เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2017
หัวใจสำคัญของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมคือการมองมนุษย์เป็นมนุษย์ ไม่ใช่เศรษฐมนุษย์ (Homo Economicus) หรือมนุษย์ผู้มีเหตุมีผลเฉกเช่นในแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิก เพราะมนุษย์ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นแตกต่างจากแบบจำลองอย่างมีนัยสำคัญ และมีข้อจำกัดหลายประการซึ่งแตกต่างจากสารพัดสมมติฐานที่กำหนดไว้
แน่นอนว่ามนุษย์ตัดสินใจโดยใช้เหตุผล แต่สำนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมองว่ามนุษย์มีเหตุมีผลแบบมีขอบเขต (Bounded Rationality) เพราะเราต่างมีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลที่จำกัด และมีความทรงจำที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง จึงพยายามสร้าง ‘กฎจำง่าย’ เพื่อช่วยในการตัดสินใจในหลายครั้ง ทั้งที่รู้ว่าพฤติกรรมบางอย่างจะส่งผลเสียต่อเราในระยะยาว เช่น การดื่มสุรา ดื่มน้ำอัดลม หรือสูบบุหรี่ แต่เราก็ไม่สามารถหักห้ามใจไม่ให้แสวงหาความ ‘สุข’ ในปัจจุบันขณะได้
เรามักจะคุ้นชินกับการประยุกต์ใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในระดับปัจเจกบุคคล แต่ทราบไหมว่าภาครัฐเองก็เผชิญกับสารพัดอคติเชิงพฤติกรรมเช่นกัน แม้ว่าเราจะคาดหวังว่ารัฐจะมีกระบวนการเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจโดยใช้เหตุผลไม่ใช่อารมณ์เฉกเช่นปุถุชนคนทั่วไป แต่อย่าลืมว่ารัฐเองก็เป็นผลรวมของปัจเจกชนจำนวนมาก แม้จะมีวิธีปฏิบัติหรือระเบียบมากมายมาฉาบทา สุดท้ายก็หนีไม่พ้น ‘อคติ’ ที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ
มั่นใจเกินพอดี (Overconfidence)
ความมั่นใจเป็นพื้นฐานสำคัญของผู้นำในห้วงยามวิกฤติ แต่ความมั่นใจที่มากเกินไปก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด หนึ่งในอคติยอดฮิตของเหล่าคนในแวดวงรัฐบาลคือความมั่นใจเกินพอดี (Overconfidence) กล่าวคือ การเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถที่เหนือกว่าความสามารถจริงๆ ของตนเอง จนนำไปสู่การรับความเสี่ยงมากขึ้นโดยไม่จำเป็น การไม่กระจายความเสี่ยง รวมถึงการประเมินระยะเวลาที่ใช้เพื่อให้การทำงานสำเร็จน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ตัวอย่างที่ชัดเจนของความมั่นใจเกินพอดีของรัฐบาลคือความเชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับปล่อยปละละเลยจนเกิดการระบาดรอบใหม่ในครั้งแรก ซึ่งก็คือช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่เกิดจากรอยรั่วของการตรวจคนเข้าเมือง และการระบาดในปัจจุบันที่จุดเริ่มต้นการระบาดมาจากผับหรูย่านเอกมัย-ทองหล่อ อีกทั้งยังมีนักการเมืองระดับรัฐมนตรีติดเชื้อด้วย
แต่ตัวอย่างเด่นชัดที่สุดของความ ‘อหังการ’ ของรัฐบาลชุดนี้คือการจัดซื้อวัคซีน ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีทุ่มทรัพยากรทั้งหมดกับดีลวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซเนก้า โดยวางแผนว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกในเดือนมิถุนายนปีนี้ ซึ่งนับว่าล่าช้าในฐานะประเทศที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงให้กับประชาชน ในขณะที่ปฏิเสธการเข้าร่วมโครงการระดับโลกเพื่อกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนอย่างโคแวกซ์ (COVAX) สวนทางกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียที่เข้าร่วมทั้งโคแวกซ์ และสั่งซื้อวัคซีนโดยตรงจากบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค ซิโนแวค แคนซิโน ไบโอโลจิกส์ และสปุตนิกวี (อ่านเพิ่มเติมทาง ไทยตกขบวนหรือไม่? จากการตัดสินใจไม่เข้าร่วม COVAX)
อคติการคงไว้ซึ่งสถานะเดิม (Status quo bias)
