วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างจับตาการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จตุรัสเทียนอันเหมิน โดยเฉพาะคำปราศรัยของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ผู้นำประเทศจีนรุ่นที่ 5 ซึ่งเน้นย้ำกระบวนการพลิกฟื้น (Rejuvenation) เตรียมเดินหน้าสู่การเป็นประเทศสังคมนิยมอัตลักษณ์จีนที่ทันสมัยและโดดเด่นในเวทีโลก พร้อมทั้งยืนกรานนโยบาย ‘จีนเดียว’ ที่จะรวมเอาฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน กลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ ตลอดจนการแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อมหาอำนาจต่างชาติที่ต้องการจะข่มเหงจีน

ความฝันของ ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ กลายเป็นความจริง หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งมาแล้วร่วมสามทศวรรษและได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จจากพรรคก๊กมินตั๋งปี พ.ศ. 2492 แม้จีนจะถูกปกครองใต้ระบอบเผด็จการพรรคเดียวยาวนานกว่า 72 ปี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสีจิ้นผิงได้ทำตามสัญญาที่ระบุไว้ใน ‘ความคิดของสีจิ้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมอัตลักษณ์จีนสำหรับยุคใหม่’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ตั้งเป้าไว้ว่า ในวาระที่พรรคคอมมิวนิสต์ก่อตั้งครบ 100 ปี จีนจะเป็นประเทศที่กินดีอยู่ดีพอสมควรและขจัดความยากจนได้สำเร็จ

ใครจะไปเชื่อว่าประเทศที่หนึ่งร้อยปีก่อนยังยากจนและคุกรุ่นด้วยสงครามกลางเมือง จะพลิกตัวเองกลับมายืนแถวหน้า ในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมน่าตื่นตาตื่นใจในระดับเคียงบ่าเคียงไหล่กับโลกตะวันตก ที่สำคัญ ประเทศดังกล่าวยังถูกปกครองภายใต้เผด็จการที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังคงยืนหยัดอยู่ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ประเทศจีนหักปากกาเซียนที่ทำนายว่าการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสม์จะล่มสลาย ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่ดำเนินนโยบาย ‘ก้าวกระโดดไกล’ (Great Leap Forward) แต่กลับทำให้ประชาชนอดตายนับสิบล้านชีวิต การเปลี่ยนผ่านตัวผู้นำในแต่ละยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย การล่มสลายของสหภาพโซเวียต การล้อมปราบประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และล่าสุด คือกรณีอื้อฉาวของ นายแพทย์ หลี่ เหวินเลี่ยง จักษุแพทย์ผู้​เตือนการพบไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ระบาดในอู่ฮั่น แต่กลับถูกทางการจีนสอบสวนในข้อหาปล่อยข่าวลือ

ทว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ฝ่าฟันวิกฤตเหล่านั้นมาได้และยิ่งทวีความเกรียงไกรในยุคของ ‘สีจิ้นผิง’ ชายผู้ทรงอำนาจที่สุดและเป็นที่นิยมของประชาชนที่สุด นับตั้งแต่หมดสมัยเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิง จากฝีมือการปราบคอร์รัปชันในพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้นโยบายทำลายทั้ง ‘แมลงวันและเสือ’ ส่งผลให้สมาชิกอาวุโสของพรรคกว่า 120 คนซึ่งมีตั้งแต่นายทหารระดับสูงไปจนถึงผู้บริหารรัฐวิสาหกิจถูกดำเนินคดี พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐอีกนับแสนที่ถูกลงโทษฐานฉ้อราษฎร์บังหลวง 

สีจิ้นผิงยังได้ผลประโยชน์ทางอ้อมจากนโยบายดังกล่าว นั่นคือการสลายมุ้งการเมืองในพรรค พร้อมปูทางตัวเองสู่การเป็นศูนย์กลางทางอำนาจโดยปริยาย เขาคือชายที่อยู่บนยอดพีระมิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน องค์กรขนาดยักษ์ที่มีสมาชิกกว่า 92 ล้านคน หรือคิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ของประชากรผู้ใหญ่ในจีน กระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในประเทศจีน แทรกซึมอยู่ในองค์กรภาคเอกชน และทำการอยู่แทบทุกมุมโลก โครงสร้างนี้เองที่ทำให้พรรคยังคงยืนหยัดได้จวบจนปัจจุบัน 

