หนึ่งในประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ด้านนโยบายเศรษฐกิจในตอนนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ที่พรรคก้าวไกลผู้กำชัยในการเลือกตั้งหมายมาด ว่าจะขยับจาก 328-354 บาทต่อวัน เป็น 450 บาทต่อวัน

ผมขอมองข้ามความคิดเห็นซ้ำๆ อันแสนน่าเบื่อหน่ายประเภทที่ว่า การขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยล่มสลาย เงินเฟ้อเพิ่มสูง ธุรกิจล้มตาย หรืออัตราการว่างงานพุ่งกระฉูด ซึ่งเรามีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าไม่เป็นความจริง ทั้งกรณีศึกษาภายในประเทศจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท ในยุครัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกรณีศึกษาในอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีมาตรการค่าแรงขั้นต่ำเช่นกัน (ย้อนอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ทำไมการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำถึงไม่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ?)

แต่ความคิดเห็นที่ผมมองว่าน่าสนใจ คือการเสนอให้พัฒนาทักษะและการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน แทนที่จะเป็นการขยับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นนโยบายที่ ‘ไร้สมอง’

ก่อนอื่น เราต้องแยกระหว่างการพัฒนาทักษะกับการเพิ่มผลิตภาพ

การพัฒนาทักษะหรือที่ปัจจุบันมีชื่อเรียกอย่างเก๋ไก๋ว่า การอัปสกิลหรือรีสกิลเป็นนโยบายที่ดีและจำเป็นสำหรับบริบทแวดล้อมของโลกสมัยใหม่ ที่ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่ออยู่รอด อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทักษะเป็นคนละเรื่องกับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะค่าแรงขั้นต่ำคือค่าตอบแทนสำหรับ ‘แรงงานไร้ฝีมือ’ นั่นหมายความว่า แรงงานซึ่งผ่านการอัปสกิลหรือรีสกิลย่อมไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น คนที่ผ่านการเข้าบูตแคมป์เขียนโค้ดปัญญาประดิษฐ์ย่อมได้ค่าตอบแทนเทียบเท่ากับ ‘แรงงานมีทักษะ’ ซึ่งนายจ้างกับลูกจ้างตกลงกันตามความสมัครใจ ไม่ต้องอิงกับตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดโดยรัฐ

ส่วนการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานหนึ่งคนไม่จำเป็นต้องเพิ่มทักษะ แต่นายจ้างสามารถใช้เทคโนโลยีหรือการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลิตภาพของลูกจ้าง เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์กำหนดเส้นทางการส่งพัสดุเพื่อให้ประหยัดเวลาและน้ำมันมากที่สุด ทำให้พนักงานหนึ่งคนส่งของได้จำนวนชิ้นมากขึ้นในหนึ่งวัน เปรียบได้ดั่งการที่พนักงานสร้าง ‘มูลค่าเพิ่ม’ ผ่านการผลิตสินค้าและบริการได้มากขึ้นโดยใช้ทักษะเดิมที่มีอยู่

คนจำนวนไม่น้อยคาดหวังว่า การเพิ่มผลิตภาพจะทำให้ค่าแรงของเหล่าแรงงานเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ความคิดดังกล่าวถูกต้องในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้าม เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์หลายต่อหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า การเพิ่มค่าแรงต่างหากที่กลายเป็นปัจจัยผลักดันผลิตภาพในระบบเศรษฐกิจ

ผลิตภาพเพิ่ม แต่ทำไมค่าแรงอาจไม่เพิ่ม?

เพื่อให้เห็นภาพ ผมชวนผู้อ่านจินตนาการถึงบริษัท ก. ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ส่งออกซึ่งมีกำไรมาอย่างยาวนาน วันหนึ่งบริษัทตัดสินใจปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ผลกำไรของบริษัทหลังหักเงินลงทุนในระบบล้ำสมัยเติบโตขึ้นสองเท่าตัว คุณคิดว่าผลตอบแทนของเหล่าแรงงานในโรงงานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

  1. ค่าแรงเพิ่มขึ้น เพราะผู้บริหารมองว่า ผลกำไรควรกระจายให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญคือพนักงานทุกคนอย่างเป็นธรรม
  2. ค่าแรงเพิ่มขึ้น เพราะกลุ่มพนักงานรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง และร่วมกันต่อรองขอขึ้นค่าตอบแทนเพราะเห็นว่า บริษัทมีผลประกอบการดีขึ้นมาก
  3. ค่าแรงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะบริษัทมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้ผู้ถือหุ้น ส่วนผลกำไรที่เพิ่มขึ้นก็เป็นความดีความชอบของผู้บริหารซึ่งได้ค่าตอบแทนเป็นโบนัสก้อนใหญ่

ถ้าคุณตอบ ก. ผมว่าคุณอาจจะอ่านวิสัยทัศน์ผู้บริหารในรายงานประจำปีหรือรายงานความยั่งยืนมากเกินไปหน่อย

ถ้าคุณตอบ ข. บางทีคุณอาจอาศัยอยู่ในประเทศที่กฎหมายให้อำนาจต่อรองแรงงานและมีสหภาพแรงงานมีความเข้มแข็ง ยกตัวอย่าง ประเทศเยอรมนีหรือประเทศแถบสแกนดิเนเวีย

