‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) หนึ่งในสกุลเงินเข้ารหัส (cryptocurrency) ที่เริ่มต้นจากการเป็นเหรียญดิจิทัลซึ่งแพร่หลายในหมู่เนิร์ดคอมพิวเตอร์ ก่อนจะค่อยๆ คืบคลานเข้ามาสู่การใช้ทำธุรกรรมจริง โดยเฉพาะธุรกรรมผิดกฎหมายเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบที่เข้มข้นโดยระบบการเงินกระแสหลัก สู่การเป็นหลักทรัพย์ทางเลือกเพื่อการลงทุนที่ใครๆ ต่างก็จับตามอง

บิตคอยน์ใช้เวลาเพียงสิบปีเศษ ไต่ระดับจากเหรียญดิจิทัลที่ไม่มีใครรู้จักและแทบไม่มีมูลค่า สู่การเป็นเงินตราออนไลน์ที่นักลงทุนสถาบันให้ความสนใจ สามารถนำไปจ่ายผ่านระบบชำระเงินอย่าง Paypal เรียกว่าเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่โดดเด่นในภูมิทัศน์การเงินสมัยใหม่ สะท้อนจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ให้ค่าบิตคอยน์ 1 เหรียญเทียบเท่ากับเงินไทยราว 1 ล้านบาท

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ราคาบิตคอยน์พุ่งสูงอย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อเดือนธันวาคมสามปีก่อน บิตคอยน์ก็เคยมีมูลค่ากว่าครึ่งล้าน ก่อนที่มูลค่าจะร่วงวูบลงมากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ดังกล่าวคงทำให้หลายคนมองว่าประวัติศาสตร์ก็อาจจะซ้ำรอย และราคาบิตคอยน์คงร่วงลงในอนาคตอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของมูลค่าบิตคอยน์ครั้งนี้ต่างออกไป นอกจากบิตคอยน์จะได้รับความเชื่อมั่นให้กลายเป็นสกุลเงินหนึ่งของระบบชำระเงินกระแสหลักแล้ว นักลงทุนสถาบันซึ่งเป็นที่นับหน้าถือตาอย่าง แลร์รี ฟิงค์ (Larry Fink) ประธานและผู้บริหารแบล็กร็อก (BlackRock) กองทุนที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในโลกหรือมูลค่าราว 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกระทั่งเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ เช่น Renaissance Technologies ที่เริ่มเข้าซื้อสกุลเงินเข้ารหัสโดยมองว่าเป็นหลักทรัพย์ทางเลือกที่น่าสนใจ ในวันที่หนี้สาธารณะทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของค่าเงินสกุลหลักเช่นดอลลาร์สหรัฐฯ

ปัจจุบัน บิตคอยน์มีมูลค่ารวมกันมากกว่าเงินสกุลดอลลาร์แคนาดาตามนิยามแบบแคบ แต่ไม่ได้หมายความว่าเส้นทางสู่การเป็น ‘เงินสกุลหลัก’ หรือการมาทดแทนเงินสกุลที่ออกโดยรัฐบาลนั้นจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ

บิตคอยน์ ต่างจากเงินตราทั่วไปอย่างไร?

ยุคปัจจุบันที่ใครๆ ก็สามารถทำธุรกรรมออนไลน์เพียงปลายนิ้ว เงินดิจิทัลดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นบิตคอยน์หรือบาทไทยก็สามารถใช้ชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือแบบไร้ปัญหา จึงไม่น่าแปลกใจที่คนจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกสงสัยว่า บิตคอยน์และสกุลเงินเข้ารหัสอื่นๆ แตกต่างจากเงินตราทั่วไปอย่างไร

ความแตกต่างประการแรกคือ ระบบประมวลผลธุรกรรม ปัญหาสำคัญของเงินดิจิทัลคือการจ่ายซ้ำ (Double-spending) เนื่องจากข้อมูลสารสนเทศออนไลน์นั้นสามารถผลิตซ้ำได้อย่างง่ายดาย เหมือนกับที่ญาติผู้ใหญ่ส่งภาพสวัสดีวันจันทร์ภาพเดียวกันให้ทุกกรุ๊ปไลน์

