เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ผ่านตาหลากประเด็นดราม่าว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ฝ่ายหนึ่งบอกย้ำซ้ำๆ ว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ เงินในกระเป๋าหดหาย การค้าเงียบเหงา ส่วนอีกฝั่งก็คัดง้างด้วยภาพความคึกคักของห้างสรรพสินค้า หรือการเปรียบเทียบตัวเลขเศรษฐกิจในระดับมหภาคเพื่อยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังไปได้

เรื่องเล่าทั้งสองราวกับอยู่ในโลกคู่ขนาน ผนวกกับการที่รัฐบาลบอกย้ำซ้ำๆ ว่าเศรษฐกิจดี เศรษฐกิจดี เศรษฐกิจดี ยิ่งปะทุให้ฝั่งที่รู้สึกว่าเศรษฐกิจแย่รู้สึกเดือดดาลว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจ ส่วนอีกฝ่ายก็ยิ้มละไม บอกว่าเห็นไหม รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเขายังบอกว่าเศรษฐกิจดี ก็แปลว่ามันยังดีสิ ฯลฯ

บทความนี้ ผู้เขียนขอลงลึกไปอีกขั้น โดยเปลี่ยนคำถามว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ ให้เป็นว่าทำไม ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจเช่นใด รัฐบาลก็พึงบอกกับประชาชน นักลงทุน รวมถึงประชาคมโลกว่าเศรษฐกิจดี รวมถึงแนวคิดของ ซิลวิโอ กีเซลล์ (Silvio Gesell) ผู้ประกอบการชาวเยอรมันที่เสนอนิยามใหม่ของเงินตราที่จะช่วยแก้ปัญหาความลุ่มๆ ดอนๆ ของเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ว่าด้วยคำพยากรณ์ที่เป็นจริงด้วยตัวเอง (Self-fulfilling prophecy)

ครั้งแรกที่ผมได้ยินคำว่าคำพยากรณ์ที่เป็นจริงด้วยตัวเอง คือสมัยที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมไลฟ์โค้ช ปลุกพลังในตัวคุณ หรือหนังสือฮาวทูพัฒนาตนเองที่พร่ำบอกเราว่าการเปลี่ยนแปลงตนเองต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงความคิด ความคิดจะดึงดูดให้สิ่งที่อยู่ในหัวให้เกิดเป็นความจริง หรือหากสรุปง่ายๆ คือคิดอย่างไรก็ได้แบบนั้น

อ่านผ่านๆ ดูเป็นเรื่องจิตวิทยาว่าด้วยการควบคุมความคิดและการกระทำของตัวเอง แล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ หรือสภาวะเศรษฐกิจอย่างไร?

แม้เศรษฐศาสตร์และการวิเคราะห์เศรษฐกิจจะถูกฉาบทาด้วยคณิตศาสตร์ยุ่งยากและความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่หากกะเทาะดูเนื้อแท้ด้านใน สุดท้ายเศรษฐศาสตร์ก็เป็นสังคมศาสตร์ที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อมนุษย์ แม้ช่วงหนึ่งที่ศาสตร์ดังกล่าวจะถูกอิทธิพลของสำนักนีโอคลาสสิกซึ่งสร้างแบบจำลองโดยอิงจากเศรษฐมนุษย์ หรือมนุษย์ผู้มีเหตุมีผลอย่างยิ่ง (และไม่ใช่มนุษย์จริงๆ) อิทธิพลดังกล่าวค่อยๆ ถูกลดทอนลงจากความเสียหายครั้งแล้วครั้งเล่าจากคำทำนายที่ผิดพลาดบนสมมติฐานที่เหนือจริง พร้อมกับการถือกำเนิดของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่พยายามสร้างมนุษย์ในแบบจำลองให้ใกล้เคียงกับมนุษย์ปุถุชนมากขึ้น

แนวคิดใหม่หมาดอย่างเศรษฐศาสตร์เรื่องเล่า (Narrative Economics) ซึ่งนำเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล โรเบิร์ต ชิลเลอร์ (Robert Shiller) ที่พยายามอธิบายปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจผ่านปัจจัยของเรื่องเล่าที่ไวรัลในสังคม

เรื่องเล่าหนึ่งที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง และอาจเข้าข่ายคำพยากรณ์ที่เป็นจริงด้วยตัวเองคือการคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจ

คำว่าเศรษฐกิจดีหรือแย่นั้น อาจวัดง่ายๆ ด้วยปริมาณและมูลค่าธุรกรรมทางเศรษฐกิจ สภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น หมายถึงการที่เงินเปลี่ยนมือเร็ว เมื่อผู้คนจับจ่ายใช้สอยซื้อหาสินค้า เงินดังกล่าวก็จะไหลไปสู่ผู้ผลิตต้นทาง อาจนำไปสู่การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มเติมหรือการจ้างงาน 