ดวงตาบนท้องถนน

นับตั้งแต่ยุคของท่านประธานเหมาจนถึงเติ้งเสี่ยวผิง พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถพบเห็นได้ทุกหนแห่ง โดยมีหน้าที่ปกครองดูแลประชาชนในท้องถิ่นทั้งในชนบทและในเมือง สมาชิกพรรคอาวุโสมีอำนาจล้นมือในยุคคอมมิวนิสต์แรกเริ่ม ที่ประชาชนทุกคนต้องก้มหน้ายอมรับการตัดสินใจของรัฐในการจัดสรรปันส่วนที่อยู่อาศัยและตำแหน่งงาน นอกจากนี้ การเดินทางออกนอกเขต การขอพาสปอร์ต แม้กระทั่งการแต่งงานต้องได้รับอนุมัติโดยสมาชิกพรรค 

ช่วงเวลาดังกล่าว การทำให้พรรคไม่พอใจก็ไม่ต่างจากการดับอนาคตของตนเอง

นับตั้งแต่ก้าวย่างสู่ศตวรรษที่ 21 รัฐบาลจีนให้อิสระกับประชาชนมากขึ้น ที่อยู่อาศัยสามารถเปลี่ยนมือได้อย่างเสรี ชาวชนบทต่างอพยพมาแสวงหาโอกาสในเมืองใหญ่ ทุกคนสามารถเดินทางได้ตามต้องการ บรรยากาศเสรีนำมาซึ่งการเติบโตขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่พยายามผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนในจีน ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลับด้อยความสำคัญลง

แต่สีจิ้นผิงไม่อาจปล่อยให้พรรคคอมมิวนิสต์กลายเป็นเสือไร้เขี้ยวเล็บ เขาริเริ่มระบบควบคุมและเฝ้าระวังที่ชื่อว่า ‘การจัดการกริด’ (grid management) ซึ่งจะแบ่งชุมชนออกเป็นกลุ่มของครัวเรือน โดยพรรคจะแต่งตั้งสมาชิกพรรคเป็นคนคอยสอดส่องดูแลผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ เมื่อมีเหตุการณ์ไม่น่าไว้วางใจ เขาหรือเธอก็พร้อมจะแจ้งให้เจ้าหน้ารัฐเข้ามาสืบสวนตรวจสอบ

กริดเหล่านี้จะถูกควบคุมโดยคณะกรรมการชุมชนของพรรคซึ่งจะมีตำรวจชั้นผู้ใหญ่นั่งอยู่ด้วย กลายเป็นหน่วยข่าวกรองระดับมดงานที่รวบรวมเรื่องราวในชุมชนมาส่งต่อให้กับตำรวจ ไม่เว้นแม้กระทั่งในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่บ่มเพาะ ‘ความคิดทางการเมืองที่ไม่เหมาะสม’ และเป็นจุดกำเนิดของการประท้วงหลายต่อหลายครั้ง พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มีสมาชิกพรรคคอยเฝ้าระวังและส่งข่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม

นอกจากนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังทดลองใช้เทคโนโลยีมาสอดส่องดูแลความสงบเรียบร้อย แนวคิดดังกล่าวมีการนำร่องในเมืองผูต่ง (Pudong) โดยติดตั้งกล้องแบบทุกซอกทุกมุม เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจัดการกับการละเมิดกฎหมายได้อย่างทันท่วงที ตั้งแต่การจอดรถในที่ห้ามจอด ไปจนถึงการรวมตัวประท้วงของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เรียกได้ว่าเป็นการเฝ้าระวังแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อป้องกันพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของประชาชน

