“จากนี้เป็นต้นไป ใครที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วปรากฏว่าไม่มีการติดตั้งแอปฯ ‘หมอชนะ’ จะถือว่าผิดตามประกาศฉบับ 17 นี้”

ประโยคจาก นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. กล่าวเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่และถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ แม้ว่าในภายหลังนายแพทย์ทวีศิลป์จะออกมาแก้ข่าวว่าประกาศดังกล่าวเป็นการขอความร่วมมือประชาชนที่ ‘ไม่ซีเรียสขนาดนั้น’ และหากไม่ทำตามก็ไม่ถึงขั้นติดคุก แต่คำแถลงการณ์รวมถึงข้อความในประกาศก็สะท้อนได้ดีว่ารัฐไทยไม่เห็นหัวประชาชนที่เข้าไม่ถึง ‘ดิจิทัล’

ถ้านี่เป็นครั้งแรก ผู้เขียนก็คงพอเข้าใจได้ แต่การมองข้ามหัวประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีสมาร์ตโฟน เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต หรือไม่มีคอมพิวเตอร์ครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้เราพอเห็นภาพว่าเหล่าชนชั้นนำในห้องประชุมที่ตัดสินใจออกแบบนโยบายช่วยเหลือผ่านระบบออนไลน์อย่างภาคภูมิใจว่าเป็นก้าวใหม่สมกับวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 ดูจะไม่เข้าใจแนวคิด ‘ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (digital divide)’ แม้แต่น้อย แถมยังพร้อมจะกีดกันเหล่าประชาชนที่เข้าไม่ถึงดิจิทัลให้ไปกระเสือกกระสนเอาตัวรอดกันเองอย่างหน้าตาเฉย

เดี๋ยวจะหาว่าผู้เขียนกล่าวโจมตีรัฐบาลแบบเกินเลย ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปก่อนการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลชุดนี้ดำเนินนโยบายผ่านการลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตหลายต่อหลายครั้ง แต่การระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รัฐบาลก็ยังเลือกใช้วิธีลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์เช่นกัน วิธีการดังกล่าวไม่ต่างจากการซ้ำเติมกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมากๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงดิจิทัล และเจ็บหนักจากมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ยังไม่นับการ ‘สักแต่ว่าสั่ง’ ให้ปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แล้วย้ายการเรียนการสอนทั้งหมดสู่ระบบออนไลน์โดยไม่มีใครทันตั้งตัว บ้านไหนมีทรัพยากรล้นเหลือก็สบายไป ส่วนบ้านไหนมีโทรศัพท์สมาร์ตโฟนเพียงหนึ่งเครื่องก็ไม่รู้จะแบ่งกันยังไง เพราะเด็กทุกคนในบ้านต่างก็ต้องใช้เล่าเรียน

ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลมากแค่ไหน?

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (digital divide)’ หมายถึงช่องว่างระหว่างกลุ่มคนที่สามารถได้ประโยชน์จากโลกดิจิทัล และกลุ่มคนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัยทำให้เสียเปรียบคนกลุ่มแรก เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะไม่สามารถเข้าถึงข่าวสาร ซื้อสินค้า และใช้บริการบนโลกออนไลน์ รัฐไทยได้ทำให้ช่องว่างดังกล่าวกว้างกว่าเดิมโดยการจำกัดช่องทางการรับการเยียวยาโดยรัฐผ่านระบบดิจิทัลเท่านั้น

เว็บไซต์ DataReportal ระบุว่า ประชากรไทยราว 69 ล้านคนนั้น มีเพียง 52 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 75 ที่เข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ต แต่หากอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ครัวเรือนไทยร้อยละ 68 เท่านั้น ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต นั่นหมายความว่าสารพัดโครงการที่รัฐออกแบบให้ลงทะเบียนผ่านอินเทอร์เน็ตก็ไม่ต่างจากการกีดกันประชากรจำนวนมากซึ่งมีแนวโน้มว่าเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุออกไปโดยปริยาย

ความไม่พร้อมเชิงโครงสร้างยังสะท้อนผ่านสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน ข้อมูลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศพบว่า ครัวเรือนไทยมีคอมพิวเตอร์เพียงร้อยละ 21 เท่านั้น น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 38 หากอิงตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าสองแสนบาทต่อปีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

 นั่นหมายความว่าความพยายามผลักดันให้นักเรียนและนักศึกษาไปเรียนออนไลน์อาจกลายเป็นนโยบายที่ถ่างกว้างความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา เพราะกลุ่มเด็กยากจนจำนวนมากไม่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่บ้าน สุดท้ายกลุ่มเด็กเหล่านี้ก็ต้องหาทางรอดโดยไปรวมตัวกับเพื่อนที่มีคอมพิวเตอร์เพื่อเรียนพร้อมกัน กลายเป็นว่าเด็กๆ เหล่านี้ก็ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อแม้ว่าจะย้ายจากการเรียนในห้องเรียนสู่โลกออนไลน์

รัฐไทยกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 20 ปี เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้เข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มภาคภูมิ ผู้เขียนรู้สึกยินดีอย่างยิ่งเมื่อพบว่าอย่างน้อยประเทศไทยก็มีแผนในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

 แต่พออ่านในรายละเอียดแล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้องกุมขมับ เพราะมีหลายแผนงานที่อ่านแล้วดูแปร่งๆ เช่น การพัฒนาโลกออนไลน์ให้เป็นมิตรกับผู้พิการ สร้างกลไกตรวจสอบข้อมูลข่าวสารออนไลน์เพื่อเฝ้าระวังข่าวปลอม สร้างสื่อและแหล่งเรียนรู้ดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่การลงทุนลงแรงทั้งหมดนี้จะมีประโยชน์เท่ากับศูนย์ทันทีหากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือไม่มีทักษะในการใช้งาน