คงนึกภาพออกนะครับ ว่าหายนะจะเกิดขึ้นทันทีหาก ‘เงิน’ ในระบบสามารถผลิตซ้ำง่ายๆ เช่นเดียวกับการเซฟภาพแล้วนำมาแปะ การเงินกระแสหลักจึงเลือกใช้ระบบการชำระเงินแบบรวมศูนย์ โดยมีตัวกลางหลักเพียงหนึ่งเดียวเพื่อสะสางธุรกรรมฝากถอนโอนจ่ายของทุกฝ่าย

ในทางกลับกัน บิตคอยน์ใช้การกระจายบัญชีธุรกรรม (Distributed Ledger) ให้ทุกคนในระบบถือครอง โดยมีเหล่านักประมวลผลอิสระทั่วโลกคอยตรวจสอบและยืนยันการฝากถอนโอนจ่าย แล้วจึงนำไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลสาธารณะที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) วิธีการดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ทุกคนเป็นเจ้าของระบบ มีลักษณะเป็นเครือข่ายควบคุมกันเองแบบไร้แกนนำ โปร่งใสตรวจสอบได้ อีกทั้งยังแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปแก้ไขข้อมูลในอดีต ดังนั้นสกุลเงินเข้ารหัสจึงเป็นอิสระจากโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของเงินตราทั่วไป (อ่านเพิ่มเติมที่ การทำงานของบล็อกเชน)

ความแตกต่างประการที่สองคือ เงินตราทั่วไปนั้นจะออกโดยภาครัฐ มีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด และเป็นเครื่องมือหนึ่งของฝั่งรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ไปยังทิศทางที่ต้องการ หมายความว่าผู้ที่ถือครองเงินตราเหล่านั้นก็ต้องยอมรับ ‘นโยบายทางการเงิน’ ของรัฐบาลโดยดุษฎี ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินใจเชิงนโยบายหลายครั้ง ชวนให้ฉงนสงสัยว่ามีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนที่ถือครองเงินสกุลดังกล่าวหรือไม่ เพราะบางครั้งมันก็นำไปสู่วิกฤติทางการเงินที่ฉุดพาเศรษฐกิจในภาพรวมสู่ภาวะขาลง กระทั่งทำให้เงินกลายเป็นกระดาษไร้ค่าท่ามกลางภาวะวิกฤติเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (hyperinflation) หรือการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อหวังผลระยะสั้น แต่อาจสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะยาว

ขณะที่สกุลเงินอย่างบิตคอยน์จะเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงจากนโยบายการเงิน อีกทั้งปริมาณของเงินนั้นยังกำหนดตายตัวด้วยอัลกอริทึม จึงเป็นไปไม่ได้ที่วันดีคืนดีจะมีใครมาสั่งให้ ‘ผลิต’ บิตคอยน์เพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นบิตคอยน์จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับประชาชนในประเทศที่เผชิญภาวะเงินเฟ้อสูง

แต่การไร้ผู้กำกับดูแลก็กลายเป็นดาบสองคม เพราะบิตคอยน์กลายเป็นสกุลเงินหลักของการซื้อขายสินค้าผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นอาวุธสงคราม ยาเสพติด หรือการค้ามนุษย์ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานคอยตรวจสอบประวัติผู้เปิดบัญชี อีกทั้งยังไม่มีการสอบถามแหล่งที่มาและปลายทางของเงิน โดยมีการประมาณการว่า บิตคอยน์ถูกใช้ในการทำธุรกรรมผิดกฎหมายรวมเป็นมูลค่ากว่า 7.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในแต่ละปี

บิตคอยน์บนภูมิทัศน์การเงินสมัยใหม่

เหล่าผู้ศรัทธาในบิตคอยน์ต่างคาดหวังว่ากระแสนิยมและความเชื่อมั่นต่อบิตคอยน์จะทำให้สกุลเงินดิจิทัลแทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น และกลายเป็นสกุลเงินหลักในที่สุด

