วันนี้ (23 ก.ค.2562) เมื่อเวลา 8.30 น. กลุ่มประชาชนจากหลายพื้นที่ในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ราว 100 คน นำโดย เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก ได้รวมตัวกันที่สถานีรถไฟหัวลำโพงก่อนจะเดินเท้าไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ถนนเจริญกรุง เพื่อติดตามผลการพิจารณาหนังสือคัดค้านการจัดทำผังเมือง EEC หลังจากได้ยื่นหนังสือคำร้องผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินเขตอีอีซีไว้เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา

ก่อนเริ่มเดินเท้า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามากำหนดเส้นทางในการเดินและขอเก็บป้ายที่ทางกลุ่มเตรียมมาไว้ โดยจะคืนให้ระหว่างทางแต่ทางกลุ่มเจรจาขอเก็บป้ายไว้เองและจะแสดงป้ายตรงที่ตำรวจอนุญาตให้แสดง ต่อมาเมื่อถึงสำนักงานอีอีซี เจ้าหน้าที่ได้เตรียมเต็นท์มากางรอไว้ให้ พร้อมกับมีตัวแทนของอีอีซีมารอรับหนังสือ

      

ทางกลุ่มได้อ่านแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า การจัดทำผังเมืองอีอีซี ไม่เป็นไปตามหลักการผังเมือง ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเพียงพอและครบถ้วน ทั้งยังเป็นผังเมืองที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มคนบางกลุ่มแต่กลับขับไล่ประชาชนออกจากที่ดิน ทำลายระบบนิเวศเฉพาะ แหล่งความมั่นคงทางอาหาร ทำลายวิถีชีวิตเศรษฐกิจของชุมชน และสร้างผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากในพื้นที่

ทางด้านตัวแทนของกลุ่มคัดค้านอีอีซี กล่าวแสดงความกังวลว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินของอีอีซีในหลายจุด ไม่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกง ซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อระบบนิเวศ นอกจากนี้ในแผนอีอีซียังมีการลงทุนโครงสร้างคมนาคมที่มีมูลค่ามหาศาลและยังมีประเด็นการให้สิทธิในการลงทุน เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ให้ต่างชาติครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้เป็นระยะเวลายาวนาน

โดยมีข้อเรียกร้องให้สำนักงานพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ยุติการพิจารณาให้ความเห็นชอบผังเมืองรวม EEC และดำเนินการจัดทำใหม่ตั้งแต่ต้นโดยให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย

หลังจากอ่านแถลงการณ์ ทางกลุ่มได้เดินทางต่อไปยังสำนักงาน กพร.ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือคัดค้าน โดยตำรวจได้จัดรถเมล์สองคันไว้รอรับ และในวันพร่งนี้ทางกลุ่มก็จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่รัฐสภาชั่วคราว สำนักงานใหญ่ทีโอที แจ้งวัฒนะ

สำหรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล คสช. โดยคาดหวังว่าจะเป็นการพัฒนาต่อยอดจากความสำเร็จของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือ Eastern Seaboard ซึ่งดำเนินการมาแล้วกว่า 30 ปี โดยระยะแรกจะใช้พื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีที่สูง เช่น ยานยนต์ เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ในรัฐบาล คสช. มีการออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันจะผลักดัน EEC ทั้งในการประชุม ครม.สัญจรที่จันทบุรีและต่อหน้านักลงทุนจากทั่วโลกในงานประชุม CLSA อาเซียน ประจำปี 2562 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ว่าขอให้นักลงทุนต่างชาติสบายใจได้ รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปตามแผนการที่วางไว้อย่างแน่นอน

Tags: , ,