กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมไทย หลังจากที่สำนักข่าว WorkpointTODAY เผยแพร่อินโฟกราฟิก ‘ไทยตกขบวน ‘COVAX’ ชาติเดียวอาเซียนไม่ได้วัคซีนโควิด-19’ ที่ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ระดับสูง ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ตกขบวน แต่เป็นการตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนที่จะไม่เข้าร่วมเนื่องจากเงื่อนไขไม่ยืดหยุ่นพอ เพราะต้องจ่ายเงินมัดจำก่อน แถมยังเสี่ยงที่จะไม่ได้ของหากผู้ผลิตไม่สามารถคิดค้นวัคซีนได้สำเร็จ
อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็มีเรื่องให้เสียหน้าอีกครั้งหลังจากที่เคยประกาศกร้าวว่าคนไทยจะได้ฉีดวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา (Astrazeneca) ล็อตแรกจำนวน 50,000 โดสในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ แต่วัคซีนดังกล่าวก็ยังไม่มาถึงไทย รัฐบาลเลยแก้ลำ เลื่อนว่าจะได้รับวัคซีน 200,000 โดส ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่จะเป็นวัคซีนของบริษัทซีโนแวค (Sinovac) ของประเทศจีนซึ่งยังมีข้อกังขาด้านประสิทธิผลในการป้องกันโรครวมถึงผลข้างเคียง
ปัญหาวัคซีนกลายเป็นการปะทะกันระหว่างสองค่าย เมื่อฝั่งกองเชียร์รัฐบาลต่างเห็นดีเห็นงามกับคำชี้แจงที่ว่าการไม่เข้า COVAX คือการตัดสินใจที่ถูกต้อง ขณะที่ฝั่งฝ่ายค้านภาคประชาชนกลับเห็นต่างโดยมองว่าการไม่เข้าร่วมคือความผิดพลาดครั้งใหญ่ของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชวนวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของทั้งการจองซื้อวัคซีนผ่าน COVAX และการซื้อโดยตรงกับผู้ผลิต เพื่อสรุปว่า ‘ตกขบวน’ หรือไม่จากการตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว
ข้อดีและข้อเสียจากการจองซื้อผ่าน COVAX
โคแวกซ์ (COVAX) เป็นโครงการริเริ่มเพื่อการเข้าถึงวัคซีนแก่ทุกประเทศอย่างเท่าเทียมไม่ว่าร่ำรวยหรือยากจน ที่ผลักดันองค์การอนามัยโลก และองค์กรไม่แสวงหากำไรระหว่างประเทศ เช่น พันธมิตรนวัตกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาด (The Coalition for Epidemic Preparedness Innovations) ปัจจุบันโคแวกซ์มีประเทศเข้าร่วมกว่า 180 ประเทศ รวมถึงทุกประเทศในอาเซียนยกเว้นประเทศไทย
แพลตฟอร์มดังกล่าวเน้นการเข้าถึงอย่าง ‘เป็นธรรม’ ดังนั้นประเทศที่ร่ำรวยกว่าก็ต้องจ่ายมากกว่า ส่วนประเทศที่ยากจนก็จะได้เงินอุดหนุนเพื่อเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม สำหรับประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางที่สามารถเข้าร่วมได้แต่ต้องจ่ายเงินเอง เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน
การพัฒนาวัคซีนโรคระบาดอุบัติใหม่มีโอกาสสูงที่จะไม่ประสบความสำเร็จ การที่รัฐบาลจะตัดสินใจเลือกบริษัทใดบริษัทหนึ่งเพื่อจองซื้อล่วงหน้าจึงถือว่ามีความเสี่ยงอย่างยิ่ง แพลตฟอร์ม COVAX แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการจองซื้อผ่าน COVAX นั้นจะเสมือนการจองซื้อ ‘พอร์ตโฟลิโอวัคซีน’ จำนวน 19 ชนิดที่คัดสรรโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในมิติความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จ ศักยภาพในการผลิต รวมถึงข้อจำกัดในการขนส่งถึงประเทศปลายทาง และการสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับระบบขนส่งและเก็บรักษาในที่เย็น (cold chain) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวัคซีนบางชนิด
อย่างไรก็ดี ประเทศที่เข้าร่วมโครงการจะต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่โดยไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะได้วัคซีนชนิดใด ได้เมื่อไหร่ ในราคาเท่าไร นี่คือความไม่แน่นอนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ แม้ว่าจะมีการกระจายความเสี่ยงโดยการใช้เงินก้อนเดียวกันกระจายลงทุนในบริษัทวัคซีนถึง 19 บริษัทก็ตาม