แต่ข้อเท็จจริงอาจทำให้เหล่าสาวกต้องผิดหวัง เพราะจำนวนธุรกรรมซื้อขายสินค้าและบริการที่ใช้เงินสกุลบิตคอยน์นั้นมีเพียงราว 15,000 รายการต่อวัน นับว่าน้อยมากๆ หากเทียบกับธุรกรรมออนไลน์หลายพันล้านรายการที่ใช้เงินตราสกุลอื่น นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่าฐานผู้ใช้บิตคอยน์ในชีวิตประจำวันนั้นนิ่งอยู่กับที่ โดยมีบิตคอยน์ที่แทบไม่ขยับไปไหนคิดเป็นมูลค่าราว 30 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าบิตคอยน์ทั้งหมด

ปัญหาสำคัญของบิตคอยน์ ที่ไม่อาจทดแทนสกุลเงินที่ออกโดยภาครัฐได้อย่างสมบูรณ์แบบคือความผันผวนของราคา เงินตราโดยรัฐนั้นจะมีธนาคารกลางแต่ละประเทศคอยดูแลในแง่เสถียรภาพ ต่างจากบิตคอยน์ที่ราคาขึ้นลงวูบวาบตามความต้องการซื้อในตลาดล้วนๆ อีกปัจจัยหนึ่งที่บิตคอยน์ไม่เป็นที่นิยมคือศักยภาพในการทำธุรกรรมที่ประมวลผลได้น้อยกว่า 10 ธุรกรรมต่อวินาที ขณะที่ระบบชำระเงินอย่างวีซ่าสามารถดำเนินการได้ 1,700 ธุรกรรมต่อวินาที

อย่างไรก็ดี บิตคอยน์ยังมีที่ทางแห่งใหม่ในภูมิทัศน์การเงินปัจจุบัน นั่นคือการเป็นสินทรัพย์ลงทุนทางเลือก โดยได้รับฉายาว่า ‘ทองคำของเหล่ามิลเลนเนียล

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมักมองว่าธรรมชาติของบิตคอยน์นั้นคล้ายกับสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องจากบิตคอยน์มีปริมาณจำกัด หากต้องการบิตคอยน์ที่เพิ่งผลิตใหม่โดยอัลกอริทึม ก็ต้องเข้าไปแข่งกันประมวลผลธุรกรรมหรือที่เรียกกันเล่นๆ ในแวดวงว่าการ ‘ขุด (Mining)’ นอกจากนี้ การถือครองบิตคอยน์หรือสินค้าโภคภัณฑ์ก็ไม่มีกระแสเงินสดรับอย่างดอกเบี้ยหรือเงินปันผล คุณลักษณะจึงเข้าล็อคแบบพอดิบพอดี แต่บิตคอยน์ดีกว่าตรงที่ไม่ต้องเสียเงินค่าเก็บรักษาและดูแลความปลอดภัย

อย่างไรก็ดี มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่คิดง้างกับแนวคิดว่าบิตคอยน์จะมาแทนที่ทองคำ เพราะราคาของบิตคอยน์นั้นผันผวนกว่ามาก แถมตลาดแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ยังสภาพคล่องต่ำ และการถือครองสกุลเงินเข้ารหัสยังอาจต้องเผชิญความเสี่ยงด้านชื่อเสียง เนื่องจากบิตคอยน์ถูกใช้อย่างแพร่หลายในโลกผิดกฎหมาย แต่ในระยะยาว หากบิตคอยน์สามารถข้ามพ้นปัญหาเหล่านี้ไปได้ JPMorgan สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาประมาณการว่า ราคาบิตคอยน์อาจแตะที่ 146,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับเทคโนโลยีที่เพิ่งมีอายุครบทศวรรษไม่นาน บิตคอยน์เขย่าโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่ก่อร่างสร้างตัวมายาวนานกว่าศตวรรษ แม้ว่าในอนาคต บิตคอยน์อาจไม่มีโอกาสกลายเป็นสกุลเงินหลัก แต่ความเป็นไปได้และความสำเร็จของบิตคอยน์ก็กรุยทางให้กับสกุลเงินเข้ารหัสสกุลเงินอื่นทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต

 

เอกสารประกอบการเขียน

What explains bitcoin’s latest boom?

Is the financial establishment coming round to bitcoin?

The Role of Bitcoin in the Monetary System: Its Development and the Possible Future

Cryptocurrency as an Investment Instrument in a Modern Financial Market

Tags: , ,