แขนขาในบริษัท

ภาคธุรกิจในจีนค่อนข้างมีอิสระและเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในธุรกิจออนไลน์หรืออุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นับวันบริษัทเหล่านี้ก็จะยิ่งทวีอิทธิพลมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องจัดการโดยส่งสมาชิกพรรคไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการบริษัทหรือแทรกซึมไปเป็นพนักงานในองค์กร เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการมหาเศรษฐีเหล่านั้นจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง

ตัวอย่างที่พรรคคอมมิวนิสต์ภูมิใจนำเสนอคือ โฮโดกรุ๊ป (Hodo Group) บริษัทผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ ที่ปัจจุบันมีลูกจ้างถึง 30,000 คนภายใต้การนำของ โจวไห่เจียง (Zhou Haijiang) สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ระดับสูง รวมถึงหัวหน้าแผนกต่างๆ ก็มีตำแหน่งในพรรคเช่นกัน เขาคือต้นแบบนักธุรกิจที่พรรคเชิดชู เพราะนอกจากจะประสบความสำเร็จในแง่ยอดขายแล้ว ยังผลักดันการตั้งสาขาพรรคภายในบริษัท พร้อมทั้งมีโรงเรียนสอนพนักงานเกี่ยวกับแนวคิดคอมมิวนิสม์ของรัฐบาลโดยเรียกโมเดลการทำธุรกิจนี้ว่า ‘ระบบบรรษัทสมัยใหม่อัตลักษณ์จีน’ ที่นอกจากจะแสวงหากำไรแล้ว ยังต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น การดูแลแรงงาน การตอบแทนสังคม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

การที่ผู้บริหารบริษัทได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน นับเป็นสิทธิพิเศษที่ทุกคนต่างแสวงหา ผู้ประกอบการบางคนอาจมองว่า การเข้าเป็นสมาชิกพรรคคือ ‘สิ่งจำเป็น’ ในการทำธุรกิจในจีน จึงไม่น่าแปลกใจที่กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของภาคเอกชนจีนจะมีการตั้งสาขาพรรคคอมมิวนิสต์ภายในบริษัท

แต่สิทธิพิเศษก็มาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย แม้ไม่บ่อยครั้งนักที่สีจิ้นผิงจะกดดันเหล่ามหาเศรษฐี แต่เขาก็ไม่ต้องการให้ผู้มีอิทธิพลเหล่านั้นท้าทายพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

ตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้คือ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอีคอมเมิร์ซขนาดยักษ์ อาลีบาบา และบริษัทให้บริการทางการเงินอย่างแอนท์กรุ๊ป ตัวแจ็ค หม่าเองเป็นสมาชิกพรรค ทั้งบริษัทก็มีการจัดตั้งสาขาพรรคคอมมิวนิสต์กว่า 200 แห่งและมีสมาชิกพรรคเป็นพนักงานกว่า 7,000 คน แต่เขา ‘ข้ามเส้น’ เมื่อกล่าววิจารณ์หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของจีน สร้างความไม่พอใจต่อท่านผู้นำอย่างมากจนดีลการเสนอขายหลักทรัพย์เป็นครั้งแรกของแอนท์กรุ๊ปที่มีมูลค่ากว่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ล่มไม่เป็นท่า หน่วยงานรัฐบาลจีนบังคับให้บริษัทปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ อีกทั้งสั่งปรับอาลีบาบาฐานละเมิดกฎหมายผูกขาด ขณะที่ แจ็ค หม่า หายหน้าหายตาไปจากสาธารณะเป็นเวลาร่วมสามเดือน 

แน่นอนว่าการขยายขอบเขตอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะบริษัทสัญชาติจีน แต่ยังรวมถึงบริษัทที่ลงทุนโดยต่างชาติ ในปีพ.ศ. 2560 พรรคได้มีประกาศสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติทุกแห่งที่ดำเนินการในประเทศจีน จัดตั้งหน่วยย่อยของพรรคที่เริ่มต้นโดยสมาชิกพรรคอย่างน้อยสามคน ซึ่งหน่วยดังกล่าวจะทำหน้าที่ ‘ให้คำแนะนำ’ บริษัท เพื่อให้ทำตามระเบียบกฎหมาย รวมทั้งดำเนินการตามนโยบายของพรรค