ไม่ว่าใครก็กลัวการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลเองก็ต้องการคงไว้ซึ่งสถานะดั้งเดิมนับตั้งแต่การระบาด แม้ว่ามาตรการหลายประการยังคงสร้างความกังขาว่ามีโทษมากกว่าประโยชน์หรือไม่ และถูกตั้งคำถามว่าเป็นเพียงฉากหน้าเพื่อลิดรอนสิทธิของประชาชนหรือเปล่า แต่รัฐบาลก็ยังตัดสินใจคงเอาไว้เช่นเดิม เพราะมี ‘แรงต้านทางจิตวิทยา’ ที่ทำให้รู้สึกว่ามีไว้ยังอุ่นใจกว่าไม่มี
ตัวอย่างที่ชัดเจนของรัฐบาลไทยคือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศต่อเนื่องมายาวนานกว่า 1 ปี ซึ่งนอกจากจะพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ยังถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการผู้ชุมนุม เช่น การประกาศเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19” ทั้งที่จุดเริ่มต้นของการระบาดในอดีตไม่มีครั้งใดที่เริ่มจากการชุมนุมของประชาชน
อคติต้นทุนจม (Sunk Cost Bias)
ต้นทุนจม (Sunk Cost) หมายถึง ต้นทุนที่เราจ่ายไปแล้วไม่มีทางที่จะได้รับกลับคืน เช่น การจ่ายเงินซื้อตั๋วภาพยนตร์รายเดือนที่ทำให้เรารู้สึกเสียดายหากไม่ได้ใช้ หรือเวลาที่ไปกินบุฟเฟต์แล้วต้องกินให้เยอะที่สุดเท่าที่จะมากได้ แม้ว่าการกินอาหารที่มากเกินไปจะทำให้เรามีความทุกข์มากกว่าความสุขก็ตาม ส่วนอคติต้นทุนจม คือการที่บุคคลหรือองค์กรได้ทุ่มเททรัพยากร ชื่อเสียง หรือกำลังแรงงานเพื่อทำอะไรบางอย่างซึ่งไม่สามารถเอาคืนมาได้ แต่รู้สึกลังเลที่จะเปลี่ยนใจกลางคันหรือยอมรับความผิดพลาด ยังคงดันทุรังเดินหน้าไปตามแผน แม้จะเริ่มเห็นว่าปลายทางอาจไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง
ภาครัฐเองก็ติดกับดักอคติต้นทุนจมไม่ต่างจากปุถุชนคนธรรมดา เช่น ซูเปอร์ดีลของภาครัฐกับบริษัทแอสตร้าเซเนก้าซึ่ง ณ เวลาที่ลงนามในสัญญา รัฐมั่นใจอย่างยิ่งว่าวัคซีนมีประสิทธิผล สามารถประมาณการราคาที่แน่นอน แถมยังเป็นโอกาสยกระดับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ให้กลายเป็น ‘ฐานการผลิตวัคซีนแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องจับมือกับบริษัทเอกชนชั้นนำในไทยชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อให้บริษัทแอสตร้าเซเนก้ายอมตกลงปลงใจเลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์
แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล่าช้าของแผนการจัดหาวัคซีนดังกล่าว เพราะกว่าวัคซีนล็อตแรกจะสามารถนำมาใช้ได้ในท้องตลาดก็ปาเข้าไปเดือนมิถุนายน แต่รัฐบาลไทยก็ปกป้องการตัดสินใจครั้งนี้อย่างเต็มที่ พร้อมกับย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าว่าวัคซีนราคาถูก ไม่ได้แทงม้าตัวเดียว มีประสิทธิภาพ และทุกอย่างเป็นไปตามแผน ทั้งที่ความเชื่อมั่นต่อวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าทั่วโลกเริ่มระส่ำระสาย ทั้งผลข้างเคียงของวัคซีนที่ทำให้ประเทศเดนมาร์กระงับการฉีดวัคซีนดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง หรือข้อเท็จจริงที่ว่าวัคซีนดังกล่าวไม่สามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.351 ที่ระบาดในแอฟริกาใต้
ส่วนวัคซีนขัดตาทัพที่สั่งมาจากจีนเพื่อใช้ก่อนเดือนมิถุนายนก็มีประสิทธิภาพต่ำ กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของจีนยังออกมายอมรับ การระบาดครั้งรุนแรงที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันก็ทำให้รัฐไทยไม่เหลือข้อแก้ตัวมากนัก จึงตัดสินใจขยับโดยตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดหาวัคซีนทางเลือกซึ่งนับว่าน่าเสียดายเวลาและโอกาสที่เราสูญเสียไป
ผลกระทบจากเหยื่อที่ระบุตัวตนได้ (Identifiable Victim Effect)
อคติหนึ่งที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจผิดพลาดคือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘ผลกระทบจากเหยื่อที่ระบุตัวตนได้’ (Identifiable Victim Effect) กล่าวคือ มนุษย์จะให้ความสำคัญในการรับมือภัยคุกคามต่อบุคคลที่เรานึกถึงได้ง่าย เชื่อมโยงได้ หรือรู้สึกเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ดังนั้น การเรี่ยไรเงินโดยบอกเล่าเรื่องราวของคนยากไร้ที่มีตัวตน จึงประสบผลสำเร็จมากกว่าการเล่าโดยใช้ตัวเลขหรือสถิติที่แข็งกระด้าง
อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวอาจทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจให้ค่ากับเหยื่อ ‘ที่มองเห็นได้’ โดยมองข้ามผู้ที่ได้รับผลกระทบรายอื่นๆ ซึ่งก็อาจเผชิญกับภัยคุกคามต่อชีวิตไม่ต่างกัน
นโยบายหนึ่งของไทยที่ชวนให้ฉงนคือ การบังคับให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แม้กระทั่งกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือไม่ใช่กลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต สร้างแรงกดดันต่อโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชนโดยที่ไม่มีความจำเป็น ทั้งที่ในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร จะมีระบบและแนวทางในการกักตัวอยู่บ้านเพื่อให้หายป่วยเอง โดยโรงพยาบาลจะรองรับเฉพาะคนไข้ที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น
ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าโควิด-19 คือเรื่องใหญ่ที่รัฐควรให้ความสำคัญ แต่อย่าลืมว่าระบบสาธารณสุขไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับเฉพาะคนป่วยโควิด-19 ประเทศไทยยังมีผู้ป่วยที่ต้องเข้าพบแพทย์เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง 1.5 ล้านคน เบาหวาน 1 ล้านคน โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองอีกกว่า 7 แสนคน ไม่รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องการผ่าตัดทั้งที่เร่งด่วนและไม่เร่งด่วน ที่สำคัญกว่านั้นคือ ผู้ป่วยโควิด-19 ในอนาคตซึ่งอาจเป็นกลุ่มผู้เปราะบางแต่กลับไม่ได้รักษาตัวที่โรงพยาบาลเพราะ ‘เตียงไม่พอ’
อคติต่อผู้มีอำนาจ (Authority Bias)
อคติสุดท้ายอาจผิดแผกแตกต่างจากอคติข้ออื่นๆ เพราะอคติต่อผู้มีอำนาจ (Authority Bias) จะเกิดในหมู่ประชาชนซึ่งมีแนวโน้มในการประเมินคุณค่าและความน่าเชื่อถือของเหล่าผู้มีอำนาจในรัฐบาลสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น อคติดังกล่าวปรากฎชัดในการทดลองอันโด่งดังของศาสตราจารย์ สแตนลีย์ มิลแกรม ที่แสดงให้เห็นว่าเรามีแนวโน้มที่จะเชื่อใจและทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ แม้ว่าบางครั้งอาจขัดต่อมโนธรรมของตนเอง
นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ข้อมูลที่สับสนอลหม่านบนโลกออนไลน์ทำให้เราต้องพึ่งพาข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากภาครัฐ จนเราอาจพลั้งเผลอคิดไปเองว่าแนวทางแก้ไขปัญหาของภาครัฐทุกอย่างนั้นถูกต้องเหมาะสมโดยไม่ต้องตั้งคำถาม เพราะมีทีมผู้เชี่ยวชาญเป็นคณะที่ปรึกษาช่วยกำหนดนโยบาย
แน่นอนว่าความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราก็ไม่ควรหลงลืมไปว่าทั้งผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นคนสามัญธรรมดาที่ประสบปัญหาสารพัด ‘อคติ’ ที่ส่งผลให้ตัดสินใจผิดพลาดไม่ต่างกัน
ในฐานะประชาชนที่จ่ายภาษีทุกบาททุกสตางค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ เราอาจต้องคิดวิพากษ์นโยบายรัฐและเผื่อพื้นที่ให้ตั้งข้อสงสัยอย่างสมเหตุสมผล ลงทุนลงแรงหาข้อมูลจากหลายแหล่ง เปรียบเทียบหลักฐานเชิงประจักษ์ พร้อมทั้งเรียกร้องความโปร่งใสและความรับผิดชอบในกรณีที่รัฐเดินผิดทาง
จุดเริ่มต้นของการแก้ไข ‘อคติ’ คือการเปิดใจยอมรับว่าทุกคนมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดได้ โดยสิ่งที่สำคัญคือการยอมรับความผิดพลาดเหล่านั้น และพร้อมจะแก้ไขเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ
อ้างอิง
The Cognitive Biases Behind Society’s Response to COVID-19
Cognitive Bias and Public Health Policy During the COVID-19 Pandemic
Tags: Economic Crunch, เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม, โควิด-19, รัฐบาลไทย