ยกตัวอย่างเช่น หากผมกินข้าวผัดกระเพราหมูสับโปะไข่ดาว หลังจากยื่นธนบัตร 50 บาทให้ป้าเล็กแม่ค้าร้านตามสั่ง เงินดังกล่าวก็จะสะพัดไปถึงลุงอู๊ดเจ้าของเขียงหมู น้าต่ายแม่ค้าข้าวสาร รวมถึงบริษัทผลิตซอสและเครื่องปรุงรส เหล่าบุคคล (รวมถึงนิติบุคคล) เหล่านี้เองก็จะนำเงินไปจับจ่ายซื้อวัตถุดิบจากต้นทางจากเกษตรกร ส่วนเกษตรกรเองก็ต้องกินต้องใช้ โดยกลับมาซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งพวกเขาหรือเธออาจมาใช้บริการบริษัทที่ผมเป็นลูกจ้าง ซึ่งจะจ่ายเงินเดือนกลับมาให้ผมอีกที วนเวียนเป็นวัฏจักรไม่สิ้นสุด (อ่านเพิ่มเติมได้ใน จีดีพี ดัชนีที่ไม่ได้วัดความเป็นอยู่ที่ดี)

แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจจะพอเติบโตได้ แต่หากคนส่วนใหญ่ในสังคมคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะแย่ในอนาคต สิ่งที่เกิดขึ้นคือกลุ่มคนเหล่านั้นจะเข้าสู่สภาวะ ‘รัดเข็มขัด’ ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงชะลอการกู้ยืมเพื่อซื้อสินทรัพย์อย่างรถยนต์และที่อยู่อาศัย เมื่อเงินไม่สะพัด พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ได้ วัฏจักรด้านบนก็จะ ‘ย้อนกลับ’ ผู้ผลิตทั้งบุคคลและนิติบุคคลซึ่งเคยมีรายได้เพียงพอต่อการจ้างงานก็ต้องลดขนาด ส่งผลซ้ำร้ายให้การบริโภคโดยรวมลดลงไปอีก เศรษฐกิจแย่ที่เคยเป็น ‘คำพยากรณ์’ ของคนส่วนใหญ่ก็จะกลายเป็นความจริง

อ่านเผินๆ ดูจะเป็นเรื่อง ‘มโน’ แต่นักเศรษฐศาสตร์ได้ทำการศึกษาประเด็นดังกล่าวทั้งในห้องทดลอง หรือสถานการณ์จริงเช่นวิกฤตในตลาดหลักทรัพย์ ต่างก็พบว่าความกังวลต่อสภาวะการณ์ในอนาคตจะส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น อุปสงค์ที่ลดลง หรือการรับความเสี่ยงที่น้อยลง

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ธันวาคม 2561 – 2562 ข้อมูลจาก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

นี่คือสาเหตุที่ดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นของสาธารณชน เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค หรือดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญในการพยากรณ์ว่าอนาคตอันใกล้สภาวะเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ มองหาสัญญาณเตือนก่อนภาวะเศรษฐกิจถดถอย) จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรัฐบาลจึงต้องแสดงความเชื่อมั่น และพร่ำบอกซ้ำๆ ย้ำว่าเศรษฐกิจดี อนาคตสดใส เพื่อหวังให้คนส่วนใหญ่คล้อยตาม ดึงความเชื่อมั่นของคนในสังคมกลับคืนมา เมื่อคนส่วนใหญ่เชื่อว่าเศรษฐกิจดี สุดท้ายเศรษฐกิจมันก็จะดีเองนั่นแหละ!

เงินแห่งอิสรภาพของกีเซลล์ แนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจพอมองเห็นถึงวัฎจักรเศรษฐกิจดีและเศรษฐกิจถดถอยเป็นผลมาจาก ‘การคาดการณ์’ ของมนุษย์ปุถุชนเป็นส่วนมาก ซิลวิโอ กีเซลล์ ผู้ประกอบการชาวเยอรมันผู้ได้ประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของอาร์เจนติมาเมื่อราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้เสนอแนวคิดว่าปัญหาเกิดขึ้นเพราะเงินมี 2 บทบาทที่ขัดแย้งกัน คือ ใช้สำหรับสะสมมูลค่า ในขณะเดียวกันก็จำเป็นสำหรับการทำธุรกิจ

ซิลวิโอ กีเซลล์ (ค.ศ. 1862 – 1930) ผู้ประกอบการชาวเยอรมัน และนักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจึงมีสาเหตุมาจากคนส่วนใหญ่ที่มีเงินแต่ ‘กอด’ เอาไว้ไม่ยอมนำมาใช้ ซึ่งวิธีทางแก้ที่เขานำเสนอคือเงินรูปแบบใหม่ที่ ‘เน่าได้เหมือนมันฝรั่ง’ เปลี่ยนบทบาทให้เงินเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมล้วนๆ ไม่มีอย่างอื่นเจือปน โดยเขาเรียกว่า ‘เงินแห่งอิสรภาพ (free money)’ กล่าวคือเงินที่เป็นอิสระจากการกักตุน เขาเชื่อว่าเมื่อเงินไม่ถูกกักตุนและหมุนในระบบเศรษฐกิจอย่างที่ควรจะเป็น ปัญหาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำย่อมไม่เกิดขึ้น