มุ่งหน้าสู่ต่างแดน

ก่อนการระบาดของโควิด-19 มีชาวจีนทำงานอยู่ต่างประเทศราว 1.5 ล้านคนและมีนักเรียนนักศึกษาอีก 1.6 ล้านชีวิต เมื่อประชาชนจำนวนมากเบนเข็มสู่ต่างประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์ก็ต้องเดินตาม โดยสนับสนุนให้มีการขยายสาขาออกสู่ต่างแดน นับเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างของพรรคที่ต่างชาติมักไม่รู้ว่ามีอยู่

อดีตทูตจีนรายหนึ่งเปิดเผยว่า เหล่าทูตจีนที่ประจำในต่างประเทศทุกคนจะมีตำแหน่งค่อนข้างสูงในพรรคคอมมิวนิสต์ พวกเขาจะคอยทำหน้าที่กำกับดูแลสมาชิกพรรคที่เป็นลูกจ้างบริษัทรัฐวิสาหกิจจีนในต่างแดน รวมถึงเด็กในวัยเล่าเรียน เพื่อให้มั่นใจว่าอุดมการณ์จากโลกตะวันตกจะไม่ทำให้พวกเขาเริ่มตั้งคำถามและท้าทายอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ นี่คือสาเหตุหนึ่งที่โลกตะวันตกรู้สึกหวาดกลัวว่า จีนอาจใช้ประโยชน์จากการดำเนินการของบริษัทข้ามชาติขนาดยักษ์อย่างหัวเว่ย (Huawei) ในการสอดแนมในต่างประเทศ

แม้แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยก็ไม่เว้น โดยเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของจีนระบุว่านักศึกษาจีนได้จัดตั้งหน่วยย่อยของพรรคในหลายมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม ประเทศอังกฤษ มหาวิทยาลัยคยองฮี ประเทศเกาหลีใต้ และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา นับเป็นความพยายามที่จะรักษาสายสัมพันธ์ พร้อมทั้งแสดงความจงรักภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อกรุยทางสู่ความสำเร็จในอนาคต

รัฐบาลจีนเองก็เดินเกมการเมืองระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การริเริ่มโครงการแถบและทางที่จีนถมเงินจำนวนมหาศาล เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดยักษ์ให้กับ 68 ประเทศที่กำลังพัฒนา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องใช้ทรัพยากรเกือบทั้งหมดจากจีน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เทคโนโลยี วัตถุดิบ และแรงงาน ดังที่สำนักข่าวของรัฐพาดหัวอย่างภาคภูมิใจว่า “ธงของพรรคคอมมิวนิสต์จะปลิวไสวเหนือโครงการแถบและทาง” 

ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 จีนก็แสดงความเป็น ‘พี่ใหญ่ผู้มีความรับผิดชอบ’ ด้วยการกระจายวัคซีนสัญชาติจีนกว่า 350 ล้านโดสให้กับ 40 ประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นการกระทำที่ ‘ได้ใจ’ ประเทศปลายทาง ขณะที่ฝั่งโลกตะวันตกอย่างสหภาพยุโรปกลับควบคุมการส่งออกวัคซีนแอสตราเซนเนกาอย่างเข้มงวดเพื่อสงวนไว้ให้คนในประเทศก่อน ส่วนสหรัฐอเมริกาก็สั่งวัคซีนมาเกินความต้องการจนเหลือวัคซีนค้างสต็อกนับล้านโดส

