ของผู้หญิงโดยรวมกันแน่!
แบ็ดเจ็ตต์เคยมีรายงานในปี 2009 เรื่อง “Bias in the Workplace: Consistent Evidence of Sexual Orientation and Gender Identity Discrimination 1998-2008” เป็นรายงานที่ดูการศึกษาต่างๆ หลากหลายแง่มุม ได้ข้อสรุปออกมาว่า แม้เลสเบี้ยนจะมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าผู้หญิงรักต่างเพศก็จริงอยู่ แต่ถ้าดูโดยภาพรวมแล้ว เลสเบี้ยนก็ยังมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าผู้ชายและคนที่เป็นเกย์อยู่ดี ซึ่งถ้าไปดูการศึกษาของคริสโตเฟอร์ คาร์เพนเทอร์ และซามูเอล เอพพิงค์ (เป็นการศึกษารายได้เฉลี่ยต่อปีของคนในช่วงปี 2013-2015 โดยเชื่อมโยงกับเพศวิถี) เขาพบว่า กลุ่มคนที่ทำรายได้เฉลี่ยมากที่สุด คือคนที่เป็นเกย์ (59,600 เหรียญต่อปี) ตามมาด้วยชายรักต่างเพศ (57,000 เหรียญต่อปี), ชายที่เป็นไบเซ็กชวล (49,800 เหรียญต่อปี), เกย์หญิงหรือเลสเบี้ยน (47,000 เหรียญต่อปี), หญิงรักต่างเพศ (39,900 เหรียญต่อปี) และสุดท้ายคือผู้หญิงที่เป็นไบเซ็กชวล (38,800 เหรียญต่อปี)
ดูเหมือนว่า สิ่งมีชีวิตที่เป็น ‘เพศหญิง’ ต้องแบ่งเวลาในการทำงานที่มีรายได้มาทำงานที่ไม่มีรายได้มากกว่าคนเพศอื่นๆ
ที่จริงแล้วเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่า ‘อะไร’ คือสาเหตุของรายได้เฉลี่ยที่ออกมามี ‘รูปแบบ’ แบบนี้ แต่แบ็ดเจ็ตต์บอกว่าเรื่องนี้เกิดจาก ‘อคติ’ ทางเพศที่มองโลกแบบชายหญิง เขายกตัวอย่างว่า โดยทั่วไป เลสเบี้ยนมักจะชอบทำงานประเภทที่อยู่ในพื้นที่ของผู้ชาย (เช่นงานประเภทโรงงาน วิศวกร การก่อสร้าง ฯลฯ) นั่นทำให้คนที่เป็นเลสเบี้ยนมีโอกาสได้รับเงินเดือนสูงกว่า เพราะเหมือน ‘บุก’ เข้าไปในพื้นที่ของผู้ชายได้มากกว่า ตัวเลขเฉลี่ยจึงสูงขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ไม่มีทางมีรายได้สูงเท่าผู้ชาย
ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ มีการศึกษาในปี 2008 พบว่าคนที่เป็นเลสเบี้ยนมักจะทำงานเต็มเวลาและไม่ค่อยออกจากตลาดแรงงานเหมือนผู้หญิงที่เป็นรักต่างเพศ การศึกษานี้ชี้ว่า เป็นไปได้ที่ผู้หญิงรักต่างเพศจะออกจากตลาดแรงงานเพราะมีลูก
ในขณะเดียวกัน มีอีกการศึกษาหนึ่งในอังกฤษ ชื่อ “Sexual Orientation and Earnings: New Evidence from the UK” ของเจวัต ยิไร อักซอย (Cevat Giray Aksoy) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์จาก European Bank for Reconstruction and Development เธอบอกว่าหลังจากควบคุมตัวแปรด้านการศึกษา ภูมิภาค และโครงสร้างครอบครัวแล้ว พบว่าเลสเบี้ยนที่มีคู่ จะมีรายได้มากกว่าผู้หญิงรักต่างเพศที่มีคู่ แต่ – เลสเบี้ยนที่ไม่มีคู่ ก็จะมีรายได้พอๆ กันกับผู้หญิงที่ไม่มีคู่ด้วย ซึ่งก็เป็นไปได้อีกนั่นแหละ ที่เมื่อผู้หญิงอยู่ด้วยกันแล้ว จะ Empower ซึ่งกัน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการศึกษานี้สรุปว่า การเลือกปฏิบัติทางเพศในที่ทำงาน ยังเป็นปัจจัยสำคัญน้อยกว่าการจัดการภายในครอบครัว
อักซอยบอกว่า ในความสัมพันธ์แบบรักต่างเพศทั่วไป ผู้ชายจะเป็นคนเข้าไปสู่ตลาดแรงงาน ไปทำงานเต็มเวลา ส่วนผู้หญิงจะคอยดูแลบ้าน ถ้าทำงานก็จะทำงานแบบพาร์ตไทม์ แต่ถ้าเป็นความสัมพันธ์แบบเลสเบี้ยน ทั้งคู่มีแนวโน้มจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งเรื่องนี้แตกต่างจากคู่รักที่เป็นเกย์ด้วย การศึกษาของคลาวิตเทอร์ในปี 2011 บอกว่า คนที่เป็นเกย์นั้นเมื่อมีความสัมพันธ์ก็มักจะทำงานน้อยลง (มีชั่วโมงการทำงานลดลง) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายรักต่างเพศที่จะยิ่งมุ่งหน้าไปทำงานมากขึ้น
การศึกษาต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นแค่ ‘สหสัมพันธ์’ ของปัจจัยต่างๆ เท่านั้นนะครับ ยังไม่ได้บอกว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังเวลานำไปอ้างอิง เพราะที่จริงแล้วต้องถือว่าปัจจัยต่างๆ มีความซับซ้อนอย่างมาก โดยเฉพาะคำถามหนึ่งที่ยังไม่มีใครตอบก็คือ ทำไมกลุ่มคนที่เป็นไบเซ็กชวล (ไม่ว่าจะมีเพศกำเนิดเป็นชายหรือหญิง) ถึงได้เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำสุดในทั้งสองฟากฝั่ง
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้บอกเราอยู่อย่างหนึ่งว่า เพศวิถีนั้นสัมพันธ์กับรายได้ในแบบที่เราอาจคิดไม่ถึง ซึ่งหากมีการศึกษาให้ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น เราอาจจะอธิบายปรากฏการณ์แบบนี้ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้
คำถามที่น่าสนใจก็คือ ไม่รู้เหมือนกันนะครับ ว่ามีการศึกษาทำนองนี้ในสังคมไทยบ้างไหม
ถ้ามี – ก็จะตอบคำถามเก่าๆ ได้บางคำถาม และชวนให้เราตั้งคำถามใหม่ๆ ได้อีกมากทีเดียว
อ่านต่อ:
- https://www.washingtonpost.com/news/wonk/wp/2016/02/25/the-surprising-reason-why-lesbians-get-paid-more-than-straight-women/?noredirect=on&utm_term=.275dcfa20a1f
- https://qz.com/881303/eight-million-americans-are-affected-by-a-pay-gap-that-no-one-talks-about/
- https://work.qz.com/1147659/gay-men-now-earn-more-than-straight-men-in-the-us-according-to-a-vanderbilt-study/