ถ้าคุณตอบ ค. คุณคือคนหนึ่งที่ยอมรับความเป็นจริงตรงหน้าได้ เช่นเดียวกับเหล่านักเศรษฐศาสตร์ที่ค้นพบว่า ถ้านโยบายรัฐไม่หนุนเสริมฝั่งแรงงาน ต่อให้เศรษฐกิจขยายตัวมากเพียงใด ผลประโยชน์ก็ไม่ได้ตกถึงเหล่าแรงงานแบบเต็มหน่วย หรือที่เรียกว่าช่องว่างผลิตภาพและค่าแรง (Productivity-Pay Gap)

ช่องว่างดังกล่าวพบได้ทั่วไปในประเทศที่ปวารณาตัวว่าสนับสนุนตลาดเสรีและทุนนิยม ที่คาดหวังว่าเศรษฐกิจที่เติบโตจะช่วยยกระดับรายได้ของประชาชนแบบถ้วนหน้า สหภาพแรงงานมีอำนาจต่อรองไม่มาก อีกทั้งรัฐบาลก็ปล่อยค่าแรงให้เป็นเรื่องของกลไกตลาด ตัวอย่างของประเทศข้างต้น เช่น สหรัฐอเมริกา

แผนภาพแสดงการเติบโตของผลิตภาพ (เส้นสีดำ) ค่าตอบแทนเฉลี่ย (เส้นประสีฟ้า) และค่าตอบของแรงงาน (เส้นประสีเขียว) ในสหรัฐอเมริการะหว่าง ปี 1948-2016 ภาพจาก PRODUCTIVITY AND PAY: IS THE LINK BROKEN?

หากเปรียบเทียบการเติบโตของผลิตภาพกับค่าตอบแทนของแรงงาน ซึ่งไม่รวมค่าตอบแทนของตำแหน่งบริหารเราจะเห็นว่า ดัชนีทั้งสองเส้นนี้เติบโตควบคู่กันดีระหว่างปี 1948-1979 ก่อนจะถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อรัฐบาลปรับเปลี่ยนแนวนโยบาย ทั้งการชะลอการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การปล่อยให้สหภาพแรงงานอ่อนแอ การลดภาษีให้กับผู้มีรายได้สูง การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในหลากหลายอุตสาหกรรมที่ทำให้อำนาจต่อรองของลูกจ้างลดลง เช่นเดียวกับการผ่อนคลายมาตรการในภาคการเงิน การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งพบว่า ระหว่างปี 1979-2021 เกิดช่องว่างขนาดยักษ์ โดยผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 64% แต่ค่าแรงเพิ่มขึ้นเพียง 17% เท่านั้น

หลายคนอาจสงสัยว่า ผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจนั้นหายไปไหน เมื่อไม่ได้เข้ากระเป๋าแรงงาน ผลประโยชน์ที่ได้จึงไปอยู่ในกระเป๋าของผู้บริหารและแรงงานทักษะสูง รวมถึงกลายเป็นผลกำไรของบริษัทที่เข้ากระเป๋านายทุนผู้ถือหุ้น สองปัจจัยนี้ทำให้ความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายได้และความมั่งคั่งของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเลวร้ายลงในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา

หันกลับมาดูประเทศไทย น่าเสียดายที่ผมค้นไม่เจอข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ได้เหมือนของสหรัฐฯ แต่ก็พบชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่สามารถปะติดปะต่อได้เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น การสำรวจล่าสุดที่พบว่าช่องว่างรายได้ของพนักงานใหม่กับพนักงานระดับสูงถ่างกว้างขึ้นราว 10% จากค่าสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาคหรือ Gini Coefficient ด้านรายได้ของไทยที่ครองอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งที่ไทยติดโผสิบอันดับแรกของประเทศที่เหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงที่สุดในโลกอีกด้วย

ดังนั้น คงไม่ผิดนักหากเราจะสรุปว่า ต่อให้พยายาม ‘ขยายชิ้นเค้ก’ โดยคาดคั้นเพิ่มผลิตภาพจากแรงงานจนสร้างกำไรมหาศาลให้บริษัท แต่ตราบใดที่เหล่าแรงงานยังไม่มีอำนาจต่อรองในมือและไม่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ ถึงค่าแรงของเหล่าแรงงานจะขยับเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ก็ไม่อาจเทียบได้กับผลิตภาพที่สร้างให้กับระบบเศรษฐกิจซึ่งส่วนใหญ่ตกอยู่กับผู้บริหารและนายทุน

‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ แรงจูงใจที่ทำให้แรงงานเพิ่มผลิตภาพ

หากใครค้นงานวิจัยเรื่องค่าแรงขั้นต่ำกับผลิตภาพ ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจตรงกันข้ามกับความเข้าใจของใครหลายคน เพราะการศึกษาเชิงประจักษ์จำนวนมากต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ค่าแรงขั้นต่ำคือแรงผลักดันให้ผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้น