แต่ไม่เป็นไรครับ เพราะแผนงานดังกล่าวมี ‘เรือธง’ คือการขยายศูนย์สารสนเทศชุมชนไปสู่ทุกตำบลเพื่อขยายโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโลกดิจิทัลได้ง่ายขึ้น พร้อมกับความฝันสวยหรูว่าศูนย์ดังกล่าวจะเป็นจุดรับบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ และเป็นแหล่งให้ความรู้ด้านการทำธุรกิจออนไลน์ บริการการศึกษา เกษตร สุขภาพ ท่องเที่ยว ไปจนถึงเรื่องสิทธิและสวัสดิการสังคม

แต่รายงานการตรวจสอบการใช้งบประมาณโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่เน้นการตรวจศูนย์สารสนเทศชุมชนภาคตะวันออกจำนวน 104 แห่ง เมื่อ พ.ศ. 2559 กลับฉายภาพศูนย์ฯ ดังกล่าวไม่ต่างจากอาคารร้างที่ไม่สร้างประโยชน์ใดๆ เพราะศูนย์สารสนเทศชุมชนร้อยละ 31 หยุดดำเนินการไปแล้ว ร้อยละ 43 ไม่มีผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และแทบทุกแห่งไม่ได้จัดอบรมประชาชนมาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

รายงานดังกล่าวระบุความเห็นว่า “ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนยังไม่สามารถบริหารจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายของการจัดตั้ง” ทั้งไม่สามารถให้บริการคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ไม่สามารถส่งเสริมความรู้แก่ประชาชน ไม่มีการทำเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวโดยสรุปคือล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

แน่นอนครับว่ารัฐบาลไทยย่อมเรียนรู้จากความล้มเหลวดังกล่าว โดยมีแผนเดินหน้ายกระดับศูนย์สารสนเทศชุมชนสู่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งผู้เขียนคาดว่าไม่นานหลังจากพิธีเปิดก็คงจะกลายเป็นอาคารร้างเช่นเดิม

แล้วเราจะจัดการ ‘ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล’ อย่างไร

รายงานของ Economist Intelligence Unit ระบุว่า อุปสรรคสำคัญ 2 อันดับแรกที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล คือความสามารถในการซื้อบริการ (affordability) รองลงมาคือทักษะในการใช้งานเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยก็มีความพยายามแก้ไขปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เช่น โครงการเน็ตประชารัฐ ที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณไปมากกว่า 13,000 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าไม่สามารถใช้งานได้บางจุด และยังไม่สามารถแก้ไขให้ใช้งานได้เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ

 ส่วนการผลักดันศูนย์สารสนเทศชุมชนซึ่งล้มเหลวไม่เป็นท่าสู่การเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนก็เป็นแผนที่น่ากังขา โดยผู้เขียนมองว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องสร้างอาคารแล้วนำคอมพิวเตอร์มาไว้เพื่อให้ประชาชนมานั่งรวมกันแบบอินเทอร์เน็ตคาเฟ่สมัยก่อน แนวทางที่ง่ายและตรงไปตรงมากว่าอาจเป็นการกระจายคอมพิวเตอร์ให้กับครัวเรือนที่จำเป็น พร้อมกับซอฟต์แวร์สอนการใช้งานที่ติดตั้งไปพร้อมกับเครื่อง แทนที่จะหวังให้เจ้าหน้าที่รัฐรอเวลาที่เหมาะสมเพื่อเชิญชวนให้คนในชุมชนมาอบรมโดยพร้อมเพรียงกันที่ศูนย์ฯ

ส่วนการออกแบบโครงการช่วยเหลือประชาชนก็ควรมีทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ไม่ใช่บังคับให้ทุกคนต้องลงทะเบียนผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือ โดยอาจเพิ่มช่องทาง เช่น การสมัครผ่านไปรษณีย์หรือคอลเซ็นเตอร์ซึ่งรัฐบาลนี้น่าจะมีความเชี่ยวชาญในช่องทางดังกล่าว เพราะการระดมเงินบริจาคหลายกรรมหลายวาระ ท่านๆ ก็ใช้วิธีการนี้

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลเป็นเรื่องที่ทั่วโลกไม่ว่าประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาต่างให้ความสนใจเพราะไม่ต้องการให้ประชาชนคนไหนถูก ‘กีดกัน’ เพราะไม่สามารถเข้าถึงดิจิทัล ประเด็นนี้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางมาเนิ่นนานกว่าสองทศวรรษ แต่น่าแปลกใจที่เหล่า ‘ชนชั้นนำ’ ผู้ออกแบบนโยบายดูจะไม่รู้สึกรู้สากับปัญหาดังกล่าว เพราะทั้งรูปแบบการให้ความช่วยเหลือหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างก็ผ่านวิธีคิดราวกับว่าประชาชนทุกคนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็น ซึ่งตัวเลขสถิติของภาครัฐเองก็ยืนยันว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

น่าเสียดายที่รัฐไทยดูจะมองว่าประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะในงบ 4 แสนล้านบาท เพื่อการ ‘ฟื้นฟู’ เศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โครงการที่เสนอมานั้นมีเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีเพียงหยิบมือ เพราะโครงการส่วนใหญ่คือสารพัดการ ‘สร้างและซ่อม’ ทั้งการซ่อมถนน สร้างป้าย และสร้างอาคารต่างๆ

วิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 คงจะเป็นได้เพียง ‘วิสัยทัศน์’ ที่ไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่จึงจะกลายเป็นรูปธรรม

 

Tags: , ,