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ความคิดของกีเซลล์เป็นเพียงภาคทฤษฎี กระทั่ง ค.ศ. 1930 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วทั้งสหภาพยุโรปทำให้ทุกคนแสวงหาทางแก้ปัญหา และหนึ่งในนั้นคือแนวคิดเงินที่หมดอายุได้ของกีเซลล์

ใน ค.ศ. 1932 วอเกิล (Wörgl) เมืองเล็กๆ ในออสเตรียได้นำแนวคิดเงินหมดอายุของกีเซลล์มาใช้จริง โดยออกธนบัตรที่จะได้รับการ ‘แสตมป์’ เมื่อถูกใช้งาน เป็นการต่ออายุไม่ให้หมดมูลค่าไป ระบบดังกล่าวช่วยชุบชูเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ อัตราว่างงานที่สูงลิ่ว และธุรกิจที่เริ่มปิดตัว จนได้รับการเรียกขานว่า ‘ปาฏิหาริย์แห่งวอเกิล’ 

หลังจากที่หนังสือว่าด้วยแนวคิดของกีเซลล์ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ หลายเมืองในสหรัฐอเมริกาก็เริ่มนำแนวคิดดังกล่าวมาทดลองใช้จริง นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นแนวหน้าแห่งยุคสมัยอย่าง เออร์วิง ฟิชเชอร์ (Irving Fisher) ซึ่งพยายามล็อบบี้ให้รัฐบาลออกเงินที่ต้องแสตมป์เพื่อบรรเทาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐอเมริกา รวมถึง จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ที่กล่าวถึงทฤษฎีของกีเซลล์ในหนังสือเล่มดังของเขาว่า “แนวคิดเบื้องหลังเงินที่ต้องแสตมป์ฟังดูสมเหตุสมผล”

ปัจจุบัน หลายประเทศเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งเครื่องมือดั้งเดิมอย่างการลดอัตราดอกเบี้ย หรืออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยธนาคารกลางดูจะไม่สามารถทำเศรษฐกิจให้กลับมากระเตื้องได้อีกครั้ง ชื่อของ ซิลวิโอ กีเซลล์ เริ่มถูกกล่าวถึงมากขึ้นทั้งในปาฐกถาผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ งานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และบทความในหน้านิตยสารดัง เงินแสตมป์ของกีเซลล์นั้นจะทำให้ไม่ต้องกังวลว่าการคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคตของผู้คนจะส่งผลต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจอีกต่อไป เพราะประชาชนถูกบังคับ (โดยปริยาย) ให้ใช้เงินในมือ

ในยุคที่เทคโนโลยีล้ำสมัย เราคงไม่ต้องมาลำบากลำบน ‘แสตมป์’ บนธนบัตรกระดาษ ดังเช่นนักเศรษฐศาสตร์เคยเสนอถึงการเก็บภาษีกีเซลล์ (Gesell tax) โดยต้องเปลี่ยนเงินในระบบทั้งหมดให้เป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์เสียก่อน เพื่อให้ประชาชนไม่สามารถ ‘หนี’ ภาษีดังกล่าวโดยถอนเงินจากธนาคารแล้วถือไว้เป็นเงินสด ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็คือภาวะอัตราดอกเบี้ยติดลบซึ่งในหลายประเทศกำลังเผชิญอยู่นั่นแหละครับ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ โลกใบใหม่ของดอกเบี้ยติดลบและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น)

แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีรัฐบาลหรือธนาคารกลางแห่งไหนมีท่าทีชัดเจนว่าจะเอาเงินแสตมป์มาใช้ หรือการเก็บภาษีกีเซลล์จากเงินที่ดองไว้ในธนาคาร แต่หากสภาวะเศรษฐกิจยังคงถดถอยจนภาครัฐเริ่มหมดปัญญาแก้ไข ก็ไม่แน่ว่าในอนาคต แนวคิดดังกล่าวอาจถูกหยิบกลับมาปัดฝุ่นและอาจเปลี่ยนแปลงหน้าตาของระบบเศรษฐกิจแบบที่เราอาจนึกไม่ถึง

เอกสารประกอบการเขียน

Forecasted economic change and the self-fulfilling prophecy in economic decision-making

Will the next recession be a self-fulfilling prophecy?

Self-fulfilling prophecy of recession could take down the bull market: Nobel Prize winner Robert Shiller

The “Strange, Unduly Neglected Prophet”

Tags: ,