ข้อดีและข้อเสียจากการซื้อตรงกับผู้ผลิต
การจองซื้อโดยตรงในระหว่างการคิดค้นวัคซีนนับว่าเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะไม่ต่างจากการเดิมพันว่าบริษัทนั้นๆ จะคิดค้นวัคซีนได้สำเร็จหรือไม่และเมื่อไหร่ แต่เมื่อมีความเสี่ยงสูงที่สุดก็ย่อมได้ผลตอบแทนมากที่สุดเช่นกัน เพราะนอกจากจะได้วัคซีนราคาประหยัด ได้รับวัคซีนเป็นอันดับต้นๆ ยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนจากการผลิตวัคซีนจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งประเทศที่แนวทางนี้มักเป็นกลุ่มประเทศเงินถุงเงินถัง เช่น สหรัฐอเมริกาที่ทุ่มเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ให้กับบริษัทหลายแห่งแข่งขันกันผลิตวัคซีนให้เร็วที่สุด
ขณะที่ประเทศไทยเลือกที่จะจองซื้อหลังจากที่มีการยืนยันแล้วว่าวัคซีนมีประสิทธิผล โดยลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 กับบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนหลังจากที่การทดลองวัคซีนระยะที่ 3 ประสบผลสำเร็จเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน หลังจากที่ ‘ดูใจ’ กันมาตั้งแต่เดือนตุลาคมจากการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงสาธารณสุข บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และบริษัทแอสตราเซเนกาเพื่อเตรียมพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน
ข้อตกลงดังกล่าวนับว่าเป็น ‘ซุปเปอร์ดีล’ ของทางการไทย เพราะนอกจากจะมั่นใจในประสิทธิผล และรับทราบราคาของวัคซีนแล้ว ยังเป็นโอกาสให้บริษัทสัญชาติไทยได้ยกระดับสู่การเป็น ‘ฐานการผลิตวัคซีนแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ที่อาจเติบโตไปเป็นฐานการผลิตวัคซีนโลกอย่างสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India)
ข้อเสียของการจองซื้อหลังจากที่มีการยืนยันแล้วว่าวัคซีนมีประสิทธิผลคือ การที่อาจได้วัคซีนช้ากว่าประเทศที่สั่งจองล่วงหน้า เช่น บริษัทแอสตราเซเนกาที่มีพันธะที่ต้องส่งมอบวัคซีนให้โครงการ COVAX ก่อนประเทศไทยเนื่องจากเป็นผู้ร่วมสมทบทุนพัฒนาวัคซีน และอีกข้อเสียที่หลายคนคาดไม่ถึงคือ การกลายพันธุ์ของไวรัสที่ทำให้วัคซีนไร้ประสิทธิผลในชั่วข้ามวัน เช่น โควิด-19 สายพันธุ์ B.1.351 ที่ระบาดในแอฟริกาใต้ที่มีการศึกษาเบื้องต้นพบว่า วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกาใช้ไม่ได้ผล
เมื่อการรับมือโรคระบาด ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
หากย้อนกลับไปช่วงต้นเดือนธันวาคม ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลควบคุมการระบาดภายในประเทศได้อย่างยอดเยี่ยม ผู้เขียนมองว่าคณะรัฐบาลยังคงกินอิ่มนอนหลับพร้อมกับภาคภูมิใจในความฉลาดของตนเอง เพราะนอกจากจะไม่ต้องเสียเงินไปจมกับแพลตฟอร์ม COVAX แล้ว ยังยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว การปิดซุปเปอร์ดีลกับบริษัทแอสตราเซเนกาเรียกว่า คว้าทั้งวัคซีนและเทคโนโลยีที่จะมายกระดับวงการเวชภัณฑ์ของไทย
แต่รัฐบาลก็ฝันหวานอยู่ได้ไม่นาน เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ในจังหวัดสมุทรสาครที่รุนแรงแบบไม่มีใครตั้งตัวทัน อีกครั้งที่รัฐบาลต้องออกคำสั่งควบคุมเข้มข้นจนหลายธุรกิจต้องปิดตัวเป็นการชั่วคราว นำฝันร้ายจากการล็อกดาวน์รอบแรกกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับการยืนยันว่าโควิด-19 ไม่ได้หายไปไหน
การระบาดครั้งใหม่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำลายบรรยากาศการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ความตึงเครียดในสังคมกลายเป็นคำถามต่อรัฐบาลว่า ‘เมื่อไหร่’ คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนเหมือนกับต่างประเทศที่มีการเดินหน้าฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ระเบิดเวลาดังกล่าวปะทุเป็นความขัดแย้งหลังจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลว่าล่าช้า ตามมาด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าไทยเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ COVAX