อนาคตที่ต้องจับตา

แม้ภายนอกจะเข้มแข็ง แต่ภายในพรรคคอมมิวนิสต์ก็มีภาวะไม่ต่างจาก ‘คลื่นใต้น้ำ’ ที่รอวันปะทุ ระบอบเศรษฐกิจสังคมนิยมอัตลักษณ์จีนในปัจจุบันกลายเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่ากังวล แม้รัฐบาลจีนจะประกาศว่าคนจีน 100 ล้านคนสุดท้ายได้หลุดพ้นจากความยากจนสุดขีดด้วยสวัสดิการของรัฐ แต่สวัสดิการดังกล่าวก็ยังไม่อาจเทียบได้กับความเอื้ออารีต่อชนชั้นแรงงานตามลัทธิมาร์กซ์ 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า สมาคมนิยมมาร์กซ์ในมหาวิทยาลัยปักกิ่งกลับถูกจับในปี พ.ศ. 2561 เพราะสนับสนุนให้แรงงานหยุดงานประท้วงในเซินเจิ้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังต้องคอยตามลบบทความบนโซเชียลมีเดียที่เชิดชูลัทธิลัทธิเหมาใหม่ (neo-Maoists) และกล่าวประณามว่าผู้บริหารประเทศชุดปัจจุบันคือ ‘นายทุนอำมาตย์’

คำกล่าวหาดังกล่าวมีส่วนจริงไม่น้อย เพราะในสภาและที่ปรึกษาของจีนมีมหาเศรษฐีที่ความมั่งคั่งอย่างน้อย 2 พันล้านหยวน (ราวหนึ่งหมื่นล้านบาท) จำนวนมากถึง 140 คน อีกทั้งระหว่างปี พ.ศ. 2558 ถึง 2561 ความมั่งคั่งของคนที่ร่ำรวยที่สุด 100 คนในประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เท่าตัว 

หากประเทศจีนในฝันของเหมาเจ๋อตงคือการปฏิวัติแบบถอนรากถอนโคนเพื่อสร้างสังคมในอุดมคติ ประเทศจีนในฝันของสีจิ้นผิงก็อาจอยู่ขั้วตรงข้าม เพราะเขาต้องการ ‘ประเทศจีนที่สงบสุข’ โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า จีนคือระบอบเผด็จการที่แม้จะลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่ก็พร้อมจะปรับปรุงแก้ไขตามความต้องการของประชาชน

แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะปกครองประเทศมากว่า 72 ปี แต่จีนก็ยังไม่ใช่ประเทศสังคมนิยมเผด็จการที่ครองอำนาจยาวนานที่สุด เพราะสหภาพโซเวียตก่อตั้งขึ้นเป็นเวลา 74 ปีก่อนจะล่มสลาย จีนจึงอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เพราะหากผ่านพ้นปี พ.ศ. 2566 ไปได้ สาธารณรัฐประชาชนจีนก็จะสามารถประกาศได้อย่างเต็มภาคภูมิว่าเป็นสังคมนิยมที่ ‘ข้ามพ้น’ รุ่นพี่อย่างสหภาพโซเวียต ความท้าทายต่อไปของจีนคือการเปลี่ยนผ่านผู้นำสู่รุ่นที่หก ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวี่แววทายาททางการเมืองของสีจิ้นผิง แต่ชายวัย 68 ปีคนนี้ก็อาจไม่ได้กังวลนัก เพราะได้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้เขาอยู่ยาวแบบไม่มีกำหนดเวลา

จึงต้องจับตาดูต่อไปว่า ระบอบการปกครองแบบเผด็จการพรรคเดียวจะทนทานต่อกาลเวลา พร้อมเฉลิมฉลอง 100 ปีสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในอีก 28 ปีข้างหน้า พร้อมบรรลุเป้าหมายการก้าวสู่การเป็นประเทศสังคมนิยมมหาอำนาจที่ร่ำรวยอย่างที่ฝัน หรือจะโอนอ่อนตามอุดมการณ์ของโลกตะวันตกแล้วผันตัวสู่วิถีประชาธิปไตย

เอกสารประกอบการเขียน

The Chinese Communist Party – A hundred years of evolution

China’s Communist Party: everything you need to know

Tags: , , ,