ไม่กี่วันก่อน ผมได้เห็นความตื่นตัวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คลื่นวิทยุค่ายเพลงดังที่ปกติเปิดแต่เพลงป็อบเริ่มพูดเรื่องการเมือง ยูทูเบอร์อย่าง วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา ทำสัมภาษณ์วิเคราะห์การเลือกตั้ง และเพจเฟซบุ๊กว่าด้วย ‘ไลฟ์สไตล์’ ยอมพูดถึงการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก จากที่ปกติมองการเมืองเป็นเพียงอากาศธาตุ
เมื่อพูดถึงสิ่งสำคัญในเรื่องการเมือง นั่นคือการพูดถึงนโยบาย พูดถึงตัวบุคคล หรือการวิเคราะห์ลงถึงราก ทุกสิ่งล้วนเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ต่างไปจากเดิม ต่างไปจากครัั้งก่อนหน้าที่พูดเพียงว่าให้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อย่านอนหลับทับสิทธิ์ หรือการขอให้ไปทำหน้าที่เลือก ‘คนดี’ เข้าสภาฯ ไปสู่การเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความอัดอั้น
ต้องยอมรับว่าในห้วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา นับจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ประเทศไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เริ่มตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาด้วยความเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวที่ตั้งคำถามกับทุกสถาบันทางการเมือง และความลำบากยากเข็ญที่ทำให้หลายคนรู้สึกสิ้นหวัง ทำให้หลายคนตัดสินใจย้ายประเทศ หรือหาลู่ทางอื่น
แน่นอนว่าการเลือกตั้งรอบนี้ได้ปลุกความหวังของพวกเขาขึ้นมาอีกครั้ง ว่าจะสามารถเปลี่ยนอะไรได้ เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้มีเวลาเพียง 4 วินาที ในการหย่อนบัตรอีกต่อไป แต่เป็นการเลือกตั้งที่แต่ละคนสะสมความแค้น สะสมความอัดอั้นมายาวนาน ด้วยความหวังจะเปลี่ยนประเทศผ่านบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และเพื่อการสู้กลับ ไม่ใช่เพื่อหนี
นั่นทำให้แต่ละพรรคการเมืองตีโจทย์อันแหลมคมในการเลือกตั้งรอบนี้ ผ่านการเปลี่ยนโครงสร้าง ไม่ว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจปากท้อง โครงสร้างการเมือง และโครงสร้างทางสังคม
นโยบายยากๆ ที่หลายคนไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะยกเลิกเกณฑ์ทหาร สมรสเท่าเทียม ปลดล็อกการผลิตสุราชุมชน หรือการตั้งคำถามกับเรื่องอันเป็นไปไม่ได้ อย่างมาตรา 112 ล้วนมีผู้เสนอเป็นแพ็กเกจผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งมีมากกว่าหนึ่งพรรคการเมืองที่พูดเรื่องดังกล่าว กลายเป็นองค์รวมใหม่ที่เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ว่าอะไรที่ยากๆ อะไรที่ซับซ้อน ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ผ่านบัตรเลือกตั้ง
ไม่ว่าเราจะเรียกการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นการแข่งขันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการ เป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มเสรีนิยมกับฝ่ายอนุรักษนิยม หรือเป็นการฟาดฟันกันระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านเดิม ไม่ว่าจะเลือกข้างไหน แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีนัยสำคัญอยู่ที่ความเชื่อที่จะ ‘เปลี่ยน’
เชื่อว่าการเมืองจะเปลี่ยนอะไรได้จริง ประเทศจะดีขึ้นได้หากการเมืองดี เราจะมีอนาคตที่ดีขึ้น มีความหวังมากขึ้น หลังจากจมกับความขัดแย้งด้วยวิกฤตการเมืองอันยาวนานที่สะสมมากว่า 2 ทศวรรษ
ดูเหมือนว่าสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเริ่มต้นผ่านการเลือกตั้งรอบนี้กำลังรุนแรง และน่าจะมาอย่างรวดเร็ว
ใช่ ยังมีหลายเรื่องที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายใต้สัญญาณอันผิดปกติ ความพยายามจัดตั้งรัฐบาลโดยกลุ่มที่ได้เสียงน้อยกว่าด้วยการอาศัยเสียง ส.ว. หรือการใช้ ‘นิติสงคราม’ เพื่อต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งทำให้ชวนสงสัยได้ว่า การเลือกตั้งรอบนี้จะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่
ทว่าการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด เรายังคงเดินอยู่บนเส้นทางอันยาวไกล ยังมีอีกหลายด่านให้เราต้องเดินผ่าน แต่หากความหวังยังทำงาน หากเรายังเชื่อว่ากลไกประชาธิปไตยสามารถแสดงออก สามารถต่อสู้ผ่านการเลือกตั้งได้ ก็จงอย่าหมดหวัง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้คือข้อพิสูจน์ว่า
‘ประชาชนจะมาทวงคืน’
และ ‘ประชาธิปไตยจะได้รับชัยชนะ’
Tags: Democracy Strikes Back