การตัดสินใจไม่เข้าร่วม COVAX นับเป็นตัวอย่างของความ ‘อหังการ’ ของรัฐบาลไทยว่าสามารถจัดการการระบาดโควิด-19 ได้อยู่หมัด จึงไม่ต้องรีบร้อนจัดซื้อวัคซีน เก็บเงินไว้รอให้มี ‘ดีลที่ดีที่สุด’ แล้วจึงค่อยตกลงปลงใจ นี่คือเหตุผลไทยเลือกที่จะมองข้ามโครงการ COVAX ซึ่งเปรียบเสมือนการถ่ายโอนความเสี่ยงและความยุ่งยากในการจัดหาวัคซีนให้มืออาชีพดูแล แต่เลือกที่จะถือเงินไว้เพราะคิดว่าไทยจะสามารถสรรหาทางเลือกที่ดีกว่า
ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าดีลวัคซีนกับบริษัทแอสตราเซเนกา เป็นดีลที่ไทยได้รับประโยชน์เต็มๆ แต่น่าแปลกใจที่ไทยเลือกที่จะรับ ‘ความไม่แน่นอน’ มากมายโดยไม่เผื่อใจว่าจะมีความผิดพลาดระหว่างทาง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วรัฐบาลไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเราก็เห็นตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่เลือกจะเข้าร่วม COVAX แต่ก็ตัดสินใจสั่งซื้อตรงจากผู้ผลิตหลายราย เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด เช่น มาเลเซียที่เข้าร่วมทั้ง COVAX และสั่งซื้อวัคซีนโดยตรงจากบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค ซีโนแว็กซ์ แคนซิโน ไบโอโลจิกส์ และสปุตนิกไฟว์
อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจเริ่มเถียงว่าไทยไม่ได้มีเงินถุงเงินถังขนาดจะนำไปจองซื้อวัคซีนมากมาย
ขอโทษเถอะครับ เราควรแยกให้ออกว่าเรื่องไหนควรประหยัด เรื่องไหนรอไม่ได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจสูญเงินจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ราว 45,000 ล้านบาทภายในระยะเวลา 1 เดือน แม้แต่เอกสารขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายฯ ที่ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็มีการระบุเองว่า “การมีวัคซีนใช้เร็วขึ้น 1 เดือน จะช่วยให้ประเทศสามารถสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประมาณ 2.5 แสนล้านบาท”
ความสูญเสียทางเศรษฐกิจนับเป็นตัวเลขมหาศาลหากเทียบกับการคิดเล็กคิดน้อยของรัฐบาลไทยที่พยายามประหยัด ‘เงินมัดจำ’ สำหรับการจองวัคซีนผ่าน COVAX หลักพันล้านบาท หรือพยายามอวดอ้างว่าไทยจะได้ซื้อวัคซีนต้นทุนถูกที่สุดในอาเซียน แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลนี้กลับสามารถกู้เงินหนึ่งล้านล้านบาทเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ส่วนงบประมาณสำหรับแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการยับยั้งการระบาด และเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้วยการฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลับได้รับการปันส่วนอย่างจำกัดจำเขี่ย
ปัญหาทั้งหมดเกิดจากความ ‘ชะล่าใจ’ ของรัฐบาลที่มั่นอกมั่นใจจนเกินพอดีว่า ไม่มีทางที่โควิด-19 จะกลับมาระบาดในประเทศไทย ดังนั้นวัคซีนจึงไม่ใช่เรื่องด่วน การระบาดที่สมุทรสาครจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ปลุกให้รัฐไทยตื่นว่าการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไป เพราะโครงการ COVAX นั้นปิดการยืนยันการเข้าร่วมตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม ส่วนการสั่งซื้อกับผู้ผลิตโดยตรงก็ยังนับว่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน
นี่คือบทเรียนสำคัญของรัฐบาลที่พยายามจะ ‘ประหยัด’ ไม่เข้าเรื่อง แต่สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบก็คือประชาชนทั้งประเทศที่จะได้รับวัคซีนช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนับว่าน่าผิดหวังสำหรับชาวไทยเพราะที่ผ่านมารัฐบาลมีผลงานจัดการโรคระบาดได้อย่างโดดเด่น แต่กลับมาตกม้าตายตอนจบเพราะติดกับดักความสำเร็จในอดีตของตนเอง
เอกสารประกอบการเขียน : COVAX explained
Tags: COVAX, Economic Crunch, โควิด-19