สายธารของงานวิจัยดังกล่าวเริ่มต้นจากทฤษฎีที่ชื่อว่า ‘ค่าแรงประสิทธิภาพ’ (Efficiency Wage) ที่มีสมมติฐานว่า ลูกจ้างจะทุ่มเททำงานมากขึ้นหากค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น ทฤษฎีดังกล่าวเสนอโดย จอร์จ อเคอร์ลอฟ (George Akerlof) เมื่อปี 1982 ก่อนจะถูกหยิบไปศึกษาภาคสนามในหลายประเทศ และได้ข้อสรุปตรงกันว่า หลังจากเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานมีความทุ่มเทมากยิ่งขึ้น ผลิตผลต่อวันเพิ่มขึ้น โดยต้องพึ่งพาการกำกับดูแลจากผู้จัดการน้อยลงอีกด้วย

หนึ่งในคำอธิบายเรื่องผลิตภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้นจากการขยับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คืออัตราการลาออกของแรงงานที่ลดน้อยลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนของบริษัทในการจ้างพนักงานใหม่ การที่พนักงานไม่เปลี่ยนงานบ่อยยังช่วยให้พนักงานเหล่านั้นเรียนรู้จนทำงานได้ดีกว่าเดิม ส่วนนายจ้างเองก็มีแนวโน้มทุ่มทรัพยากรเพื่อฝึกฝนพนักงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย จนนำไปสู่ผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยตั้งข้อสงสัยต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยพวกเขาคาดเดาว่า ที่ผลิตภาพของแรงงานต่อคนเพิ่มขึ้นหลังจากนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำอาจเป็นผลมาจากการจ้างงานที่ลดลง สาเหตุก็เพราะบริษัทตัดสินใจลดพนักงานและเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตล้ำสมัยเข้ามาแทนที่ อย่างไรก็ตาม การศึกษาทั้งในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรต่างได้ผลลัพธ์ตรงกันว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่กระทบต่อการจ้างงานแต่อย่างใด แต่บริษัทส่วนใหญ่เพิ่มผลิตภาพแรงงานด้วยการปรับรูปแบบการทำงานขององค์กรและฝึกฝนพนักงาน เมื่อผนวกกับความทุ่มเทที่เพิ่มขึ้นของพนักงาน เราก็อาจได้ข้อสรุปว่า นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะ ‘สร้างผลตอบแทน’ กลับคืนให้กับบริษัทด้วยตัวมันเองโดยที่รัฐไม่ต้องช่วยเหลือแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้บางบริษัทล้มหายตายจากไปจากระบบเศรษฐกิจ คนจำนวนไม่น้อยมองว่านี่คือ ‘เรื่องเลวร้าย’ ที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่หากยึดหลักการ ‘การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์’ (Creative Destruction) ตามแนวคิดของ โจเซฟ ชัมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter) การที่บริษัทบางแห่งต้องปิดตัวลงถือเป็นเรื่องปกติ บางแง่มุมอาจเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ เพราะบริษัทเหล่านั้น ‘ปลดปล่อย’ ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นทุน แรงงาน หรือที่ดินเพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่มารับช่วงต่อ

หากมองในระดับมหภาคจากการศึกษาชิ้นหนึ่งจะพบว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสามารถช่วยให้ผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในภาพรวม เนื่องจากบริษัทผลิตภาพต่ำและไม่สามารถปรับตัวได้จะล้มหายตายจากไป ส่วนองค์กรที่อยู่รอดได้คือบริษัทที่ปรับตัวเพิ่มผลิตภาพให้ยังสามารถแข่งขันได้ ซึ่งเป็นการคัดสรรตามระบอบทุนนิยม ทั้งนี้ หากจะให้การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่น รัฐบาลอาจต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในระยะสั้น ทั้งฝั่งผู้ประกอบการและลูกจ้าง

คงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ‘คุ้มค่าคุมทุน’ ด้วยตัวเอง เพราะต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะหักกลบลบกับผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นของแรงงานนั่นเอง

ที่ผ่านมา ประเทศไทยหวังเติบโตโดยใช้ความได้เปรียบจากแรงงานราคาประหยัดจนรายได้ของประเทศขยับจากต่ำจนถึงปานกลาง แต่กลยุทธ์ดังกล่าวไม่อาจใช้ได้หากต้องการก้าวขึ้นสูงเป็นประเทศรายได้สูง แรงงานค่าแรงต่ำที่ช่วยพาประเทศสู่รายได้ปานกลางจึงต้องส่งไม้ต่อให้เป็นภาระของเหล่าผู้ประกอบการเอกชน ที่ต้องจับมือกับภาครัฐในการสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันของประเทศ ผ่านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม ไม่ใช่หวังเสวยสุขด้วยการกดค่าแรงให้ต่ำโดยไม่ลงมือลงแรงแบกรับความเสี่ยงใดๆ

 

เอกสารประกอบการเขียน

The Productivity–Pay Gap

What Productivity-Pay Gap?

Understanding the labor productivity and compensation gap

Minimum wages and labour productivity

Minimum Wage and Individual Worker Productivity: Evidence from a Large US Retailer

Tags: , , ,