การประกาศให้การระบาดของโรคอีโบลาที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC)  ขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2019 ที่ผ่านมาทำให้ประชาชนในประเทศอื่นตื่นตระหนกอยู่ไม่น้อย เพราะโรคนี้เคยถูกประกาศเป็น PHEIC มาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2014

ครั้งนั้นเป็นการระบาดในฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ซึ่งแพร่กระจายไปแล้ว 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกินี ไลบีเรีย ไนจีเรีย  เซียร์ราลีโอน ด้วยยอดผู้ป่วย 1,179 คน โดยเสียชีวิตไปแล้ว 961 ราย ณ วันที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน ในขณะที่ครั้งนี้การระบาดเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในคองโกและชายแดนยูกันดา

อย่างไรก็ตามการระบาดในครั้งนั้นสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2016 กินเวลาถึง 2 ปี มีจำนวนผู้ป่วยมากถึง 28,646 คน และเสียชีวิต 11,325 ราย ซึ่งมีการติดต่อข้ามทวีปไปยังสเปน อังกฤษ อิตาลี และอเมริกา โดยผู้ป่วยรายแรกของอเมริกาเป็นนักท่องเที่ยวที่กลับมาจากแอฟริกาตะวันออก และได้แพร่เชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์อีก 2 คน 

ส่วนผู้ป่วยรายอื่นเป็นอาสาสมัครที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ระบาด ซึ่งได้รับการส่งตัวกลับไปรักษาต่อที่อเมริกา

คำถามที่เกิดขึ้นท่ามกลางความตื่นตระหนกนี้คือ โรคนี้มีวัคซีนป้องกันหรือไม่?

ไวรัสอีโบลาติดต่อผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรง

ไวรัสอีโบลา จัดอยู่ในกลุ่ม Filoviridae มาจากรากศัพท์ละติน Filum ที่แปลว่า “คล้ายเส้นด้าย” ภาพของไวรัสที่ทุกคนอาจคุ้นตาคือเส้นด้ายที่ขดไปมาตรงปลายด้านหนึ่ง มีลักษณะสารพันธุกรรมที่ผสมระหว่างไวรัสกลุ่มพิษสุนัขบ้ากับไวรัสกลุ่มหัดและคางทูม มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร แต่อาศัยอยู่ในค้างคาวผลไม้ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าร้อยล้านเท่า 

ไวรัสอีโบลาติดต่อจากสัตว์สู่คนผ่านการถูกค้างคาวกัด การกินผลไม้ที่ปนเปื้อนน้ำลายค้างคาว และการกินสัตว์ป่าที่ติดเชื้อ ในขณะที่ติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสของเหลวจากร่างกายผู้ที่มีอาการป่วย เช่น อาเจียน อุจจาระ และเลือด เนื่องจากไวรัสทำให้มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ผู้ติดเชื้อจึงมักเป็นสมาชิกในครอบครัว หรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วย

ไวรัสชนิดนี้ยังแบ่งออกเป็น 5 ชนิดย่อย ได้แก่ Zaire, Sudan, Bundibugyo, Tai Forest, และ Reston โดยสายพันธุ์ที่พบระบาดบ่อยที่สุดคือสายพันธุ์ Zaire รวมถึงการระบาดที่ได้รับการประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทั้ง 2 ครั้ง และมีความรุนแรงมากที่สุด โดยถ้าหากติดเชื้อสายพันธุ์นี้จะมีโอกาสเสียชีวิต 75% ส่วนสายพันธุ์อื่นจะมีโอกาสเสียน้อยกว่า 50%


เจ้าหน้าที่ฉีดวัคซีนอีโบลาให้กับประชาชนที่เมืองโกมา หนึ่งในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยอีโบลา (ภาพ: REUTERS/Olivia Acland)

ยังไม่มีวัคซีนอีโบลาที่ได้รับการรับรองจาก FDA

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสอีโบลาที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนสุดท้ายที่วัคซีนจะถูกนำไปผลิตเพื่อการค้า (อ่านอินโฟกราฟิกเรื่องการพัฒนายาเพิ่มเติมได้ในบทความนี้) แต่มีข่าวดีในข่าวร้ายนี้ว่าวัคซีนป้องการโรคอีโบลาที่กำลังทดลองในพื้นที่ระบาดของ DRC อยู่ในขณะนี้มีประสิทธิภาพมากถึง 97.5%

วัคซีนดังกล่าวมีชื่อว่า rVSV-ZEBOV 

หรือ Recombinant vesicular stomatitis virus-Zaire Ebola virus ไม่ต้องตกใจ! ไปนะครับ ชื่อวัคซีนในระหว่างการวิจัยมักจะมีชื่อย่อที่ยาว หรือชื่อยาวที่ยาวมากเช่นนี้ แต่แปลได้ว่ามีการนำชิ้นส่วนของไวรัสอีโบลา สายพันธุ์ Zaire ไปตัดต่อเข้ากับไวรัส vesicular stomatitis (VSV) เพื่อนำไปฉีดกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสอีโบลาในผู้ได้รับวัคซีน

