นับเป็นครั้งแรกที่ตัวผลงานการจัดการเลือกตั้งเองตกเป็นเป้าจับตาไม่น้อยไปกว่าผลคะแนนของแต่ละพรรคแต่ละฝ่าย ในสายตาของนานาชาติและสื่อต่างประเทศ ภาพลักษณ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งดูรุ่งริ่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ตั้งแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันอาทิตย์ (24 มี.ค.) จนล่วงเข้าวันอังคารที่กำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ไม่เพียง กกต.จะถูกวิจารณ์อย่างหนักภายในประเทศ กระทั่งมีการลงชื่อทางออนไลน์เสนอให้ถอดถอนกรรมการการเลือกตั้งยกชุด ในทางสากล กกต.ก็ถูกจัดหนักเช่นเดียวกัน

ประเด็นหลักที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ก็คือ ความผิดปกติสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่ระดับของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ในการขานคะแนน นับคะแนน รวมคะแนน เช่น บัตรดีตีเป็นบัตรเสีย ยอดผู้ใช้สิทธิมีเกินกว่าจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ไปจนถึงระดับของคณะกรรมการ ที่เผยแพร่ผลคะแนน ส.ส.เขตล่าช้าและสับสน

ปฏิกิริยาจากนอกประเทศต่อองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่จัดการเลือกตั้งของไทย ปรากฏให้เห็นทั้งในรายงานข่าวของสื่อนอกหลายสำนัก และในถ้อยแถลงของรัฐบาลต่างชาติและองค์การระหว่างประเทศ

‘เหตุผิดปกติ’

เสียงวิจารณ์ กกต.ที่ดังกระหึ่มผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่าง “ไม่ชอบมาพากล” หรือ “มีพิรุธ” ถูกสื่อนอกนำไปรายงานด้วยคำกลางๆว่า “เหตุผิดปกติ’ พร้อมกับอ้างถึงแฮชแท็กยอดนิยมอย่างเช่น #กกตโป๊ะแตก #โกงเลือกตั้ง

นอกจากอ้างถึงแฮชแท็กที่ติดเทรนต์ที่ว่าแล้ว สำนักข่าว ดีพีเอ ของเยอรมนี รายงานด้วยว่า เมื่อคืนวันอาทิตย์ ประธาน กกต. นายอิทธิพร บุญประคอง ออกมาแถลงกับนักข่าวเพียงสั้นๆ โดยไม่เปิดเผยผลการนับคะแนนเบื้องต้นอย่างที่ได้นัดแนะไว้ ซึ่งไม่มีการชี้แจงเหตุผล

ในทำนองเดียวกัน สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า การจัดการเลือกตั้งในไทยมีเสียงร้องเรียนมากมายเกี่ยวกับเหตุผิดปกติต่างๆ และตัวเลขการนับคะแนนก็เต็มไปด้วยความสับสน เนื้อหาข่าวของบีบีซีเป็นไปในทิศทางเดียวกับรายงานจาก ซีเอ็นเอ็น และ รอยเตอร์

เหตุผิดปกติที่เกิดขึ้น ไม่ว่ากรณีบัตรเกิน ยอดผู้ออกมาใช้สิทธิสูงกว่าจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงในบางหน่วย ฯลฯ ได้รับคำชี้แจงจาก กกต.ว่าเป็นความผิดพลาดในระดับผู้ปฏิบัติ ที่เรียกว่า ‘human error’

คำแก้ต่างในทำนอง “ของมันผิดพลาดกันได้ ไม่ได้มีเจตนา ไม่ใช่นโยบาย” จะฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร แล้วแต่วิจารณญาณของคนฟัง

ต้องรีบเคลียร์ก่อนเสียเครดิต

สิ่งที่เรียกว่า “เหตุผิดปกติ” ไม่ได้พูดกันหนาหูในหมู่ชาวเน็ตไทยเท่านั้น ในวันจันทร์ (25 มี.ค.) สหภาพยุโรป (อียู) และสหราชอาณาจักร ออกถ้อยแถลงมีใจความอย่างเดียวกัน ระบุถึง “irregularities” ในการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ไทย

โฆษกของอียู แถลงที่กรุงบรัสเซลส์ ว่า อียูหวังที่จะได้เห็นการประกาศผลการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด และข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเหตุผิดปกติในเรื่องการนับคะแนนและจำนวนตัวเลขต่างๆ ได้รับการแก้ไขให้กระจ่างด้วยความรวดเร็วและโปร่งใส

ทางด้าน รัฐมนตรีกิจการเอเชียของกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ แนะนำว่า ไทยควรเร่งสอบสวนเหตุผิดปกคิต่างๆ โดยรวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งของไทยมีความน่าเชื่อถือ และผลการเลือกตั้งเกิดความชัดเจนโดยเร็วที่สุด

ต่อมาในวันอังคาร โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ แถลงว่า สหรัฐฯ ขอร่วมกับประชาชนไทย เรียกร้องให้มีการประกาศผลคะแนนเลือกตั้งโดยฉับไว และสอบสวนเหตุผิดปกติต่างๆ อย่างเป็นธรรมและโปร่งใส (Reuters, 26 March 2019) ถ้อยคำสำนวนที่ใช้ดูจะแฝงน้ำเสียงเข้มทีเดียว

ความน่ากังขาต่อการจัดการเลือกตั้งได้รับการตอกย้ำในวันอังคาร เลขาธิการเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี นายโรฮานา เฮทเทียราชชี ปฏิเสธที่จะสรุปความเห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรมหรือไม่ (Reuters, 26 March 2019)

น่าเสียดายว่า สหภาพยุโรปไม่ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมในการเลือกตั้ง ด้วยเหตุว่าประเทศเจ้าบ้านไม่ส่งคำเชิญในกรอบเวลาที่กำหนด (คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย, 22 มีนาคม 2562) ทำให้การจัดการเลือกตั้งขาดผู้ประเมินภายนอกที่หลากหลาย

งานนี้ ถ้าจะไล่เบี้ยหาคนรับผิดชอบต่อการจัดการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยข้อครหา นอกจากโฟกัสที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว ไม่ควรลืมนึกถึงต้นตอที่มาของ กกต.ชุดนี้ด้วย นั่นคือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) องค์กรนิติบัญญัติที่คณะรัฐประหารเป็นผู้ให้กำเนิด.

Tags: ,