โดยเริ่มคิดค้นวัคซีนมาตั้งแต่ปี 2003 และทดลองในลิงสำเร็จในปี 2005 เมื่อเกิดการระบาดของโรคอีโบลาในปี 2014 จึงได้มีการนำวัคซีนต้นแบบมาทดสอบในคนเป็นครั้งแรก ซึ่งผ่านให้พัฒนาต่อในระยะที่ 2 เป็นการทดลองกับบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ระบาด และระยะที่ 3 เป็นการทดลองฉีดวัคซีนแบบวงแหวนรอบจุดเกิดโรค (ring vaccination)


การฉีดวัคซีนแบบวงแหวนรอบจุดเกิดโรค โดยเป็นการฉีดวัคซีนให้กับผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออีโบลา  (ภาพ: Reuters Photographer)

ประเมินเบื้องต้นว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ 97.5%

ถึงแม้จะอยู่ในระหว่างการทดลองระยะที่ 3 แต่เนื่องจากเกิดการระบาดของโรคอีโบลาจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก วัคซีนจึงได้รับการอนุโลมให้นำมาใช้เพื่อ compassionate use หรือเป็นการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม เช่นเดียวกับเมื่อ 4 ปีก่อนอีกครั้ง ในขณะเดียวกันก็มีการวางแผนเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนเพิ่มเติมไปพร้อมกันด้วย

จากรายงานการศึกษาเบื้องต้น เมื่อเดือนเมษายน 2562 มีประชาชนที่ได้รับวัคซีนแบบ ring vaccination ทั้งหมด 93,965 คน เมื่อติดตามไปพบว่าป่วยเป็นโรคอีโบลา 71 คน ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนมีผู้ป่วย 880 คน ซึ่งมี 15 คนจาก 71 คนที่พบว่าป่วยหลังจากได้รับวัคซีนไปแล้วเกิน 10 วัน (ทั้งนี้เชื่อว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพ 10 วันหลังจากได้รับวัคซีน)

เมื่อประมาณอัตราป่วยในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจะอยู่ที่ 0.017% เทียบกับ 0.656% ในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ผู้วิจัยจึงสรุปว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ 97.5% นอกจากนี้ยังพบว่าวัคซีนยังช่วยป้องกันคนที่คลุกคลีกับคนที่สัมผัสผู้ป่วยโดยตรงจากการติดเชื้อได้ และสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ โดยพบว่าไม่มีผู้ที่ป่วยหลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว 10 วันเสียชีวิตเลย


แผนภูมิแสดงจำนวนผู้ป่วยโรคอีโบลาที่ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนแบบวงแหวน (กราฟแท่ง) และจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน (กราฟเส้น) (ที่มา: WHO)

นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอีกตัวหนึ่งของบริษัทคู่แข่ง

การลาออกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของคองโก เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 ถึงจะไม่เป็นข่าวใหญ่ แต่สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวการระบาดของโรคอีโบลาได้ยินแล้วก็ต้องนึกถึงเรื่องอื่นเป็นไม่ได้นอกจากประเด็นเรื่องวัคซีนอีโบลาอีกตัวหนึ่งที่เขาปฏิเสธเสียงแข็งเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนว่าจะไม่อนุญาตให้นำมาทดลองในพื้นที่เด็ดขาด! เนื่องจากยังไม่มีการทดลองถึงประสิทธิภาพที่ชัดเจนและอาจทำให้ประชาชนสับสนได้ 

วัคซีนตัวนี้ชื่อว่า Ad26.ZEBOV/MVA-BN ซึ่งใช้ไวรัส Adenovirus แทนไวรัส VSV และตามหลังวัคซีนตัวแรกอยู่ 1 ระยะ คือถ้านำมาใช้ในครั้งนี้ก่อนก็จะเป็นช่วงแรกของการทดลองระยะที่ 3  ในขณะที่บางกลุ่มอาสาสมัครในระยะที่ 2 ก็ยังอยู่ระหว่างการติดตามผล

อย่างไรก็ตาม วัคซีนตัวนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก เพื่อนำมาใช้ทดแทนวัคซีนตัวแรก เพราะอาจภาวะขาดแคลนวัคซีนขึ้น กระทั่งประธานาธิบดีประกาศให้อำนาจการจัดการการระบาดของโรคอีโบลาขึ้นตรงกับผู้นำประเทศ รมต.จึงลาออกแสดงความไม่พอใจ และตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นเพราะแรงกดดันให้มีการทดลองวัคซีนตัวใหม่นี้

สำหรับประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนอีโบลา และยังไม่มีการห้ามประชาชนเดินทางไปยังพื้นที่ระบาด ซึ่งก็เป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ยังไม่ต้องการให้มีการจำกัดการเข้าออกประเทศคองโก เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ผู้ที่จะต้องเดินทางไปคองโก และแอฟริกาควรศึกษาการป้องกันตัวเองจากเชื้ออีโบลา 

ซึ่งถ้ากลับมาแล้วมีอาการไข้ ควรไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางทุกครั้ง

Tags: , , , , ,